ต้องยอมรับว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกี ที่เขย่า 2 ครั้งซ้อน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ เวลา 08.17 น. ขนาด 7.8 และเวลา 17.24 น. ขนาด 7.5 ตามเวลาประเทศไทย ถึงเวลานี้ (7 ก.พ.66 เวลา 12.51 น.) มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4,300 ศพ บาดเจ็บมากกว่า 15,500 ราย และคาดว่าตัวเลขคนเจ็บและเสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้

ซึ่งตามปกติแล้ว การช่วยเหลือชีวิตผู้คนที่บาดเจ็บและติดใต้ซากตึกจากเหตุแผ่นดินไหว จะมีเวลาประมาณ 2 วัน หรือ 48 ชั่วโมง ในการช่วยเหลือ หากปล่อยเนิ่นนานกว่านั้น โอกาสรอดชีวิตจะเหลือน้อยลง

คำถามคือ ทำไม “แผ่นดินไหว” ในตุรกีครั้งนี้ จึงเกิดความสูญเสียอย่างหนักหน่วง ทั้งที่ตุรกีก็เคยเกิดแผ่นดินไหวขึ้นบ่อย

คำตอบของคำถามนี้ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว กล่าวกับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ว่า ประเทศตุรกีเป็นพื้นที่ที่มีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง เพราะมี “รอยเลื่อน” ขนาดใหญ่หลายรอย โดยเฉพาะรอยเลื่อน “อนาโตเลียเหนือ” และที่ผ่านมาก็เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดเกิน 7 มาแล้ว ฉะนั้น การเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ๆ ในตุรกี ถือว่าไม่ใช่ครั้งแรก

...

แต่...กรณีครั้งนี้เรียกว่าเป็นครั้งใหญ่มาก เพราะแผ่นดินไหวเข้าใกล้ระดับ 8 แมกนิจูด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะอยู่ในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

อาจารย์เป็นหนึ่ง อธิบายว่า การเกิดแผ่นดินไหวในรอบนี้ ถือว่าเกิด 2 ครั้ง ครั้งแรก 7.8 และ ครั้งที่ 2 ขนาด 7.5 ถือว่า “ไม่ใช่” อาฟเตอร์ช็อก เพราะปกติแล้ว อาฟเตอร์ช็อก จะเกิดขึ้นตามแนวที่เกิดแผ่นดินไหว แต่...แผ่นดินไหว ครั้งแรก 7.8 อาจกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวอีก “รอยเลื่อน” หนึ่ง

“การเกิดแผ่นดินไหวและได้รับผลกระทบมาก ส่วนมากจะเกิดจะอยู่ในแนวที่เกิดการไถลตัว หากเขย่าขนาด 6 แมกนิจูด ความยาวที่ไถล จะอยู่ในระดับ 10 กิโลเมตร หากขึ้น 7 แมกนิจูด ความยาวของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะประมาณ 100 กิโลเมตร กว้าง 20-30 กิโลเมตร แนวดังกล่าวไปทับที่เมืองไหนเมืองนั้นก็พังทลาย นี่เป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตเยอะ โดยเฉพาะเมืองที่มีอาคารจำนวนมาก และประชากรหนาแน่น ยิ่งได้รับความเสี่ยง”

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง ย้ำว่า หากแผ่นดินไหวเกิดใกล้เมืองหลวง โอกาสที่จะมีประชาชนเสียชีวิตถึงหลักแสนคนก็มี แต่กรณีตุรกีนี้ คาดว่าน่าจะมีตัวเลขคนเสียชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ

เท่าที่ดูข้อมูลเบื้องต้น พบว่า “รอยเลื่อนอนาโตเลียเหนือ” พบว่าได้เกิดแผ่นดินไหว ขนาดเกิน 7 แมกนิจูด ประมาณ 8 ครั้ง ในรอบ 100 ปี ซึ่งเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งนี้มาจาก รอยเลื่อนอนาโตเลียทางตอนใต้ ซึ่งเวลานี้ยังมีข้อมูลไม่มากนัก

เขย่ารุนแรง เกินการป้องกันของโครงสร้างอาคาร

อาจารย์เป็นหนึ่ง ยังอธิบายต่อว่า ปกติแล้ว วิศวกรทั่วโลก จะออกแบบอาคารเพื่อรับมือแผ่นดินไหว ในพื้นที่แผ่นดินไหวซ้ำซากที่ 40% ของแรง G หรือ Gravitational acceleration (ความเร่งโน้มถ่วง)

แต่จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้มา สถานีข่าวในพื้นที่ พบว่ามีแรงสั่นไหวที่ 2 G หรือ 200% เรียกว่า ออกแบบรองรับไว้ที่ 40% แต่เกิดจริง 200% คือ แรงกว่าที่คาดไว้มาก หรืออีกสถานีข่าวท้องถิ่นก็รายงานที่ 66% ซึ่งก็มากกว่าที่จะรับได้อีก...ตรงนี้เองเป็นต้นเหตุของการสูญเสียชีวิตจำนวนมาก...

อาจารย์เป็นหนึ่ง ย้ำว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ส่วนการเกิดแผ่นดินไหวในตุรกีครั้งนี้ไม่มีอะไรพิเศษกว่าแผ่นดินไหวทั่วไป นอกจากแรงเขย่ารุนแรง ถึงแม้อาคารจะถูกออกแบบมาดีที่สุดแล้ว แต่ก็ยังรับไม่ไหว...

...

แผ่นดินไหวในไทย และความประมาท

เมื่อถามถึงในประเทศไทย กูรูด้านแผ่นดินไหว ยอมรับว่า ในพื้นที่ภาคเหนือ มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6 - 6.5 แมกนิจูด ขึ้นไปได้ทุกที่ แต่...โอกาสจะเกิดครั้งใหญ่เทียบเท่าตุรกี คือ ขนาด 7.8 แมกนิจูด หรือไม่ คำตอบคือ “ไม่มี”

แผ่นดินไหว ขนาด 7 แมกนิจูด อาจเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ที่เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.7 เมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นที่เชียงรายตึกพัง กรุงเทพฯ ตึกสั่น...

“สิ่งที่โชคดีในเวลานั้น คือ เกิดแผ่นดินไหวห่างจากตัวเมือง หากเกิดในตัวเมืองก็น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่านี้”

จากการสำรวจรอยเลื่อน ที่กรมทรัพยากรธรณีไปสำรวจไว้ ทั้ง รอยเลื่อนแม่จัน แม่คา เถิน รวมๆ 10 กว่ารอยเลื่อน ซึ่งรอยเลื่อนเหล่านี้มีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 แมกนิจูด ขึ้นไปได้ ฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำ คือ การเตรียมพร้อมรับมือ

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับตุรกี ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะแผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้ทุกที่ เพียงแต่เมื่อใดก็ตาม ถ้าเกิดแผ่นดินไหวใกล้เมือง ก็จะทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตจำนวนมาก ครั้งนี้ที่ตุรกีก็เช่นกัน เพราะแรงสั่นสะเทือนมันไกลมาก นับ 100 กิโลเมตร ย้อนกลับมาประเทศไทย เรารู้ว่ามีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวตามแนวรอยเลื่อนต่างๆ ได้ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร...เราไม่ได้เตรียมอาคารบ้านเรือนให้ทนเพียงพอ”

...

กทม. กับโอกาสแผ่นดินไหว ได้รับความเสียหาย

เมื่อถามว่า กรุงเทพฯ มีโอกาสจะโดนอย่าง “ตุรกี” ได้หรือไม่ กูรูด้านแผ่นดินไหว กล่าวว่า จากการศึกษาด้านธรณีวิทยาในกรุงเทพฯ พบว่าพื้นที่กรุงเทพฯ มีความพิเศษแตกต่างจากพื้นที่อื่น และไม่พบรอยเลื่อนใต้กรุงเทพฯ

แต่...ใต้พื้นที่กรุงเทพฯ นั้นมี “แอ่งดิน” ขนาดยักษ์ แอ่งดังกล่าวช่วย “ขยายความรุนแรง” จากแผ่นดินไหวได้

อธิบายให้เห็นภาพคือ หากเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ไกลๆ และแรงสั่นสะเทือนมาถึง จะถูก “ขยายความรุนแรง” ขึ้นได้ ยกตัวอย่าง หากมีแผ่นดินไหวที่ จ.กาญจนบุรี หรือในเมียนมา หรือทะเลอันดามัน

เมื่อแรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพฯ ก็อาจจะขยายความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบกับอาคาร คิดว่า “อาจจะเกิดผลกระทบถึงขั้นอันตรายได้” โดยเฉพาะอาคารสูง ซึ่งสูง 7 ชั้นขึ้นไปก็ถือว่าเป็นอาคารสูง

...

อาคารเหล่านี้จะมีอาการ “โยกตัวช้าๆ” และเมื่อไหร่ที่เกิดแผ่นดินไหว และถูกขยายโดย “แอ่งดิน” ก็อาจจะทำให้เกิดการ “กำทอน” ได้ หมายถึง แรงสั่นไหว โยกเข้ากับจังหวะการโยกของอาคาร จะทำให้เกิดการสั่น มากขึ้นกับอาคารนั้นๆ ที่โยกเข้าจังหวะกัน ซึ่งอาคารสูงในกรุงเทพฯ มีเยอะ การโยกแต่ละอาคารอาจจะมีจังหวะต่างกัน ฉะนั้นก็มีโอกาสที่อาคารที่มีจังหวะการโยกเดียวกันกับแผ่นดินไหว จะได้รับความเสียหายรุนแรงกว่า

“ที่ผ่านมา แม้จะมีกฎหมายควบคุมอาคาร ที่ต้องออกแบบรองรับแผ่นดินไหว โดยมีการบังคับใช้ในปี 2550 แต่สิ่งที่เป็นคำถาม คือ แต่ละอาคารมีการออกแบบเหมาะสมหรือไม่ ตามแบบหรือเปล่า ส่วนอาคารก่อนปี 2550 ก็เป็นไปได้ว่ามีการออกแบบถูกวิธีหรือไม่ และอาจจะไม่ได้พิจารณาเรื่องบางเรื่อง ก็มีโอกาสที่อ่อนแอได้เช่นเดียวกัน...” ศ.ดร.เป็นหนึ่ง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ