สูตรจัดตั้งรัฐบาล ยังคงต้องจับตาว่าจะมีงูเห่าทางการเมือง และคำมั่นสัญญาของพรรคการเมืองที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง ถึงการไม่จับขั้วกัน จะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ โดยเฉพาะ พรรคก้าวไกล ยังคงต้องฝ่าด่าน ส.ว. ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญหลังจากนี้
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วิเคราะห์กับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า การเลือกตั้ง 2566 คนรุ่นใหม่มีการตื่นตัวในการออกมาใช้สิทธิมากขึ้น แต่การจัดตั้งรัฐบาลจะมีปัจจัยหลายขั้นตอน โดยเฉพาะกระแสของพรรคการเมืองที่เป็นแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยสูตรการจัดตั้งรัฐบาลจะประกอบด้วย 5 แบบดังนี้
- พรรคร่วมรัฐบาลเดิมจับขั้วกัน กลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว. 250 เสียง แต่การจะเกิดขึ้นได้ต้องมีคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 240 เสียงในสภา ถ้าน้อยกว่านี้ เป็นเรื่องยากที่จะเกิดงูเห่า ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้ทิศทางการเมืองเปลี่ยนมาในจุดนี้ได้
- พรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม คือ พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ รวมกัน แล้วได้รับเลือกเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูง เนื่องจากมีกระแสการสนับสนุนของประชาชน แต่ ส.ว.จะเอาด้วยกับการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ หากมีพรรคก้าวไกลที่อยู่ในการตั้งรัฐบาล
- รัฐบาลข้ามขั้ว มีส่วนผสมจากพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลเดิม เช่น พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เสรีรวมไทย ประชาชาติ ชาติไทยพัฒนา โดยไม่มี พรรคก้าวไกล และ รวมไทยสร้างชาติ ถ้าทั้ง 2 พรรคที่อยู่คนละขั้วถูกผลักให้เป็นฝ่ายค้าน จะทำให้ขั้วรัฐบาลมีความเข้มแข็ง เนื่องจากฝ่ายค้านไม่มีเอกภาพ
- นายกฯ คนนอก รัฐธรรมนูญยังเปิดช่องให้สามารถทำได้ หากแต่ละฝ่ายตกลงหานายกฯ ที่สามารถยุติความรุนแรงทางการเมืองไม่ได้ นี่จึงเป็นอีกโมเดลท้าทาย แต่อาจมีแรงเสียดทานจากประชาชน และนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองครั้งใหม่
- เลือกนายกฯ ไม่ได้ เพราะคะแนนเสียง ส.ส. และ ส.ว. รวมกันแล้วไม่ถึง 376 เสียง ยังสามารถเกิดขึ้นได้ กรณี ส.ว. โหวตไม่ลงคะแนนเสียง นำไปสู่การยุบสภา ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่
...
เพื่อไทย แกนนำจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว
รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า จากการประเมินสูตรจัดตั้งรัฐบาล มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิด “รัฐบาลข้ามขั้ว” พรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลเดิมรวมตัวกัน แล้วผลักให้ก้าวไกล และรวมไทยสร้างชาติ เป็นฝ่ายค้าน เนื่องจากการเลือกนายกฯ ส.ว. เป็นตัวแปรสำคัญ หากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล การให้ ส.ว.ยอมรับและเลือกแกนนำของพรรคเป็นนายกฯได้ ต้องไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาล
“ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล เป็นกระแสนิยมของคนรุ่นใหม่ แต่อย่าลืมว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 ทำให้เกิดการแยกกันระหว่างการเลือกตั้งกับการจัดตั้งรัฐบาล การจัดตั้งรัฐบาลอาจไม่ได้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชน และทำให้เกิดความรุนแรงทางการเมืองตามมาอีกระลอก ถ้านายกฯ ไม่ตรงปก”
ตัวเต็งครองเก้าอี้นายกฯ คนถัดไปยังเป็น อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร แม้ก่อนหน้านี้กระแสของพรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนนิยมลดลง เนื่องจาก คุณอิ๊งค์ ลาไปคลอดลูก และความไม่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทย ทำให้กระแสนิยมตกลง แต่สุดท้ายเพื่อไทยยังครองตำแหน่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะฐานเสียงสำคัญของเพื่อไทยอยู่ที่ ส.ส.เขต ทำให้มีแนวโน้มว่าจะมี ส.ส.มากกว่าพรรคก้าวไกล
การเลือกตั้งครั้งนี้คนทุกกลุ่มมีการตื่นตัวในการเลือกตั้ง เพราะเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ ท่ามกลางการแบ่งขั้วการเมือง จึงเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูง หากย้อนกลับไปถึงการเลือกตั้งในปี 2531 เรื่อยมา จำนวนผู้ใช้สิทธิมีเพิ่มมากขึ้นมาโดยตลอด ทำให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงการออกคะแนนเสียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น.