รวยอยู่แล้วหนิ..จะทำอะไรก็ทำได้...!

เรื่องนี้ไม่จริงเลย คุณเห็นเราตอนประสบความสำเร็จ แต่ตอนลำบาก คุณไม่เห็น

ทำไมหรือ...การเป็นชาวสวน ต้องเป็นคนจน โง่ๆ อย่างนั้นหรือ?

ทำไมหรือ... เป็นชาวสวนต้องจน ถูกคนอื่นเอาเปรียบอย่างนั้นหรือ?

“หนูเห็นแม่โดนบีบขายของถูกๆ เอาข้าวโพดไปขาย ป้ายเขียน 4.50 บาท แต่พอมาขาย ได้ 3 บาท อ้างความชื้น อ้างราคาตก เหมือนถูกขูดรีด ตรงนี้มันคือเรื่องที่ไม่ยุติธรรม แม่...ต่อไปนี้หนูจะไม่เป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชแล้วให้คนอื่นมากำหนดราคา ใครจะมาซื้อของกับเรา เราจะเป็นคนเปิดราคา”

นี่เป็นตัวอย่างน้ำจิ้ม การพูดคุยอย่างออกรส กับ เกษตรกรสาวเก่ง ที่จบปริญญาตรี โท และเอก! จับเงินล้านครั้งแรกตอนอายุ 23 ปี และถือเป็น เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่ได้รับรางวัลมากมาย ในฐานะสำนึกรักบ้านเกิด ดูแลผู้คนที่เป็นเกษตรกรในท้องถิ่นมากกว่า 100 คน และบริหารที่ดินกว่า 3,000 ไร่ ซึ่งส่วนมากไม่ใช่ของตัวเอง

วันอาทิตย์ กับเรื่องราวที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจในอาชีพเกษตรกร กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ วันนี้มีโอกาสพูดคุยกับสาวตัวเล็ก ชื่อหน่อย “ลลิดา คำวิชัย” เจ้าของไร่ ณ ชายแดน ผู้สร้างชื่อ “มะม่วงแก้วขมิ้น” ที่ส่งขายไปทั่วประเทศและต่างประเทศ 

...

เกษตรกรเงินล้าน กับจุดเริ่มต้น ที่ต้องลาออกจากอาชีพธนาคาร

หน่อย ลลิดา เล่าย้อนไปสมัยเรียนจบใหม่ๆ และทำอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งหนึ่งว่า ช่วงนั้นอายุ 21 ปี เรียนปริญญาตรี จบ 2 ใบ คณะรัฐศาสตร์ และบริหารธุรกิจ หลังจากนั้นก็ไปเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งทำได้ไม่นาน ก็มีเรื่องราวเข้ามาในชีวิต เมื่อ “แม่” เริ่มล้มป่วยจากการทำเกษตร ที่มีต้นเหตุมาจากการใช้สารเคมี

ด้วยความที่เป็นลูกคนเดียว แม่ก็ไม่มีใคร จึงจำเป็นต้องลาออกจากที่ทำงาน และตัดสินใจทิ้งทุกอย่างในกรุงเทพฯ ขายคอนโด ขายรถ กำเงินก้อนดังกล่าวมาลงทุนกับการเป็นเกษตรกร...

“เชื่อว่าหากแม่ไม่ล้มป่วยวันนั้น วันนี้ หน่อย อาจจะเป็นสาวแบงก์อยู่ก็ได้”

ลลิดา เล่าด้วยน้ำเสียงแหบกร้าน ดั่งกับคนที่ผ่านการพูดคุยติดต่องานตลอดเวลา

หาว่าบ้า...ไปไม่รอด คำปรามาสจากคนที่มองเข้ามา

ลลิดา ยอมรับว่า ฐานะทางบ้านพออยู่ได้ เนื่องจากแม่เป็นผู้ใหญ่บ้าน และมีที่ดินของตัวเองประมาณ 35 ไร่ แต่การเริ่มต้นทุกอย่างย่อมต้องใช้เงินทุน

“เงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินทั้งหมด นำมาลงในการเตรียมที่ดิน หลังจากเก็บเกี่ยวอ้อยแล้ว ก็จ้างรถไถมาปรับหน้าดิน ระหว่างนั้นก็มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ ก็พบ “มะม่วงแก้วขมิ้น” ของกัมพูชา ซึ่งบ้านเราติดกับชายแดน สามารถนำพันธุ์มาปลูกได้ ที่สำคัญคือเราไม่มีเงินทุนในการวางระบบน้ำ จึงจำเป็นต้องปลูกพืชที่ใช้น้ำไม่มาก และคำนวณวันเวลาในการลงกล้าให้ดี เพื่อรับน้ำฝนมาใช้”

ตอนที่ตัดสินใจทำ มีแต่คนหาว่าบ้า ปรามาสว่า “ไปไม่รอด” แต่ด้วยที่เราเป็น “ลูกเกษตรกร” อยู่แล้ว ไม่เคยกลัวแดด หรือลม และไม่ได้มองว่า “การเรียนสูง” จบปริญญาแล้วจะมาทำเกษตรไม่ได้ เราก็ไม่สน ลงมือทำเองทุกอย่าง

การก่อร่างสร้างตัวแรกๆ เป็นอะไรที่ลำบากมาก เราเป็นผู้หญิงตัวเล็ก ขับรถซาเล้ง ลากสายยาง มารดน้ำต้นไม้ เริ่มจากการปลูกมะม่วง 14 ไร่ โดยเราเอาแม่พันธุ์มะม่วงมาจากกัมพูชา จากนั้นเมื่อได้สายพันธุ์มาแล้ว เราก็พยายามพัฒนาสายพันธุ์ด้วยตัวเอง

ของเดิม “กัมพูชา” มันมีจุดด้อยคือ มะม่วงเหมือนจะมีเสี้ยน และรสเปรี้ยวนำ ผิวไม่เนียนใส ไม่มันปู เราจึงมาเสียบยอด ค่อยๆ พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมา

“เมื่อคนที่ได้ลองชิมครั้งแรก...ก็มีคนถามว่า ทำไมมะม่วงเราไม่เหมือนของกัมพูชา”

เราจึงบอกว่า ของเราเอามาเสียบกับยอดมะม่วงป่า มะม่วงกะล่อน

เจ้าของ ไร่ ณ ชายแดน บอกว่า สิ่งที่ทำเริ่มต้นจากศูนย์ เพราะไม่มีความรู้ด้านเกษตรเลย ถึงแม้จะเป็นลูกเกษตร แต่สิ่งที่เรียนมาคือ รัฐศาสตร์และการตลาด ฉะนั้นจึงเอาความรู้ที่มีมาปรับใช้ ใช้สื่อโซเชียลในการทำประชาสัมพันธ์ เราใช้เวลา 2-3 ปีในการปลูก ค่อยเก็บขาย

...

ยังไม่ทันเก็บผล “มะม่วงแก้วขมิ้น” ก็ได้จับเงินล้าน

จากที่เราใช้ความรู้ด้านการตลาดมาผสมด้วย จึงคิดว่าการทำอะไรให้คนรู้จักได้ จำเป็นต้องมี “แบรนด์” จึงเป็นที่มาของชื่อไร่ ณ ชายแดน ชื่อผลิตภัณฑ์ของตนเอง

จากนั้นเป็นต้นมาก็เริ่มมีชื่อเสียงกลายเป็นที่รู้จัก มีคนมาขอสัมภาษณ์ เราก็ดำเนินการทุกอย่างตามขั้นตอนจนเหมือนได้ใบเซอร์ คือ ตราสัญลักษณ์ GAP (Good Agricultural Practices) สิ่งที่การันตีว่า ผลิตอาหารมาตรฐานปลอดภัย

“ตอนที่จับเงินล้านครั้งแรก ตอนนั้นอายุ 23 ปี สิ่งที่เราขายไม่ใช่ผลมะม่วง แต่มันคือ “ต้นพันธุ์” ที่เราพัฒนาขึ้น”

หลักทฤษฎี “คนขายบ้าน” ต่อยอดส่งตัวเองจบปริญญาเอก

หลักการในการคิดของเรา คือ หลักทฤษฎีคนขายบ้าน เราจะขายบ้าน เราไม่จำเป็นต้องมีบ้านก่อน มีเพียงแบบแปลนและยื่นเสนอขายให้กับลูกค้า ฉะนั้น วลาเราไปขายไอเดียให้โรงงาน เราจะบอกเขาว่าเราเป็น “มะม่วงอุตสาหกรรม” สามารถนำมาแปรรูปอะไรได้บ้าง

เขา...ก็ถามกลับมาว่า “คุณสามารถส่งมะม่วงให้ได้วันละ 10-20 ตันไหม”

เราตอบเขาเลยว่า เราทำได้ ถึงแม้เราเองจะมีที่ปลูกมะม่วง 105 ไร่ แต่หากรวมกับ เหล่าเกษตรกรที่เรารับเขาเข้ามาปลูกและขายให้กับเรา ก็จะมีเกษตรกรรวมกว่า 120 คน ที่ดิน 3,000 ไร่

“การจะเป็นเกษตรกร กับเรา มีข้อแม้ว่าทุกสวนที่ปลูกมะม่วง “หน่อย” จะขอเข้าไปดูแล สิ่งที่เราทำ คือ ไม่ต้องการทิ้งใคร และทุกสวนต้องเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยที่ไร่เรามีศูนย์การเรียนรู้ไว้สอนกับ “ลูกไร่” ด้วย

“ปีนี้ราคามะม่วงดีมาก จน “ลูกไร่” บอกว่าจะขอเอาไปขายเอง”

...

“ป้าท่านหนึ่งบอกว่า น้อง “หน่อย” ขอป้าไปส่งเองได้ไหม”

“ได้เลยค่ะ คุณป้า เราไม่เคยว่าเลย”

ในปีนี้ราคาหน้าโรงงานเพิ่มขึ้นมาเกือบ 3 เท่า และที่สำคัญคือ มะม่วงแก้วขมิ้น ยิ่งลูกใหญ่ ยิ่งราคาดี เพราะมันจะอร่อย ขณะเดียวกัน “มะม่วงน้ำดอกไม้” เวลานี้เรียกว่า “ตลาดวาย” แล้ว เพราะส่วนหนึ่งมาจากการใช้สารเคมี

“หลายคนมาขอบคุณเรา เราเพิ่งรู้จักคำว่า “เสือนอนกิน” เป็นอย่างไร เพราะมะม่วงนี้ปลูกง่าย แทบไม่ต้องใช้สารเคมีอะไรเลย เงินที่ได้จากมะม่วงก็เอามาส่งเสียตัวเองเรียนปริญญาเอก หมดเงินไปเกือบ 2 ล้าน”

ความเจ็บปวดในฐานะลูกเกษตรกร กับการถูกเอาเปรียบรุ่นพ่อแม่

รวยอยู่แล้วหนิ..จะทำอะไรก็ทำได้ กับคำพูดที่หลายคนมองเข้ามา แต่หญิงแกร่งที่ชื่อ ลลิดา ตอบว่า เรื่องนี้ไม่จริงเลย คุณเห็นเราตอนประสบความสำเร็จ แต่ตอนลำบาก คุณไม่เห็น

ทำไมหรือ...การเป็นชาวสวน ต้องเป็นคนโง่ๆ อย่างนั้นหรือ?

...

ทำไมหรือ... เป็นชาวสวนต้องจน ต้องถูกคนอื่นเอาเปรียบอย่างนั้นหรือ?

“หนูเห็นแม่โดนบีบขายของถูกๆ เอาข้าวโพดไปขาย ป้ายเขียน 4.50 บาท แต่พอมาขาย ได้ 3 บาท อ้างความชื้น อ้างราคาตก เหมือนถูกขูดรีด ตรงนี้มันคือเรื่องที่ไม่ยุติธรรม

แม่...ต่อไปนี้หนูจะไม่เป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชแล้วให้คนอื่นมากำหนดราคา ใครจะมาซื้อของกับเรา เราจะเป็นคนเปิดราคา”

ยกตัวอย่าง วันนี้มีคนมาซื้อมะม่วง ลูกค้าถามว่า เอาราคามาจากไหน เราก็บอกเลย เปิด Google เสิร์ชราคากลาง ณ ไร่ชายแดน เลย
แล้วราคา ณ ไร่ชายแดน มาจากไหน....
มันคือราคา “ตลาดไท”
แน่นอนว่า “ตลาดไท” มีนักการตลาดที่เก่งมาก คำนวณออกมาแล้ว นี่คือส่วนหนึ่งที่เราใช้เทคโนโลยีและความรู้ด้านการตลาดมาปรับใช้ แก้ปัญหาให้กับคนยุคพ่อแม่เราโดนเอาเปรียบ

“นี่คือความเจ็บปวดในฐานะลูกเกษตร ที่เราเห็นพ่อแม่เราโดน ขณะเดียวกันคนที่เป็นคนรวย เขาก็คิดเล็กคิดน้อยทุกเม็ด แต่กลับกันสิ่งที่เราทำ คือ เราพยายามแบ่งปันคนอื่นมากขึ้น”

หน่อย ลลิดา ถ่ายกับ ดร.เกริก มีมุ่งกิจ กูรูการทำเกษตร
หน่อย ลลิดา ถ่ายกับ ดร.เกริก มีมุ่งกิจ กูรูการทำเกษตร

เรียนรู้ แบกรับ เป็น “เสาหลัก” ล้มไม่ได้

หน่อย ลลิดา ยอมรับว่าเธอต้องใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่ทำไม่มีใครสอน เราคิดขึ้นจากการลงมือทำ และก็มีหลายคนทัก ทำไมทำงานหนักมาก เราคิดว่าเราอยากจะทำตอนที่เรายังมีแรง บางคนคิดว่าเวลานี้เราประสบความสำเร็จแล้ว ควรเกษียณแล้ว แต่เราเพิ่งอายุ 30 ปีเอง

สิ่งที่เราทำมาจากความรู้ที่ศึกษา ประสบการณ์ และการลงมือทำจริง การที่เราทำเอง จะทำให้เราเข้าใจโลกมากขึ้น

“หนูเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง แบกรับลูกน้องเป็นร้อยๆ เมื่อก่อนบ้างานมาก 4-5 ทุ่ม ยังไปขุดดิน แต่ตอนนี้ก็ได้เรียนรู้ว่าควรพักบ้าง ถึงเวลาต้องดูแลตัวเองบ้าง ดูแลลูกน้องบ้าง ตอนนี้เราเป็นเสาหลัก ล้มไม่ได้”

ทิ้งตำแหน่ง ผอ. ไม่ทิ้งหัวใจความเป็นครู อยากแบ่งปันความรู้

หน่อย ลลิดา สาวโสดวัย 30 ปี ที่ยังบ้างาน บอกว่า ที่ผ่านมาเราแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ให้กับเกษตรกรมาตลอด ส่วนหนึ่งเพราะเราเคยทำอาชีพ “ครู” โดยช่วงเวลาหนึ่งเคยสอบและได้แต่งตั้งเป็น ผอ.วิทยาลัยครูแห่งหนึ่ง ตอนอายุ 24 ปี โดยนอกจากทำสวนไปด้วย ก็เป็นครูด้วย

แม่เห็นเราใส่ชุดสีขาว ติดบั้งบนบ่า เขารู้สึกภาคภูมิใจและเท่มาก แต่เมื่อผ่านไป 2 ปี เราตัดสินใจถอดชุด ถอดบั้งออก บอกว่ามันไม่ใช่ตัวเรา ถ้าใจเราเป็นครู ไม่ว่าเราอยู่ที่ไหน เราก็เป็นครู ฉะนั้นจึงตัดสินใจลาออกจากเงินเดือน 4 หมื่น

“แม้วันนี้ไม่มีใครเรียกหนูว่า “ผอ.หน่อย” จะเรียก “อีหน่อย” แม่ก็ต้องภูมิใจลูกคนนี้ เพราะหนูมาเป็นเกษตรกรเต็มขั้น อย่าอายใคร เพราะตอนนี้หนูมีเงินเดือนสูงแล้ว เพราะต้องดูแลคนมากมาย จ่ายเงินกว่า 3 แสนทุกเดือน”

ทั้งนี้ เจ้าของไร่ ณ ชายแดน ทิ้งท้ายว่า มีคนมาถามว่า จะลาออกจากงานมาทำอาชีพเกษตร ทำอะไรดี ส่วนตัวเรามองว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ การค้นหาตัวเองก่อน อย่ารีบลาออกจากงาน เพราะมีบางเคสที่ลาออกแล้วมาทำเกษตรแต่ไม่สำเร็จ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือต้องหาสิ่งที่ชอบที่ใช่ก่อน เพราะหากไม่ชอบมันก็คงทุกข์ เพราะไม่ว่าอาชีพใด หากไม่มีความรัก ศรัทธาในตัวเองและงานของเรา มันก็จะไม่มีความสุข.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ