ช่วงนี้มีหลายคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับประเด็น “ความรุนแรงในครอบครัว” ทั้งปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชน รวมถึงคดีฆาตกรรมที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสามี หรือภรรยา ลงมือก็ตาม
ความละเอียดอ่อนของคดี ส่งผลต่อ “เหยื่อ” ซึ่งอาจจะเป็น “เด็ก” หรือญาติพี่น้องของผู้สูญเสียก็ตาม
ยกตัวอย่างคดีที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เช่น คดีน้องต่อ ที่บางประเด็นในการนำเสนอข่าวของสื่อ “สื่อ” ที่แทบไม่ได้ทำประโยชน์ในการตามหาตัวเด็กเลย... และหากเด็กยังมีชีวิตอยู่ ผลที่ได้รับจะเป็นอย่างไร
นายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า สิ่งที่สื่อควรระมัดระวังในการนำเสนอข่าวความรุนแรงในครอบครัว คือ การใส่ชื่อ-นามสกุล ลงไปในข่าว โดยเฉพาะผู้เสียหาย เหยื่อ หรือแม้กระทั่งผู้ถูกกล่าวหา ควรจะใส่ชื่อ “สมมติ”
เพราะความรุนแรงในครอบครัว บางคดีในท้ายที่สุดอาจจะนำไปสู่การยุติ หรือไกล่เกลี่ยเพื่อลดความบาดหมางกันได้ แต่หากสื่อไปลงชื่อ-นามสกุลจริงๆ อาจนำไปสู่ความร้าวฉาน ก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น
...
ประเด็นเนื้อหาข่าว และภาพ : การเขียนบรรยายภาพรุนแรงในข่าว จะไม่เป็นประโยชน์กับเหยื่อ นอกจากนี้เรื่องภาพก็ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะภาพความรุนแรง และภาพอุจาด ต้องหลีกเลี่ยง
“นี่คือเกณฑ์มาตรฐานทั่วไปของสื่อทั่วโลกที่ใช้กันอยู่ หากผู้เสียหายเป็นเหยื่อ และยังเป็นเยาวชนอยู่ อีกทั้งผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชนด้วย ก็ต้องระวัง เพราะท้ายที่สุดกลายเป็นการประจาน หรือทำให้เขาไม่สามารถเติบโตได้ในสังคม เนื่องจากภาพปรากฏอยู่”
นายธรัมพ์ ย้ำว่า ยิ่งสื่อโซเชียลฯ เข้าถึงได้ง่ายเท่าไร โอกาสที่ภาพ หรือสิ่งที่โพสต์เหล่านั้นก็ยังอยู่ ฉะนั้น สื่อต้องระวัง ซึ่งแตกต่างจากหนังสือพิมพ์สมัยก่อนที่พิมพ์ออกมาแล้วก็จบ กลายเป็นเศษกระดาษ ผ่านไป 1 เดือน ก็ไม่มีใครคุ้ยออกมาแล้ว แต่หากเป็นสื่อโซเชียลฯ ทุกอย่างสามารถขุดกลับมาเล่นได้ตลอดเวลา มันจะกลายเป็น “ตราบาป” ติดตัวเขาไป
ที่ผ่านมาก็เคยมีเคสของต่างประเทศ เช่น ผู้สื่อข่าว CNN ที่เข้าไปถ่ายในศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งมีการกั้นเขต “ที่เกิดเหตุ” ไว้แล้ว แต่ก็มีการข้ามเส้นเข้าไปถ่ายภาพ และตอนหลังก็ได้แถลงข่าวขอโทษ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเองก็มาจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยให้เข้าไป ซึ่งภาพบางภาพไม่ควรที่จะปล่อยสู่สาธารณะ
การละเมิดกฎของสื่อ และบทลงโทษ
โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงบทลงโทษของสื่อที่ทำผิดจรรยาบรรณ ว่า มีทั้งโทษทางอาญา และแพ่ง หากเป็นสำนักพิมพ์ หรือ เจ้าของเพจ อาจจะเจอมาตรการทางปกครอง คือให้ชดใช้ค่าเสียหาย
หากสื่อนั้นเป็นสื่อโทรทัศน์วิทยุ ก็จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากำกับดูแลอย่าง กสทช. อาจจะเจอจอดำ เจอปรับ เตือน หรือถ้าร้ายแรงก็อาจจะโดนยึดใบอนุญาต ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ “มาตรฐานทางวิชาชีพ” ซึ่งมีกฎหมายควบคุมอยู่
“สำหรับคดีที่มาถึงสำนักงานอัยการ ส่วนมากจะผ่าน สำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว และโดยมากจะมีการร้องเรียนเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนหน่วยงานอื่นๆ ที่ช่วยดูแล ได้แก่ ศาลเยาวชนและครอบครัว กสทช. องค์กรตุลาการต่างๆ ที่คอยกำกับดูแล เป็นต้น”
...
สถิติผู้ชายมักเป็นฝ่ายก่อความรุนแรงในครอบครัว
นายธรัมพ์ คดีความรุนแรงในครอบครัว ส่วนใหญ่ “ฝ่ายชาย” มักจะเป็นคนลงมือกระทำ ขณะที่ฝ่ายหญิงมักจะเป็นเหยื่อ แต่กรณีล่าสุดที่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ถูกยิงเสียชีวิต ความจริงก็คือ ความรุนแรงในครอบครัว เพียงแต่เป็นเรื่องระหว่าง “ผู้ใหญ่” กับ “ผู้ใหญ่” และที่สำคัญคือ เขาไม่ได้นำเสนอข้อมูลลึกเท่าไร อีกทั้งผู้เสียชีวิตยังเป็นที่รู้จักในสังคม
“การลงชื่อผู้เสียชีวิต เคสนี้สามารถทำได้ เพราะยังไงก็ต้องเป็นข่าว กลับกันหากผู้ไปเกี่ยวข้องกับเยาวชน ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ การค้าบริการทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือคนในครอบครัวพาไป สื่อต้องระวังสูงสุดในการเปิดเผยข้อมูล เพราะเยาวชนเขาต้องเติบโตไปในอนาคต หากสื่อลงแล้ว โซเชียลฯ แชร์ออกไป มันจะอยู่ตลอดกาล”
การยอมความ
คดีความรุนแรงในครอบครัว ยอมความได้หรือไม่ นายธรัมพ์ บอกว่า หากเป็นเยาวชน ก็จะมีกฎหมายเด็กดูแลอยู่แล้ว โดยจะมีมาตรการในการดูแลเหยื่อและผู้กระทำ เพื่อฟื้นฟูจิตใจ หากเป็นสามี-ภรรยา นั้นไม่มีมาตรการคุ้มครอง
“กรณีที่ผู้หญิงก่อความรุนแรง โดยมากมาจากเรื่องชู้สาว หรือถูกกดขี่ข่มเหงจิตใจ หากมีการกระทำต่อร่างกาย ไม่สามารถยอมความได้ เพราะถือเป็นความผิดทางอาญา เพียงแต่ว่าสุดท้ายจะอยู่ที่ดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดโทษตามสิ่งที่กระทำ”.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ
...