กำลังจะเข้าสู่ขวบปีที่ 77 ของ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด ของหน้าการเมืองไทย ผ่านร้อนผ่านหนาว ทั้งจุดสูงสุด และ ต่ำสุด มาแล้ว หลายครั้ง และครั้งนี้ กำลังก้าวเข้าบทพิสูจน์ในทางการเมือง กับการเลือกตั้งทั่วไป 2566
นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงความพร้อมการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงแม้ว่าอดีตสมาชิกพรรค "คนสำคัญ" หลายคนๆ จะตีจากพรรค จนใครๆ มองว่า "เลือดไหลไม่หยุด" และ "คีย์แมน" คนสำคัญอย่าง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ประกาศเว้นวรรคทางการเมือง แต่จะช่วยหาเสียงเพื่อพรรคต่อไป
บทบาท "บัญญัติ" หมุดหมาย ประชาธิปัตย์ สู้ศึกเลือกตั้ง :
นายบัญญัติ กล่าวว่า บทบาทของตนก็คล้ายกับคุณอภิสิทธิ์ คือ ในฐานะที่เป็นอดีตหัวหน้าพรรค สมาชิกพรรค ก็ต้องออกแรงสนับสนุนอย่างเต็มที่ และฐานะที่ยังต้องลงในระบบบัญชีรายชื่อ เรื่องนี้แตกต่างจากท่านอภิสิทธิ์ คือ ต้องออกแรงมากกว่า (หัวเราะ) แรงที่จะออก คือ การออกไปปราศรัยหาเสียง เดินหาเสียง
ส่วนเป้าหมาย ประชาธิปัตย์ จะพยายามเพิ่มจำนวน ส.ส. ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะคราวที่แล้ว ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราสูญเสียที่นั่งไปมาก โดยเฉพาะ กรุงเทพฯ ไม่ได้ ส.ส. เลยสักคนเดียว
จากประสบการณ์ยาวนานทางการเมืองของนายบัญญัติ มองว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะในอดีต ปชป. เคยได้ ส.ส.กทม. เพียงคนเดียวมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก คือ สมัยคุณ "ถนัด คอมันตร์" (เมื่อปี 2522) อีกครั้ง คือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ปี 2535) แต่พอหลังจากนั้น เราก็ได้เพิ่มขึ้น คราวนี้จึงหวังว่า ประวัติศาสตร์อาจเดินตามรอยเดิม
...
"หมุดหมายเรา หวังว่า จะได้ ส.ส.กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น ส่วนภาคใต้ เราเคยได้ที่นั่งมากที่สุด ในตอนที่ผมเป็นหัวหน้าพรรค ปีพ.ศ. 2548 ได้ ส.ส.ภาคใต้ 52 จาก 54 ที่นั่ง ฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ หวังว่า 80-90% ภาคใต้ก็น่าจะเป็นของเรา เนื่องจากครั้งที่แล้ว เราสูญเสียที่นั่งไปมาก ครั้งนี้เราจะเอากลับคืนมา"
หมายความว่า "เป้าหมาย" ส.ส.ประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องเกิน 100 เสียง? นายบัญญัติ กล่าวด้วยเสียงนุ่มลึกว่า พูดถึงขนาดนั้น คงไม่ได้ แต่ยังไงต้องมากกว่าเดิม (51 เสียง)
"จะสรุปว่า เราจะได้ 100-150 เสียง มันก็จะแลดูว่าเราจะดูถูกประชาชนมากไปหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเราจะคิดเช่นไร ก็จะได้เช่นนั้น การที่เราตั้งเป้าว่า เราจะได้มากกว่าเดิมเพราะ 1. เราสูญเสีย ส.ส. ไปมาก 2. หลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว ประชาชนก็ได้เห็นว่าเรายังเข้มแข็งดีอยู่ รัฐมนตรีที่เข้าทำงานกับรัฐบาล ก็ยังขยันขันแข็งในการทำงาน พยายามแก้ปัญหาของประเทศ"
จุดแข็ง ปชป. และความมั่นใจ
การได้ ส.ส. มากกว่า เดิม เพราะจุดแข็งอะไร ทีมข่าวฯ ถามอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายบัญญัติ ตอบว่า ขอแรก เราคือสถาบันพรรคการเมือง เชื่อว่าทุกคนสามารถแยกแยะได้ออกว่า พรรคไหน คือ สถาบัน พรรคไหนเป็นพรรคเฉพาะกิจ หรือ เฉพาะกาล ตั้งขึ้นมาเพื่อครู่ชั่วยาม เพื่อสนับสนุนคนนั้น คนนี้...พอไม่ได้ดั่งใจ ก็สลายหายไป แต่พรรคของเราอย่างอยู่ นี่คือเหตุผลข้อแรก
จุดแข็งข้อที่ 2 คือ ไม่ได้คุยโม้โอ้อวดว่าคนประชาธิปัตย์ เป็นคนมีอุดมการณ์ แต่จะร้อยทั้งร้อย คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่โดยพื้นฐานเราพูดได้ว่านักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ มีซื่อสัตย์สุจริตและมีความจริงจังต่อการแก้ปัญหาให้กับชาติบ้านเมืองและประชาชน เราคุยได้เต็มที่
จุดแข็งข้อที่ 3 คือ ผลงานรัฐมนตรีของเรา ขณะที่ทำงานร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ ท่านหัวหน้าพรรค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค อดีตรมว.พาณิชย์ และท่านเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค อดีตรมว.เกษตรฯ อาทิ นโยบายประกันรายได้ ที่ช่วยประคับประคองเกษตรกร ให้ลืมตาอ้าปากได้ ในช่วงเศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ ในขณะที่ตัวเลขการส่งออก ที่ใครๆ ก็วิตก จากพิษโควิด ทำให้ เศรษฐกิจประเทศชะลอตัว แต่ท่านจุรินทร์ ซึ่งเป็น รมว.พาณิชย์ทำได้ ภายใต้ความร่วมมือกับภาคเอกชน พิสูจน์ด้วยตัวเลข ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของ GDP ประเทศ
"ความเป็นสถาบัน อุดมการณ์ทางการเมือง ผลงานช่วงที่เป็นรัฐบาล และนโยบาย 16 ประการ ก็เป็นนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ที่จะสร้างคน สร้างชาติ สร้างเงิน ด้วยนโบบายการส่งออก สร้างเงินให้ประชาชน ด้วยนโยบายประกันรายได้ สร้างชาติก็ทำให้ประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น"
...
กลิ่นการเลือกตั้งดุเดือด ใช้เงินครั้งมโหฬาร เฝ้าระวังซื้อเสียง :
นายบัญญัติ ไม่ได้กล่าวถึง จุดอ่อนของ ปชป. แต่มองไปไกลถึงระบบการเลือกตั้งว่ามี 2 ประการ ที่พรรคการเมืองต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น
ประการแรก : การตลาด นำการเมือง แต่ละพรรคเสนอนโยบาย ร้อยแปดพันประการ ประชานิยมขนาดหนัก ฟุ้งเฟ้อจน TDRI ต้องออกมาแสดงความเป็นห่วงสถานะการเงินของประเทศ ว่าจะเอาเงินจากไหนมาทำ หากทำแบบอีลุ่ยฉุยแฉก (กระจัดกระจาย) วันข้างหน้าจะมีปัญหา
ประการสอง : การซื้อสิทธิ์ขายเสียง เริ่มตั้งแต่การ "แจกกล้วย" ในสภา มีเห็บ งูเห่า มีพลังดูด ตรงนี้ถือเป็นเรื่องน่ากลัว
แสดงว่า ได้ยินข่าวเรื่องการ "ซื้อสิทธิ์ขายเสียง" แล้ว นายบัญญัติ ยอมรับว่า มีสัญญาณในหลายที่ หลายแห่ง คนของเราเริ่มส่งข้อมูล ซึ่งตอนนี้เริ่มมีเก็บรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง, ระดมหัวคะแนนมารับเงินทอง
นายบัญญติ เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด และใช้เงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองการเลือกตั้ง สาเหตุมาจากอะไร ก็ยังไม่แน่ใจ แต่เท่าที่สังเกตรู้สึกว่า บางคนไม่รู้สึกว่ามันเสียหาย แต่มันก็เป็นเรื่องวิจารณญาณของแต่ละคน ตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าห่วง แต่ประชาปัตย์เชื่อว่า คนไทยจะไม่ตกเป็นเหยื่อในการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ซึ่งสุดท้าย ประชาชนอาจจะให้บทเรียนที่เจ็บปวดกับพรรคการเมือง ที่เคยให้มาแล้ว หลายครั้งหลายหนก็เป็นได้
...
"เวลาผมไปปราศรัยหาเสียง ผมจึงบอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเดิมพันสูงที่สุด ก็คือในเรื่อง ซื้อสิทธิ์ขายเสียง กลัวจะกลายเป็น "ธนาธิปไตย" แบบที่พวกนั้นคาดหวัง หรือ จะเป็นจุดที่ประชาชน รู้เท่าทัน และให้บทเรียนที่เจ็บปวด หากเป็นอย่างหลัง ก็จะเป็นการดึงกลับเข้ามา เป็นการเมืองที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง การให้ความรู้ ความเข้าใจ ก็จะเป็นภารกิจที่คนของเราต้องช่วยกันทำ"
ปชป. เลือดไหล แตกหักไม่จบสิ้น คล้ายอุบาย ดึง ปชป. ตกต่ำ?
นายบัญญัติ กล่าวถึงประเด็นคน ปชป. ออกจากพรรคจำนวนมากว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในอดีตมีคนออกจากพรรคไปตั้งพรรคใหม่หลายครั้ง แต่ที่ต่างกันกับครั้งนี้คือ สมัยก่อนหาก "แตก" ก็จะ "แตกหัก" ไปเลย ออกกันไปมาก แล้วมาตั้งพรรคแข่งกัน
แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่คนของพรรคประชาธิปัตย์ ค่อนข้างเจ็บปวด คือ การออกจากพรรค คล้ายเป็น "อุบาย" ให้พรรคดูตกต่ำเหนือที่จะคาดเดา เพราะมีการ "ดึงคน" ออกไปเป็นระยะ ทำให้ภาพออกมาว่า ประชาธิปัตย์ "แตกหัก" กันไม่จบไม่สิ้น
เมื่อถึงเวลานี้ ตอนนี้เข้าใจว่าจบแล้ว หากคนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ ที่ตามประชาธิปัตย์ตลอด ก็จะพบความจริงว่า การแตกแยกดังกล่าว ไม่ได้ทำให้พรรคสูญเสียความมั่นใจอะไร จะเห็นชัดเมื่อเรามีการประกาศความพร้อมในการสมัครรับเลือกตั้ง คือ เมื่อมีคนออกไป ก็จะมีคนเข้ามาทดแทน แถมภาพอาจจะดีกว่าคนที่ออกไป
...
ภาคใต้ หนักใจไหม เพราะอาจจะต้องเจออดีตคนประชาปัตย์ กับ พรรครวมไทยสร้างชาติ นายบัญญัติ เชื่อว่า คนที่ทำงานการเมือง การแข่งขันเลือกตั้ง จะไม่ทำงานบนพื้นฐานความประมาทอยู่แล้ว จะบอกไม่หนักใจเลย...สบายมาก (หัวเราะ) ก็คงไม่ใช่อย่างนั้น เราหนักใจบนพื้นฐานความมั่นใจในประชาชนของเรา คนของเรา และประชาชนก็รู้เท่าทันข่าวสารมากขึ้น
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เว้นวรรค ไม่ใช่รอยร้าว แต่คือ "จุดยืน" ทางการเมือง :
แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีนายอภิสิทธิ์ ประกาศเว้นวรรคทางการเมืองว่า ความรู้สึกของพวกเราไม่มีอะไร เพราะมีการคุยกันก่อนแล้ว เพราะคุณอภิสิทธิ์บอกว่า ถ้าท่านเข้ามาอย่างเต็มตัว ท่านก็จะถูกตั้งคำถาม จากใครต่อใคร โดยเฉพาะจากบรรดาสื่อมวลชน ที่จะยิงคำถามเรื่องจุดยืนทางการเมือง ที่เคยประกาศว่ารับคนนั้นไม่ได้ คนนี้ไม่ได้ วันนี้รับได้หรือไม่
"ท่านบอกว่า เดี๋ยวจะเป็นปัญหากัน ก่อให้เกิดความสับสนโดยไม่จำเป็น ดังนั้น จึงอยากที่จะขออยู่วงนอกในฐานะสมาชิกพรรค ท่านก็ตระหนักดีกว่า ท่านต้องมีหน้าที่ในการช่วยเหลือพรรค โดยจะช่วยเดินหาเสียงอย่างเต็มที่ ภายในเข้าใจกันดี ไม่มีอะไร แต่ภาพภายนอกเหมือนมีอะไรไม่ตรงกัน ซึ่งก็ไม่ถึงขั้นนั้น"
ประเด็นสำคัญคือ การประกาศไม่ร่วมงานกับ "ลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ นายบัญญัติ ยอมรับว่าเป็นจุดหนึ่ง ที่เป็นเช่นนั้น ซึ่งในทางการเมืองถือเป็นจุดยืนที่เคารพกัน และด้วยที่ว่าหากท่านเข้ามา ก็ต้องมีคำตอบ ซึ่งคำตอบ อาจจะก่อให้เกิดความสับสนได้
เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการแตกร้าวในพรรคหรือไม่ นายบัญญัติ ปฏิเสธ สั้นๆ ว่า "ไม่ใช่"
เลือกตั้ง 2566 มั่นใจไม่เกิด "แลนด์สไลด์" :
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ประเมินพรรคไหนได้เปรียบ เสียเปรียบ นายบัญญัติ กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า ฝ่ายเสรีประชาธิไตย น่าจะเป็นฝ่ายที่เปรียบ ส่วนฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้อำนาจ ฝ่ายสืบทอดอำนาจ หรือ ไม่สืบทอดอำนาจ สังคมได้มองและสรุปสิ่งนี้กันมากขึ้น ตัวเลขการเลือกตั้ง น่าจะออกมาในทำนองนี้ แต่จะชนะกันถล่มทลาย ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะออกแบบนั้น
เพื่อไทยมั่นใจแลนด์สไลด์? นายบัญญัติ กล่าวว่า ในอดีตที่เกิดภาวะแลนด์สไลด์ กันง่ายๆ เพราะการแข่งขัน 2 พรรคใหญ่ แต่จากรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง ก่อให้เกิดพรรคการเมืองมากมาย ท่ามกลางความสับสนวุ่นวาย และความยากลำบากของพี่น้องประชาชนในชนบท ฉะนั้นคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่เกิด "แลนด์สไลด์"
ประชาชน ตัวแทน และ เสาหลักการเมืองจากนักวิชาการ :
นายบัญญัติ กล่าวในช่วงท้ายว่า แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาพในฝ่ายการเมืองดูตกต่ำในสายตาประชาชน สาเหตุมาจากพฤติกรรมที่ไม่ระมัดระวัง หรือ ปัญหาเรื่องทุจริต คอร์รัปชัน ที่มีให้เห็นค่อนข้างมาก แต่อยากให้ประชาชนไม่ท้อแท้กับการเมือง เพราะประเทศไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ประเทศต้องเดินไปในเส้นทางประชาธิปไตย เท่านั้น
การเป็นอำนาจนิยม หรือ รัฐประหาร มันไม่ได้แล้ว เพราะมันพิสูจน์หลายครั้งหลายหนแล้วว่าแก้ปัญหาไม่ได้ สำคัญคือ ในระบอบประชาธิปไตย ที่กำหนดให้ประชาชนเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ ประชาชนต้องเข้าใจความหมายของคำว่า "ตัวแทน" เราจะบอกกับประชาชนว่า ตัวแทน ที่จะเป็นคนหรือองค์กร จำเป็นต้องเข้าใจปัญหาชาติและประชาชน และมีความตั้งใจในการแก้ปัญหา และข้อพิสูจน์ตรงนี้ คือ ความต่อเนื่องอันยาวนาน และความตั้งใจในการทำหน้าที่ และประชาชนได้มองเห็นมาตลอด น่าจะเป็นหลักฐานที่ดี
"ในอดีต เมื่อประชาชนเริ่มสับสน เรื่องพฤติกรรมของนักการเมืองหรือพรรคการเมือง สถาบันที่สำคัญหนึ่ง คือ สถาบันวิชาการ หลังเหตุการณ์ "14 ตุลาคม" สถาบันวิชาการมีความเข้มแข็ง เมื่อไรที่พรรคการเมือง นักการเมืองทะเลาะกัน ก็จะนักวิชาการออกมาชี้ผิด ชี้ถูก โดยมีหลักมีเกณฑ์ นักการเมืองก็ยอมจำนน ประชาชนก็ได้หลักเกณฑ์ แต่วันนี้สังคมไทยกำลังขาดสิ่งนี้ ขาดสถาบันวิชาการที่น่าเชื่อถือ มีหลักเกณฑ์ให้สังคมเดินตาม ถึงเวลาที่สถาบันวิชาการ โดยเฉพาะที่ประชุมอธิการบดีของมหาวิทยาลัย ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยก็สอนรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ ถึงเวลาที่นักวิชาการต้องมาให้สติสังคม ให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ และนั่นจะทำให้ประชาธิปไตยเดินไปอย่างตรงเป้าและตรงจุดและมีความเข้มแข็งมากขึ้น" แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ