เรามักตั้งคำถามเสมอว่า การเป็น “เกษตรกร” นั้นต้อง “ยากจน” จริงๆ หรือ

แต่....ในช่วง ทศวรรษ ที่ผ่านมา เราก็เห็นตัวอย่าง “เกษตรกร” ที่มีความสุข และ ร่ำรวย ทั้งเงินทอง เวลา และความสุข

หนึ่งในคนที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ก็คือ ชายหนุ่ม วัยสามสิบกว่าปีคนนี้ ที่ชื่อ “สิริกร ลิ้มสุวรรณ” ผอ.สถาบันบ่มเพาะและส่งเสริมเกษตรอินทรีย์วิถีไทยและอาหาร เจ้าของ “บ้านรักษ์ดิน”

เรียน “นิติศาสตร์” แต่เป็นนักกฎหมายที่ดีไม่ได้

สิริกร เล่าจุดเริ่มต้นของความรักในอาชีพเกษตร เพราะได้ไปเรียนหนังสือ ที่โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ กาญจนบุรี ประมาณ 20 ปีก่อน ซึ่งคนแถวนั้นเรียกว่า “โรงเรียนเจ้า” หรือ “โรงเรียนของสมเด็จย่า” เนื่องจากโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า จึงมีโครงการให้เรียนรู้เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ สมเด็จย่า และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์

“ผมเป็นเด็กคนหนึ่ง มีโอกาสได้เรียนรู้เกษตรในโครงการต่างๆ แต่ตอนที่เรียนนั้น ก็ “ไม่อิน” เท่าไหร่ แต่ได้เรียนรู้ ผ่านตา เกี่ยวกับ “เกษตรพอเพียง” ซึ่ง 20 ปีก่อน เกษตรอินทรีย์ ถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ...”

...

และเวลาก็ผ่านไป เราเติบโต เรียนต่อเข้ามหาวิทยาลัย ในสาย “นิติศาสตร์” ม.รังสิต ตามคุณแม่ ซึ่งมีอาชีพรับราชการ โดยหวังว่าจะใช้วิชาความรู้ช่วยเหลือคนในชุมชนได้บ้าง

แต่... เมื่อเรียนไปๆ จนจบ ในใจก็รู้ทันทีว่า “ไม่ชอบ” ส่วนหนึ่งเพราะเราเห็นปัญหาการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง เล็งเห็นว่า “นักการเมือง“ เป็นผู้ออกกฎหมาย แต่ปรากฏว่า เมื่อร่วมกันล่ารายชื่อเพื่อหวังจะให้กฎหมายเกี่ยวกับ ที่ดิน และมรดก

สิริกร เล็งเห็นว่า กฎหมายที่จะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนตัวเล็ก ทั้งเรื่องที่ดิน และ มรดก แต่นักการเมืองไม่ยกมือผ่านกฎหมายให้...จึงเกิดความรู้สึกย้อนแย้งในใจ ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะเรียนกฎหมายเพื่อมารับใช้ คนกลุ่มนี้หรือ..? และเราก็รู้ตัวทันทีว่าเราจะเป็นนักกฎหมายที่ดีไม่ได้

“วันหนึ่ง ระหว่างที่เรียนอยู่ จึงได้นึกหวนย้อนกลับมาว่า ตอนที่เราเป็นเด็ก เรามีโอกาส ได้ไปเรียนเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ และเราก็เห็นว่า คนที่อยู่ตามป่าเขา ตะเข็บชายแดน เขากลับอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลย ไม่จำเป็นต้องมีพลังอำนาจใด แค่รู้สึกว่า วันนี้ คุณกินอิ่มท้องหรือยัง และจึงคิดได้ว่า การทำเกษตรอินทรีย์ อย่างพอเพียง ตามในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ ทางรอด ของทุกปัญหา เพราะทุกปัญหา แก้ไขได้ ต้องเริ่มต้นด้วยความอิ่มท้องเสียก่อน ความคิดนี้จึงริเริ่มตั้งแต่ตอนที่เรียน ป.ตรี” นี่คือจุดเริ่มต้นที่คิดกลับมาเป็นเกษตรกร

ทิ้งเงินเดือน 3 หมื่น หันสู่แปลงนา ถูกหาว่าบ้า เพื่อนเลิกคบ แม่ร้องไห้

สิริกร นึกย้อนกลับไป ช่วงที่เรียนใกล้จะจบ ม.รังสิต ได้กลับมาบ้านที่ จ.กาญจนบุรี คุณยาย ตอนนั้น คุณยายได้ยกที่ดินให้ 1 ไร่ จากนั้น จึงได้เริ่มต้นด้วยการทำ “นาข้าวอินทรีย์” เพราะเคยร่ำเรียนมาตอนเด็กๆ แต่ก็ยังไม่ได้ทำจริงจัง เพราะเมื่อเรียนจบกฎหมาย ก็ได้ไปทำงานในธนาคารแห่งหนึ่ง ใน จ.กาญจนบุรี และหากมีเวลาก็ไปทำเกษตรด้วย...

“ชีวิตในตอนนั้น เหมือนแบ่งพาสเป็น 2 พาส คือ ตื่นเช้าไปทำงานธนาคาร พอตกเย็นกลับมาทำอาชีพเกษตร”

วงจรชีวิตเป็นแบบนี้อยู่ 1 ปี กระทั่ง เช้าวันหนึ่ง มีความรู้สึกว่า “ชีวิตไม่มีความสุขเลย” ทำไมต้องตื่นเช้าเพื่อไปธนาคาร (ทั้งที่ธนาคาร-บ้าน อยู่ไม่ห่างกัน) จึงตัดสินใจลาออกจากธนาคาร ทิ้งเงินเดือนในขณะนั้น ประมาณ 20,000-30,000 บาท

“ผมเห็นเงินทุกวัน เงินล้านผ่านหน้าทุกวัน จนมีความรู้สึกว่า “ไม่ต้องการเงิน” นั้น รู้สึกว่า นี่หรือ เงิน 1 ล้านบาท น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ที่หลายๆ คนต้องการ แต่ผมกลับไม่มีความรู้สึกนั้น.... ไม่เอาแล้ว ไม่อยากทำแล้ว อยากจะทำอะไรที่พัฒนาศักยภาพตัวเองดีกว่า"

...

แม่ร่ำไห้ เห็นลูกชายตรากตรำทำนา ได้รู้และเห็นใจชาวนา

เด็กหนุ่มที่ชื่อ สิริกร ได้เริ่มเรียนรู้ ความตรากตรำทำงานหนักของชาวนา ทำให้เขารู้สึก และเห็นใจชาวนามากขึ้น

“ตอนดำนา ครั้งแรก รู้สึกสงสารชาวนามาก ไม่รู้ว่าทำไมระบบเกษตรไทย จึงไม่ไปไหนสักที วันนั้น ผมดำนาตั้งแต่ 7 โมงเช้า ทำเสร็จ 2 ทุ่ม ทำไม...โคลนมันร้อนขนาดนี้ ร้อนกว่าตอนที่ไปเรียนรู้เรื่องการปลูกข้าวสมัยเด็กๆ เสียอีก”

สิ่งที่เป็นเรื่องหนักใจมากที่สุด กลับไม่ใช่เรื่องทำงานหนัก แต่เป็นเรื่องสังคม และ คนในครอบครัว

“ด้วยที่แม่เป็นราชการ ก็อยากให้ลูกได้ทำงานสบายๆ แต่ ลูกกลับไปทำงานหนัก เป็นเกษตรกร ปลูกข้าว วันหนึ่ง แม่เดินมาถึงที่นา และมายืนมองเราทำนา ผมมองขึ้นไป เห็นแม่กำลังร้องไห้ ในใจคิดว่า “ต้องทำให้สำเร็จให้ได้” นอกจากนี้ สังคมรอบตัวเรา และครอบครัวเราก็มองว่า เป็นบ้าหรือเปล่า เลี้ยงลูกมายังไง สติดีไหม ขนาดเพื่อนก็มองว่า แปลกแยก ขวางโลก เรียกว่าไม่มีใครคบหาเลยตอนนั้น”

เริ่มต้นขายข้าวตันละ 90,000 บาท ด้วยการแปรรูปเป็น “ผงพอกหน้า”

...

เจ้าของบ้านรักษ์ดิน บอกว่า ตอนนั้น เราได้รับมรดกจากยาย เป็นที่ดิน 1 ไร่ จากนั้น ก็เช่าเพิ่ม 2 ไร่ ทำนา ได้ “ข้าวหอมมะลิ 105” 300 กิโลกรัม ตอนนั้น ผมขายกิโลกรัมละ 300 บาท!! โดยวางแผนว่า จะไม่ผ่านโรงสีเลย ทั้งที่โรงสี บอกว่าจะมาเกี่ยวให้ด้วย และรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 7 บาท หรือ ตันละ 7 พัน

แต่สิ่งที่ผมทำคือ ขายกิโลกรัมละ 300 บาท โดยจะทำเองทุกขั้นตอน เกี่ยว ฝัด สี ข้าวด้วยตัวเอง มีคนมาขอซื้อตันละ 7,000 บาท แต่ไม่ขาย จะขายตันละ 90,000 บาท ด้วยการแปรรูปเป็นผงพอกหน้า พอเราใช้ระยะเวลาปลูกข้าว 120 วัน ปลูก และทำได้ แปลงนาข้างๆ ก็เริ่มสนใจ จากหาว่าบ้า ปล่อยให้นกลงไปกินปูในนา ทำไมไม่ฉีดยา ทำไมไม่ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ ซึ่งผมไม่ใช้วิธีการเหล่านั้นเลย เราใช้วิธีการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และวิธีการทำธรรมชาติ

นอกจาก การทำนา สิริกร เล่าว่ายัง วางแผนปลูกพืชหลังนาด้วย เช่น ปลูกถั่วเขียว บำรุงดิน เมื่อได้ผลผลิตจากถั่วเขียว เอามาบดผง แปรรูปเป็น “สบู่ถั่วเขียว” นอกจากนี้ ก็มีผลผลิตทางเกษตรอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งวันนี้เราใช้พื้นที่เพียง 10 ไร่ ในการทำเกษตรอินทรีย์ เมื่อได้ผลผลิตก็นำมาแปรรูป ผลผลิตที่ขายดีที่สุดในเวลานี้ คือ “อ้อยคั้นน้ำ” โดยได้ร่วมมือกับทาง สำนักงานปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยตนได้ประกันราคา “อ้อยคั้นน้ำ” ที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทุกวันนี้ใช้น้ำอ้อย ประมาณ 10 ตัน และไปขายในพื้นที่ต่างๆ รวมถึง ห้างสรรพสินค้าด้วย

...

ปลูกอะไรดี... คำถามยอดฮิต กับแนวคิดเพิ่มมูลค่า

เจ้าของบ้านรักษ์ดิน ที่ทุกวันนี้ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ เผยว่า ที่ผ่านมา มีคนมาปรึกษาเยอะ ว่าจะปลูกพืชอะไร ที่ราคาดี มีตลาดรองรับ สิ่งที่แนะนำคือ

1.ก่อนปลูกอะไรต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าถนัดเรื่องอะไร ถ้าสมมติ ให้ปลูกผักสลัด แต่ถ้าไม่มีองค์ความรู้และพื้นที่ ก็ไม่มีทางที่จะปลูกซื้อคนที่เขาถนัดได้
2. เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ หรือ ผลผลิตมาแล้ว ต้องพัฒนาให้ดีที่สุด

“ดีที่สุด” คืออะไร ยกตัวอย่าง “เลี้ยงไก่” ดีที่สุด คือ ไก่ต้องไม่กินข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรม ไก่ต้องมีอิสรภาพ การเลี้ยงไก่แบบอินทรีย์วิถีไทย เราไม่ได้ขอมาตรฐานภาครัฐ เพราะจะมีข้อกำหนดต่างๆ เช่น เลี้ยงไก่ 1 ตร.ม. ได้ 4 ตัว

“ดีที่สุด” คือ ดีต่อคนกิน สัตว์เลี้ยง และสังคม โดยไก่กินอาหารไม่มีสารเร่ง ได้เดิน ได้บิน

“อ้อยคั้นสด” ดีที่สุด คือ คั้นออกมาแล้ว ได้น้ำอ้อยสีเขียว คือ ต้องตัดในระยะที่ถูกต้อง เรื่องเหล่านี้ต้องเรียนรู้ ว่าอ้อยต้องปลูกกี่เดือน และภายในกี่เดือน จะได้น้ำอ้อย สีอะไรบ้าง

นี่คือ ขั้นตอน คิดว่า ต้องทำให้ดีที่สุด ส่วน “ราคา” จะตั้งอยู่ที่เท่าไร มันจะมาเอง

ปลูกพืชยังไงให้รวย มีรายได้ ทุกวัน

ทีมข่าวฯ ถามถึงเรื่องหลักคิดและการวางแผน ในการเป็นเกษตรกรให้มีความร่ำรวย และมีรายได้ทุกวัน ซึ่ง สิริกร เผยเคล็ดลับว่า ก่อนจะเริ่มทำเกษตร ก็มีการตั้งเป้าหมายเรื่องรายได้ไว้ สำหรับ ผมเคยมีรายได้จากเงินเดือน เดือนละ 30,000 บาท ฉะนั้น จึงต้องหารายรับให้ได้วันละ 1,000 บาท แต่เมื่อลองย้อนดูรายจ่าย ปรากฏว่า แม้จะมีรายได้ แต่รายจ่ายก็เยอะ คิดออกมาแล้วขาดทุน ฉะนั้น หลักคิดที่ถูกคือ เราไม่ได้ตั้งต้นที่รายรับ แต่ต้องตั้งต้นที่รายจ่าย

“ถึงแม้อาชีพ เกษตร จะมีรายรับไม่เยอะ ไม่มีเงินเดือน ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ เราต้องลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้จากเกษตร ด้วยการใช้วิธีการ ปลูกพืชที่มีเงินเข้า 3 ช่วง คือ รายวัน รายสัปดาห์ และรายปี โดยยกตัวอย่างของตนเองว่า

รายได้รายวัน : ต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง ใช้เวลา 7 วันในการเพาะ จากนั้น วันที่ 8 เป็นต้นไป เราจะมีเงินเข้าทุกวัน โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า 1,000 บาท ทุกวัน

รายได้รายสัปดาห์- รายเดือน : ผักชนิดต่างๆ อาทิ ผักบุ้ง ปลูก 22-25 วัน คะน้า กวางตุ้ง ผักสลัดต่างๆ ที่ใช้ระยะเวลาลูก 30-45 วัน โดยต้องวางระยะการปลูกให้ตรงกับรายจ่าย เช่น เราต้องเสียเงินจ่ายค่า ไวไฟ หรือ บัตรเครดิต

รายได้รายปี : ปลูกข้าวนาปี ถั่ว ต้องใช้ระยะเวลาในการปลูก อย่างต่ำ 4 เดือน เมื่อรวมกับระยะเวลาในการขาย ก็จะเป็นปี

“ความรู้ทางด้านการเงิน ถือเป็นสิ่งสำคัญ เราจะสามารถคำนวณรายรับรายจ่ายได้ นอกจากนี้ เรายังต้องศึกษาความรู้ และการแปรรูปสินค้า ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าแปรรูปได้ เราได้ราคาเพิ่ม แต่...ถ้าแปรรูปไม่ได้ อย่างน้อยก็มีกินในชุมชน แต่ การขายข้าว กินข้าว เราทำมาตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว ทุกวันนี้เรายังทำเหมือนเดิม แต่ญี่ปุ่น เพิ่งจะทำเกษตรไม่ถึง 100 ปี เขาเอาข้าวหอมมะลิเราไปสกัด เป็นเซรั่ม แล้ว ทั้งที่พื้นที่ ภูมิอากาศ ไม่สมบูรณ์ เท่ากับประเทศเรา แต่เขารู้จักการใช้ “นวัตกรรม” คือการทำอะไรเพื่อให้ไปข้างหน้า”

ความเข้าใจผิดเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ก็รวยได้!

เมื่อถามถึงเรื่องความรวย นายสิริกร ยอมรับว่า สมัยเด็กๆ อาจต้องมีบ้าน มีรถ แต่พอตอนนี้ รู้สึกว่า มีของเยอะๆ แล้วมันหนัก ต้องแบกอะไรมากมาย แต่ถ้าเรามีเงินพอเลี้ยงชีพ ตนเอง โดยไม่เดือดร้อน และสามารถจุนเจือคนอื่น คนในสังคมไทย เท่านี้แหละ คือ ความรวย ความรวยของผม แต่ความรวยที่แท้จริง มันต้องมีความสุข รวยความสุข รวยที่ใจ และอยู่กับตัวเองให้ได้ มีความสุขจากภายใน

ที่ผ่านมา เราน้อมนำหลักการเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศาสตร์พระราชามาปรับใช้ คนมักเข้าใจผิดว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” ต้องอยู่อย่างยากจน ทำได้แค่ไหน ก็แค่นั้น ความจริงไม่ใช่เลย ในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่ได้สอนแบบนี้ การทำเกษตรอินทรีย์ หรือ เศรษฐกิจพอเพียง ผมเรียกว่า “วิชาของในหลวง” ท่านไม่ได้สอนให้คนอยู่อย่างจนๆ แต่ท่านสอนให้คนอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเกษตรกรด้วย แต่เป็นเรื่องของทุกสาขาอาชีพ ทั้ง นักร้องนักแสดง แพทย์ วิศวกร คุณต้องอยู่ได้อย่าง “ยั่งยืน” ได้อย่างไร หากเกิดวิกฤติในวิชาชีพ

คนที่มาเรียนรู้ที่ “ศูนย์รักษ์ดิน” คนทั่วไป เรียกผม “อาจารย์” แล้วทำไมอาจารย์ไม่ใส่ “เสื้อหม้อห้อม” นี่เป็นการติดกับดักชุดความคิด ที่เป็นโบราณ

หลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ Business Canvas คือ โมเดลธุรกิจ ที่ไม่ว่านำไปปรับใช้กับหน่วยงานใดก็ตาม หน่วยงานนั้นจะเกิดความยั่งยืน ธุรกิจ คุณจะไม่ล้มละลาย ทุกคนก็อยากอยู่อย่างยั่งยืน หากมาปรับใช้ก็จะเดินหน้าต่อได้

“ผมเองนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ร่วมกับ การโมเดลธุรกิจต่างๆ และทำให้เห็นแล้วว่า เดินหน้าไปได้ บางคนว่าผักอินทรีย์ขายแพง ก็ขายแพงนี่แหละถึงอยู่ได้ ก่อนอื่นต้องรู้จักก่อนว่า “เท่าไร...ถึงราคาถูก” และ “เท่าไร...ถึงราคาแพง”

ผักทั่วไป ที่ราคาต่ำ ฉีดสารเร่ง และออกมาขายในราคาต่ำ ผักอินทรีย์ เขาต้องหมักปุ๋ยเอง ตื่นกลางคืน ต้องมาคอยจัดการปัญหาเรื่องแมลง นี่คือ ต้นทุนที่ลงไป เหมือนกับ “ไอโฟน” ทำไมถึงแพง เพราะเขาใช้ “องค์ความรู้” และ “นวัตกรรม”

ฉะนั้น เราต้องมองให้ออกว่า สาเหตุที่ผักอินทรีย์ ราคาสูงนั้น เพราะเขารวมต้นทุนทุกอย่าง ชดเชยให้กับสิ่งแวดล้อมถูกทำลายมาแล้ว คนที่ทำเกษตรอินทรีย์ เขามีความรับผิดชอบในเรื่องนี้ ฉะนั้น ราคาของเกษตรอินทรีย์ ถือว่ามีความเป็นธรรมแล้ว โดยเป็นธรรมต่อคนกิน และคนปลูก

นี่คือหลักคิด และการพัฒนา ของเกษตรกรหนุ่มที่น้อมนำ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ แต่ก็รวย และประสบความสำเร็จได้...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ