14 ก.พ. 2566 วันวาเลนไทน์ กรุงเทพฯ เปิดให้กลุ่ม LGBTQ จดแจ้งชีวิตคู่ หลังจากปีที่แล้วมีผู้จดแจ้งกว่า 269 คู่ และเป็นการผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม ปีนี้เปิดให้จดทะเบียนในเขตดุสิต และป้อมปราบศัตรูพ่าย โดยคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ ควรตรวจสอบคุณสมบัติ รวมถึงเอกสารให้พร้อม เพราะ 1 ปี มีเพียงครั้งเดียว

“รุจิรา อารินทร์” ผู้อำนวยการเขตดุสิต กรุงเทพฯ กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ว่า” ในวันแห่งความรัก 14 ก.พ.2566 เป็นครั้งแรกที่เขตดุสิต เปิดให้คู่รัก LGBTQ จดแจ้งชีวิตคู่ หลังจากปีที่แล้วเขตบางขุนเทียน เปิดให้จดแจ้งเป็นครั้งแรก และมีคู่รักเพศเดียวกันเข้ามาจดทะเบียนกว่า 269 คู่ โดยแนวคิดเกิดจากการมองเห็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นส่วนหนึ่งในสังคม และถึงเวลาแล้วที่ไม่ควรถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย ที่ยังไปไม่ถึง เพราะความรักของคนสมัยนี้ได้ก้าวข้ามเรื่องเพศไปแล้ว

“การเปิดให้กลุ่ม LGBTQ จดแจ้งชีวิตคู่ เพราะทางเขตอยากให้มีการรวบรวมสถิติ ถึงความประสงค์ของคู่รักเพศที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องการมีความผูกพันกันไปในอีกระดับขั้น นอกจากการเป็นแฟนกัน ว่าจำนวนมากเท่าไร เพราะทุกวันนี้กลุ่ม LGBTQ มีอยู่จำนวนมาก แต่รัฐไม่มีข้อมูลว่า กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่มีความรักยั่งยืนถึงขั้น จดทะเบียนเป็นสามีภรรยา มีอยู่จำนวนเท่าไร ดังนั้น ในปีนี้ ทางกรุงเทพฯ จึงมีการเปิดให้จดแจ้งความรักได้ในเขตดุสิต และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อรวบรวมเป็นสถิติ จะทำให้เห็นความต้องการของกลุ่มหลากหลายทางเพศมากขึ้น”

...

การจดแจ้งชีวิตคู่ ของกลุ่ม LGBTQ ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เป็นสถิติยืนยันความต้องการของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ช่วยทำให้เกิดการผลัดดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพราะสถิติการจดแจ้งนี้ เป็นฐานข้อมูลของรัฐ ที่มีความชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้

สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ ต้องการจดแจ้งชีวิตคู่ ควรมีคุณสมบัติดังนี้

  • ต้องมีสัญชาติไทย
  • อายุ 20 ปี บริบูรณ์
  • ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น
  • นำบัตรประชาชนตัวจริงมาแสดง

    สถานที่ประวัติศาสตร์จดแจ้งชีวิตคู่



    “รุจิรา” กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีกลุ่มบุคคล ที่ลงทะเบียนเพื่อมาจดแจ้งชีวิตคู่แล้วบางส่วน แต่ยังเปิดรับให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีความประสงค์มาจดแจ้งชีวิตคู่ ภายในงาน กิจกรรมจดทะเบียนสมรสและจดแจ้งชีวิตคู่ เทศกาลวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์ 2566 ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00น. ภายใต้ชื่องาน "ปดิวรัดา...ด้วยรักภักดีนิรันดร์" รฦกรัก ณ อัครสถานพระราชอุทยานสวนสุนันทา ภายใน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

    กระแสการจดแจ้งชีวิตคู่ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในกรุงเทพฯ ขณะนี้ขยายตัวออกไปค่อนข้างกว้าง เพราะมีหลายเขต เริ่มมีการมาขอจดแจ้งลักษณะนี้มากขึ้น ทำให้นายทะเบียนของเขตเหล่านั้น มีการแจ้งความประสงค์มายังเขตดุสิต เพื่อขอแบบฟอร์มการจดแจ้งคู่ชีวิต เพื่อให้มีลักษณะในรูปแบบเดียวกัน

    “หลายประเทศทั่วโลกมีการจดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องของกลุ่ม LGBTQ เพราะไทยไม่สามารถเพิกเฉยกับการมีตัวตนของคนกลุ่มนี้ได้ ขณะเดียวกันคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นคนที่มีคุณภาพ เสียภาษีให้กับรัฐ เป็นหนึ่งคนในสังคมเหมือนกัน การจดแจ้งคู่ชีวิต จึงเป็นจุดเริ่มต้น ที่แสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในสังคม ดังนั้นจึงต้องยอมรับการมีตัวตน และความผูกพันในความรักของกลุ่มนี้ด้วย”

    การจดทะเบียน ในสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่อัครสถานพระราชอุทยานสวนสุนันทา ภายใน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อดีตเป็นที่ประทับของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราช ปดิวรัดา พระอัครชายาในรัชกาลที่ 5 เป็นสถานที่แสดงออกถึงความรักของรัชกาลที่ 5 ที่มีต่อพระวิมาดาเธอฯ และความจงรักภักดีของพระวิมาดาเธอฯ ที่มีต่อพระสวามี จึงเป็นสถานที่สวยงาม และเป็นตัวแทนแห่งความรัก และอยากให้ทุกคู่ที่มีความรัก ซึ่งไม่มีข้อจำกัดทางเพศ มาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงพลังร่วมกัน

    ทั้งนี้ จากสถิติการจดแจ้งชีวิตคู่ ของคู่รัก LGBTQ ได้จัดขึ้นครั้งแรก เมื่อ 14 ก.พ. 2565 ที่เขตบางขุนเทียน ครั้งนั้นมีกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ มาจดแจ้ง 269 คู่ แม้ไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เป็นการขับเคลื่อน เพื่อให้เกิดการสมรสเท่าเทียม โดยปีนี้คาดว่ามีผู้ที่มาจดแจ้งมากกว่าปีที่แล้ว.