ปีนี้ ใครที่ชื่นชอบความหนาว คงได้สัมผัสไอเย็น เหมันต์ หรือฤดูหนาวอย่างเต็มที่ แม้แต่ชาวกรุง ที่ไม่ค่อยได้สัมผัส ก็ยังจัดให้ ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส
คำถามทำไม ปีนี้ “หนาวนาน” และจะ “หนาวถึงเมื่อไหร่” ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ชวนมาไขคำตอบกับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต อธิบายว่า
ทั้งเดือนกุมภาพันธ์นี้ อุณหภูมิในประเทศไทย ยังต่ำกว่าปกติ 1 องศาฯ ต่อเนื่องไปเดือนกุมภาพันธ์ทั้งเดือน จนถึงเดือนมีนาคม แต่...อากาศมันจะค่อยๆ อุ่นขึ้น นับตั้งแต่สิ้นปีที่ผ่านมา แต่เรายังได้รับลมเย็นอยู่ คาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ย 28-29 องศาฯ โดยคำนวณจากอุณหภูมิต่ำสุด 19 องศาฯ สูงสุดที่ 32 องศาฯ
ทำไมปีนี้ “หนาวนาน” กว่าปกติ
มาจาก 2 ปัจจัย
1. เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านของ “ลานีญา” แต่ยังมีอิทธิพล
2. กระแสหมุนวนทั่วโลก หรือ Polar Vortex
รศ.ดร.เสรี อธิบายว่า กระแสลมหมุนวน หรือ Polar Vortex ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ระยะสั้น โดยช่วงที่ยังเป็นลานีญาอยู่คือ ช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม ทำให้อุณหภูมิต่ำกว่าปกติ ประจวบกับการเกิด Polar Vortex ซึ่งมาช่วงสั้นๆ ใน 1 สัปดาห์ ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์หนาวจัด ในช่วงนี้ คือ ตั้งแต่ 29-31 นี้
“พรุ่งนี้ อากาศหนาวจัดจะมีอีก 1 วัน หลังจากนี้ ความหนาวก็จะลดต่ำกว่า 3-5 องศาฯ อีกแล้ว เพราะ Polar Vortex ผ่านไปแล้ว”
...
เมษานี้ “ร้อนตับแตก”
ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ กล่าวว่า หลังจากลมหนาวผ่านไป พอเข้าสู่เดือนเมษายน อุณหภูมิของประเทศไทย ก็จะสูงขึ้นผิดปกติ ซึ่งจะสูงขึ้นต่อเนื่อง จากนั้นจะเข้าสู่โหมด “เอลนีโญ” ในช่วงเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคม เข้าสู่ “ความแห้งแล้ง”
ถึงแม้ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม จะมีฝน พอช่วงปลายฝนก็จะแผ่ว แล้วเข้าสู่ภาวะแล้ง โดยจากการคาดการณ์ในปี 2568-2569 จะเกิดภาวะแล้งหนัก อุณหภูมิจะสูงกว่าปกติ ช่วงที่ “ร้อน” มากที่สุด จะอยู่ในช่วงปี 2568 ฝนจะมีน้อยลง
ภาคเกษตรต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง คำแนะนำจาก รศ.ดร.เสรี คือ
1. เลือกปลูกพืชอายุสั้น
2. ใช้น้ำอย่างประหยัด
3. หาที่เก็บน้ำ เพราะถึงแม้จะมีฝนแต่มาไม่มาก จึงต้องเตรียมที่เก็บไว้
ภาวะโลกร้อน กับปัญหาในปัจจุบัน
รศ.ดร.เสรี ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน ถือว่าโลกร้อนขึ้น 1.1 องศาฯ มีการคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีข้างหน้าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 องศาฯ และภายใน 20 ปี คาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะเพิ่ม 2 องศาฯ
“หมายความว่า ภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ฤดูแล้ง จะมีความแห้งแล้งหนักขึ้น พอเข้าฤดูฝน ก็จะเกิดภาวะฝนตกหนักขึ้น แต่ในปีใดก็ตาม เมื่อเจอภาวะ “เอลนีโญ” หรือ “ลานีญา” ก็จะเป็นการเสริมให้ภาวะต่างๆ หนักหน่วงยิ่งขึ้น เช่น เจอปี “เอลนีโญ” เราก็จะเจอสภาพแล้งและฝนน้อยลง กลับกัน ในช่วงฤดูฝน หากเกิด Climate Change ก็จะทำให้เกิดฝนตกหนักมาก แต่..ถ้าตอนนั้นเกิด “เอลนีโญ” ก็จะทำให้ฝนตกน้อยลง เหมือนกำลังต่อสู้กัน”
ปัญหาภาวะโลกร้อนในระดับโลก กับ ประเทศไทย
สำหรับปัญหาโลกร้อนในระดับโลก รศ.ดร.เสรี บอกว่า สิ่งที่สมาคมโลก กำลังทำคือ การแก้ปัญหาใน 2 แนวทาง ประกอบด้วย
1. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : ในเวที COP 27 ที่อียิปต์ ซึ่งการประชุมดังกล่าว ถือวว่ามีความเสี่ยงที่ล้มเหลว
ตอนที่ประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ปี 2023 เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา เหล่าผู้นำก็พูดเองว่า มีความเสี่ยงสูงสุดในการล้มเหลวในการเจรจาแก้ปัญหาโลกร้อน โดยมีสาเหตุคือ เป้าหมายการลดโลกร้อนให้เหลือต่ำกว่า 1.5 องศาฯ ตาม “ความตกลงปารีส” เรียกว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะจากรายงานปัจจุบันที่แต่ละประเทศส่งให้มาคาดการณ์ ปรากฏว่า อาจจะเพิ่มถึง 3 องศาฯ
...
การจะลดให้เหลือ 1.5 องศาฯ ต้องทำอะไรบ้าง...?
เป้าหมายแรก : ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ครึ่งหนึ่ง
เป้าหมายสอง : อีก 28 ปี ข้างหน้าต้องปล่อยก๊าซเรือนที่สุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)
จะเห็นว่า แค่ 2 เป้าหมายสั้นๆ ก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้แล้ว ยกตัวอย่าง ประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย บอกว่าประเทศเขามีถ่านหิน เขาก็จะใช้ถ่านหิน
ด้วยเหตุนี้ ความตกลงปารีส จึงต้องจบลง เพราะไปต่อไม่ได้
กลับมามองประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่ปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ไม่ถึง 1% แต่เราบอกว่า เราจะบรรลุเป้าหมายเป็น Net Zero ที่ 2065 เรื่องนี้ในระดับโลก เขาไม่สนใจเราหรอก เพราะเราปล่อยไม่ถึง 1%
“ประเทศไทย เป็นประเทศที่ในระดับโลก เขาไม่สนใจ แต่ในทางกลับกัน รัฐกลับกำลังเดินหน้าเรื่องนี้ เพราะมองเห็นว่า มีโอกาสเกิดสงครามทางการค้า ซึ่งความจริง ในประเด็นนี้ รัฐควรจะส่งเสริมให้เอกชนเป็นคนทำ ซึ่งความจริงรัฐควรจะให้ความสำคัญอีกมาตรการหนึ่ง ที่เรียกว่า Adaptation ยกตัวอย่าง อีก 1-2 ปีข้างหน้า จะเกิดภาวะแล้ง ถามว่า คุยกับภาคประชาชนหรือยัง
...
ในปี 2572-2573 อาจจะมีน้ำท่วมใหญ่ มีแผนรับมือหรือยัง
หน้าที่รัฐบาล คือ การให้ข้อมูลประชาชน เตรียมการป้องกัน สร้างระบบเตือนภัย เพื่อให้ประชาชนนั้นอยู่กับ “ภัยพิบัติ” ได้ นี่แหละ จึงเรียกว่า “การปรับตัว” นี่คือ “ข้อด้อย” ของประเทศไทย ที่ไม่ทำเรื่องเหล่านี้
คำถามคือ ทำไมประเทศไทยเป็นแบบนั้น?
ดร.เสรี บอกว่า ความจริง ผมทำงานในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Chang) หรือไอพีซีซี มีคำแนะนำออกมาว่า ประเทศกำลังพัฒนา หรือ กลุ่ม G77 ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เช่นไทย เมียนมา ให้สนใจแต่เรื่องการ “ปรับตัว” ในการรับภัยพิบัติ โดยไม่ต้องสนใจกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
“ประเทศร่ำรวย เขาฉลาดกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาเยอะ เพราะเขามีแต่ได้กับได้ นอกจากนี้ เขาก็มีระบบป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น แต่...เราไม่มี”
หมายความว่า หากมีปัญหาโลกร้อนรุนแรง ประเทศที่กำลังพัฒนา จะได้รับผลที่รุนแรงกว่า.. ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ตอบสั้นๆ ว่า “แน่นอน” เพราะไม่มีการปรับตัว
กทม. จะจมน้ำเพราะ “ทะเล” หนุนสูง
ดร.เสรี กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่โลกจับตาประเทศไทย คือ ระดับน้ำทะเลหนุนสูง พื้นที่ กทม. จะหายไปบางส่วน ถือว่าเป็นเรื่องจริง ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐไม่เคยพูดถึงมานาน
“เชื่อว่าอีก 8 ปีข้างหน้า จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจะมีพื้นที่หายไปอย่างชัดเจน ซึ่งจากการคาดการณ์ 2050 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า พื้นที่จะหายไป 6 กิโลเมตร”
ที่ผ่านมา เรามีการสร้างเขื่อนป้องกัน ช่วยได้หรือไม่ ดร.เสรี กล่าวว่า การสร้างเขื่อนแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะ แต่เมื่อน้ำทะเลหนุนสูง จะผ่านเขื่อนหมด เพราะเขื่อนก็มีรู และเขื่อนก็ไม่ได้ป้องกันน้ำทะเลสูง
...
แสดงว่า ในอนาคตไม่ไกลนี้ ชาว กทม. จะเจอน้ำท่วม หนักขึ้น...? ดร.เสรี กล่าวสั้นๆ เช่นเดิมว่า “แน่นอน”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ