“ประเทศเราเป็นโรคเรื้อรัง ถามว่าเราจะตายทันทีหรือไม่ คำตอบคือไม่ตาย แต่ว่าที่สำคัญคือ เราป่วย 3 วันดี 4 วันไข้ ภูมิคุ้มกันในร่างกายเราไม่ดี เราติดเชื้อง่าย ถ้ามีอะไรที่อ่อนไหว เพราะเราเป็นพวกเปราะบาง สิ่งที่เราจะทำได้คือ การทำให้ร่างกายเราเข้มแข็งขึ้น นอกจากการออกกำลังกาย ที่สำคัญคือ กินของดี อาหารดี กินอาหารเสริม กินวิตามินครบ แต่วันนี้เรากินไม่ครบ เรากินกินแป้งเยอะเกินไป กินมากก็เป็นเบาหวาน กินของทอดเยอะ เราไม่กินผัก ไม่กินเนื้อ ไม่กินโปรตีน”

นี่คือการเปรียบเทียบให้เห็นสภาพของประเทศไทยที่กำลังวิกฤติ จากมุมมองของ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทีมไทยรัฐกรุ๊ป

นายเกรียงไกร ยังเปรียบเทียบให้เห็นภาพต่อไปว่า สิ่งดีๆ ที่ร่างกายของประเทศไทยควรมีในวันนี้คือ ภาครัฐเปรียบเสมือนผู้ให้อากาศ อย่างวันนี้อากาศมีฝุ่นพิษ ถ้าเราสูด PM 2.5 ร่างกายเราก็อ่อนแอ ขณะเดียวกันหากภาครัฐสามารถทำให้อากาศดีขึ้น ประชาชนก็จะเข้มแข็ง นักธุรกิจก็เข้มแข็ง เปรียบเสมือนร่างกายกับเศรษฐกิจก็คล้ายกัน เราสามารถที่จะพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็ง และสร้างภูมิคุ้มกันโดยร่วมมือกันได้

คำถามก็คือว่า แล้วสิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นกับร่างกายของประเทศไทยคืออะไร

ประธาน ส.อ.ท. ระบุว่า อันดับแรกคือ กฎเกณฑ์ ระเบียบที่เคยตั้งไว้ในอดีตที่ไม่ทันยุคสมัย เปรียบเหมือนเราเดินออกจากบ้านตอนนี้ เดินไปไหนมาไหนก็เจอแต่ตะปู เจอแต่ลวดหนาม เดินไปก็โดนเกี่ยว ต้องระวังตัวตลอด ความเร็วที่จะเดินได้ก็ไม่ได้ เดินไปไหนก็ถูกล่ามโซ่ จะเดินไปไหนก็ต้องขออนุญาต มีกฎระเบียบมากมาย เรื่องต่อมาคือ การปฏิรูประบบราชการที่มีขั้นตอนล่าช้า เช่น การอนุญาตที่ต้องผ่านขั้นตอนมากมาย และสาเหตุสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขคือ ต้องลดการคอร์รัปชัน ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยกัน เป็นหน้าที่ที่ต้องแบ่งกันทำ

...

ความเปราะบางของไทย บนคลื่นความคาดเดายากของโลก

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความเปราะบาง มีความคาดคะเนยาก สิ่งที่คิดว่าใช่ บางทีมันไม่ใช่ ความเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ผู้ประกอบการต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องยืดหยุ่น และต้องปรับตัวเร็ว

ประธาน ส.อ.ท. อธิบายถึงความเปราะบางที่เป็นอยู่ของประเทศไทย นอกจากเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี (Digital Transformation) เรื่องของสงครามการค้า (Trade War) สิ่งที่น่าเป็นห่วงความคาดเดาของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geo-politic) ในภูมิภาคต่างๆ อย่างรัสเซียกับ ยูเครน แม้จะไกลประเทศไทย แต่กระทบทั่วโลก ที่เกิดเงินเฟ้อ ค่าพลังงานพุ่ง ขาดแคลนอาหาร สายการผลิต และการขนส่งหยุดชะงัก ซึ่งยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ความขัดแย้งอาจขยายวงในอีกหลายภูมิภาค

อีกปัญหาที่สำคัญคือ ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลใหม่ต้องเข้าใจบริบทเหล่านี้

ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนอยากได้จากรัฐบาลใหม่ในอนาคต คือ ร่วมมือขับเคลื่อนประเทศด้วยความรวดเร็ว สิ่งที่คาดหวังอันดับแรก คือ ต้องเก่ง เก่งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การมีวิสัยทัศน์ และเก่งการต่างประเทศ เพราะปัจจุบันมีความท้าทายมากมาย

ฝากโจทย์ใหญ่ความหวังหลังเลือกตั้ง กับรัฐบาลใหม่

ในฐานะภาคอุตสาหกรรมของประเทศที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ย่อมมีความหวังว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ที่จะได้มาซึ่งรัฐบาลใหม่ จะสามารถนำพาประเทศให้พ้นวิกฤติและเติบโตได้

คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท. พร้อมคณะผู้บริหาร พบปะกับทีมไทยรัฐกรุ๊ป นำโดยคุณจิตสุภา วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายคอนเทนต์ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของส.อ.ท. และมุมมองความคาดหวังของเศรษฐกิจไทย หลังเลือกตั้งที่จะมาถึงในไม่ช้า
คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท. พร้อมคณะผู้บริหาร พบปะกับทีมไทยรัฐกรุ๊ป นำโดยคุณจิตสุภา วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายคอนเทนต์ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของส.อ.ท. และมุมมองความคาดหวังของเศรษฐกิจไทย หลังเลือกตั้งที่จะมาถึงในไม่ช้า

...

ประธาน ส.อ.ท. ยังกล่าวกับทีมไทยรัฐกรุ๊ปด้วยว่า จากนโยบายของพรรคการเมืองที่หาเสียงอยู่นั้น ดูแล้วแต่ละคนของแต่ละพรรคมีคนเก่ง และเมื่อมีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ก็อยากฝากโจทย์สำคัญดังนี้

  • สร้างความมั่นใจให้เกิดการลงทุน ทั้งภายใน และการลงทุนจากต่างประเทศ
  • สร้างงาน เพราะทุกวันนี้ยังมีคนตกงาน และไม่มีรายได้จำนวนมาก
  • สร้างรายได้ แก้ปัญหาปากท้องประชาชน ที่ต้องเจอกับค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่รายรับยังน้อยมาก
  • แก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ที่ตอนนี้พุ่งสูงมาก 90 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ประชาชนขาดกำลังซื้ออย่างรุนแรง เงินเดือนออกมาก็ต้องไปจ่ายค่าบัตรเครดิต จ่ายหนี้จนหมดเกลี้ยง แล้วยังเจอปัญหาพนันออนไลน์ที่คนเข้าไปเป็นเหยื่อ เพราะคนขาดความหวัง เลยต้องไปพึ่งพาสิ่งที่จะมีความหวังมาก แต่ยิ่งไปก็ยิ่งหนัก สิ่งเหล่านี้ต้องรีบแก้ไข
  • เรื่องความเหลื่อมล้ำ เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การเข้าถึงแหล่งทุน แต่คือเหลื่อมล้ำในทุกด้าน ถ้าปากท้องดี ประชาชนมีกินมีใช้ คนก็จะเริ่มเดิน คนจะเริ่มมีสมาธิ มีกำลังใจในการไปทำธุรกิจ

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว คือ การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมเปลี่ยนผ่านได้ตามเป้าหมายอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต โดยต้องปรับปรุงกฎหมายล้าสมัย ที่ภาคอุตสาหกรรมเรียกร้องมาโดยตลอด เพราะถ้าไม่ปลดล็อกประเทศตรงนี้ เราจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิต ธุรกิจไม่ได้ และภาครัฐและเอกชนต้องไปด้วยกัน เพราะภาคเอกชนทำเองไม่ได้ ถ้าภาครัฐไม่สนับสนุน

พร้อมแนะนำว่า โครงการที่ดีของรัฐบาลที่ผ่านมา เมื่อมีรัฐบาลใหม่ก็ต้องสานต่อ ส่วนโครงการที่ไม่ดีและมีปัญหา หรือไม่มีอนาคต ก็ตัดทิ้งไป แบบนี้ถ้าร่วมใจกันทุกภาคส่วน ก็จะสามารถก้าวข้ามปัญหาความท้าทายนี้ไปด้วยกัน

...

“10 กว่าปีที่ผ่านมา เราสาละวนกับปัญหาเก่าๆ และขาดความสามัคคี ผมคิดว่าถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกัน ลืมเรื่องในอดีต มองอย่างเดียวกันว่าจะทำอย่างไรที่จะดึงประเทศให้กลับมาสู่เวทีโลก ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยกลับมา และทำให้ทุกอย่างกลับเข้ามาสู่ทิศทางที่ควรจะเป็น ผมเชื่อว่าด้วยพื้นฐานประเทศไทยมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ มีแหล่งท่องเที่ยว นี่คือทรัพย์สมบัติที่เรามีอย่างมหาศาล เพียงแต่เราร่วมมือกัน ก็เชื่อว่าภายใน 3-5 ปี ประเทศไทยจะแซงประเทศอื่นแน่ๆ ในภูมิภาคนี้ และจะขึ้นเป็นผู้นำอย่างแท้จริง” นายเกรียงไกรย้ำกับทีมไทยรัฐกรุ๊ป.