หากจับกระแสร้อน "คอการเมือง" ในเวลานี้ คงต้องโฟกัสไปที่ "ลุง" ตัด "ลุง" ระหว่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แยกทางกันเดิน มาเข้าพรรครวมไทยสร้างชาติ 

ในขณะที่ "นิวบิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ปรับ “ลุค” การแต่งตัว และท่าทาง ช่วงชิงโฉบลงพื้นที่หาเสียง 

เกมการเมือง ระหว่าง “บิ๊กตู่” และ “ลุงป้อม” จะมีนัยอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ชวน รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์การเมืองไทย

อาจารย์สุขุม มองว่า หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ “บิ๊กตู่” ก็คงโดนน่วมกว่าลุงป้อมอยู่แล้ว เพราะเป็น “เป้าหมาย” ในการโจมตีของฝ่ายค้าน และที่สำคัญคือ “ฝ่ายค้าน” มีไมตรีกับลุงป้อมมากกว่า ที่สำคัญคือ พล.อ.ประวิตร เองไม่ได้รับผิดชอบงานมากเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ ฉะนั้น ภาพรวมจึงพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์

...

“ส่วนสีสันการหาเสียงในเวลานี้ ส่วนตัวเชื่อว่าคนไทยเองก็เริ่มตัดสินในการเลือกผู้แทนแล้ว ว่าจะเลือกใคร ซีกไหน อย่างไรก็ตาม การหาเสียงในเวลานี้ก็เชื่อว่าจะมีผลอยู่บ้าง และการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเวลานี้ ยังไง รัฐบาล ย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะต้องไปฝ่ายแก้ตัว ในขณะที่คำตอบของ นายกฯ ก็แก้ตัวแบบคนไม่ยอมรับ พูดเป็นนามธรรมมากกว่า จึงเหมือนเป็นการอธิบายไม่ตรงจุด”

การชิงตัดหน้าลงพื้นที่หาเสียง ระหว่าง “ลุงป้อม” กับ “ลุงตู่”

กูรูการเมืองไทย มองว่า เราต้องยอมรับว่า การลงพื้นที่ปาดหน้า กลายเป็นการแข่งขันกับฝ่ายเดียวกันเอง “บิ๊กตู่” มีข้อได้เปรียบ จากกลุ่มอนุรักษ์ กลุ่มข้าราชการบางส่วน ซึ่งกลุ่มนี้ชอบ “บิ๊กตู่” มากกว่า

ในสายตาของกลุ่มนี้ มอง “บิ๊กป้อม” ว่าเป็นเครื่องมือ ของฝ่ายการเมือง ที่คอยจะแทรกเข้ามาใช้อำนาจร่วม

“การแยกกลุ่มลักษณะนี้ ผมมองว่าจะ “เสียเปรียบ” คู่แข่งอื่นๆ หากคิดง่ายๆ การเมืองแบ่งเป็น 2 ฟาก การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ขนาดรวมกันยังชนะแบบ “ปริ่มน้ำ” แต่พอมาครั้งนี้แยกกัน โอกาสชนะจะมากกว่าเดิมได้อย่างไร...”

แยกกันเดิน ร่วมกันตี เป็นไปได้ไหม... อาจารย์สุขุม บอกว่าก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่แยกกันเดิน มันจะดีกว่า การรวมกันอย่างนั้นหรือ? “ฉะนั้น ผลลัพธ์ที่ออกมาก็อาจจะสู้ครั้งที่ผ่านมาไม่ได้”

ท่าทีของ “ลุงป้อม” กับการกระจายตัวของ ส.ส. บ้านใหญ่ นำไปสู่การรวมตัวแก้ขัดแย้ง เกิดรัฐบาลแห่งชาติ ได้หรือไม่ อาจารย์สุขุม บอกว่า การจะตอบเรื่องนี้ได้ต้องดูผลเลือกตั้งเสียก่อน โดยเฉพาะคำว่า “แลนด์สไลด์”

หาก “เพื่อไทย” ได้เสียง ส.ส. เกิน 250 เสียง การจะมาจับมือกับ “พลังประชารัฐ” คงเป็นไปได้ยาก เพราะ “แฟนคลับ” คนละกลุ่มและอยู่ตรงข้ามกัน การทำแบบนั้น เท่ากับว่า “ไม่มีอุดมการณ์ทางการเมือง”

โอกาส เพื่อไทย เป็นรัฐบาล และชนะแบบแลนด์สไลด์? อาจารย์สุขุม ตอบทันทีว่า เป็นไปได้ จากปัจจัยจาก “ความเบื่อ!”

เบื่อ 8 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
เบื่อ 8 ปี รัฐบาลมีผลงานไม่ประทับใจ ที่จะทำให้เลือกกลับมาใหม่

...

“ด้วยความเบื่อแบบนี้แหละ ถึงต้องเปลี่ยนข้าง ถึงแม้นายกฯ จะบอกว่า ถึงเวลาที่จะเก็บเกี่ยว แต่ประชาชน คอการเมือง เริ่มรู้สึกว่ารอไม่ไหว ไม่เห็นจะได้ผลตามที่พูดไว้สักที”

ผลงานโครงการประชารัฐต่างๆ ไม่ได้ช่วยเลยหรือ...? รศ.สุขุม บอกว่า โครงการแบบนี้ใครเป็นรัฐบาลก็ทำได้

จากการจัดทัพและกำลังพลต่างๆ มองว่า พรรคไหน จะครองพื้นที่ไหนบ้าง อาจารย์สุขุม ออกตัวทันทีว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญขนาดที่จะฟันธงได้ แต่ข้อมูลจากโพล มันก็พอจะเห็นภาพได้มาก ว่า เพื่อไทย น่าจะได้ครองในส่วนของภาคเหนือและอีสาน

“ท่านนายกฯ ท่านมีคะแนนดีในแถบภาคใต้ ซึ่งภาคใต้ก็คือ จุดเริ่มต้นในการโจมตี “ระบอบทักษิณ” แต่ความเสียเปรียบของภาคใต้ เป็นพื้นที่มีจำนวน ส.ส. น้อยที่สุด เมื่อหันมาดูภาคอีสาน ขนาดแบ่งกัน 2-3 กลุ่ม ยังมีคะแนนเสียงมากกว่าภาคใต้ ฉะนั้น เมื่อพิจารณาจากการคำนวณคะแนนแล้ว ผลที่ออกมาคราวที่แล้ว “ปริ่มน้ำ” คราวนี้น่าจะ “จมน้ำ”

ถึงแม้ทีมของ พปชร. ของลุงป้อม จะพอมีโอกาสในภาคเหนือกับอีสานบ้าง แต่การแยกกันในครั้งนี้ระหว่าง “ลุงตู่” กับ “ลุงป้อม” ก็ยิ่งทำให้โอกาสน้อยลง ซึ่งตามโพล “ลุงตู่” นี่อยู่อันดับ 3-5 เลย

...

เมื่อถามว่า ถ้าทรงเป็นแบบนี้น่าจะเข้าทางเพื่อไทย และ อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร อาจารย์สุขุม กล่าวว่า ก็ยังไม่แน่ เพราะเพื่อไทยเขาจะวางแคนดิเดต นายกฯ ครบ 3 คน ฉะนั้นคงต้องรอดูกันต่อไป

เมื่อถามว่ากำลังพล สมาชิกวุฒิสภา เวลานี้เอนเอียงไปฝ่ายไหน กูรูการเมืองตอบสั้นๆ ว่า บางคนจะพูดเป็นพระเอกอย่างไรก็ช่าง แต่ถึงเวลาก็อยากให้มองว่าเขาเป็นฝ่ายหนึ่งที่มีวินัยมากที่สุด ซึ่งอยู่ฝ่ายสืบทอดอำนาจอยู่แล้ว โดยเฉพาะฝั่ง “ลุงตู่” หรือ “ลุงป้อม” ก็ได้ แต่เท่าที่ดูในเวลานี้ ปักหลักอยู่ฝ่าย “ลุงตู่” มากกว่า

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...