บทวิเคราะห์เทียบสึนามิกรุงเทพฯ พิธา-ชัชชาติ และเทรนด์การเมืองหลังศึกเลือกตั้ง 2566 จาก ผอ.นิด้าโพล...
การสนทนาการเมืองเพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบสึนามิกรุงเทพมหานคร บนชัยชนะ ของ "นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์" และ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ของ "ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์" ผู้อำนวยการสำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล กับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์"
เปรียบเทียบสูตรสำเร็จที่นำไปสู่สึนามิกรุงเทพมหานคร :
“สิ่งที่เหมือนกันคือรูปแบบการโหมกระหน่ำการหาเสียงลงไปในช่องทางโซเชียลมีเดีย คือ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ทั้งในกรณีของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพราะการหาเสียงในพื้นที่เขตเมืองนั้น สิ่งสำคัญคือ การเข้าถึงคนที่เป็นบ้านในรั้ว ซึ่งการใช้โซเชียลมีเดียสามารถทลายขีดจำกัดในเรื่องนี้ได้ ขณะเดียวกันสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ ปัจจุบันเขตเมืองขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้นทุกทีๆ และคนเมืองมักวิ่งไปตามกระแส เพราะนี่คือธรรมชาติและวัฒนธรรมของคนเมือง” ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผอ.นิด้าโพล เกริ่นนำ กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
...
จุดกำเนิดกระแส พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ VS ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ :
“การสร้างกระแสให้เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดียได้ แน่นอนต้องมีจุดเด่น สำหรับกรณี ของคุณพิธา คือ การปราศรัยและการตอบคำถามซึ่งสามารถพูดจาโน้มน้าวใจคนได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าสามารถทำได้ดีมาก ส่วนกรณีของ คุณชัชาติ แม้จะมีวาทะศิลป์สู้คุณพิธาไม่ได้ แต่ก็มีจุดขายสำคัญที่หากพูดเป็นภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือมี Acting ที่โดดเด่นซึ่งสามารถซื้อใจคนได้”
พรรคการเมืองกับจุดอ่อนเรื่องการใช้โซเชียลมีเดีย :
“ทั้งการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2565 และการเลือกตั้งทั่วไป 2566 จะเห็นได้ชัดเจนว่า พรรคการเมืองต่างๆ ไล่ตามทั้งพรรคก้าวไกล และทีมงานหาเสียงของคุณชัชชาติ เรื่องการใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียงไม่ทัน จึงสูญเสียคะแนนเสียงที่ควรจะได้จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อายุ 18-35 ปี หรือ กลุ่มเจน Z และ เจน Y ตอนปลาย ซึ่งอยู่กับโทรศัพท์มือถือทั้งวันทั้งคืนไป
โดยเท่าที่นิด้าโพลได้สำรวจมา กลุ่มเจน Z มากถึง 75-80% และ กลุ่มเจน Y มากถึง 50-60% ที่เทคะแนนให้กับทั้งคุณชัชชาติ และ คุณพิธา เรียกได้ว่าได้คะแนนมาเป็นกอบเป็นกำจากกลุ่มคนทั้งสองเจเนอเรชันนี้”
ของแถมคะแนนจากกลุ่มสวิงโหวต :
“อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ คือ กลุ่มวัยกลางคนที่หันไปเทคะแนนให้กับทั้งคุณชัชชาติ และ คุณพิธา แต่สำหรับกรณีนี้ มีเหตุที่แตกต่างกันเล็กน้อย คือ กรณีคุณชัชชาติ คะแนนสวิงโหวตที่มาจากกลุ่มวัยกลางคนนั้น เป็นเพราะคุณชัชชาติ มีการลงพื้นที่หาเสียงในพื้นที่กรุงเทพมาหนครปูทางมาก่อนเลือกตั้งเกือบ 2 ปีแล้ว จึงอาจจะเป็นที่รู้จักมากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ ที่กว่าจะเปิดตัวก็ช่วงใกล้จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เข้าไปแล้ว
ส่วนในกรณีคุณพิธา มีเหตุผลสั้นๆ ง่ายๆ เลย คือ เบื่อสองลุงแล้ว แต่ก็ไม่อยากเลือกพรรคเพื่อไทยด้วย เพราะไม่มั่นใจว่าจะไปดึงเอาสองลุงกลับคืนมา ก็เลยเลือกคุณพิธา ให้จบๆ ไปเลย และนั่นเองจึงกลายเป็นที่มาของแคมเปญที่ว่า มีเราไม่มีลุง ซึ่งคำนี้คำเดียวเปลี่ยนประเทศไทยไปเลย”
...
เทรนด์การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 2566 :
“นับจากวันนี้ไป 2 ปี ผมอยากให้ทุกคนจดจำคำพูดของผมเอาไว้ให้ดี ผมเชื่อว่าจะมีพรรคการเมืองใหม่ถือกำเนิดขึ้น ที่จะประกอบไปด้วยคนที่มีคุณสมบัติเหมือนกับ คุณพิธา แล้วก็จะขึ้นมาสู้กับ พรรคก้าวไกล เพียงแต่อาจจะไม่มีนโยบายที่แข็งกร้าวเหมือนกับพรรคก้าวไกล เพื่อโกยคะแนนจากกลุ่มเจน X และ Baby Boomer
ขณะเดียวกันก็ยังสามารถเอากลุ่มเด็กๆ กลุ่มเจน Z และ เจน Y ได้อยู่เหมือนกับพรรคก้าวไกล เพื่อกอบโกยคะแนนเสียงจากกลุ่มคนทุกกลุ่ม”
วิเคราะห์การเมือง หลังผลการเลือกตั้ง 2566 อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป :
“สิ่งที่ผมอยากตั้งข้อสังเกต คือ ในเมื่อพรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนมาเป็นลำดับที่ 1 แน่นอนว่าตามมารยาททางการเมือง ก็ย่อมได้สิทธิที่จะหาเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆ มาตั้งรัฐบาลก่อนพรรคอื่นๆ
แต่คำถามของผมคือ...แล้วถ้าเผื่อพรรคก้าวไกลหาเสียงมาไม่พอสำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งแน่นอนว่าต้องไปให้ถึง 376 เสียงเพื่อฝ่าด่านสมาชิกวุฒิสภาล่ะ คำถามต่อไปคือ พรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 2 สามารถหาทางรวบรวมคะแนนเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่?
...
และคำถามต่อไป คือ แล้วถ้าหากพรรคเพื่อไทยสามารถรวบรวมเสียงได้ 376 เสียงโดยไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมขึ้นมาได้ล่ะ?
คือแน่นอนว่า...การตั้งข้อสังเกตแบบนี้ อาจจะไม่ถูกใจคนกลุ่มหนึ่งที่อยากให้การเมืองไทยไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมคือการเมืองแบบไทยๆ อะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ อย่างเมื่อคราวการเลือกตั้งปี 2562 เราก็ได้เห็นพรรคที่ได้คะแนนมาเป็นลำดับที่ 1 อย่าง พรรคเพื่อไทย ต้องกลายเป็นฝ่ายค้านมาแล้วไม่ใช่หรือ? (หัวเราะ) ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ กล่าวทิ้งท้ายกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง :