ตอนนี้สังคมไทยรู้สึกหวาดผวา กับเหตุการณ์ “กราดยิง” เพราะเจอเรื่องเลวร้ายมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเหตุ ทหารคลั่ง ตำรวจคลั่ง กราดยิงศูนย์เด็กเล็ก และทั้ง 2 เหตุนี้จะไม่มีทางลบเลือนในความทรงจำสำหรับคนที่ผ่านเหตุการณ์ รอดชีวิต หรือแม้แต่ติดตามข่าวสาร
และก็เป็นอีกครั้ง...ที่สังคมไทยต้องเผชิญกับเหตุ ตำรวจคลั่ง แต่คราวนี้ตำรวจดังกล่าวมียศบนบ่าถึงขั้น “สารวัตร” หรือ พ.ต.ท.กิตติกานต์ แสงบุญ อายุ 51 ปี สังกัดศูนย์พัฒนาด้านการข่าว กองบัญชาการตำรวจสันติบาล
จากรายงานในเบื้องต้น ตำรวจรายนี้มีอาการทางจิต คลุ้มคลั่งยิงปืนออกมาจากทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น เลขที่ 2/269 หมู่บ้านมั่นคง เลียบคลองสอง สามัคคี ซอยจีระมะกร แยกซอยสายไหม 46 แขวงและเขตสายไหม กทม. สร้างความหวาดผวาให้ชาวบ้านตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 14 มี.ค.66 และเหตุบานปลายยาวนานต่อเนื่องข้ามคืน กระทั่งมี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. เดินทางมาเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ พยายามเจรจาเกลี้ยกล่อมให้มอบตัว แต่ถูกโต้ตอบมาด้วยลูกกระสุนตลอดเวลา
จากเหตุคลุ้มคลั่งดังกล่าว สุดท้ายจบลงด้วยความตายของ “สารวัตรกานต์” ถึงแม้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ผู้บัญชาการเหตุการณ์ จะเคยลั่นวาจาว่า “ไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย” อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ยืนยันว่า ได้พยายามทุกวิถีทางในการระงับเหตุแล้ว แต่สารวัตรกานต์ไม่มีท่าทีสงบ และไม่ยอมวางอาวุธ และการใช้กระสุนจริง เพราะ สารวัตรกานต์ มีอาวุธที่เป็นกระสุนจริง
...
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เกิดคำถามถึง ยุทธวิธีที่ใช้ในการระงับเหตุ คือ
อะไร คือ “บทเรียน” จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้...
ยุทธวิธีที่ใช้สยบ สารวัตรคลั่ง เหมาะสม หรือไม่...
การแก้ไขปัญหา ตำรวจที่สงสัยว่าติดยา มีอาการทางจิต ยิงกราดในบ้าน จะทำอย่างไร
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับ ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล มุขแจ้ง อดีตหัวหน้าอาจารย์วิชาอาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน กล่าวถึงหลักการในวิกฤติคนคลั่งมีอาวุธว่า หลักการ คือ ต้องดูว่า คนร้ายมีตัวประกันหรือไม่, จะมีคนบาดเจ็บล้มตายหรือไม่ ทำร้ายใครหรือยัง ในเมื่อพิจารณาดังนี้ ก็มาดูที่ยุทธวิธีกันต่อ คือ การปิดล้อมที่เกิดเหตุหรือไม่ เหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ใช้วิธีการปิดล้อม จำกัดวงล้อมให้แคบ เริ่มตัดน้ำ ตัดไฟ ถือเป็นวิธีการที่ถูกต้อง
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล กล่าวว่า ตอนเกิดเหตุ ได้มีการปิดล้อมไว้หมด และคนร้ายก็อยู่ที่บ้าน ตอนแรกยังไม่ได้ทำร้ายใคร ยังไม่มีใครเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ ฉะนั้น การปิดล้อมบ้าน ตัดน้ำ ตัดไฟ รอเวลาไปเรื่อยๆ ก็น่าจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น
“สิ่งที่เจ้าหน้าที่ทำคือ ต้องทำยังไงก็ได้ เพื่อจำกัดวงเขาไม่ให้ไปก่อเหตุวุ่นวายที่อื่น เอาไม้ไปตีกับประตูไว้ไม่ให้หนี ไม่ให้ออก แบบนี้น่าจะจบ รอเวลาไปเรื่อยๆ เพราะหลักการเจรจากับคนร้ายคลั่งนั้น เงื่อนเวลาจะใช้เท่าไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อน”
ฉะนั้น การแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ควรจะนำ นักจิตวิทยา นักเจรจาต่อรอง เข้ามาพูดคุย ซึ่งถามว่าในการแก้ไขสถานการณ์ครั้งนี้ มีไหม...ก็ตอบเลยว่า มี
เพราะหลักการที่ถูกต้อง คือ ต้องเข้ามาพูดคุย เพื่อหาสาเหตุว่าสารวัตรกานต์ เครียดเรื่องอะไร มีปัญหาเรื่องงาน ความรัก หรือ ยาเสพติด การโยกย้ายที่ผ่านมาเป็นธรรมหรือไม่ ทุกๆ ประเด็นต้องมีการพูดคุยกัน เพื่อให้เขาผ่อนคลาย
“การแก้ไขกับคนคลั่ง เพราะฤทธิ์ยา (หากเสพยาจริง) ก็ต้องใช้เวลา ปล่อยให้ฤทธิ์ยาจางลง เพื่อให้เขามีสติ หรือพยายามเจรจาให้คนคลั่งมีสติมากขึ้น”
แต่...สิ่งที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ มีหลายอย่างไม่ควรทำ!
ยิงถล่มด้วย “แก๊สน้ำตา” ทำไม? พล.ต.ท.พิศาล ตั้งข้อสังเกต
แค่ปิดล้อมที่เกิดเหตุดีๆ เขาทำอะไรใครไม่ได้ ทุกอย่างก็จบแล้ว ถึงแม้ว่าเขาจะมีปืนก็ตาม..
หรือเพราะเจ้าหน้าที่รู้สึกกดดันหรือไม่ ที่ต้องรีบคลี่คลายสถานการณ์? อดีตครูโรงเรียนนายร้อยตำรวจฯ ยอมรับว่า อาจเป็นไปได้... เพราะชาวบ้านอาจรู้สึกว่ามันยืดเยื้อและนานเกินไปแล้ว อาจโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ไม่ทำอะไรเลย...” สิ่งที่เกิดขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ต้องพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่เยียวยาคนที่ได้รับความเดือดร้อนได้ เช่น มีคนป่วยอยู่ ก็ต้องช่วยกันนำส่งโรงพยาบาล หรือย้ายที่รักษาก่อน
...
ก่อนเหตุการณ์สงบ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ให้ข่าวว่าไม่อยากให้เกิดความสูญเสีย แต่สุดท้ายก็จบลงด้วยความตาย แบบนี้ถือว่าแก้ปัญหาไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล กล่าวว่า ส่วนตัวชื่นชม พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ว่าเป็นคนที่มีความตั้งใจทำงาน และสิ่งที่ท่านพูดก็รู้สึกประทับใจ คือ เห็นว่าเป็นคนป่วย
แต่...สิ่งที่เกิดขึ้นเราไม่รู้ว่า เพราะถูกกดดัน หรือใคร...กดดัน? ให้ต้องแก้ปัญหาให้จบไวที่สุด คือ ใช้ความรุนแรง
เป็นเพราะ “คมกระสุน” ที่พุ่งเข้าหมวก 1 ในทีมอรินทราชหรือไม่ ที่ส่งผลให้จบแบบนี้ ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล กล่าวว่า ก็เป็นไปได้... เพราะเมื่อมีการยิงปะทะกัน อาจจะมีการปรับระดับว่า เป็นบุคคลอันตราย
“หากไม่ใช้วิธีการรุนแรงเด็ดขาด อาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตได้ นี่ก็เป็นอีกมุมหนึ่ง”
ถอดบทเรียน การแก้ปัญหา สารวัตรคลั่ง
ทีมข่าวฯ ให้ อดีตครูโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สรุป บทเรียนที่เกิดขึ้น ซึ่ง ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล ได้ตั้งข้อสังเกต ดังนี้
...
1. เงื่อนเวลา : ไม่ควรนำมาใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤติครั้งนี้ เพราะไม่มีตัวประกัน และมีการปิดล้อมสถานที่ป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้แล้ว อาจจะถือว่า สารวัตรกานต์ เป็นผู้ป่วย
2. นักจิตวิทยา : เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ และหาแนวทางแก้ไข คนคลั่งก็ควรถามนักจิตวิทยา ว่าจะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร
3. ข้อสังเกตความผิดพลาดในเจรจาต่อรอง
- ควรใช้นักเจรจาต่อรองมืออาชีพ : โดยต้องเป็นคนที่มีความรู้ด้านยุทธวิธี และการทำงานของตำรวจ โดยหลักการพูดคุย อย่าทำให้เขาโกรธ หรือมีอารมณ์รุนแรงมากขึ้น เช่น หากจะคุยเรื่องพระเจ้า ก็ต้องตามน้ำ โดยต้องหาเหตุผลดึงกลับมา
- ไม่ควรใช้ผู้มีอำนาจตัดสินใจไปเจรจา : ครั้งนี้ ผบ.ตร. ไปเจรจา ถือว่าผิดหลักการต่อรอง และไม่มีใครในโลกใช้วิธีนี้ เพราะหลักการเจรจา คือ การซื้อเวลา
- ร้องเพลง : ร้องเพลงทำไม เพราะอาจมีบางเคสที่ใช้วิธีการนี้สำเร็จ จึงใช้วิธีการนี้มาทำตาม ซึ่งถือว่าเป็นการทำที่ไม่ถูก
- บุคคลที่สามมาเจรจา : ครั้งนี้มีการให้ญาติพี่น้องมาคุย ซึ่งตามหลักการนั้น ต้องมีการเตี๊ยมกันก่อนว่าจะให้พูดเรื่องอะไรบ้าง อาจจะอนุญาตให้เข้ามาคุยได้ แต่จำเป็นต้องคุมเรื่องที่คุยให้อยู่ อย่าปล่อยให้คุยโดยที่ไม่มีทิศทาง
...
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล ตั้งข้อสังเกตถึงคนที่เข้ามาเจรจาว่า ไม่ควรพูดบางคำออกไป เช่น วางอาวุธ! สิ่งที่นักเจรจาควรพูด คือ ห้ามพูดเรื่องความรุนแรง จะโดนจับ... แบบนี้ห้าม หากจะให้วางอาวุธ เราก็ต้องพูดอ้อมๆ ว่า “วางสิ่งที่อยู่ในมือลงก่อนนะ...มาคุยกัน” คือ ความหมายเดียวกัน แต่วิธีการใช้คำแตกต่างกัน
“การใช้กำลัง ควร เป็นวิธีการสุดท้ายที่จะทำ ที่ผ่านมา ลองใช้ยุทธวิธีอื่นๆ ทั้งหมดหรือยัง” นี่คือ สิ่งที่อดีตครูตำรวจ ตั้งข้อสังเกต
ปัญหา “ยาเสพติด” ในวงการตำรวจ และอาการป่วยทาง “จิตใจ”
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่ค่อยมีการสุ่มตรวจยาเสพติด เพราะ “ตำรวจ” จะไปเกี่ยวข้องไม่ได้ เป็นแบบอย่างที่ดีให้สังคม ซึ่งการจะไม่ให้ตำรวจไปเกี่ยวข้อง ภาครัฐต้องลงทุนกับตำรวจให้มากขึ้น ให้อยู่ดี กินดี มีเงินพอที่จะรักษาเกียรติและศักดิ์ศรี จะได้ไม่ต้องไปหาเงินด้วยวิธีมิชอบ โดยต้องมีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง หากเจอว่าติดยา ก็ต้องให้ออก เก็บไว้ไม่ได้
อีกประเด็นคือ เรื่องความเครียด ตำรวจทุกคนควรมีการตรวจสุขภาพจิต และมีการประเมินตามวาระ และอาจเปิดโอกาสให้หยุด ให้ลาพักร้อนได้ หากอยู่ในภาวะเครียด ซึ่งตำรวจบางคนก็ทำงานหนัก
ตอนที่คัดกรองเข้ามา จะมีแค่ครั้งแรก ครั้งเดียว ในการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา แต่...หลังจากนั้นก็ไม่ได้มีการตรวจเลย ซึ่งตอนนั้นตำรวจบางคนก็อาจจะไม่ได้ป่วย แต่เมื่อทำงานมานาน ก็อาจจะเกิดภาวะเครียด และ ป่วยทางจิตได้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความกดดันในหน้าที่การงาน การเลื่อนยศตำแหน่ง โดยเฉพาะประเด็นการโยกย้ายไม่เป็นธรรม
ฉะนั้นทาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องจัดตรวจสุขภาพจิตให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยเฉพาะคนที่เป็นหน่วยที่ใช้อาวุธ ต้องตรวจเป็นด่านแรก และที่ผ่านมา ในช่วงหลังนี้ไม่ค่อยมีการตรวจสุขภาพจิตเลย และควรจะตั้งหน่วยงานสำหรับ “เยียวยาสุขภาพจิตตำรวจ” บ้าง... นอกจากนี้ ควรจะตั้งหน่วยงานสำหรับการเจรจาต่อรอง เพื่อมาใช้ยับยั้งเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นแบบนี้ได้...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ