“ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” เปิดการสนทนาที่ว่าด้วยเรื่องความพร้อมและอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ในศึกเลือกตั้งที่ใกล้มาถึง กับ “นายอลงกรณ์ พลบุตร” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หลังการขยับรวมพลครั้งใหญ่ ที่มีชื่อของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเกี่ยวข้อง “พร้อมแล้วแค่ไหน? ยุทธศาสตร์หาเสียงคืออะไร? ศึกภาคใต้ที่ว่าจะหนักมีจริงหรือไม่? อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะรีเทิร์นจริงหรือไม่ ทั้งหมดนี้ “เรา” ไปร่วมฟังคำตอบจากปาก รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมๆ กัน...
บทบาท อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ :
...
สำหรับบทบาทของ "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง นั้นในเวลานี้มีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ คือ 1.คุณอภิสิทธิ์ ยืนยันว่าจะให้การสนับสนุนพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยจะไปร่วมรณรงค์หาเสียงทั้งในพื้นที่กรุงเทพและต่างจังหวัด 2.เรื่องการลงสมัครรับเลือกตั้งจะเป็นการหารือระหว่าง นายอภิสิทธิ์ และ "นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" หลังเดินทางกลับจากต่างประเทศแล้ว
“คุณอภิสิทธิ์ จะลงรับสมัครเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ อยู่ที่การหารือระหว่างคุณอภิสิทธิ์และคุณจุรินทร์ แต่หากถามความเห็นส่วนตัว ผมอยากให้คุณอภิสิทธิ์ลงสมัครอีกครั้ง เพราะจะเป็นกำลังสำคัญของพรรคในศึกเลือกตั้งครั้งนี้ได้ โดยก่อนหน้านี้ ผมเองได้เคยพูดคุยส่วนตัวกับคุณอภิสิทธิ์มาแล้วว่า อยากให้คุณอภิสิทธิ์นำทัพผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ ลงแข่งขันในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วยตัวเอง ซึ่งในตอนนั้นคุณอภิสิทธิ์ ก็ยังไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธ” นายอลงกรณ์ เริ่มต้นการสนทนากับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
หนุนระดับแกนนำพรรคลงสู้ศึก ส.ส.เขต มากกว่า บัญชีรายชื่อ :
“การที่ผมเสนอให้คุณอภิสิทธิ์ ลงสมัคร ส.ส.กทม.ด้วยตัวเอง ก็เป็นแนวคิดเดียวกับที่ผมได้เรียกร้องทั้งในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์และที่ประชุม ส.ส. มาโดยลำดับว่า ทั้งอดีตหัวหน้าพรรค อดีตกรรมการบริหารพรรค อดีตรัฐมนตรี หรือ บรรดาขุนพลคนสำคัญทั้งหลายของพรรค ควรมาลงสมัคร ส.ส.เขตให้ได้มากที่สุด ซึ่งผมได้ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับคนในพรรคและพี่น้องประชาชน”
แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ :
“สำหรับเรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคนั้น ผมคิดว่าทางกรรมการบริหารพรรคได้มีมติและได้แจ้งมติในการส่งหัวหน้าพรรค (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแล้ว อย่างไรก็ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าสำหรับคุณอภิสิทธิ์แล้ว ไม่ว่าจะได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ท่านก็มีความเต็มใจที่จะช่วยพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งนี้แน่นอน”
...
ยุทธศาสตร์เลือกตั้ง ปี 2566 :
“เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งแล้ว ไม่ว่าจะทั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.เขต และได้มีการวางตัวผู้สมัครเอาไว้เรียบร้อยแล้ว รอเพียงการประกาศเรื่องการแบ่งเขตอย่างเป็นทางการของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เท่านั้น”
สำหรับยุทธศาสตร์ในการหาเสียงครั้งนี้ ทางพรรคจะมุ่งเน้นไปในเรื่องการแข่งขันด้านผลงานและนโยบาย ภายใต้แนวทาง สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ และการมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อตอบโจทย์ปัญหาปากท้องของประชาชน และการสร้างขีดความสามารถใหม่ให้กับประเทศ ทั้งในเมืองและในชนบท ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์จะพยายามมุ่งเน้นการรุกคืบเข้าไปในพื้นที่ภาคอีสานให้มากขึ้น โดยจะมีการชูยุทธศาสตร์ เชื่อมอีสานเชื่อมโลก เป็นนโยบายสำคัญในการหาเสียง
“พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมสู้ทุกภาคและทุกเขตเลือกตั้ง และหวังว่าด้วยผลงานและนโยบายซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าทำได้จริงในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาในฐานะที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะสามารถฟื้นฟูความศรัทธาและคะแนนนิยมได้ในทุกภาคของประเทศ”
...
การเผชิญหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ในศึกชิงพื้นที่ภาคใต้ :
สำหรับการขับเคี่ยวในพื้นที่ภาคใต้กับทางพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งได้ทั้งอดีต ส.ส. และบุคคลระดับแกนนำของพรรคประชาธิปัตย์ไปจำนวนมากนั้น นายอลงกรณ์ แสดงความเชื่อมั่นว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะยังคงได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากชาวภาคใต้เช่นเดิม โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนภาคใต้ดีขึ้นมาก หลัง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ได้มีการปฏิรูปพรรคให้ทันสมัยมากขึ้น ภายใต้การสนับสนุนจาก อดีตหัวหน้าพรรคทั้ง 3 ท่าน คือ นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งการผนึกกำลังดังกล่าวสามารถฉายภาพความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและความมีเอกภาพในพรรคมากขึ้น
...
“ผมมั่นใจว่า พรรคประชาธิปัตย์จะยังคงรักษาแชมป์ในพื้นที่ภาคใต้เอาไว้ได้ และจะได้ส.ส.เขตมากกว่าเดิม เพราะเรามั่นใจมากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เพราะเรามีความพร้อมทั้งในเรื่องของเขตเลือกตั้งและนโยบายใหม่ๆ เกี่ยวกับพรรคใต้ เช่น นโยบายนำสันติสุขสู่ภาคใต้ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป็นหลัก และถึงแม้ว่าจะมีหลายพรรคการเมืองที่พยายามเข้ามาช่วงชิงที่นั่งในภาคใต้ แต่ก็คงไม่ต่างจากการเลือกตั้งทุกๆครั้งที่ผ่านมา”
ชวน หลีกภัยและบัญญัติ บรรทัดฐาน :
“สำหรับกรณีของอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้ง นายชวน หลีกภัย และ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นั้น จะลงสมัครรับเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงด้วยแน่นอน โดยทั้งสองท่านจะลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในลำดับต้นๆของพรรคตามประเพณีปฏิบัติทางการเมืองที่พรรคจะให้เกียรติอดีตหัวหน้าพรรคทุกท่านที่จะลงสมัครในระบบบัญชีรายชื่อ เว้นแต่มีความประสงค์ว่าท่านจะขอไปลงสมัคร ส.ส.เขต” นายอลงกรณ์ พลบุตร ปิดท้ายการสนทนา กับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง