คดีสะเทือนขวัญ "แอม ไซยาไนด์" เผย "ช่องโหว่" และสิ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้ในแง่มุมใดบ้าง?

คดีสะเทือนขวัญสังคมไทย “แอม ไซยาไนด์” ที่ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 13 ศพ กำลังกลายเป็นภาพสะท้อนของ “จุดบอด” และสิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ในแง่มุมใดบ้าง? วันนี้ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” จะค่อยๆ ไปคลี่คลายปมปัญหานี้แบบทีละประเด็น...  

แรงจูงใจที่มักจะนำไปสู่เหตุฆาตกรรม :  

อารมณ์ : เกิดความโกรธ เกลียด เคียดแค้น จนกระทั่งลืมตัว 

ประสงค์ในสิ่งที่ต้องการ : ความโลภ อยากได้ทรัพย์สิน หรือสิ่งของที่ตัวเองต้องการ 

ปกปิดความผิด : เมื่อทำความผิดแล้ว ต้องการลบรอยความผิดที่เกิดขึ้นจนต้องสังหารคนที่รู้เห็นในพฤติกรรม 

แรงจูงใจที่มักจะนำไปสู่เหตุฆาตกรรมต่อเนื่อง :

หากตัดประเด็นเรื่องเป็นผู้ป่วยจิตเภทออกไป ฆาตกรต่อเนื่องเมื่อก่อเหตุซ้ำๆ กันบ่อยๆ แล้วไม่ถูกจับกุม มักเกิดความเชื่อที่ว่า “ระบบที่มีอยู่ไม่สามารถตรวจสอบหรือติดตามจับกุมตัวเองได้!” 

...

พิษภัยจาก ไซยาไนด์ (Cyanide) : 

“ไซยาไนด์” คือ สารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดย ไซยาไนด์ เป็นสารเคมีที่มีพันธะคาร์บอนไนโตรเจน มักถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วน ไซยาไนด์ ที่เกิดขึ้นเองในธรรมชาติ มักพบในพืชบางชนิด เช่น หัวมันสำปะหลังดิบ อย่างไรก็ดีในกรณีที่จะเป็นอันตรายถึงชีวิต ต้องได้รับไซยาไนด์ในปริมาณที่ค่อนข้างสูงพอสมควร 

ไซยาไนด์ กับ ปัญหาในการเข้าถึง : 

สารเคมีทุกประเภทมีพิษภัยอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว และ “ไซยาไนด์” โดยปกติก็มักจะถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่แล้ว เพียงแต่หากร่างกายของมนุษย์ได้รับไซยาไนด์ในปริมาณที่มากเกินไป อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ฉะนั้นจึงควรพิจารณาไปที่ “จุดประสงค์” ของผู้ที่จะนำไซยาไนด์ไปใช้มากกว่า

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เคส “แอม ไซยาไนด์” มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก : 

ในกรณีที่พบศพที่ไม่มีบาดแผลทางกายภาพภายนอกนั้น ตามมาตรฐานสากลจะต้องมีการตรวจสอบสภาพศพ โดยใช้หลักของพยาธิวิทยา (การผ่าศพ) เพื่อหาพยาธิสภาพของอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ปอด และตับ ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ควบคู่ไปกับ งานด้านห้องปฏิบัติการพิษวิทยา เช่น การตรวจเลือด กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ น้ำลูกตา น้ำดี และสารคัดหลั่ง เพื่อหาสารพิษ หรือยารักษาโรคที่อาจจะไปเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต เป็นต้น  

แต่สำหรับประเทศไทยปัญหาที่พบคือ “มักจะทำเท่าที่ทำได้” เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 152 (1) และ (2) ระบุว่า ให้ทำรายงานถึงสภาพของศพ หรือ ส่วนของศพ ตามที่พบเห็น หรือ ตามที่ปรากฏจากการตรวจพร้อมทั้งความเห็นในเรื่องนั้น และ แสดงเหตุที่ตายเท่าที่จะทำได้

ขณะเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ระบุไว้ว่า แพทย์ต้องไปออกที่เกิดเหตุในกรณีฆ่าตัวตาย และถูกผู้อื่นทำให้ตาย แต่เนื่องจากมีบทเฉพาะกาลเขียนเอาไว้ว่า กรณีอุบัติเหตุ, ถูกสัตว์ทำร้าย หรือไม่ปรากฏเหตุที่ทำให้เสียชีวิต แพทย์สามารถมอบหมายให้ผู้อื่นไปออกแทนได้ จึงเป็นผลให้เกิด “ช่องโหว่” จนกระทั่งทำให้ “การสืบจากศพ” ในบางครั้ง “ได้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง” หรือ “ได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน” เป็นต้น

...

อีกจุดหนึ่งที่ถือเป็น “ช่องโหว่” สำหรับ "คดีแอม ไซยาไนด์" คือ เหตุใดข้อมูลในกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยจึง “ยังไม่เชื่อมโยงกันเสียที” เหตุใดจึงยังคงเป็น “ระบบตัวใครตัวมัน” ไม่ว่าจะเป็นทั้ง พนักงานสอบสวน หรือสำนวนคดี ที่ยังคงเป็นแบบระบบขึ้นอยู่กับพื้นที่ใครพื้นที่มัน ทั้งๆ ที่หากมีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันเหมือนเช่นที่ “บริษัทประกันภัยต่างๆ” ทำข้อมูลให้เชื่อมโยงถึงกัน “การค้นหาความผิดปกติ” ก็จะสามารถเกิดขึ้นได้รวดเร็วมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแน่นอน 

ขณะเดียวกันจากบทเรียน “คดีแอม ไซยาไนด์” ที่เกิดขึ้น สิ่งที่สังคมไทยควรเรียนรู้และเริ่มทำเสียตั้งแต่วันนี้ คือ ควรมีการเร่งสร้างบุคลากรทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น เพราะมันอาจมีความเป็นไปได้ว่า...หลังจากเกิดคดีแอม ไซยาไนด์ นับจากนี้ต่อไป “ประชาชนอาจต้องการให้มีการผ่าชันสูตรศพเพื่อค้นหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงกันมากขึ้น” ซึ่งหากเกิดเป็นเช่นนั้นขึ้นมาจริงๆ บุคลากรทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ของไทย ที่ ณ วันนี้มีอยู่ก็แทบไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานอยู่แล้ว ก็อาจต้องรับภาระงานที่หนักมากจนเกินไปก็เป็นได้ 

...

“แอม ไซยาไนด์” กับ สิ่งที่ผิดแปลกไปจากฆาตกรต่อเนื่อง : 

ในอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นทั้งในประเทศไทย หรือในต่างประเทศ ผู้ที่เป็น “ฆาตกรต่อเนื่อง” มักจะเลือกลงมือสังหารกับ “คนที่ไม่รู้จัก” แต่กับกรณีนี้กลับเป็นการลงมือกับ “คนที่รู้จักมักคุ้น” ซึ่งในอดีตแทบไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงถือเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนในสังคมเป็นอย่างยิ่ง 

การชันสูตรศพที่ถูกสังหารด้วย “ไซยาไนด์” : 

หากรับปริมาณ “ไซยาไนด์” เข้าไปในร่างกายจำนวนมากจนถึงขั้นเสียชีวิต สิ่งที่พอสังเกตได้เป็นลำดับแรก คือ ผิวหนังตามร่างกายของศพมักจะเป็นสีแดง ส่วนจะแดงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณของไซยาไนด์ที่ได้รับ ลำดับต่อไป คือ “กระเพาะอาหาร” เนื่องจากพิษของไซยาไนด์จะทำให้เกิด “ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร” ในบางรายได้ รวมถึง "เลือดของผู้ตายจะมีสีแดงสดกว่าปกติ"

...

การค้นหาความแตกต่างระหว่างการฆาตกรรม และ อัตวินิบาตกรรม จาก “ไซยาไนด์” 

วิธีการที่มนุษย์จะได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกายมีอยู่ด้วยกัน 4 วิธี ประกอบด้วย 1.หายใจ 2.สัมผัส 3.กิน 4.ฉีดเข้าเส้นเลือด ฉะนั้นสิ่งแรกที่จะต้องรู้ คือ “ร่างกายได้รับไซยาไนด์มาจากวิธีการใด?” จากนั้นค่อยๆ ไล่ดูพฤติการณ์ของผู้เสียชีวิตไปทีละขั้นตอน เพื่อค้นหา “พยานและหลักฐาน” ความเชื่อมโยงต่างๆ เช่น เมื่อรู้ว่าได้รับไซยาไนด์มาจากการกิน ก็ต้องไปไล่ดูว่า กินเมื่อไหร่, กินที่ไหน, กินยังไง, กินกับใคร หรือกินคนเดียว เป็นต้น “เพื่อค้นหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้สูงสุด” ตามหลักการของ “นิติวิทยาศาสตร์”. 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :