รับฟังบทวิเคราะห์ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ เหตุใด พรรคก้าวไกล จึงเป็นตัวแปร ใน 3 สูตรจัดตั้งรัฐบาลหลังวันที่ 14 พ.ค.

“จากการวิเคราะห์ของผมคิดว่า หลังการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 66 น่าจะมีความเป็นไปได้สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่อยู่ 3 Scenario และทั้ง 3 ฉากทัศน์นี้จะมีพรรคก้าวไกลเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดจำนวน ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย ว่าจะได้มาก น้อย หรือ ปานกลาง” ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เริ่มต้นการสนทนา กับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า

...

Scenario 1. พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ภูมิใจไทย จับมือตั้งรัฐบาล 370 เสียง :

ความน่าจะเป็น 20% :

“สำหรับ Scenario แรกนี้ เรียกว่าเป็นรัฐบาลในฝันก็แล้วกัน (หัวเราะ) คือ พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์รวมกัน 260 เสียง พรรคก้าวไกล ได้ประมาณ 40-45 เสียง พรรคเสรีรวมไทย ได้สัก 5-6 เสียง ส่วนพรรคภูมิใจไทย ได้อีกสักประมาณ 60 เสียง รวมกันเป็น 370 เสียง ส่วนอีกสักประมาณ 5-6 เสียง เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. มันก็น่าจะไม่ยากแล้ว 

หากแต่จะเกิดกรณีแบบนี้ได้แน่นอนว่าทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะต้องได้ ส.ส.รวมกันเพียงไม่เกิน 60 เสียงเท่านั้น ซึ่งทำให้ความน่าจะเป็นสำหรับฉากทัศน์แรกนี้ อยู่ที่เพียงสักประมาณ 20% 

สำหรับสมการนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากเวลาพูดว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.มากๆ แล้ว พรรคก้าวไกลจะได้ด้วย มัน...(เว้นเสียง) ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เนื่องจากถ้าหาก พรรคเพื่อไทยได้เยอะเมื่อไหร่ พรรคก้าวไกลก็ต้องได้น้อยลง เพราะคะแนนของทั้งสองพรรคนี้จะต้องตัดกัน ยกตัวอย่างเช่น สมมติพรรคเพื่อไทยได้ 260 เสียง ก็แปลว่า จะต้องได้ ส.ส.เขต สักประมาณ 210 คน ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกประมาณ 50 คน เมื่อเป็นแบบนี้ก็แปลว่า...แทบจะไม่มีการแบ่ง ส.ส.ให้กับพรรคก้าวไกล หรือ อาจจะรวมถึง พรรคเสรีรวมไทย เลย   

โดยสาเหตุที่ทำให้คะแนนตัดกัน เพราะคะแนนที่พรรคก้าวไกลจะได้มันเป็นคะแนนกระแส คะแนนของคนอายุน้อยๆ ที่ชอบการเปลี่ยนแปลง ทีนี้คนอายุน้อยที่ชอบการเปลี่ยนแปลงมันมีทั่วๆ ไป และไม่กระจุกอยู่ที่ภาคใดภาคหนึ่ง ซึ่งในเขตเลือกตั้งที่มันพีกๆ ค่าเฉลี่ยคะแนนมันก็จะอยู่ที่ประมาณสัก 25,000 คะแนน ส่วนในเขตเลือกตั้งที่ไม่พีกมาก ค่าเฉลี่ยคะแนนก็จะอยู่ที่สักประมาณ 15,000 คะแนน เมื่อเป็นแบบนี้มันจึงไม่มากพอที่จะส่งให้ผู้สมัครพรรคก้าวไกล ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขตได้ และในขณะเดียวกันค่าเฉลี่ยคะแนนที่ว่านี้มันยังเป็นตัวเลขที่สูงมากพอที่จะไปตัดให้ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยแพ้คู่แข่งได้อีกด้วย" 

สมการการเมือง ก้าวไกล ตัดคะแนน เพื่อไทย :  

“สำหรับประเด็นนี้ ในความเห็นผมอยากให้ลองไปมองคะแนนย้อนหลังในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งในเวลานั้น ยังไม่มี พรรคอนาคตใหม่ หรือ พรรคก้าวไกล ในปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้ทั้งหมด 240 เขต จากทั้งหมด 375 เขต ซึ่งหากนำไปเทียบบัญญัติไตรยางค์แบบกลมๆ กับ การเลือกตั้งปี 2566 มันก็จะเท่ากับประมาณ 210 เขต จากทั้งหมด 400 เขต 

แต่ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้เพียง 137 เขต จากทั้งหมด 400 เขต ซึ่งสาเหตุมันไม่ได้มาจากปัจจัยเพียงแค่ว่า...พรรคพันธมิตร อย่างพรรคไทยรักษาชาติที่ส่งผู้สมัครมากกว่า 100 เขต โดนยุบพรรคไปเสียก่อน 

เพราะหากลองพิจารณาดูให้ดีจะพบว่าในจำนวน 100 กว่าเขต ที่พรรคไทยรักษาชาติ ส่งผู้สมัครลงนั้น ส่วนใหญ่เป็นเขตเลือกตั้งที่พรรคเพื่อไทยเคยพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 อยู่แล้ว จึงได้ให้พรรคไทยรักษาชาติส่งผู้สมัครลงไปสู้แทน 

...

ฉะนั้น คะแนนในเขตเลือกตั้งที่พรรคอนาคตใหม่ (ณ ขณะนั้น) ได้ในเขตเลือกตั้งที่มีผู้สมัครจากพรรคไทยรักษาชาติ หรือ ถ้าจะให้พูดอีกนัยหนึ่ง คือ พรรคเพื่อไทยสาขา 2 เมื่อการเลือกตั้งปี 2562 จึงเป็นการแบ่งคะแนนกันระหว่าง พรรคเพื่อไทย กับ พรรคอนาคตใหม่ ในสัดส่วนสักประมาณ 60 ต่อ 40 หรือ บางเขตอาจจะถึง 50 ต่อ 50 เพราะฉะนั้นในความเห็นผมจึงเชื่อว่า การตัดคะแนนระหว่าง เพื่อไทยและก้าวไกล มีอยู่จริง! (เน้นเสียง) 

ส่วนหากถามว่าการตัดคะแนนกันระหว่างเพื่อไทย และ ก้าวไกล ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค. นี้ จะมากหรือน้อยแค่ไหน นั้น ในความเห็นผมคิดว่า...ขึ้นอยู่กับกระแสของพรรคก้าวไกลว่าจะมีมากหรือน้อยแค่ไหน หากกระแสมีมาก บางทีอาจจะถึงในระดับ 50 ต่อ 50 ก็เป็นได้ และประเด็นนี้น่าจะเหตุผลสำคัญที่ว่า เพราะอะไรพรรคเพื่อไทย จึงต้องกลัว พรรคก้าวไกล ณ วันนี้!”

Scenario 2. ขั้ว 2 ลุง จับมือตั้งรัฐบาล 240 เสียง :

ความน่าจะเป็น : 30%

สำหรับฉากทัศน์นี้จะแตกต่างสุดขั้วกับ Scenario แรก นั่นคือ พรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์รวมกันเพียง 200 เสียง พรรคก้าวไกลได้ 40 เสียง พรรคเสรีรวมไทยและพรรคประชาชาติได้รวมกันสัก 10 เสียง รวมกันเป็น 250 เสียง ซึ่งเสียงปริ่มน้ำแบบนี้อันตรายมากสำหรับการเป็นรัฐบาล 

...

เมื่อฝ่ายนี้ได้น้อย อีกฝ่ายก็ต้องได้มากขึ้น ตามสมการก้าวไกลตัดคะแนนเพื่อไทย ด้วยเหตุนี้ พรรคภูมิใจไทย ซึ่ง Scenario แรกประเมินไว้ว่าจะได้สัก 60 เสียง ก็อาจจะได้เพิ่มเป็น 80 เสียง พรรคพลังประชารัฐที่ Scenario แรกประเมินไว้ว่าจะได้ต่ำกว่า 40 เสียง ก็อาจจะได้เพิ่มเป็น 50 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ น่าจะได้สักประมาณ 25 เสียง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้เท่าๆ กับการเลือกตั้งปี 62 คือ 50 เสียง เมื่อรวมกันก็จะได้ประมาณสัก 210-230 เสียง 

เมื่อไปรวมกับพรรคอื่นๆ ในกรณีที่รวมมาได้ทั้งหมด มันก็จะได้ 240 เสียงปลายๆ ซึ่งมันก็จะคล้ายๆ กับการเลือกตั้งครั้งที่แล้วแต่สลับข้างกัน ซึ่งหากเป็นแบบนี้ พรรคเพื่อไทย จะอดเป็นรัฐบาลทันทีเพราะขั้วสองลุงมีสมาชิกวุฒิสภาคอยสนับสนุนอยู่  

สาเหตุที่ Scenario 2 มีโอกาสมากกว่า Scenario 1 เพราะกระแสพรรคก้าวไกลมันมาแล้ว และหากพรรคก้าวไกลยังไม่ถูกเบรกอีกนะ พรรคก้าวไกลจะไปต่ออีกจนกระทั่ง พรรคเพื่อไทย จะเป็นเหมือนการเลือกตั้งปี 2562 อีกครั้ง!

...

คือแบบนี้นะ...พรรคก้าวไกลเขาตั้งใจแน่ๆ มีการสร้างกระแสตัวเองโชว์ทุกฝีมือที่มีตามเวทีดีเบตต่างๆ โชว์ทุกกระบวนท่าในการจัดการปราศรัยในกิจกรรมหาเสียงแต่ละครั้ง ลุยเต็มที่ในทุกช่องทางสื่อหลัก นี่คือความตั้งใจของพรรคก้าวไกลในการเพิ่มคะแนนเสียงให้กับตัวเอง 

และในอีกด้านหนึ่ง...มันก็คือความไม่ตั้งใจของพรรคก้าวไกล แต่มีคนคอยส่ง (หัวเราะ) ก็คือฝ่ายขั้วตรงข้าม เพราะฝ่ายนั้นเขารู้ว่า ถ้าพรรคก้าวไกลมาเมื่อไหร่ คะแนนพรรคเพื่อไทยจะลด เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องหาทางเพิ่มกระแสให้กับพรรคก้าวไกลเพื่อเป็น...คู่ชกหลัก หากลองสังเกตดีๆ ตอนนี้ทุกพรรคกำลังลุยกับพรรคก้าวไกลเป็นหลัก เพราะการลุยกับก้าวไกลเป็นหลัก มันจะส่งผลให้ 1.ไปเพิ่มฐานคะแนนเสียงให้กับฝ่ายตัวเอง ให้รู้สึกหวาดกลัวเพื่อให้ออกมาโหวตให้กับฝ่ายตัวเอง 2.การทำให้พรรคก้าวไกล อยู่ในซีนของการเป็นคู่ต่อสู้ของขั้วตรงข้ามสองลุง มันก็จะยิ่งทำให้คนที่ไม่ชอบขั้วสองลุง ต้องไปโหวตให้กับพรรคก้าวไกลมากขึ้นด้วย คือ...เมินพรรคเพื่อไทยไปเลย"  

พรรคเพื่อไทย ทำพลาดจุดไหนจึงทำให้สมการแลนด์สไลด์ไม่เกิดขึ้น : 

สำหรับ Scenario 2. นี้ จุดผิดพลาดหลักที่ทำให้ พรรคเพื่อไทยลดความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดปรากฏแลนด์สไลด์ ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า น่าจะเป็นเพราะพรรคเพื่อไทย ไม่ยอมประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่า...จะจับมือกับพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล ทั้งๆ ที่จุดที่ดีที่สุดสำหรับพรรคเพื่อไทย คือ ต้องประกาศออกไปให้ชัดเจนว่า หากแลนด์สไลด์ พรรคแรกที่จะชวนมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล คือ พรรคก้าวไกล 

แต่ในมุมของพรรคเพื่อไทย มันอาจมีความเป็นไปได้ว่า หากประกาศออกไปแบบนั้น อาจจะทำให้ผู้สนับสนุนรู้สึกว่า...เลือกใครก็เหมือนกัน แล้วคะแนนมันอาจจะไปที่พรรคก้าวไกลมากขึ้น ทั้งๆ ที่ในความเห็นผม วันนี้คนที่โลเลแล้วเทไปที่พรรคก้าวไกลมากขึ้น เป็นเพราะพรรคเพื่อไทยเองนั่นแหละที่ไม่ชัดเจนกับพรรคก้าวไกล จนกระทั่งทำให้คนเชื่อเรื่องดีลลับว่าจะมียกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มากขึ้นทุกที และตอนนี้แม้จะพยายามแก้เกมอย่างไรคนก็ไม่เชื่อแล้ว เพราะพรรคเพื่อไทยไม่ยอมพูดออกมาสักทีว่าจะรวมกับพรรคก้าวไกลเป็น ตัวเลือกที่ 1 

Scenario 3. พรรคเพื่อไทย ก้าวไกล พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย จับมือตั้งรัฐบาล :

ความน่าจะเป็น : 40%

ในกรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ คือ กระแสพรรคก้าวไกลไม่ได้ไต่ระดับขึ้นไปพีกมากเสียจนไปตัดคะแนนพรรคเพื่อไทยอย่างรุนแรงเหมือน Scenario 2. แต่พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ก็จะไม่ได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดเช่นกัน เมื่อเป็นแบบนี้ พรรคเพื่อไทยจึงต้องหันไปดึงพรรคภูมิใจไทย และ พรรคพลังประชารัฐ มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล 

อย่างไรก็ดี สำหรับสมการจัดตั้งรัฐบาลใน Scenario 3. นี้ พรรคก้าวไกลจะต้องปลีกตัวออก เพราะพรรคก้าวไกลประกาศจุดยืนชัดเจนว่า ไม่เอาสองลุง เพราะฉะนั้นในเมื่อพรรคเพื่อไทยไปเชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาร่วมจัดตั้งรัฐบาล พรรคก้าวไกลจะต้องแสดงจุดยืนว่า ไม่เอา และพอพรรคก้าวไกลบอกว่าไม่เอา พรรคเพื่อไทยก็จะพูดว่า หากไม่เอาแบบนี้ก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ (หัวเราะ) แล้วก็ไปบอกกับฐานเสียงฝ่ายตัวเองว่า เราทำเต็มที่แล้วนะฝ่ายเราพยายามรั้งก้าวไกลไว้แล้วนะ แต่เขาไม่เอาเอง (หัวเราะ)  

แต่สำหรับสูตรนี้ พรรคก้าวไกลจะเป็นพระเอกตอนจบ ตรงที่...เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. และไม่ให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มีอำนาจต่อรองมาก พรรคก้าวไกลก็จะบอกพรรคเพื่อไทยว่า เดี๋ยวจะช่วยโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับพรรคเพื่อไทย เพื่อตัดโอกาสที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะได้ก้าวขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรี แต่พรรคก้าวไกลจะไม่ร่วมเป็นรัฐบาล 

ทั้ง 3 Scenario นี้ เป็นฉากทัศน์ที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ส่วนความน่าจะเป็นอีก 10% ที่เหลือ ก็เป็นอื่นๆ ไปแล้วกัน เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง (หัวเราะ) อะไรแบบนี้” ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ปิดท้ายการสนทนากับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทสัมภาษณ์ที่เกี่ยวข้อง