21 มีนาคม เป็น “วันป่าไม้โลก” (World forestry day)

หากเรานึกถึงเรื่องป่าไม้ สิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า ก็ต้องนึกถึง “สืบ นาคะเสถียร” ที่ผ่านมา มีผู้สานต่อเจตจำนงของ “สืบ” ก็คือ “ศศิน เฉลิมลาภ” เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ 

“ผมไม่รู้ว่า วันไหนเป็นวันป่าไม้โลก เพราะผมไม่สนใจว่าวันอะไร...”

ศศิน เริ่มต้นบทสนทนากับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เมื่อเราติดต่อขอสัมภาษณ์ ถึงสถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทย

จากข้อมูลในปี 2561-2562 ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ จำนวน 102,484,072.71 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.68 ของประเทศ ซึ่งลดลงจากปี พ.ศ.2560-2561 จำนวน 4,229.48 ไร่ 

ศศิน กล่าวว่า สภาพป่าไม้ในปัจจุบัน ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิม คือมันยังคงอยู่ที่ 1 ใน 3 ของประเทศ แต่ละปีก็จะมีเพิ่มบ้าง ลดบ้าง ปีละนิดหน่อย โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มป่าค่อนข้าง “คงที่”

หากเจาะไปตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดน่าน ก็จะพบว่า ช่วง 5-6 ปีหลัง จะพบว่ามีการถูกทำลายไปบ้าง แต่ภาพรวมของประเทศไม่ได้เปลี่ยนไปนัก

...

ศศิน เผยว่า พื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย ส่วนมากจะอยู่ในการดูแลของ “กรมป่าไม้” ภายใต้ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ กับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งแนวโน้มที่เป็นไปคือ มีคนเข้ามาช่วยดูแลมากกว่าเป็นป่าชุมชน

พื้นที่ของกรมป่าไม้ ถือว่าค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะกลไกและประสิทธิภาพในการป้องกันและรักษาป่าไม่มีประสิทธิภาพ เทียบเท่ากับกรมอุทยานสัตว์และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพราะมีปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารและความเอาใจใส่ของผู้บริหารระดับกระทรวง ที่ไม่ให้ความสำคัญกับกรมป่าไม้

“เวลาชาวบ้านจะบุกรุกป่า จะเกิดจากการขยายหมู่บ้าน จะค่อยเป็นค่อยไป ใช้มีดฟันเข้าพื้นที่ป่าทีละเล็กน้อย นี่คือปัญหาของกรมอุทยานฯ แต่ถ้าเทียบกับ “ป่าไม้” ต้นไม้บนภูเขาหายไปครึ่งลูกก็ยังเจอ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ของอุทยานฯ ยังพอรับได้”

ศศิน สรุปสาเหตุที่อุทยานฯ ทำได้ดีกว่า “กรมป่าไม้” เพราะว่า อุทยานฯ มีหน่วยพิทักษ์ป่าไปอยู่ทั่วทุกพื้นที่ และมีการลาดตระเวนบ่อยครั้ง แต่สำหรับกรมป่าไม้ หน่วยป้องกันรักษาป่า อยู่แค่จุดเดียวใกล้เมือง แต่รอบๆ จึงโดนไถไปหมด ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีกำลังคน ขณะที่หัวหน้าหน่วยก็รับผิดชอบ 4-5 หน่วย ข้าราชการก็ไม่มี คนดูแลก็ไม่มี จึงแก้ปัญหาให้เป็น “ป่าชุมชน” ซึ่งก็เป็นการแก้ที่ไม่ถูกจุดเท่าใดนัก

เมื่อถามว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ในเรื่องการเพิ่มพื้นที่ป่าเป็น 40% ก็ทำได้ยาก เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ถ้ามองในแง่นโยบาย ต้องการ 40% วันนี้เรามีแล้ว 30-31% คือ 102 ล้านไร่

“ในเป้าหมายจริงๆ คือ ต้องการป่าอนุรักษ์ 25% ป่าเศรษฐกิจ 15% ซึ่งป่าอนุรักษ์ที่อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานฯ ก็ถือว่ามีเกิน 20% แล้ว แนวโน้มว่า “จะดูแลไว้ได้” ฉะนั้น ตัวเลขดังกล่าวจะถึง 25% หรือไม่ ก็ไม่มีอะไรร้ายแรง ถึงแม้ที่ผ่านมา จะมีข่าวฉาวๆ กับตัวบุคคล แต่มันอยู่ได้ด้วยระบบ”

ส่วนกรณี “เนื้อใน” ที่เกิดขึ้น เช่น ไม้ถูกตัด สัตว์ถูกล่ามากน้อย ขึ้นอยู่กับการดูแลของอธิบดีแต่ละรุ่น แต่ละสมัย ว่าเอาใจใส่แค่ไหน...

ส่วนป่าเศรษฐกิจตอนนี้ นิยามว่าเป็น สวนป่าเอกชน ตาม พ.ร.บ.สวนป่า หรือ ป่าขององค์กรอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) โดยใช้ป่าเสื่อมโทรมของกรมป่าไม้ไปปลูก โดย อ.อ.ป. ทั่วประเทศ มี 1 ล้านไร่ หรือเทียบเป็น 0.3% จาก 15% เรียกว่ามีไม่ถึง 1%

ถามว่า หากเอาป่าชุมชน ซึ่งมี 3-4 ล้านไร่ ไปเป็นป่าเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีของแพงๆ เยอะ เช่น เห็ดโคน หน่อไม้ ไปทำสัก 1-2% ก็จะเหลือ 13%

...

“ปัญหาใหญ่จริงๆ คือ ป่าเศรษฐกิจ ที่ภาครัฐไม่มีความชัดเจนว่าต้องเพิ่มเติม ซึ่งความจริงวันนี้ ป่าอนุรักษ์มันอนุรักษ์ไม่ได้ จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ที่เคยเป็นไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย เปลี่ยนให้เป็นป่าไม้ที่สำหรับ “ปลูก” ไว้ตัด เพื่อใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกิดการดูดซับคาร์บอน ลดการกัดเซาะพังทลาย ได้เรื่องเศรษฐกิจด้วย ซึ่งตัวนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครทำ

ศศิน กล่าวว่า รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ดูแลอุทยานฯ ดีขึ้นมาก แต่ป่าเศรษฐกิจไม่ขยับ

แล้วทำไมถึงไม่ทำ... ศศิน ตอบสั้นๆ ว่า สงสัยไม่มีวิสัยทัศน์ที่จะทำ บางคนที่เป็นกรรมการป่าไม้ ก็มีแต่ทฤษฎี แต่ไม่ลงมาปฏิบัติ หน่วยงานที่ควรจะปฏิบัติอย่างกรมป่าไม้ ก็มีความอ่อนแอมาก

เพราะกรมนี้เกี่ยวข้องกับ “ผลประโยชน์” เรื่องการอนุญาตให้เข้าไประเบิดหิน ทำเหมืองแร่ได้ ฉะนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหารเข้ามา ก็จะมองเรื่องการดูแล การอนุญาตให้ทำนู่นนี่ในพื้นที่...เพราะทรัพย์สินอย่าง หิน แร่ธาตุต่างๆ ที่อยู่บนภูเขา มีกรมป่าไม้เข้าไปดูแล จึงไม่ได้ให้ความสำคัญในการ “ฟื้นฟู” ป่าเศรษฐกิจ

...

สิ่งที่ควรทำ คือ ควรให้ชาวบ้านที่อาศัยนี่แหละ เป็นคนดูแลป่าเศรษฐกิจ เพราะทุกตารางนิ้วก็มีคนอยู่อาศัยอยู่แล้ว แต่การทำป่าเศรษฐกิจแบบนี้ มันปลูกแล้วขายไม่ได้ ต้องใช้เวลา 3-10 ปี ถึงจะขายได้ ฉะนั้น ควรจะมีกลไกทางการเงิน ที่ภาครัฐต้องลงไปช่วยคนรุกป่า ที่เขาอุตส่าห์ถางไว้ให้ ให้เขาดูแลป่าและแบ่งปันผลประโยชน์ โดยมีกองทุนป่าไม้ พันธบัตรป่าไม้ มีกลไกทางการเงิน จะให้เกิดขึ้นเอง เป็นไปไม่ได้ เพราะ อ.อ.ป. เขาก็ไม่มีกลไกในการทำงานที่ถูกบุกรุกแบบนั้น

“สิ่งที่เปลี่ยนไปของกรมอุทยานฯ คือ มีการแก้กฎหมายในช่วงสมัยปลายประยุทธ์ 1 ทำให้หมู่บ้านกลางป่า 4 พันชุมชน ถามว่าดีไหม ก็คงมีดีและไม่ดี แต่มันก็อยู่ในกระบวนการ มีช่องทางของมัน แต่กรมป่าไม้ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รู้สึกไม่มีความหวัง..ใดๆ” ศศิน กล่าวทิ้งท้ายและถอนใจ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...