ผ่านมาจะครบ 3 เดือน ประเทศไทยได้เจอกับวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมหลายเรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น เริ่มต้น ด้วยการล่องหนปริศนาของ ซีเซียม-137 ที่สร้างความหวาดผวาไปทั่วเมืองปราจีนบุรี, แก๊สแอมโมเนียรั่วไหล ที่ จ.สงขลา ที่ทำให้คนต้องหนีตาย แต่ที่หนักที่สุด และกระทบกับผู้คนมากที่สุดในเวลานี้ ก็คือ ฝุ่น PM 2.5 ที่ภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะ จ.เชียงราย ที่ต้องเผชิญ ค่าฝุ่นทะลุ 500-700
มลพิษที่หนักหน่วงเกิดจากอะไร... ตอนนี้ถ้าใครติดตามข่าวก็น่าจะทราบว่ามาจาก “การเผา” ไม่ว่าจะเผาจากเหตุธรรมชาติ เพราะความแห้งแล้งของป่า หรือเผาพืชผลเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกก็ตาม แต่ถ้าดู “จุดความร้อน”
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเกษตร อัปเดตสถานการณ์ วันที่ 28 มี.ค. ว่า ฝุ่นพิษวิกฤติสุขภาพต่อเนื่อง PM 2.5 (สารก่อมะเร็งกลุ่ม 1) ยังคงท่วมภาคเหนือและอีสานใต้ ไทยขยับขึ้นเผาอันดับ 2 ในอาเซียน! ชาวเชียงรายปอดพังเกินค่าแนะนำ WHO 36 เท่า!!
ค่าฝุ่นพิษ PM 2.5 สูงเกินค่าแนะนำ 24 ชั่วโมงขององค์การอนามัยโลกอย่างน้อย 33 เท่าที่เชียงราย!! โคตรโหดเลย 20 เท่าที่แม่ฮ่องสอน 14 เท่าที่อุตรดิตถ์ 13 เท่าที่น่าน 10 เท่าที่ลำปาง 8 เท่าที่เชียงใหม่ 4 เท่าที่กำแพงเพชร (รายงานโดย IQ Air)
สาเหตุหลักของฝุ่นพิษวันนี้มาจากการเผาในที่โล่งแจ้งและปรากฏการณ์ฝาชีครอบต่ำต่อเนื่อง ไทยขยับขึ้นมาเผามากเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนแซงหน้า สปป.ลาว ที่การเผาลดลงอย่างมาก จุดความร้อนที่รายงานโดย GISTDA พบว่า ประเทศไทยมีจุดความร้อนลดลงเล็กน้อยจาก 5,572 จุด (26 มี.ค.) เป็น 5,396 จุด (27 มี.ค.) ขณะที่เมียนมาจุดความร้อนลดลงเยอะมากแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงจาก 10,563 จุด เป็น 6,877 จุด และ สปป.ลาวลดลงเยอะมากจาก 9,652 จุด เป็น 4,076 จุด วันนี้ฝุ่นพิษในภาคอีสานดีขึ้นจากการเผาที่ลดลงใน สปป.ลาว และกัมพูชาเผาลดลงมากจาก 1,342 จุด เป็น 739 จุด
...
รศ.ดร.วิษณุ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า แนวทางในการแก้ปัญหาเวลานี้ ในสถานการณ์แบบนี้ หากเป็นแนวทางระยะสั้นมากๆ นั้นแทบไม่มี เพราะการแก้ปัญหาฝุ่น ต้องใช้ระยะเวลาแก้ไข...
กรณี ฝุ่น PM 2.5 เชียงราย มาจากการเผาจากพืชผลทางการเกษตรในประเทศ และฝุ่นควันข้ามพรมแดน สิ่งที่เราควรทำคือ ต้องเป็น “แบบอย่าง” ที่ดี ด้วยการไม่เผาในประเทศ ที่ผ่านมา ภาครัฐ มักใช้มาตรการ “ขอความร่วมมือ” หรือ “บังคับ” ห้ามเผา โดยมีแค่ 2 รูปแบบ
การบังคับห้ามเผา เป็นการทำลายวิถีชีวิต แต่ทางในเชิงรายได้ปากท้อง มันทำได้ยาก ฉะนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือ การปลูกป่าในใจคน ภาครัฐต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เขารักพื้นที่ มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ฉะนั้น สิ่งที่ควรทำ คือ การให้เงินช่วยเหลือ อย่างมีเงื่อนไข พร้อมให้ความรู้ เพราะการทำเกษตรนั้นมีต้นทุน ภาครัฐต้องให้ความรู้ ให้เงินทุนเพื่อไปปรับตัว โดยต้องให้อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างในต่างประเทศ เขาจะให้ทุนช่วยเหลือ 2-3 ปี เพื่อไปปรับตัว จากนั้นหากยังเผาอีก จะเริ่มดำเนินการจับกุม
“การจะเริ่มมาตรการใดๆ ต้องเริ่มจากความนุ่มนวลเสียก่อน ในพื้นที่ป่า ที่เกิดขึ้น ที่มีการเข้าไปปลูกพืชนั้น ส่วนมากจะปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะปลูกข้าวโพดเพื่อมาเลี้ยงสัตว์ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องเปลี่ยนแนวคิดเป็น ปลูกไม้เศรษฐกิจ “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ไม้ใช้สอย ไม้กิน ไม้เศรษฐกิจ สุดท้ายหาตลาดได้หรือไม่ สิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องทำให้เขาเหล่านั้นมีรายได้ หากทำได้ เขาก็จะเลิกเผา”รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
คนเมืองจ่าย ชาวบ้านดูแล ได้อากาศสะอาด แบบ Win-Win
อาจารย์วิษณุ กล่าวต่อว่า อีกแนวคิดที่ดี คือ “การจ่ายค่าตอบแทนในระบบนิเวศ” ปกติการดูแลป่า ชาวบ้านต้องดูแล ถือว่ามี “ค่าเสียโอกาส” ในเมื่อคนเมืองได้ประโยชน์ จากที่ชาวบ้านช่วยดูแลป่า ฉะนั้น คนเมืองควรจะต้องจ่ายค่าดูแลขั้นต่ำ เรียกว่า “ค่าดูแล” สุดท้ายแล้ว ผลตอบรับจะ “Win-Win” ทั้งสองฝ่าย คือ ชาวบ้านได้ค่าตอบแทน คนเมืองได้อากาศที่ดี ในขณะที่ต้นน้ำ ก็ช่วยดูแลป่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศคอสตาริกา เม็กซิโก หรือจีน ก็ใช้วิธีการนี้...
...
แบบนี้จะจ่ายยังไง...? รศ.ดร.วิษณุ ตอบว่า ประการแรก ก็จ่ายตรงชาวบ้านเลย จากนั้นก็มีการประเมินผล และการติดตาม เมื่อผลออกมาที่เป็นตัวชี้วัดได้ ก็ส่งค่าตอบแทนตรงให้กับชาวบ้าน และตราบใดที่ยังดูแลป่าไม้กันอยู่ ก็จะมีเงินส่งเข้ามา
หรือจะมาในรูปแบบ “ภาษี” ซึ่งงบประมาณท้องถิ่นมีน้อย เราก็มาปรับใช้ เรียกว่าเป็นการ “โอนย้าย” คนที่ได้ประโยชน์มาให้กับคนที่เสียประโยชน์ หลักเศรษฐศาสตร์ของเรื่องนี้มีนิดเดียว ใคร...ทำให้เขาเสียประโยชน์ ต้องทำให้เขาได้ประโยชน์
ประการที่ 2 สำหรับผู้ประกอบการภาคเอกชน ก็สามารถทำได้ เช่น พันธบัตรประกันความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่าง บริษัทเอกชนได้จะเข้ามาดูแลป่า เราจะให้เขามาวาง “พันธบัตร” เพื่อรับประกัน หากทำแล้วไม่เกิดความเสียหาย คุณก็เอาพันธบัตรกลับคืน แต่หากมาทำแล้วเกิดความเสียหาย เกิดการเผาป่า ก็จะริบพันธบัตร และการปรับ เรียกว่าเป็นการสร้างต้นทุนและความตระหนักกับผู้เกี่ยวข้อง เรียกว่าเป็นการ “ปลูกป่าในใจคน”
การแก้การเผา PM 2.5 ข้ามชาติ
...
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น กับกรณี PM 2.5 ที่ลอยข้ามมาจากประเทศเพื่อนบ้านนั้น อาจารย์วิษณุ แนะนำว่า ประเทศไทย ต้องเป็นพี่ใหญ่ในการแก้ปัญหา
เราต้องไม่ลืมว่าประเทศไทย มีระดับการพัฒนาดีกว่าเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็น เมียนมา ลาว หรือกัมพูชา การจะบอกให้เขาหยุดเผา มันเป็นไปไม่ได้เลย ฉะนั้น สิ่งที่ประเทศไทยควรทำ คือ การเสนอตัวในการช่วยเหลืออย่างมีเงื่อนไข เหมือนสหภาพยุโรป หรือญี่ปุ่น ที่มาช่วยไทย การมาช่วย...ไม่มีอะไรฟรี เช่นเดียวกัน ถ้าเราจะช่วยเขาให้งดการเผา เราต้องช่วยเหลือเรื่องเงิน หากเผาลดลง ก็เอาเงินช่วยเหลือไป 4-5 ปีต่อเนื่อง จนเขาฟื้นตัวได้
“การช่วยเหลือไม่ได้ช่วยด้านเงินทองอย่างเดียว องค์ความรู้ เทคโนโลยีก็ต้องช่วยเขา โดยต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างหน่วยงานที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ 'องค์ความรู้' บางอย่าง บางทีให้คิดเองก็คิดไม่ได้ แต่หากมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็จะดีขึ้น ส่วนตัวเชื่อว่า ไม่มีใครอยากเผา แต่ปัจจุบันไม่มีทางเลือกไหนที่ดีไปกว่านี้ เราเป็นพี่ใหญ่ เราต้องทำช่วยเหลือ แต่ก่อนจะไปช่วยเขา ต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างเสียก่อน”
อีกข้อที่ดี คือ หากเขาไม่เผา เราอาจจะรับซื้อวัสดุทางการเกษตร ถือเป็นการสร้างตลาด ประเทศไทยต้องเริ่มนำก่อน ที่ต้องเริ่มทำให้มาก คือ ระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับ คือ ในอนาคตต้องระบุได้ว่า ผลผลิตที่ได้มา มาจากแหล่งไหน หากทราบว่า มีการนำ “ผลผลิต” ที่มีส่วนในการสนับสนุนการเผา ก็อาจจะเจอมาตรการลงโทษ ฉะนั้น หากมีตรงนี้ก็จะทำให้คนที่คิดจะเผา ก็เริ่มที่จะกลัวเหมือนกัน การมีข้อมูลโปร่งใส สามารถจัดการได้ทุกอย่าง
ภาคการเงิน ธนาคาร ก็เป็นสิ่งสำคัญ หากมีเรื่องนี้เข้ามาประกอบด้วย จะส่งผลต่อการให้สินเชื่อ สามารถให้คุณให้โทษกับคนที่เผาได้ เช่น ถ้าไม่เผา อาจจะให้ดอกเบี้ยกู้ที่ถูก ถ้าเผา อาจจะไม่ปล่อยสินเชื่อ หรือ ให้กู้ในสินเชื่อดอกเบี้ยสูง หมายถึงการไม่ส่งเสริมกับบริษัทที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
...
ปัญหาใหญ่ คือ “ความตระหนักรู้” ของผู้คน
รศ.ดร.วิษณุ กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ถือว่ายังโชคดี สำหรับคนภาคกลาง และกรุงเทพฯ ยังไม่โดน เพราะมีลมทะเลมาช่วย ส่วนเชียงราย ภาคเหนือ ที่โดนหนัก เพราะแรงลมพัดลงเมียนมา ขณะที่ ภาคอีสาน โดยเฉพาะตะเข็บชายแดนก็ยังถือว่ามีปัญหา เพราะที่ ลาว มีการเผากันเยอะ ภาคเหนือ เชียงราย เรียกว่า โชคร้ายจริงๆ แถมพื้นที่ยังเป็นแอ่งกระทะ ลมก็พัดเข้ามา สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความตระหนักรู้ บ้านเรามีปัญหามาก เพราะใช้ค่ามาตรฐานแตกต่างจาก องค์การอนามัยโลก บ้านเราใช้ค่ามาตรฐานที่ 50 ไมโครกรัม ในขณะที่ WHO ใช้ 15 ไมโครกรัม
ตัวเลขของประเทศไทย ยังเขียว หรือเหลือง แต่ถ้าเทียบกับของ WHO แดง ไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสะท้อนว่า ความตระหนักรู้ยังน้อย แล้วเอาตัวเลขนี้ไปเทียบว่า ประเทศไทย “ปอด” แข็งแรงกว่าคนสากล 3.5 เท่า แต่พอสุดท้ายแล้วไปคิดดู ก็พบว่า มาตรวัดคนละแบบ ต่างกัน 3 เท่าตัว
“ภาครัฐมุ่งไปที่การพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่สนใจว่าคนจะป่วยแค่ไหน และคิดเพียงว่า ทำอย่างไรให้ค่ามาตรฐานมันหย่อนๆ เพื่อให้ต่างชาติมาลงทุนมากๆ เพราะบริษัทยิ่งหย่อนยาน การลงทุนก็ยิ่งถูก ถามว่าทำไมไม่ไปลงทุนในประเทศตัวเอง เพราะระบบสิ่งแวดล้อมเขาเข้มงวดมาก ต้นทุนในการปฏิบัติงานสูงกว่า เขาเลยเลือกอุตสาหกรรมที่มลพิษเยอะๆ มาลงทุนในประเทศไทย และประเทศไทย ก็อ้าแขนรับ เพราะเราต้องการ การจ้างงาน นี่คือ ภาพที่เกิดขึ้น เราต้องเปลี่ยนบริบทใหม่ ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ตอนนี้ GDP ขนาดใหญ่ 25 ของโลก แต่ด้านสิ่งแวดล้อมถดถอยไปลำดับที่ 78 ไปที่อันดับ 108
“เราพูดถึง โมเดลเศรษฐกิจ BCG แต่สิ่งที่ต่างประเทศประเมินด้านสิ่งแวดล้อมมันถอยหลังหมด จึงไม่รู้ว่ามันยั่งยืนอย่างไร”
ตอนนี้กำลังเข้าสู่ ภัยแล้งจาก “เอลนีโญ” มันจะส่งผลต่อปัญหาฝุ่นอย่างไรบ้าง อาจารย์เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ยอมรับว่า น่ากังวล และต้องจับตามอง ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นได้
คนไทยต้องทน ค่าฝุ่น จะหนักหน่วงถึงปลายเดือน!
“ปัญหาเรื่องฝุ่น น่าจะยาวถึงปลายเดือนเมษายนนี้แน่นอน เพราะจากการเช็กสภาพอากาศ ฝนจะน้อยลง อากาศจะร้อนขึ้น มีโอกาสเกิดไฟป่า คาดว่า ช่วงปลายเดือนเมษายน อาจจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ช่วงนี้ถึงปลายเมษายน จะสาหัสมากๆ เพราะความเป็นจริงคือ ใครจะเผาก็เผาได้ บางคนหลับตาข้างหนึ่งเพื่อให้เผา
ความจริงเรามีการพูดคุยเรื่องการจัดระเบียบการเผามานานมากแล้ว เพราะธรรมชาติ มีขีดความสามารถในการรับมือ ป้องกัน เพราะต้นไม้มันดูดซับไม่ทัน ในต่างประเทศ มีการจัดระเบียบการเผา หากใครอยากเผา ต้องส่งคำร้องมายังส่วนกลาง เช่น กรมอุตุฯ กรมควบคุมมลพิษ เขาก็จะพิจารณาว่า อากาศเปิด เหมาะสมแก่การเผาหรือไม่ เผาได้แค่ไหน กี่ไร่ต่อการเผา เพื่อให้มลพิษไม่สูงจนเกินไป
“คนเผา ต้องผ่านการฝึกอบรม ไม่ใช่แค่ใครเผาก็ทำได้ เรื่องนี้สามารถทำได้ในระยะสั้น แต่...สุดท้ายเราจะกลับมาคุยกันเรื่องเดิม คือ ไม่มีใครที่มีอำนาจในการดูแล สั่งการ เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ที่สำคัญคือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง มักไม่มีใครกล้าแตะ เพราะประเทศไทย ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แค่ปัญหาข้ามกระทรวง ก็จบ เราไม่เคยมีกฎหมายอากาศสะอาด ภาคประชาชนมีส่วนร่วม แนวปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เราไม่เคยเอามาใช้ ใช้แค่ขอความร่วมมือกับบังคับ”
ปี 62 เรามีวาระฝุ่นแห่งชาติ แต่ผ่านมา 4 ปีเรายังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่เข้าใจว่า 3-4 ปีทำอะไรกันอยู่ ความจริงใจในการแก้ปัญหา ไม่รู้มีหรือไม่ และยิ่งล่าช้า ต้นทุนสุขภาพของคนไทยจะแย่ลงเรื่อยๆ อะไรที่ประชาชนได้ประโยชน์ กลับปล่อยให้เลื่อนออกไป เช่น มาตรฐานรถยนต์ จากยูโร 4 ไปยูโร 5 จากเดิม ปี 2564 เราเลื่อนไป 2567 แผนต่างๆ ถูกเลื่อนออกหมด แต่สุขภาพของประชาชน เป็นโรคร้าย...ใครรับผิดชอบ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ