ศึกเลือกตั้ง 2566 เข้าสู่ช่วงเวลาสำคัญ โดยเฉพาะนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่เริ่มแรงขึ้นมาอย่างน่าสนใจ ถ้ามองในเชิงประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ นำสู่จุดเปลี่ยนสำคัญ

รศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์กับ ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ ว่า ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีหลายครั้งที่พรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ มีกระแสแรงเหมือนพรรคก้าวไกล ขณะนี้ เห็นได้จากพรรคประชาธิปัตย์ ยุคต่อสู้กับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดดเด่นในศึกเลือกตั้งปี 2512 มีนักการเมืองรุ่นใหม่ ยุคนั้นอย่าง ชวน หลีกภัย, อุทัย พิมพ์ใจชน จากนั้นการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ดังกล่าวก็ค่อยๆ คลายลง

พอปี พ.ศ. 2528 การปรากฏขึ้นของ พรรคพลังธรรม โดย จำลอง ศรีเมือง มีภาพลักษณ์ของความโปร่งใส ต้องการทำงานการเมืองอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดกระแสต่อต้านพรรคการเมืองที่มีทุนทรัพย์ จึงทำให้พรรคเติบโตอย่างรวดเร็ว

...

จากนั้นการมี พรรคไทยรักไทย เป็นช่วงที่ประชาธิปไตยไทยเบ่งบาน เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2540 มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นชัดเจน โดยความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย มาจากความใหม่ ทั้งนโยบายใหม่ เช่น การรักษาพยาบาล ทำให้เห็นว่าพรรคการเมืองใหม่ สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเด็นต่างๆ ในสังคมได้ ทั้งที่ตอนเปิดตัวพรรค เมื่อปี พ.ศ. 2544 เต็มไปด้วยนักการเมืองหน้าใหม่ ทำให้พลิกกระดานทางการเมืองอย่างมโหฬาร จากนั้นมีสมาชิกพรรคหลายกลุ่มมากขึ้น เลยกลายเป็นภาพลักษณ์พรรคผสมผสานระหว่างนักการเมืองหน้าใหม่และเก่า

เมื่อมาถึง พรรคก้าวไกล มีโมเดลคล้ายกับพรรคไทยรักไทย ในอดีต เพราะมีนักการเมืองหน้าใหม่เต็มไปหมด เริ่มต้นจากการมีความคิดไปในแนวทางเดียวกัน ขณะเดียวกันกลุ่มฐานเสียงเป็นคนรุ่นใหม่ รวมถึงนักทำกิจกรรม และสมาชิกองค์กรอิสระ ที่พร้อมต่อสู้ในระบบสภา

“กลุ่มนักการเมืองรุ่นใหม่ แตกต่างจากเดิม ที่ไม่มีการตกลงตำแหน่งกันเหมือนกลุ่มเดิม และทำให้กลุ่มการเมือง อย่างบ้านใหญ่ต่างๆ คาดไม่ถึง รวมถึงนายทุนพรรคต่างๆ เกิดภาวะคิดหนัก เพราะเจอรูปแบบการเมืองใหม่ ประกอบกับผู้นำพรรคประกาศบนเวทีว่า ไม่ร่วมกับ 2 ลุง นั่นแสดงว่า ไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นอย่างไร แต่แนวทางของพรรคก็พร้อมสู้กับอีกฝั่ง”

อีกปัจจัยทำให้นักการเมืองรุ่นใหม่ถูกจับตาในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การมีสื่อออนไลน์ ทำให้ชาวบ้านทั่วไปเห็นโลกที่กว้างขึ้น และเห็นถึงมุมมองการพัฒนาในหลายประเทศทั่วโลก จนเกิดการเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ มีตัวเลือกนักการเมืองหน้าใหม่เพิ่มขึ้น

“ช่วง 10 ปีหลังมานี้ การมีอินเทอร์เน็ต โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ทำให้เกิดการพังทลายของเขื่อน ทางความคิดแบบยุคเก่าอย่างสิ้นเชิง โดยมีพลังสนับสนุนของเจน X และเจน Y กระทั่งคนยุคเบบี้บูม ก็เริ่มให้ความสนใจ เพราะจากผลโพลเลือกตั้งของ ม.รังสิต ล่าสุด ชี้ให้เห็นถึงความสนใจในตัวพรรคการเมืองหน้าใหม่ เพิ่มขึ้นจากแรงหนุนการเปลี่ยนแปลงของโลกโซเชียล”

...

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์สำคัญ ที่การเมืองในรูปแบบเดิม ไม่เคยเผชิญหน้ามาก่อน และจากการเติบโตของเศรษฐกิจและคนชนชั้นกลาง รวมถึงคนที่อยู่ในต่างจังหวัดภายใต้การสื่อสารแบบใหม่ จะนำสู่การเลือกตั้งครั้งสำคัญ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 10 ปี หลังจากนี้ แต่ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยครั้งใหม่กำลังเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง.