พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายกรัฐมนตรี กระแสที่ไม่อาจฝืน หลังปรากฏการณ์แลนด์สไลด์พรรคก้าวไกล...
การสนทนาที่ว่าด้วยเรื่องกระแสและกระสุน ปัจจัยที่นำไปสู่ปรากฏการณ์แลนด์สไลด์พรรคก้าวไกล และการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจฝืน จาก "รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์" ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566
การจัดวางกระแสที่นำไปสู่ชัยชนะ :
“ความเห็นส่วนตัวผม ในตอนแรกยอมรับว่าไม่คิดว่ากระแสมันจะมีผลต่อการเลือกตั้งมากมายถึงขนาดนี้ แต่พอในช่วงเหลืออีก 2 วันก่อนจะถึงการเลือกตั้ง ต้องยอมรับว่า กระแส สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากๆ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ส่วนใหญ่ กระแส มักจะเป็นไปในลักษณะวูบวาบภายในระยะเวลาสั้นๆ
...
ส่วนตัวผมตอนแรกยอมรับว่า กระแสน่าจะมีผลเฉพาะในส่วนของ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อเท่านั้น เพราะในการสำรวจความคิดเห็นช่วงโค้งสุดท้าย 7 วันก่อนการเลือกตั้ง พบว่า พรรคก้าวไกล จะได้จำนวน ส.ส.ในลำดับที่ 2 หรือที่ 3 เท่านั้น
แต่แล้วในช่วงเหลืออีก 5 วัน 3 วัน และ 2 วันก่อนเลือกตั้ง กระแสของพรรคก้าวไกลมาแรงมากๆ มีหลายๆ เขตที่ส่งสัญญาณว่าจะกลับมานำ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และบรรดาเขต 1 ของหัวเมืองใหญ่ มันก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณว่า กระแสของพรรคก้าวไกลจุดติดได้แล้ว
โดยกระแสที่เกิดกับพรรคก้าวไกลนั้น มาใน 2-3 ลักษณะ คือ 1. เป็นเรื่องของความเบื่อ หลังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่มานาน 2. มาจากเพราะเศรษฐกิจไม่ดี เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง คนว่างงานมาก 3. เป็นกระแสที่สำคัญที่สุด คือ กระแสของผู้คนที่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ประกอบกับสื่อดิจิทัลที่โหมเข้ามาซึ่งมันตรงกับวัยของคนเจเนอเรชันนี้ มันจึงทำให้กระแสถูกจุดติด และกระแสที่ว่านี้มันยังเป็นมากกว่าแฟชั่น ที่ไม่มีความวูบวาบอีกด้วย
ที่สำคัญมากไปกว่านั้น คือ กระแสที่ว่านี้มันยังลงลึกไปถึงในระดับบ้านใหญ่ที่มีเจ้าของพื้นที่อยู่ แล้วยังสามารถเจาะพื้นที่ต่างๆ ได้ มันก็ยิ่งกลายเป็นประเด็นที่ว่าการสร้างฐานของกลุ่มแฟนคลับ ถ้าพรรคก้าวไกลยังคงสามารถทำได้ดีต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคตพรรคอื่นๆ ก็คงลำบากใจแน่นอน
อย่างไรก็ดี แคมเปญหาเสียงสำคัญที่ทำให้พรรคก้าวไกลได้คะแนนนิยมแบบถล่มทลายย่อมหนีไม่พ้น มีเราไม่มีลุง มีลุงไม่มีเรา ที่แสดงถึงความเด็ดขาดและไปตอกย้ำกับคนที่อาจจะบอกว่า เบื่อลุงมากๆ แล้ว ไม่รู้จะเลือกอะไรดี ก็หันมาทางพรรคก้าวไกลได้แบบเต็มๆ เลย"
ความผิดพลาดของพรรคเพื่อไทย :
“พรรคเพื่อไทยในมุมมองผมคิดว่า น่าจะเป็นเพราะคิดว่ากระแสของฝ่ายตัวเองนำมาตลอด แต่พอมาเจอกระแสของคนที่เลือกพรรคเพื่อไทยแบบอาจจะไม่เต็มใจมากนัก พอมาเจอทางเลือกใหม่แบบพรรคก้าวไกลขึ้นมา ที่ทั้งเป็นฝ่ายเดียวกันและชัดเจนมากกว่า มันก็เลยกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าจะดีกว่าเลือกพรรคเพื่อไทยไปในที่สุด
ความพ่ายแพ้ของเพื่อไทยและขั้วรัฐบาลเดิม :
...
“ส่วนตัวผมคิดว่า ปรากฏการณ์พรรคก้าวไกลที่เกิดขึ้น มันเป็นความพ่ายแพ้ของทั้งพรรคเพื่อไทยและขั้วรัฐบาลเดิมด้วยกันทั้งคู่ โดยขั้วรัฐบาลเดิมจะเห็นได้ชัดเจนว่า ในเชิงปริมาณหรือตัวเลขต่างๆ จะเห็นได้ว่าลดน้อยลง ส่วนในเชิงคุณภาพ ก็จะเห็นได้ว่า ทั้งยุทธศาสตร์การหาเสียง กระแสวิพากษ์วิจารณ์ การแก้เกมอย่างรวดเร็ว หรือแม้กระทั่งการจับจุดประชาชนเป็นรองพรรคก้าวไกลอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจุดนี้เท่ากับเป็นการซ้ำเติมขั้วรัฐบาลเดิมมากขึ้น
ส่วนทางฝ่ายพรรคเพื่อไทย ถ้าจะบอกว่าแพ้ มันก็คือนับตั้งแต่มีการวางเป้าแลนด์สไลด์ พอแลนด์สไลด์ไม่สำเร็จ ก็ลดเป้าลงมาเหลือแค่ขอให้เกินครึ่ง พอมาเป็นขอให้ได้คะแนนเกินครึ่ง ตัวเองก็มีความคิดถึงในแง่ที่ว่าฝ่ายตัวเองมีคะแนนนิยมดี ก็เลยอาจจะละเลยฝ่ายพรรคก้าวไกลมากเกินไปหน่อย (หัวเราะ) เพราะอาจจะคิดว่า จริงๆ แล้วก็อาจจะไม่เป็นไรเสียให้พรรคก้าวไกลก็ยังดีกว่าเสียให้กับฝ่ายขั้วรัฐบาลเดิม เพราะไม่ว่าอย่างไรพรรคก้าวไกลก็ถือเป็นขั้วเดียวกัน ซึ่งอาจจะพูดคุยกันได้ง่ายกว่า”
ความพ่ายแพ้ของกลุ่มบ้านใหญ่ :
...
“ผมคิดว่ามันผสมกันระหว่าง กระแสพรรคก้าวไกล และความระมัดระวังตัวของกลุ่มบ้านใหญ่พรรคเพื่อไทย ที่กลัวว่าหากใช้ยุทธวิธีเดิมๆ อาจถูกอีกฝ่ายที่เฝ้าจับตามองอย่างใกล้ชิดจับผิด จนอาจจะต้องแพ้ฟาวล์ เพราะฉะนั้นบางสิ่งบางอย่างก็อาจจะถูกงัดมาใช้ได้ไม่เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งการหาเสียงด้วยคำพูด หรือการหาเสียงโดยใช้ทรัพยากรทางการเมืองต่างๆ เนื่องจากต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษนั่นเอง”
เพื่อไทย กับ ผลการเลือกตั้ง 2566 :
“ส่วนตัวผมคิดว่า พรรคเพื่อไทยก็คงคิดว่า...เอาละอย่างไรก็เป็นที่ 2 และคนที่เป็นที่ 1 ก็ไม่ใช่คนที่เป็นศัตรูกัน เป็นพรรคพี่พรรคน้องที่เคยต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นแบบนี้มันก็ยังพอทำเนา เพราะหากสมมติคนที่ได้ที่ 1 เป็นฝ่ายขั้วตรงข้ามพรรคเพื่อไทยก็คงไม่แฮปปี้ ซึ่งพอเป็นแบบนี้ พรรคเพื่อไทยก็คงพอจะเก็บอาการอยู่ คือแม้จะไม่ดีใจเต็มที่ แต่ก็ไม่ถึงกับเสียใจ เพราะเอาจริงๆ คะแนนก็เป็นรองไม่มาก การต่อรองก็คงไม่มีอะไรมากมาย เพราะสิ่งสำคัญตอนนี้คือจะทำอย่างไรจึงจะตั้งรัฐบาลให้ได้ก่อน”
...
สมการ 309 เสียง กับการฝ่าด่านสมาชิกวุฒิสภา :
“ส่วนตัวผมคิดว่า ไม่น่าจะเกิดกรณี ส.ว.ลงคะแนนแบบยกแผงให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะมันอาจจะมีทั้ง งดออกเสียงบ้าง หรือเห็นชอบให้กับพรรคก้าวไกลบ้าง เพราะต้องไม่ลืมว่า การให้ ส.ว. ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้นสามารถทำได้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว
ฉะนั้น อนาคตทางการเมืองของ ส.ว. หลายๆ คนก็ยังมีอยู่ที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติและรัฐบาลชุดต่อๆ ไป ฉะนั้นการที่จะมาช่วยอะไรต่างๆ เหล่านี้ หากมองไปไกลๆ ก็อาจจะได้รับโอกาสให้สามารถทำงานทางการเมืองต่อไปได้อีก
ทำให้ ณ เวลานี้ ส่วนตัวผมมั่นใจว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ น่าจะสามารถก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้ถึงประมาณ 80% แล้ว เพราะมาถึงตอนนี้ การพลิกเกมมันทำได้ยากเนื่องจากกระแสประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิใช้เสียงนั้น แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดเหลือเกินว่า...ต้องการความเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นการฝืนกระแสความต้องการของประชาชนจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก” รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ปิดท้ายการสนทนา กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง :