“ยาที่จะนำมาใช้ในมนุษย์ อย่างไรเสีย ต้องทดลองในสัตว์ก่อน หากไม่ทำเช่นนั้น “มนุษย์” จะแปรสภาพเป็นสัตว์ทดลองอีกประเภทหนึ่ง” 

นี่คือ บางท่อนบางตอน ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นายสัตวแพทย์สุรชัย จันทร์ทิพย์ ผอ.ศูนย์ทดลองสัตว์แห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงการทดลองในสัตว์ หลังมีประเด็นที่มีการพูดถึงอย่างกว้างขวางจากภาพยนตร์เรื่อง Guardians of the Galaxy Vol. 3 

ก่อนจะเข้าประเด็นเรื่อง “สัตว์ทดลอง” ผู้เขียนขอเกริ่นนำสักเล็กน้อย ถึงที่มาที่ไปของรายงานพิเศษชิ้นนี้ 

จากภาพประกอบข้างต้น คือ “ร็อกเก็ต” (Rocket) แรคคูนปากแจ๋ว หนึ่งในตัวละครสำคัญของเหล่า “การ์เดียน” โดยภาพยนตร์ได้เล่าย้อนถึงประวัติว่า “เขา” ก็คือ อดีตแรคคูนตัวน้อย ที่ถูกการทดลองอย่างบ้าคลั่ง จนกลายเป็น “นักรบสุดแกร่ง” 

...

และจากหนังเรื่องนี้เอง PETA หรือ องค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ ได้เห็นเรื่องราวเหล่านี้ ถึงกับประทับใจจะมอบรางวัลให้กับผู้กำกับ “เจมส์ กันน์” ในการหยิบประเด็นเรื่องนี้มาสะท้อนในภาพยนตร์ เพื่อหวังเตือนผู้ชมว่า “สัตว์ทุกตัวสมควรได้รับชีวิตที่มีอิสระภายใต้ท้องฟ้าที่เปิดกว้างมากกว่าการถูกคุมขังในกรงห้องปฏิบัติการ”

เมื่อคำถาม ถูกพุ่งเป้าไปที่ “ห้องปฏิบัติการ” เราจึงต้องหาคำตอบว่า ขั้นตอนการทำงานกับ “สัตว์ทดลอง” เป็นอย่างไร โหดร้ายทารุณหรือไม่ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับเป็นอย่างไร แล้วยกเลิกได้หรือไม่ เชื่อว่าใครที่กดเข้ามาอ่านรายงานพิเศษชิ้นนี้คงอยากรู้คำตอบ แล้วจะรอช้าทำไม เลื่อนลงมาได้เลย...

ความจำเป็นของ “สัตว์ทดลอง” กับงานด้านวิทยาศาสตร์ 

นายสัตวแพทย์สุรชัย เกริ่นนำว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่ชื่อว่า พ.ร.บ.สัตว์เพื่องานวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่ควบคุมการใช้สัตว์เพื่อการทดลองวิจัย 

“สัตว์ทดลอง” มีความสำคัญในระดับ “โครงสร้างพื้นฐาน” เหมือนกับ ไฟฟ้า น้ำประปา มีความสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งไฟฟ้า ประปา มีความสำคัญกับทุกกิจกรรมในประเทศ หากขาดไฟฟ้า หรือประปา จะกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งระบบเศรษฐกิจ 

สำหรับ “สัตว์ทดลอง” ก็เป็นแบบนั้น มีความสำคัญมากในการสร้าง “องค์ความรู้ใหม่” หลายด้าน อาทิ 

1. ได้เรียนรู้ว่า “ร่างกาย” มีกระบวนการทำงานอย่างไร ในระดับ โมเลกุล  

2. การวิจัยเพื่อพัฒนาเกี่ยวกับชีวะการแพทย์ เช่น วิจัยยาใหม่ ทั้งนี้ การวิจัยอาจจะได้ผลทดลองดีมาก แต่ก่อนจะนำไปใช้ในมนุษย์ อาจต้องมีการนำไปทดลองกับสัตว์ เป็นการวิจัยระดับคลินิก เพื่อดูว่า ประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ปลอดภัย มีความเป็นพิษต่อร่างกายหรือไม่ 

“ถ้ามีประสิทธิภาพสูง หากมีความเป็นพิษสูงด้วย แบบนี้จะเป็นข้อมูลเพื่อให้คุณหมอนำมา “ควบคุมการใช้งาน” อย่างไร เพราะยาที่มีประสิทธิภาพสูงหลายชนิด ก็มีพิษค่อนข้างสูงตามไปด้วย” เช่น การรักษามะเร็งแบบ “คีโม”ากใช้อย่างปราศจากความรู้ มันจะกลายเป็น “ยาพิษ” รักษามะเร็งได้ แต่ก็เป็นพิษต่อเซลล์มนุษย์ด้วย”

มีข้อมูลอีก 1 ชุดว่า ยาจำนวนมากที่ผ่านการทดลอง เมื่อนำมาใช้กับมนุษย์ มีเปอร์เซ็นต์สูงที่ไม่ประสบความสำเร็จและเลิกใช้ไป...? ผอ.ศูนย์ทดลองสัตว์แห่งชาติ อธิบายว่า มียาหลายร้อยขนานที่มีการทดลองกับสัตว์และสุดท้ายกลายมาเป็นยา หรือเครื่องมือแพทย์ 

ยกตัวอย่าง เรามี ยาชนิด A แต่ไม่มีความปลอดภัย และมีหลายแบบ เป็นสิบเป็นร้อยแบบ นักวิจัยต้องตัดยาชนิด A จากร้อยชนิด เหลือ สิบชนิด สุดท้ายกลายมาเป็นยาที่ปลอดภัย ฉะนั้น จึงเป็นคำตอบว่าทำไมถึง “หลีกเลี่ยง” ไม่ได้ ที่จะมีการทดลองในสัตว์ก่อน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากมาก ที่นำยาที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดแล้วนำมาใช้ในคนทันที

...

3. การวิจัยที่ได้ บางส่วนจะนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือแพทย์ ซึ่งถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ปัจจุบัน ประเทศไทย นำเข้าเครื่องมือแพทย์จำนวนมาก ฉะนั้น ประเทศไทย จึงมีแนวคิดในการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ ซึ่งอาจจะมีการวิจัยกับสัตว์ก่อน...

จริยธรรมในการดูแล “สัตว์ทดลอง” 

ผอ.ศูนย์ทดลองสัตว์แห่งชาติ ม.มหิดล อธิบายว่า ตามกฎหมาย มีข้อกำหนดว่า หน่วยงานใดที่เป็นหน่วยงานวิจัย จะต้องไปขึ้นทะเบียนหน่วยงานวิจัยกับองค์กรของรัฐ ในที่นี้ คือ สถาบันพัฒนาสัตว์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งขึ้นกับ ทางกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) หากหน่วยงานใดจะทำการวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ จำเป็นต้องเซตองค์กรให้ได้มาตรฐาน เช่น มีคณะกรรมการจริยธรรม เรียกคณะกรรมการการเลี้ยงและการใช้สัตว์ ซึ่งโครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหาร สัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิ และคนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ด้วย

“เจตนารมณ์ในการให้คนนอกที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการด้วย เพราะบางครั้ง คนในวงการแพทย์ และ วิทยาศาสตร์ จะมองไม่เห็นภาพในเชิงสาธารณะ หากเรามีคนที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ด้วย คนคนนั้นก็อาจจะสะท้อนภาพที่คนวงในมองไม่เห็น อย่างเราได้คนของภาคสังคมมา เช่น เขาอาจจะตั้งคำถามในการทดลองว่า “คุณใช้สัตว์เยอะเกินไปหรือไม่ วิธีการทดลองของคุณน่ากลัว หรือทรมานเกินไปหรือเปล่า” ตรงนี้เองคือภาพสะท้อนให้สังคมได้เห็น  

...

ส่วนการคัดเลือกบุคคลภายในนอก จำเป็นต้ององค์กรเกี่ยวกับสัตว์หรือไม่ นายสัตวแพทย์สุรชัย กล่าวว่า บางคนเรียก Non Affiliate หรือ Non Public Person ยกตัวอย่างกรณีของ ศูนย์ทดลองสัตว์แห่งชาติ เราจะไปทาบทาม ที่ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์และคนของศูนย์ฯ ซึ่งเป็นใครก็ได้ โดยเบื้องหลังของเขาต้องไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เป็นนักกฎหมาย บรรณารักษ์ นักกิจกรรม ก็ได้ และเมื่อได้มาแล้วก็จะมีการฝึกอบรม พัฒนาแนวความคิด กับกรรมการกำกับดูแล เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์และไม่ใช่ เพื่อเข้าใจวิธีความคิดในการใช้งานสัตว์ โดยเป็นใครก็ได้ 

ขั้นตอนการ “ทดลองกับสัตว์” กับ “จรรยาบรรณ” ที่มีการควบคุม  

นายสัตวแพทย์สุรชัย อธิบายว่า กฎหมายกำหนดให้สถาบันวิจัยฯ ไปจดแจ้งแล้ว ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานก็ต้องไปขึ้นทะเบียน เป็นผู้ปฏิบัติการเกี่ยวกับสัตว์ด้วย เรียกว่าไปสอบใบอนุญาตก่อน 


สิ่งสำคัญคือ ผู้ที่ปฏิบัติงานกับสัตว์ ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับจรรยาบรรณ 5 ข้อ 


1. หลีกเลี่ยงการใช้สัตว์ ยกเว้นว่ามีเหตุผลเพียงพอว่าจำเป็น : 

นักวิจัยทุกคน ต้องแน่ใจว่า การทดลองนั้นไม่มีวิธีอื่นแล้ว เพราะงานบางชนิดมีการทดลองแบบอื่นได้ อาทิ การใช้เซลล์ หรือใช้คอมพิวเตอร์ ซิมโมเลชัน เช่น การวิจัยในระดับโมเลกุล ซึ่งอาจจะใช้แทนสัตว์ได้ เพราะมีการจำลอง การออกฤทธิ์ของยา 

...

2. หากมีความจำเป็น ต้องใช้ให้น้อยที่สุด แต่ต้องคงความแม่นยำทางสถิติ :

คำว่า “น้อยที่สุด” วัดจากอะไร ทีมข่าวถาม นายสัตวแพทย์สุรชัย ตอบว่า การออกแบบงานวิจัยมีหลายมาตรฐาน หลายแบบ แต่งานแต่ละชนิดจะมี “ไกด์ไลน์” ในมาตรฐานในระดับโลกรองรับ เขาจะระบุมาเลยว่า “สัตว์ทดลอง” ที่ควรใช้งานได้ที่เท่าไร ซึ่งวิธีการดีที่สุด ก็คือ ใช้ตามไกด์ไลน์ 

อีกแบบ คือ การคำนวณแบบ “sample size” โดยมีการคำนวณขนาดแบบทดลองที่ใช้ ซึ่งจำเป็นต้องคำนวณสัตว์ทดลองที่จะใช้ หากต้องการ “ความแม่นยำ” ที่มาก สัตว์ที่ทดลองอาจจะต้องมากจำนวนหนึ่ง เพราะป้องกัน standard deviation (ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) 

อีกกรณีหนึ่ง หากจำเป็นต้องใช้สัตว์ทดลองที่มีความจำเพาะ เราอาจจะใช้น้อยกว่า 

3. เทคนิคการปฏิบัติกับสัตว์ ทำให้สัตว์บาดเจ็บน้อยที่สุด : 

นายสัตวแพทย์สุรชัย กล่าวว่า การดูแลสัตว์ทดลอง จะต้องให้เขาเจ็บน้อยที่สุด ตั้งแต่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี กระบวนการขนส่ง เลี้ยง และการปฏิบัติกับสัตว์ ถ้ามีการผ่าตัด ก็ต้องมีการวางยาสลบ พอสัตว์ฟื้น ต้องให้ยาแก้ปวดกี่วัน การดูแลหลังผ่าตัด ต้องแสดงให้คณะกรรมการดูแล เห็นว่า ผู้ปฏิบัตินั้นทำได้ โดยต้องมีอุปกรณ์และยาเพียงพอในทุกขั้นตอน 

4. การอนุรักษ์ :

หมายถึงการใช้สัตว์ทดลอง จะต้องเป็นสัตว์ที่มี “พื้นฐาน” ของสัตว์ทดลองเท่านั้น โดยไม่ควรที่จะนำสัตว์ชนิดอื่นมาใช้ เพราะจะไม่มีความแม่นยำ หรือบางงานวิจัย ที่จำเป็นต้องใช้ “สัตว์ป่า” ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีการคุ้มครองสัตว์นั้นๆ 


5. การบันทึกข้อมูล : การปฏิบัติต่อสัตว์ไว้เป็นหลักฐานอย่างครบถ้วนทุกขั้นตอน

ศูนย์ทดลองสัตว์แห่งชาติ กับสัตว์ทดลอง 

นายสัตวแพทย์สุรชัย กล่าวว่า ศูนย์ทดลองสัตว์แห่งชาติ มีสัตว์อยู่ 4 ชนิด ประกอบด้วย 

1. หนู Mouse (บางคนเรียก หนูถีบจักรตัวเล็กๆ) ใช้งานประมาณหมื่นตัว/ปี 

2. หนู Rat (หนูตัวใหญ่กว่า Mouse ประมาณ 10 เท่า) ใช้งานหลักพันตัวไม่ถึงหมื่น/ปี

3. หนูตะเภา ใช้งาน 2-3 พันตัว 

4. กระต่าย 800-900 ตัว/ปี 

“สัตว์ทดลองของศูนย์ จะให้บริการด้านงานวิจัยด้าน “ชีวการแพทย์” เท่านั้น ไม่เหมือนหน่วยงานบางหน่วย ที่ให้บริการด้านสัตว์ทดลอง ชนิดอื่น เช่น ลิง” 

ชะตากรรม “สัตว์ทดลอง” หลังการทดลอง

จากคำถามข้างต้น นายสัตวแพทย์สุรชัย อธิบายว่า เวลาทดลองกับสัตว์ สิ่งที่เราต้องการคือ ผลที่ได้จากการศึกษาผลกระทบ กับร่างกายเขา จากนั้นจะถูกส่งไปห้องแล็บ เพื่อทำให้เขา “หลับอย่างสงบ” อาจจะมี “ยา” หรือ “แก๊ส” รมให้เขาสลบ โดยที่เขาจะไม่เจ็บปวด ในระหว่างที่เราปฏิบัติกับเขา จากนั้นเราก็เก็บตัวอย่างอวัยวะภายใน เช่น ปอด หัวใจ ตับ ม้าม เพื่อดูผลกระทบ 

“สัตว์ทดลองขนาดใหญ่ กับเล็ก การทดสอบจะแตกต่างกัน หากเป็นสัตว์ใหญ่จะไม่มีหลาย treatment เช่น ลิง สุนัข เขาจะมีช่วงรอให้สารทดสอบหมดฤทธิ์ ทิ้งไว้ 2-6 เดือน จากนั้นก็เอากลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ทั้งนี้ หากมีการทดสอบเสร็จสิ้นแล้ว นักวิจัยเขาก็จะเก็บตัวอย่างภายใน ซึ่งตรงนี้ถือเป็น “ข้อมูล” สำคัญ หากไม่มีข้อมูลที่มีผลต่ออวัยวะต่างๆ การวิจัยก็ไปต่อไม่ได้ สารที่เป็นตัวยาที่ดี เราอาจจะไม่ทราบว่า จะมีผลต่ออวัยวะใด”

โอกาสยกเลิก “สัตว์ทดลอง” และผลลัพธ์ที่ตามมา 

กับคำถามว่า มีโอกาสยกเลิก การใช้ “สัตว์ทดลอง” งานวิจัยหรือไม่ 

นายสัตวแพทย์สุรชัย กล่าวว่า กลุ่มที่ใช้ “สัตว์ทดลอง” เป็นหลัก ส่วนมากจะนำไปทำยา และเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมต่างๆ หรือแม้แต่วัคซีนโควิดที่ผ่านมา ก็มีการทดลอง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ก็จะใช้ตามวัตถุประสงค์ของคณาจารย์ทางการแพทย์ เช่น บางคนศึกษาเรื่องกระดูก ก็นำไปใช้ศึกษาเรื่องการเจริญเติบโตของกระดูก 

ถามว่า โอกาสยกเลิกการใช้ “สัตว์ทดลอง” นายสัตวแพทย์สุรชัย ขอตอบในนามส่วนตัวว่า ไม่สามารถยกเลิกได้ แต่ลดจำนวนทดลองได้ โดยต้องควบคุมการใช้ให้มีเหตุและผลเพียงพอ 

“ยาที่จะนำมาใช้ในมนุษย์ อย่างไรเสีย ต้องทดลองในสัตว์ก่อน หากไม่ทำเช่นนั้น 'มนุษย์' ก็จะแปรสภาพเป็นสัตว์ทดลองอีกประเภทหนึ่ง เพราะเราจะยังไม่รู้ผล หรือประสิทธิภาพใดๆ แต่ว่า เวลาที่จะใช้ เราต้องมีเหตุผลที่ดีกับสัตว์ทดลองนั้นๆ ฉะนั้น เราจะไม่ใช้พร่ำเพรื่อ โดยไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เพียงพอ” 

คนที่ปฏิบัติกับสัตว์ทดลอง แม้จะมีภาพดูโหดร้าย แต่ในฐานะที่ทำงานด้านนี้ อยากบอกว่า คนที่ปฏิบัติกับสัตว์ ไม่ได้เป็นแบบที่สังคมมอง หรือบุคคลภายนอกมอง เพราะก่อนที่เราจะใช้สัตว์ทดลอง ทุกคนจะต้องมีเหตุผลอย่างแข็งแรงเพียงพอว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นประโยชน์ เป็นองค์ความรู้ นวัตกรรม หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ หากทำตรงนี้ได้ จะส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของทั้งคนและสัตว์เองในอนาคต เพราะ “องค์ความรู้ที่ลึกซึ้งเพียงพอ” จะสามารถแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

กับคำถามสุดท้ายว่า คนที่ทำงานกับสัตว์ ย่อมมีความผูกพันกัน แล้วจะ...  นายสัตวแพทย์สุรชัย ตอบว่า ทีมผมทุกคน หลังทำงานกับสัตว์มาสักระยะ แน่นอนย่อมมีความผูกพัน ฉะนั้น สิ่งที่เขาทำได้ คือ การเลี้ยงดูเขาให้ดีที่สุด ในตอนที่เขายังอยู่กับเรา เท่าที่จะเป็นไปได้... 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ