ทุกวันนี้ปัญหาเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกคนบนโลกล้วนได้รับ “ผลกระทบ” ไม่มากก็น้อย...
สำหรับเมืองไทย คนไทยเริ่มรู้จัก “มลพิษทางอากาศ” มากขึ้นเรื่อยๆ มีหลายหน่วยงาน กำกับดูแลในการแก้ปัญหา PM 2.5 ซึ่งแทบจะไม่ต้องอธิบายความกันแล้ว ว่ามันคืออะไร
ปัญหาหนึ่ง ที่เริ่มมีการพูดถึงกันมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็น “ภัยซ่อนเร้น” ที่บางครั้งก็ยากที่จะเอ่ย เนื่องจากเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” นั่นก็คือ “มลพิษ” จาก “เตาเผาศพ”
นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ ที่เกิดจาก “เตาเผาศพ” มาจาก ตอนที่เผาศพ ก็มีวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมเผาไปด้วย เช่น ผ้าห่อศพ พลาสติกต่างๆ เช่น PVC โลงไม้ ดอกไม้จันทน์ ธูป เทียน เสื้อผ้า น้ำยาดองศพ หรือ ฟอร์มาลีน
“เมื่อมีการเผา ก็จะปล่อยเขม่าควัน ฝุ่นละอองต่างๆ รวมไปถึง PM 2.5 นอกจากนี้ ยังมีกลิ่นเหม็น จากฟอร์มาลีน แก๊สไข่เน่า ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ขี้เถ้าคาร์บอนไดออกไซด์ และอื่นๆ”
...
ระดับเตาเผาศพ กับการส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมลพิษ
นายสนธิ อธิบายว่า เตาเผาศพ นั้นแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ต่ำ พอใช้ ดี และดีมาก แต่ละระดับก็มีการควบคุมมลพิษแตกต่างกัน ตั้งแต่ไม่มีการควบคุมมลพิษใดเลย จนไปถึงการควบคุมมลพิษได้อย่างสมบูรณ์
ในเบื้องต้น ตัวเลขวัดทั่วประเทศที่มีเตาเผาศพนั้น ยังรวบรวมไม่ครบ แต่ในกรุงเทพฯ มีวัดทั้งสิ้น 456 แห่ง วัดที่มีการเผาศพ มีทั้งสิ้น 310 แห่ง เกือบทั้งหมด เป็นเตาเผาที่อยู่ในระดับดี ส่วนอีก 4 แห่ง ซึ่งเป็นวัดดังๆ จะเป็นเตาเผาระดับดีมาก
ทั้งนี้ เตาเผาศพ แต่ละระดับ มีความแตกต่างกัน ดังนี้
ระดับ 1 ต่ำสุด จะเป็นการเผาศพ 1 เตา โดยใช้ถ่าน ฟืน มีห้องเตาเผาเพียงห้องเดียว ไม่มีห้องควบคุมอุณหภูมิ ไม่มีการบันทึกข้อมูล ไม่มีระบบการเผาไอ และ ระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ
ระดับ 2 พอใช้ ใช้น้ำมันเตา และดีเซล อุณหภูมิ ประมาณ 400-700 องศาเซลเซียส ไม่มีระบบป้องกันมลพิษทางอากาศ
ระดับ 3 ดี (3.0) มี 2 ห้องเผาไหม ใช้น้ำมันดีเซล หรือ ก๊าซ LPG ระบบใดระบบหนึ่ง ในห้องเผาแรก โดยมีอุณหภูมิ 700-900 องศาเซลเซียส ซึ่งมีการควบคุมการเผา จากนั้น ไอของห้องแรก ก็จะเข้าไปห้องที่สอง โดยมีหัวเผา เพื่อเติมอากาศและควบคุมการเผาไหม้ โดยมีอุณหภูมิ ไม่ต่ำกว่า 800 องศาฯ โดยมีการรักษาระดับอุณหภูมิ จนกว่าจะเผาไหม้เสร็จสิ้น ซึ่งการเผาไอดังกล่าว ใช้เวลาเพียง 1 วินาที โดยมีระบบบันทึกอุณหภูมิและควบคุมอัตโนมัติ หรือจะให้สัปเหร่อ ช่วยดูก็ได้ ซึ่งประเด็นของระดับนี้ คือ ยังไม่มีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศ
ระดับ 4 (4.0) จะมี 2 ห้องเผาไหม้ ใช้น้ำมันดีเซล ก๊าซ LPG หรือ เตาไฟฟ้า อุณหภูมิ ในห้องแรก 700-900 องศาเซลเซียส มีการควบคุมอากาศที่เพียงพอ เพื่อการเผาที่สมบูรณ์ พอเผาห้องนี้เสร็จ ไอ หรือ ควัน จะเข้าไปที่ห้องที่สอง โดยมีอุณหภูมิขั้นต่ำ มากกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ซึ่งใช้เวลาในการเผาห้องที่สอง 1 วินาที เช่นเดียวกัน แต่ที่สำคัญคือ มีระบบควบคุมมลพิษทางอากาศที่ปลายปล่องด้วย
“เตาเผาระดับ 4 นี้ในกรุงเทพฯ มีแค่ 4 แห่ง ที่วัดดังๆ กลางเมือง ที่เหลือทั่วประเทศ ในต่างจังหวัด จะมีเตาในระดับ 2-3 เสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเตาระดับ 4 นี้มีต้นทุนในการก่อสร้างสูงมาก ราคาอาจจะมากกว่า 2 ล้านบาท” นายสนธิ กล่าว
วัดในชุมชน กับปัญหา มลพิษ และโรคร้าย
สำหรับปัญหามลพิษในชุมชนจากการเผาศพนั้น นายสนธิ เล่าให้เห็นภาพว่า ปกติแล้ว การเผาศพในแต่ละวัด จะต้องรออย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อให้เตาเผาเย็นลงก่อน โดยเฉพาะวัดที่อยู่ใกล้ชุมชน ที่มีบ้านจัดสรร ที่ผ่านมา มีชาวบ้านที่อาศัยแถบชานเมืองมาร้องเรียนกันบ่อยๆ โดยเฉพาะได้กลิ่นแก๊สไข่เน่า และ ฟอร์มาลีน เข้าไปในบ้าน ซึ่งถือเป็นเรื่องร้องเรียนอันดับ 1 ส่วนใหญ่มาจากเตาเผ่าศพ
...
“เมื่อเราไปตรวจ เราก็จะไปจับวัดก็ไม่ได้ โดยให้ต้องปรับปรุงเตาเผาศพ หากทำไม่ได้ก็ต้องหยุดเผา เพราะถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ กรมควบคุมมลพิษ ก็ต้องจัดการ โดยที่ผ่านมา กรมควบคุมมลพิษ ได้ออกประกาศฉบับใหม่เพื่อควบคุม เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 65 โดยดูค่า “ความทึบแสง” ที่ปลายปล่องควัน ซึ่ง “ค่าความทึบแสง” หมายถึง จำนวนร้อยละของแสงที่ไม่สามารถส่องผ่านเขม่าควันจากปล่อยเตาเผาศพ ซึ่งต้องมีค่าทึบแสง ไม่เกิน ร้อยละ 10 โดยจะมีการสังเกตจากปล่องเตาเผาศพ ประมาณ 30 นาที แต่ถึงวันนี้ ผ่านมาแล้วเกือบ 1 ปี ในปี 2566 นี้ จะต้องมีค่าความทึบแสงไม่เกินร้อยละ 7 ซึ่งจะบังคับใช้ในเขตกรุงเทพฯ และเขตพิเศษ เช่น เมืองพัทยา ซึ่งสาเหตุที่กฎหมายดังกล่าว ออกมา เพราะมีคนร้องเรียนเนื่องจากเกิดปัญหาสุขภาพ” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวและว่า
หากเตาเผาไม่ได้มาตรฐาน ก่อให้เกิดฝุ่น ควัน ต่างๆ ซึ่งจะมีสารก่อมะเร็งต่างๆ ประกอบด้วย สารไดออกซิน กลิ่นฟอร์มาลีน ฟอร์มาลดีไฮด์ หากหายใจเข้าไปก็จะไปทำลายทางเดินหายใจ เข้าปอด เข้าสู่ระบบเลือด สุดท้ายกลายเป็นโรคหัวใจ เส้นเลือดในสมองตีบ กลายเป็นคนป่วยนอนติดเตียง
“หากหายใจต่อเนื่องสิบปี ได้รับผลกระทบแน่ ซึ่งคนที่อยู่บ้านติดกับวัด แล้วมีเตาเผาไหม้ไม่ดีก็จะได้รับผลกระทบ เส้นเลือดในสมองตีบ ระบบหัวใจเกิดการเต้นเร็ว ผิดจังหวะ เป็นต้น”
...
ทางออก “เตาเผาศพ” ที่ได้มาตรฐานควรได้รับงบสนับสนุนจากรัฐ
เมื่อถามว่า ปัญหาคือ ราคาเตาเผาศพ ที่ได้คุณภาพมีราคาแพง แล้วแบบนี้จะแก้ปัญหาได้อย่างไร เมื่อบางวัดก็ไม่ได้มีเงิน นายสนธิ กล่าวว่า วัดเองก็เปรียบเสมือนนิติบุคคล ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมการศาสนา ซึ่งก็คือภาครัฐ
ฉะนั้น ทางออกเรื่องนี้คือ งบประมาณในการก่อสร้างเตาเผา ก็ควรมาจากภาครัฐ แต่เมื่อมาตรวจสอบแล้ว พบว่าเตาเผา มีปัญหา ก็ต้องแก้ไข ฉะนั้น ก.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ก็ควรให้คำแนะนำในการก่อสร้าง “เตาเผาศพ” ในระดับ 3 หรือ 4 อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งก็อาจจะรับบริจาคจากประชาชนด้วยก็ได้
แต่ค่าดำเนินการเผาศพ ในปัจจุบัน ก็มีต้นทุนที่วัดต้องไปดำเนินการ นายสนธิ ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น และราคาเผาศพในกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้ถูก เท่าที่ทราบ งานศพ 1 งาน (ไม่รวมงานสวดคืนอื่นๆ ต้องใช้เงินประมาณ 1 หมื่นบาท โดยมีค่าใช้จ่ายต่างๆ อาทิ พระมาสวด การแต่งตัว แต่งหน้าให้ศพ ผ้าห่อศพ ธูปเทียน ค่าน้ำมันเตา หรือ ก๊าซ LPG หรือถ้าเป็นไฟฟ้า ก็จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000-3,000 บาท มีค่าสัปเหร่อ ค่าเตาเผา การจัดการเก็บกระดูกขี้เถ้า
...
ควันจากเตาเผาศพ กับ ปัญหา PM 2.5
ในประเด็นฝุ่น PM 2.5 นายสนธิ อธิบายว่า ตั้งแต่โควิดที่ผ่านมา มีการเผาศพจำนวนมาก ซึ่งปัญหาฝุ่น PM 2.5 ส่วนมากมาจากท้องถนน ประมาณ 54% โรงงาน 21% อันดับ 3 มาจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งปัจจุบัน มีการดำเนินคดีทั้งหมด (ปรับ 2.5 หมื่น หรือ จำคุก 3 เดือน)
แต่...การเผาศพ เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ ฉะนั้น วัด จึงกลายเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษอันดับ 1 ช่วงที่มีฝุ่นมากๆ ด้วยเหตุนี้ ก่อนฝุ่นมา ประมาณเดือนตุลาคม จึงมีการไปตรวจสอบค่าฝุ่น จากการเผาศพ หลังจากนั้นก็มีการทดสอบค่าฝุ่น ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ต้องมีคำสั่งห้ามเผาศพ แต่จะห้ามได้หรือไม่ เราก็รู้สึกเห็นใจ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Chonticha Pinijrob
อ่านบทความที่น่าสนใจ