ความพยายามนำเสนอทฤษฎี “Summit Disease” หรือการที่ "มด" ซึ่งติด "เชื้อราคอร์ดิเซป" (Cordyceps) “แสดงพฤติกรรมประหลาด” เมื่อถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต จะเดินโซเซและพยายามไต่ขึ้นไปบนที่สูง เช่น กิ่งไม้ หรือ ก้านใบ ของต้นไม้ เพื่อให้สปอร์ของราที่อยู่บนก้านของราที่เจริญออกจากซากมด มีโอกาสแพร่กระจายไปสู่มดตัวอื่นๆ ตามลมที่สูงขึ้น ซึ่งจะได้ผลดีกว่าการแพร่กระจายบนพื้นดิน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยจากสารออกฤทธิ์ที่ผลิตโดย "เชื้อราคอร์ดิเซป" ซึ่งในเวลาต่อมาถูกผู้สร้างเกม The Last of Us หยิบฉวยไปสร้าง "ภัยร้ายซอมบี้จากเชื้อราจนทำให้โลกล่มสลาย" นั้น มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? เชื้อราคอร์ดิเซป คืออะไร? และ มดมีพฤติกรรมประหลาดจากเชื้อราชนิดนี้จริงหรือไม่ วันนี้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จะพาทุกท่านไปพบกับผู้เชี่ยวชาญด้านมดของประเทศไทย เพื่อพยายามค้นหาคำตอบที่ว่านี้กันดู

...

“เอาเป็นว่า พูดให้เข้าใจง่ายๆ แบบนี้แล้วกัน เชื้อราคอร์ดิเซป เมื่อเข้าสู่ร่างกายของมด จะทำให้มดป่วยและเป็นโรคตายในที่สุด” รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมดของประเทศไทย เริ่มการเลกเชอร์กับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”

รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมดของประเทศไทย
รศ.ดร.เดชา วิวัฒน์วิทยา ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมดของประเทศไทย

เชื้อราคอร์ดิเซป คืออะไร? :

“มันก็คือกลุ่มเชื้อราชนิดหนึ่ง แต่จะมีลักษณะพิเศษ คือ เมื่อเข้าสู่ร่างกายของแมลงชนิดต่างๆ ซึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นก็คือมดบางชนิด จะทำให้เกิดโรคจนกระทั่งแมลงตาย นอกจากนี้จะมีการแตกก้านและ สปอร์ (Spore) ออกมาจากร่างกายของแมลงเพื่อแพร่พันธุ์ต่อไปด้วย โดยเชื้อราในสกุล Codyceps สกุล Hypocrella และสกุล Torrubiella พบว่ามีความจำเพาะเจาะจงในการก่อโรคในแมลงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดย Codyceps เป็นเชื้อราสกุลหนึ่งที่มีอยู่ทั่วโลกประมาณ 400 พันธุ์ ส่วนในประเทศไทยมีรายงานว่าพบเชื้อราสกุล Codyceps มากถึง 80 สายพันธุ์ โดยราสกุลนี้จัดอยู่ในวงศ์ Clavicipitaceae และพบว่าก่อให้เกิดโรคในมด ผึ้ง ต่อ แตน แมงมุม เพลี้ย ด้วง แมลงปอ ผีเสื้อและหนอน เป็นต้น”

** หมายเหตุ ราก่อโรคในแมลง (Insect Pathogenic Fungi) คือ เชื้อราที่จะอาศัยแมลงเป็นเจ้าบ้าน (Host) ในการเจริญเติบโตและใช้แมลงเจ้าบ้านเป็นแหล่งอาหารจนกระทั่งแมลงเจ้าบ้านตาย เชื้อราจะขยายพันธุ์โดยการสร้างสปอร์แล้วแพร่กระจายไปเกาะกับเจ้าบ้านใหม่ต่อไป และถึงแม้ว่าเชื้อรากลุ่มนี้ก่อให้เกิดโรคในแมลง แต่ในระบบนิเวศวิทยา ราก่อโรคในแมลงนี้มีประโยชน์อย่างมากในการควบคุมจำนวน และประชากรแมลงในธรรมชาติให้อยู่ในภาวะสมดุล **

...

เชื้อราคอร์ดิเซปและมด :

“จากการศึกษาเรื่องมดมายาวนาน มด เป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าทึ่งในระดับหนึ่ง เพราะหากเราสังเกตดูให้ดี ก่อนที่มดจะเข้ารังมันจะมีพฤติกรรมการเอี้ยวตัวไปทางซ้าย เอี้ยวตัวไปทางขวา เอาหนวดลูบหัวลูบตัว เอาขาคู่กลางคู่หลังลูบตัวเพื่อเอาเชื้อโรคออกไปจากร่างกายเสียก่อนแล้วถึงจะเข้ารัง นอกจากนี้ ที่บริเวณอกปล้องที่ 3 ของมด จะมีแอนติบอดีเพื่อคอยฆ่าเชื้อโรคด้วย”

ด้วยเหตุนี้ การติดเชื้อราคอร์ดิเซปในมด ส่วนใหญ่จะเกิดจากการสัมผัส เช่น เดินไปสัมผัส สปอร์ของเชื้อราคอร์ดิเซปที่อยู่ตามพื้นดินและซากพืช หรือกินแมลงหรือสัตว์ที่มีสปอร์เข้าไป โดยเมื่อเชื้อราชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายของมดแล้ว มันจะเข้าดำรงชีวิตโดยการเป็นปรสิตกัดกินอวัยวะภายในและค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น จนกระทั่งแตกก้านและสปอร์ (Spore) ออกมาจากร่างกายของมด และทำให้มดค่อยๆ ป่วยตายในที่สุด

พฤติกรรมของมดเมื่อติดเชื้อราคอร์ดิเซป :

“นึกภาพง่ายๆ ก็เหมือนคนเราติดเชื้อไวรัส และทำให้เกิดอาการป่วยมันก็จะมีอาการแปลกๆ ไป และแม้ว่า...มดที่ติดเชื้อราคอร์ดิเซปจะตายทุกตัว แต่ไม่ได้หมายความว่า มดจะตายยกรังนะครับ เพราะมันจะเป็นในลักษณะเช่น มด 100 ตัว อาจจะตายสัก 5 ตัว หรือ 10 ตัว แค่นั้น นั่นเป็นเพราะมดมีระบบป้องกันการติดโรคที่น่าทึ่งมาก”

...

มด เมื่อติดเชื้อราคอร์ดิเซป สังเกตได้ง่ายๆ มันจะค่อยซึมลงๆ ไม่ค่อย Active เหมือนมดปกติทั่วไป จากนั้นมันจะเลิกทำหน้าที่ของตัวเอง และแยกตัวออกไปจากรัง หากแต่สิ่งที่น่าแปลกคือ มดจะไม่ไปตายในรังของมัน เพราะมันกลัวว่าจะเอาเชื้อไปติดตัวอื่นๆในรัง มันจึงแยกตัวออกไปตายเดี่ยวนอกรัง ด้วยการออกไปเกาะตามกิ่งไม้ หรือ ใต้ใบไม้ แล้วตายในสภาพเกาะกิ่งไม้ หรือใต้ใบไม้จนกระทั่งแข็งและแห้งตายไปทั้งแบบนั้น

ด้วยเหตุนี้ การจะตามหามดที่ตายเพราะติดเชื้อราคอร์ดิเซป จึงไม่ใช่ไปหาในรัง แต่จะไปหาตามกิ่งไม้ หรือใต้ใบไม้ ในพื้นที่ป่าดิบชื้นซึ่งจะมีอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา และแน่นอนว่าไม่ใช่ว่าจะหาเจอกันได้ง่ายๆ เพราะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกีฏวิทยาจริงๆ จึงจะหาเจอ

เชื้อราคอร์ดิเซป = ซอมบี้มด

สำหรับกรณีที่มีการนำเสนอทฤษฎี “Summit Disease” หรือการที่ มดซึ่งติดเชื้อราคอร์ดิเซป “แสดงพฤติกรรมประหลาด” ด้วยการพยายามขึ้นที่สูงเมื่อถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งแตกต่างจากประชากรมดทั่วไปที่มักจะเดินหรือคลานตามพื้นดิน ซึ่งอาจเป็นผลจากสารออกฤทธิ์ที่ผลิตโดยเชื้อราคอร์ดิเซป นั้น รศ.ดร.เดชา ให้ความเห็นกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า....

...

“หากถามผมว่า แล้วทำไมมดมันถึงต้องขึ้นไปเกาะกิ่งไม้หรือใบไม้สูงๆ แล้วแห้งตายแบบนั้น หรือที่เป็นแบบนั้นเพราะเกิดจากอิทธิพลของเชื้อราคอร์ดิเซป ผมก็คงตอบไม่ได้ แต่ตามที่ผมเข้าใจคิดว่ามันน่าจะเป็นเพราะ มดเกิดความทุรนทุรายจากอาการป่วยมากกว่า เพราะถึงแม้จะเป็นมุมมองวิจัยด้านหนึ่งที่น่าสนใจและยังมีการศึกษาน้อยอยู่ โดยจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการค้นพบว่า สารใดหรือสารกลุ่มไหนทำหน้าที่ออกฤทธิ์เพื่อบังคับพฤติกรรมมด”

สปอร์เชื้อราคอร์ดิเซปหลังมดตาย :

เมื่อมดตายลง สปอร์เชื้อราคอร์ดิเซปที่ออกจากก้านซึ่งทะลุออกมาจากร่างกายมด ก็จะปลิวไปตามอากาศต่อไป ซึ่งมดตัวไหนเกิดไปสัมผัส หรือกินซากแมลงหรือสัตว์ที่ติดสปอร์เชื้อรานี้ไป ก็จะติดเชื้อต่อๆ กันไปเรื่อยๆ แต่ปรากฏการณ์การติดเชื้อที่ว่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะไม่เช่นนั้นเราคงสังเกตเห็นมดที่ตายเพราะการติดเชื้อจำนวนมากกว่านี้ไปแล้ว

“ผมเองขนาดเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมด ยังไม่เคยเจอมดที่ตายเพราะติดเชื้อราคอร์ดิเซปเลย แม้ว่าจะพยายามเดินเข้าป่ามาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ส่วนใหญ่คนที่เจอต้องเป็นคนตาดีและรู้แหล่งด้วยนะว่ามดที่ตายเพราะเชื้อราพวกนี้มักจะอยู่ที่ไหนถึงจะหาเจอ”

มดในประเทศไทย ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อราคอร์ดิเซป :

“มดในประเทศไทยมีร้อยกว่าสกุล แต่กลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อราคอร์ดิเซป มีเพียงประมาณ 3 สกุล คือ 1.Camponotus 2.Polyrhachis 3.Paratrechina ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเพราะมดสกุลเหล่านี้ชอบอาศัยอยู่ตามซากพืชบนพื้นดินอีกทั้งยังมีปริมาณมาก ฉะนั้นโอกาสที่จะสัมผัสกับสปอร์ของเชื้อราจึงมีมากตามไปด้วย

เชื้อราคอร์ดิเซป กับการก่อโรคในมนุษย์ :

“ไม่น่าเป็นไปได้...เพราะเท่าที่มีรายงานจนถึงปัจจุบันเชื้อราคอร์ดิเซป จะทำให้เกิดโรคในแมลงเท่านั้น และยังไม่เคยพบการก่อโรคในมนุษย์แต่อย่างใด”

ความสัมพันธ์ระหว่างเชื้อราคอร์ดิเซป กับ มนุษย์ :

“ถั่งเช่า ไงครับ! นั่นคือเชื้อราคอร์ดิเซป ที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้”

ถั่งเช่า ซึ่งถูกใช้เป็นยาในตำราแพทย์จีนโบราณ นั้นก็คือ เชื้อราคอร์ดิเซปเพียงแต่มันเจริญเติบโตในหนอนผีเสื้อราตรีที่ฝังตัวอยู่ใต้ดิน เมื่อเชื้อราเติบโตเต็มที่จะโผล่ขึ้นเหนือดินและมีลักษณะเป็นแท่ง ส่วนหนอนผีเสื้อที่ถูกดูดกินเป็นสารอาหารจะตายกลายเป็นซากติดอยู่กับส่วนที่เป็นแท่งของเชื้อรา อย่างไรก็ดี ถั่งเช่า ที่ถูกนำมาปรุงยาบำรุงสุขภาพนั้นจะต้องถูกเก็บจากแหล่งธรรมชาติบริเวณที่ราบสูงทิเบต ซึ่งมีความสูงมากกว่า 3,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล

** หมายเหตุ เมื่อแมลงได้รับสปอร์จากเชื้อราคอร์ดิเซป สปอร์จะสร้างสาร Lipolytic ไปทำปฏิกิริยากับไขมันบนผิวลำตัวของแมลงเจ้าบ้านแล้วกระตุ้นให้เกิดการงอกของสปอร์ หลังจากนั้นจะเริ่มมีการสร้างเส้นใย (Mycelium) และจะผลิตเอนไซม์ไคตินเพื่อสลายไคตินที่ผิวของแมลงเจ้าบ้านทำให้เกิดช่องว่าง เส้นใยจะสร้าง Germ Tube เพื่อที่จะแทงทะลุผิวของแมลงเจ้าบ้านเข้าไป

จากนั้นเส้นใยจะแตกกิ่งก้านผ่านกล้ามเนื้อชั้นเนื้อเยื่อไขมัน และกระจายไปทั่วร่างของแมลง และใช้แมลงเจ้าบ้านเป็นแหล่งอาหารเพื่อการเจริญเติบโต และเมื่อเส้นใยอัดแน่นมากขึ้นจะสร้าง Stromata ทะลุผ่านลำตัวแมลงเจ้าบ้านเพื่อใช้ในการสืบพันธุ์ต่อไป

โดยในระหว่างการเจริญเติบโตนี้ เชื้อราจะผลิตทั้งสารปฐมภูมิ (Primary Meta-Bolite) และสารทุติยภูมิ (Secondary Metabolite) เพื่อการดำรงชีพ ซึ่งสารทุติยภูมิบางสารที่เชื้อราคอร์ดิเซปผลิต พบว่าเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่น่าสนใจ เช่น เชื้อรา Cordyceps Militaris ผลิตสาร Cordycepin ซึ่งสารนี้ยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายเซลล์มะเร็งรวมถึงต้านการอักเสบ หรือ Cordyceps Sinensis หรือ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Ophiocordyceps Sinensis ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ “ถั่งเช่า” ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นสมุนไพรในตำรับยาจีนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน **

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง