กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง สำหรับกระแส “ชุดนักเรียนไทย” ในหมู่ชาวจีนที่ฮิตถ่ายรูปกันสนั่นเมือง ตามรอยดารา จวีจิ้งอี (Ju Jingyi) ที่ได้โพสต์ภาพตัวเองในชุดนักเรียนลงเว่ยป๋อ โซเชียลมีเดียของจีน จนกลายเป็นไวรัล และตอนนี้คนจีนที่เที่ยวในไทย ก็ต่างหาชุดนักเรียนมาใส่ถ่ายอวดโชว์กันอย่างสนุกสนาน จนกระทั่ง...มีคนออกมาเตือนให้ระมัดระวัง โดยเฉพาะการ “ปักชื่อ” โรงเรียน ที่เกรงว่าจะสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.นิธิวดี จรรยาสวัสดิ์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน และหัวหน้าหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ม.กรุงเทพ ผู้ที่คร่ำหวอดในสังคมและวัฒนธรรมจีน กล่าวถึงความนิยม “ชุดนักเรียนไทย” ว่า กระแสความนิยม ชุดนักเรียนไทย มีมานานแล้วตั้งแต่ ละครเรื่อง “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก” รวมไปถึงซีรีส์ “เด็กใหม่” ในตัวละครที่ชื่อ (แนนโน๊ะ)
แต่ที่นิยมในขณะนี้จริงๆ คือ มาจากดาราที่ชื่อ “จวีจิ้งอี” ซึ่งเขาเป็นคนดัง พอทำอะไรแล้วถูกจับตามอง และเมื่อเขามาใส่ชุดนักเรียนไทย ก็คล้ายกลายเป็นพรีเซนเตอร์กลายๆ ให้กับชุดนักเรียนไทย
“นักศึกษาจีนที่อยู่ในประเทศจีน เขาคิดว่ายูนิฟอร์มนักเรียนเขาไม่สวย ชุดเขาเป็นกางเกงวอร์ม เหมือนชุดพละบ้านเรา แต่เมื่อมามองชุดนักเรียนบ้านเราก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งกระโปรงน้ำเงิน กระโปรงแดง มีเข็มขัด ใส่เสื้อไว้ทับใน เหมือนเรามองชุดนักเรียนญี่ปุ่นที่ดูสวย แปลกตา มีเอกลักษณ์ การที่วัยรุ่นจีนได้เห็นนักเรียนไทยจึงรู้สึกแตกต่าง แต่งแล้วดูสวยงาม แต่เมื่อกลับไปดูชุดฟอร์มนักเรียนจีน ใส่แล้วเหมือนเล่นกีฬาตลอด...”
...
นี่คือสิ่งที่อยู่ในใจน้องๆ ชาวจีน ที่รู้สึกกับ “ชุดนักเรียน” ของตัวเอง... ดูแล้ว “ไม่สดชื่น” เพราะมันเหมือนๆ กันหมด แตกต่างกันแค่สีชุดเท่านั้น และชุดจะดูตัวใหญ่ โคร่งๆ แต่เมื่อดูชุดนักเรียนไทยดูแล้วสดใส โดยเฉพาะเสื้อมีเข็มขัดรัด โดยเฉพาะชุดที่ “ดารา” ใส่ กระโปรงสีน้ำเงินเข้ม ถือเป็นชุดที่กำลังฮิต หากสังเกตดีๆ ก็จะพบว่าชุดถูกระเบียบทุกอย่างเลย
วัฒนธรรมจีน กับ ชุดนักเรียนไทย
เมื่อถามว่า ในประเด็นสังคมและวัฒนธรรมจีน มองกระแสชุดนักเรียนไทยอย่างไร คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน อธิบายว่า นักเรียนจีนเองก็ไม่ได้ถึงขั้นต่อต้าน หรือไม่ชอบชุดที่เขาใส่ แต่ถามว่า อยากเปลี่ยนบ้างไหม ก็ถือเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นที่ต้องการอิสระในการแต่งตัว
ชุดนักเรียนเองก็ถือเป็นชุดในเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง มีระเบียบวินัย ลดความเหลื่อมล้ำ บางอย่าง ชุดนักเรียนเปรียบเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ที่สะท้อนความมีวินัย แต่อาจขัดใจเด็ก โดยมีประโยชน์ทั้ง 2 มุมมอง
ที่ผ่านมา ทางการจีน ก็มีการปรับชุดนักเรียนอยู่ตลอด แต่จะให้เขาปรับเปลี่ยนชุดฟอร์มมาเป็นแบบไทย หรือญี่ปุ่น มันก็คงลำบาก เพราะการปรับเปลี่ยนของเขาเป็นการปรับตามวัฒนธรรม และสภาพอากาศ ประเทศจีนบางพื้นที่หนาวมาก การเดินทางของเขาบางคนก็ลำบาก ไม่ได้นั่งรถยนต์ จะใส่กระโปรงสั้นขี่จักรยานก็ไม่เหมาะ ขณะที่บ้านเราเวลาไปเรียนพละยังต้องไปเปลี่ยนชุด แต่สำหรับที่จีนก็ใช้แค่ชุดเดียว เหมือนชุดวอร์ม พร้อมทำกิจกรรมในการเรียนรู้
“ชุดนักเรียนไทย” กับกระแสใน เว่ยป๋อ
อาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านประเทศจีน เปิดเผยว่า ตอนนี้ในเว่ยป๋อมีการพูด 2 กระแส กระแสแรกคือ ความนิยมชุดนักเรียนไทยที่ดูน่ารัก แต่อีกส่วนก็เริ่มมีความกังวลว่า ทางการไทยจะห้ามใส่ เพราะสุ่มเสี่ยงว่าจะผิดกฎหมาย อาจจะถูกปรับ ซึ่งเขาก็ติดตามข่าวในบ้านเรา ตอนที่เห็นภาพคนแห่มาใส่ก็รู้สึกดี ตื่นเต้น แต่ตอนนี้เริ่มเป็นกังวลเหมือนกัน
...
“ในมุมมองส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้คงต้องดูที่เจตนา หากเขาใส่แค่ถ่ายรูปเล่น ไม่ได้ทำอะไรเสื่อมเสีย ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร กลับกัน หากเขามาแล้วใส่ชุดนักเรียน ปักชื่อสถาบัน ทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม อันนี้ก็ต้องมีการพิจารณา หาทางป้องกัน”
ชุดนักเรียน = Soft Power
ดร.นิธิวดี กล่าวในประเด็น “ชุดนักเรียน” ที่หลายคนมองว่าอาจจะเป็น Soft Power อย่างหนึ่งว่า การจะเป็น Soft Power มันต้องมีกระบวนการในการปั้นเรื่องเล็กๆ ในสายตาคนไทย ให้เป็นเรื่องใหญ่ในสายตาของชาวต่างชาติ
การจะเป็น Soft Power ได้ จำเป็นต้องมี “ปฏิกิริยาตอบรับ” เช่น บางเรื่องเราต้องการดันให้เป็น Soft Power แต่เมื่อดันเรื่องนั้นๆ แล้วไม่มีเสียงตอบรับ แบบนี้ก็ดันได้ยาก
ฉะนั้น การจะดัน Soft Power ได้ จำเป็นต้องมี “แอ็กชั่น” ในฝั่งที่เราต้องการส่งสารออกไป และต้องมี “ผลลัพธ์” ด้วยปฏิกิริยาที่มีวงกว้าง หรือการวางแผนให้มี “ปฏิกิริยา” ขยายให้เป็นวงกว้างมากขึ้นจะดีขึ้น
เพราะกระแส ชุดนักเรียนไทย ไม่ได้เริ่มมาจากวันนี้ แต่มันเริ่มนับสิบปีแล้ว ตั้งแต่หนังเรื่อง “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก”
...
สมมติว่าหากเรามีกระบวนการผลักดันเรื่องนี้ให้เป็น Soft Power นี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ แปลว่าต้องมีกระบวนการผลักดัน ที่ต้องมีทั้ง Agenda, Actor, Action Plan ซึ่งวันนี้มีการจุดประเด็นขึ้นมาแล้ว ที่สำคัญเป็นประเด็นเกี่ยวกับการแต่งกายของวัยรุ่นด้วย ซึ่งในจีนถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะปัจจุบันวัยรุ่นจีนนิยมแต่งกายแบบ “ฮั่นฝู” (ชุดจีนโบราณเหมือนในหนัง หรือละครย้อนยุค) เดินตามท้องถนน ใส่ชุดแบบแม่นาง เจ้าหญิง เทพเซียน ซึ่งเวลานี้อาจารย์ที่เป็นวัยรุ่น สะสมชุดโบราณเยอะมาก
...
กระแสแฟชั่น เป็น “พาวเวอร์” อย่างหนึ่ง และ “จุดติด” ได้ง่ายสำหรับเด็ก
เมื่อถามว่า มีประเด็นไหนที่เป็น “ข้อกังวล” หากจะดันให้เป็น Soft Power ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน ตอบว่า หากภาพลักษณ์ออกมาดี ไม่ส่งผลต่อระบบการศึกษาของเรา ก็ถือว่าไม่เป็นเรื่องน่ากังวล แต่ถ้าไปอ้างถึงสถาบันการศึกษาแล้วออกมาไม่ดี แบบนี้เขาก็มีสิทธิ์ที่จะปกป้อง.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ