1 พฤษภาคม วันแรงงานแห่งชาติ แต่แรงงานไทยกำลังเจอวิกฤติหนัก โดยเฉพาะแรงงานในโรงงาน เนื่องจากนายจ้างเริ่มใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ ขณะเดียวกันก็เริ่มหันมาใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งข้อเสนออยากให้เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำวันละ 500 บาท ทั่วประเทศ

มนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวกับทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ยังเป็นแนวทางที่ไม่ยั่งยืน ควรมีการกำหนดว่า ให้ค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่แรกเข้า และต้องมีโครงสร้างปรับเงินเดือนประจำปี ขณะเดียวกันค่าแรงขั้นต่ำ ต้องเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ

“การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะปรับขึ้นตามประเด็นทางการเมือง แต่ไม่ได้ปรับตามปัจจัยของเศรษฐกิจ เลยทำให้อัตราค่าแรงขั้นต่ำของไทย บางช่วงก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด แต่บางครั้งก็ไม่ได้ปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจ”

แรงงานที่น่าเป็นห่วงจะเป็นกลุ่มงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะ เพราะต่อไปการจ้างงานในประเทศไทยจะเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี โดยเฉพาะการจ้างงานในโรงงานจะลดลง ผู้ประกอบการจะใช้ระบบเอไอเข้ามาแทนคน ขณะเดียวกันนายจ้างก็จะหันไปจ้างแรงงานต่างด้าวมากขึ้น เนื่องจากมีค่าแรงที่ถูก ส่วนแรงงานไทยจะถูกจ้างเป็นระบบเอาต์ซอส

...

สิ่งนี้ทำให้แรงงานไทย ต้องออกมาประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น เช่น ไรเดอร์ ดังนั้นกฎหมายแรงงานจะต้องช่วยเหลือ แรงงานที่อยู่นอกระบบอย่างเท่าเทียมตามกฎหมาย สิ่งที่รัฐบาลชุดต่อไปจะต้องเร่งทำ คือการแก้กฎหมายแรงงานทั้งในและนอกระบบ ให้มีการคุ้มครองที่เท่าเทียม

“การแก้กฎหมายแรงงาน จะทำให้แรงงานนอกระบบมีสิทธิประกันสังคมแบบถ้วนหน้า และมีเงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย เช่น คนขับมอเตอร์ไซค์วิน ขับแท็กซี่ เมื่อเจ็บป่วยต้องมีเงินทดแทนในช่วงที่ขาดรายได้ แม้การรักษาพยาบาลจะสามารถใช้บัตรทองได้ ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐต้องมีระบบประกันรายได้ให้กับแรงงาน”

รายได้ที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายปัจจุบันควรได้วันละ 500–600 บาท สิ่งที่สำคัญควรมีการพัฒนาทักษะให้กับแรงงาน และแรงงานในอนาคตต้องมีหลายอาชีพในการเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง เพราะปัจจุบันโลกออนไลน์เติบโตมากขึ้น หากแรงงานสามารถสร้างรายได้เพิ่มได้ ย่อมเป็นผลดีต่อแรงงานในภาพรวมของประเทศ

สำหรับแรงงาน การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่สำคัญ จึงควรพิจารณาให้เหมาะสม เพราะการแพร่ระบาดของโควิด หลายปีที่ผ่านมา แรงงานประสบปัญหาทำให้หลายคนตกงาน แม้ในช่วงเวลานี้หลายคนก็อยู่ในระหว่างหางานใหม่ ดังนั้นแรงงานไทยต้องยอมรับว่า อาชีพในโรงงานอาจไม่มั่นคงเหมือนในอดีต

“อยากให้แรงงานอย่าปฏิเสธโครงการต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มทักษะแรงงาน ขณะเดียวกันคนจ้างงานต้องจ้างงานอย่างเป็นธรรม และสร้างความมั่นคงให้กับแรงงาน แต่ตอนนี้ หน่วยงานรัฐหลายแห่งก็ยังจ้างงานแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ลูกจ้างเหมาบริการ มีกว่า 5 แสนคน ทั่วประเทศ พอทำงานถึงอายุ 60 ปี จะไม่มีบําเหน็จบํานาญ ดังนั้นควรมีระบบที่เข้าไปช่วยเหลือแรงงานเหล่านี้”.