รวยมาจากไหน...?
คนยุคนี้ สมัยนี้ หาเงินง่าย หรือรวยเร็วกว่าคนยุคก่อน บางคนรวยหวย อู้ฟู่หุ้น เป็นเศรษฐีคริปโตฯ แต่... เดี๋ยวก่อน ปีที่แล้ว เรียกว่า เป็นปีหายนะของหุ้น และคริปโตฯ ส่งผลให้คนที่เจ๊งกับการลงทุน หลงผิดก่อเหตุอาชญากรรม ที่เห็นจากหน้าสื่อก็หลายคดี แต่...ก็ดูเหมือนมีบางคน “รวย” สวนกระแส แต่ก็ได้เงินมาแบบไม่ชอบมาพากล กลายเป็นคดีที่กำลังตรวจสอบอยู่ในขณะนี้ ทั้ง Forex 3D, ธุรกิจไม่เปิดเผย เว็บพนัน เว็บโป๊ ยังรวมการกระทำที่ส่อไปในการฉ้อโกง กับหุ้น MORE
ที่ยกตัวอย่างมา ล้วนมี “ผู้เสียหาย” สูญเสียทรัพย์สินมากมาย เป็นหมื่นๆ ล้าน
วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้กูรูการปราบปรามการ “ฟอกเงิน” พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ อดีตเลขาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ยอมรับว่า เวลานี้รู้สึกเป็นห่วงสังคมมาก
แก้ "บัญชีม้า" 10 ปี วันนี้ควรสูญพันธุ์ได้แล้ว
...
พ.ต.อ.สีหนาท ระบุว่า วิธีการฟอกเงินในปัจจุบัน มีวิธีการค่อนข้างจะแนบเนียนมากขึ้น ปัญหา “บัญชีม้า” ที่จริงเป็นเรื่องที่ควรแก้ปัญหาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนที่เป็น เลขาฯ ปปง. ตอนนั้น ได้มีการต่อสู้เรื่องนี้มาโดยตลอด ช่วงแรก ยอมรับว่าการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะสมัยนั้น คดีบัญชีม้า บางคดี ทางเจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรือ ทางอัยการ ท่านก็สั่งไม่ฟ้อง แต่ตอนหลังเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น และมีการจับกุมคนที่เปิดบัญชีม้ากันอย่างต่อเนื่อง
“หากมีการจับ หรือดำเนินการอย่าง “จริงจัง” (ย้ำว่า จริงจัง) เชื่อว่า บัญชีม้าสูญพันธุ์แน่” พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวและว่า
ที่สำคัญ จะช่วยแก้ปัญหา อาชญากรรมทางออนไลน์ด้วย เพราะการทำธุรกรรมเดี๋ยวนี้ เป็นอะไรที่ “เนียน...ง่าย” เพราะทำผ่าน โมบาย แบงก์กิ้ง”
เครื่องมือ ครบครัน แต่...บังคับใช้กฎหมายจริงจังหรือไม่?
พ.ต.อ.สีหนาท เผยว่า ทาง ปปง. ได้มีการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขเรื่องนี้โดยตรงตั้งแต่ปี 2556 ด้วยการแก้ไข มาตรา 20/1 เรื่องการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า และยังออกกฎกระทรวง เพิ่มเติมด้วย โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2559 และในปี 2563 ซึ่งถือว่ามีการออกกฎหมายได้ดีทั้ง 3 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากสถาบันการเงินใช้มาตรการเหล่านี้อย่างจริงจัง (ย้ำอีกครั้งว่า จริงจัง) ตั้งแต่ปี 2556 จนถึง 2563 การแก้ไขปฐมเหตุจะลุล่วง ส่วนการจับ “บัญชีม้า” เป็นเพียงปลายเหตุ ก็จะไม่มี
อดีต เลขาฯ ปปง. กล่าวว่า ต้นเหตุของปัญหา ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือ การตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หรือไม่ ยกตัวอย่างง่ายๆ กรณี หุ้น MORE ที่พบว่ามีการปั่นหุ้น หากบริษัทที่ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ทำงานอย่างจริงจัง คดีนี้จะไม่ไปถึงขั้นนี้
“ตอนที่ทำงานใน ปปง. เราทำงานใกล้ชิดกับสถาบันการเงิน ก็มีแบงก์ติดต่อเข้ามาแจ้ง ถึงกระแสเงินที่หมุนผิดปกติ จาก 10 ล้าน เป็นพันล้าน ในเวลา 3 เดือน นี่เรียกว่านำ CCD (Customer Due Diligence) หรือ การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงกับลูกค้า เมื่อมีการตรวจสอบก็สามารถระงับเหตุก่อนที่จะมีการมาร้องทุกข์กับ DSI ด้วยซ้ำ”
ในอดีต เคยทำการตรวจค้น บริษัทแห่งหนึ่ง ลูกค้าของบริษัทนั้นๆ มาล้อมไม่ให้ออก เขายังไม่ทราบว่าบริษัทกำลังมีปัญหา กล่าวหาว่าเราไปปิดบริษัทเขา เราเตือนเขาก่อนที่จะเกิดเหตุ หลังจากนั้น 4 เดือน เขาก็ปิดกิจการ นี่คือการระงับเหตุตั้งแต่เริ่มต้น
...
“การแก้ปัญหาการฟอกเงิน ควรที่จะ...เริ่มต้นด้วยการตรวจสอบของสถาบันการเงินอย่างจริงจัง ทั้งนี้ หากสถาบันการเงิน ดำเนินการตามกฎหมายฟอกเงินก็จะช่วยป้องกันปัญหาการฟอกเงินได้ ขณะเดียวกัน หาก ปปง. ทำงานอย่างจริงจัง ก็เชื่อว่า ทางสถาบันการเงินก็จะมีความเข้มงวดด้านวินัยมากขึ้น แต่หากไม่มีการกำกับการดูแลอย่างจริงจัง มันก็ยาก”
ยกเว้นแต่เพียงว่า สถาบันการเงินเหล่านั้น มีลักษณะลูกครึ่ง หรือ กลุ่มต่างชาติร่วมหุ้น กลุ่มเหล่านี้จะมีความเข้มงวดเรื่องเหล่านี่มาก เพราะ บริษัทในต่างประเทศเข้มงวด เพราะหากไม่เข้ม ก็มีโอกาสที่จะถูกปรับเป็นล้านเหรียญสหรัฐ หรือยูโร
“ที่กล่าวมา ไม่ได้จะตำหนิ สถาบันการเงินไทย แต่กำลังจะสื่อสารว่า หากมีการแก้ปัญหาให้ครบลูป ตั้งแต่ปฐมเหตุเลย ก็ควรบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง”
ปปง. กำลังหลงทาง เน้นปราบปราม อ่อนกำกับดูแล
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า ปปง. ทั่วโลก มีอำนาจคล้ายกัน เพียงแต่บางประเทศ เขาไม่มีอำนาจยึดทรัพย์ จับกุม ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย
หากเราเดินทางไปต่างประเทศ จะพบว่า การที่เราจะไปเปิดบัญชีในสหรัฐฯ หรือ ยุโรป เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะทาง ปปง. หรือ สถาบันทางการเงิน ของเขาให้ความสำคัญในการกำกับดูแล ทั้งที่ สถาบันการเงินของสหรัฐฯมีนับหมื่นๆ แห่ง
“ถามว่า เพราะอะไรเขาถึงเข้มงวดได้... สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะ เขามีการวางระบบที่ดี ประเทศเขา ไม่ได้ใช้ “คน” ดูแล แต่ใช้ “ระบบ” ในการ “กำกับดูแล” โดยมีหลักการ Risk Based Approach (การตรวจสอบโดยใช้แนวความเสี่ยง) ส่วนในไทยจะใช้กันแค่ไหน...ผมไม่ทราบ เพราะผมไม่ได้อยู่ใน ปปง. ขณะนี้”
...
หลักสำคัญคือ นักเรียน (สถาบันการเงิน) ก็ต้องเข้ม ครู (ปปง.) ก็ต้องเอาใจใส่ ดูแล หากมีการเข้มงวดตั้งแต่การดูแล และสถาบันการเงิน ก็จะไม่เกิดบัญชีม้าแน่นอน
สิ่งที่กล่าวมา แปลตรงๆ ว่า ในด้านตัวบทกฎหมาย เวลานี้ถือว่าทำงานได้อย่างเต็มที่ ปัญหาคือ การกำกับดูแลของหน่วยงานต่างๆ พ.ต.อ.สีหนาท ตอบว่า สิ่งที่มีปัญหาคือ การนำมาใช้ ปรับใช้ และ บังคับใช้.. การตรวจสอบผู้ค้าถึงรายได้ ต้องทำแบบ “องคาพยพ” ทั้งที่มาการเงิน รายได้ สถานะทางเศรษฐกิจ การบรรเทาความเสี่ยง
ยกตัวอย่าง นาย ก. มาเปิดบัญชี บอกมีรายงานได้เดือนละ 2 หมื่น แต่มีเงินเข้าจริง เดือนละ 2 ล้าน แบบนี้เป็นอย่างไร... ซึ่งหากเป็นดังนี้ ธนาคาร ก็จะต้องเรียกมาสอบถาม หากชี้แจงไม่ได้ ก็ระงับการทำธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่มีในกฎกระทรวงอยู่แล้ว ให้ทำได้
ยกตัวอย่าง คดี MORE ช่วงที่พีก ระหว่างวันที่ 14-20 พ.ย. 22 ปปง. ยังไม่ได้มีคำสั่ง อายัดทรัพย์ แล้ว บริษัทหลักทรัพย์ จะเอาอำนาจอะไรไปห้ามการทำธุรกรรมทางการเงิน คำตอบคือ ก็ใช้อำนาจตามกฎกระทรวง กว่า ปปง. จะออกคำสั่งก็วันที่ 20 แล้ว
...
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวว่า การระงับการทำธุรกรรม มีประโยชน์ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้แสดงข้อมูล หากแสดงไม่ได้ ก็แจ้ง ปปง. จากนั้นก็ให้ ปปง. ดำเนินการอายัดทรัพย์ต่อไป
สถาบันการเงิน ขาดความรู้ ขาดการอบรม
อดีต เลขาฯ ปปง. ยังรู้สึกเป็นห่วงบุคลากร ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการฟอกเงิน โดยระบุว่า ตนกล้าพูดเลยว่า หากเข้าไป “สอบบัญชี” ตามสถาบันการเงินในประเทศไทย เรียกว่า ถูกปรับกันไม่รู้เท่าไหร่ เชื่อว่าสามารถนับจำนวนคนสอบผ่านได้เลย ทั้งที่ประเด็นเหล่านี้ ทาง ปปง. ได้เปิดหลักสูตรสอนฟรี แต่ก็ยังไม่มีใครเรียน
“ความใส่ใจของนักเรียนไม่มี...เพราะครูไม่เข้ม ทั้งที่เปิดหลักสูตรเรียนออนไลน์ฟรีก็ตาม”
เมื่อถามว่า การทำงานของ ปปง. ในปัจจุบัน เป็นอย่างไร...พ.ต.อ.สีหนาท ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “เน้นเรื่องการยึดทรัพย์ จับกุม มากกว่าการตรวจสอบ ซึ่งถือว่า ไม่ใช่ภารกิจหลัก การแก้อาชญากรรมประเภทนี้ ต้องเน้นเรื่องการกำกับดูแลเป็นหลัก”
เมื่อถามว่ามีกลุ่มเศรษฐี อวดรวย โชว์เงินทอง ขับรถหรู และบางส่วนใช้อุบายทางการพนัน หรือ แชร์ลูกโซ่ มาหลอกคนไทย แบบนี้ถือว่า ละเลยในการตรวจสอบหรือไม่ พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอย่างจริงจังว่า คนที่ร่ำรวยผิดปกติ กลับกลายเป็นที่ยอมรับของสังคม ขณะที่สถาบันการเงิน ก็ไม่เคยตรวจสอบ แถมแย่งลูกค้ากันเอง กลัวแต่เพียงว่า หากมีการตรวจสอบแล้วเขาจะปิดบัญชี แล้วไปเปิดที่อื่น...”
“สิ่งที่ต้องกำกับดูแล จำเป็นต้องทำให้เหมือนกัน และอำนาจในการตรวจสอบก็มีอยู่แล้ว กับกฎกระทรวงฯ ถ้าใช้ไม่เป็น เรียกผมไปบรรยายให้ฟังก็ได้ ว่าใช้ยังไง กฎหมายที่มีอยู่ในเวลานี้ ไม่จำเป็นต้องแก้ สิ่งที่ต้องแก้ คือ องค์กร และวัฒนธรรมองค์กร จะเข้มงวดก็ต้องทำทั้งประเทศ อย่าเข้มแค่รายใดรายหนึ่ง ถ้าทำแบบนั้น ลูกค้าสถาบันการเงินก็จะหนีไปที่อื่นอีก”
ในขณะเดียวกัน สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ส่อไปในทางทุจริต ทาง ปปง. ก็มีประกาศ ให้ตรวจสอบ คำถาม คือ มีการตรวจกันบ้างไหม ถ้าตรวจกันจริงๆ รับรองว่า อบต. ต่างๆ โกงกันยาก
“กฎหมายมี กฎหมายดี ไม่ใช้ ไม่เข้ม...เรื่องนี้ไม่ได้ตำหนิใคร พูดกลางๆ ในขณะที่ บทบาทของสถาบันการเงิน ก็คือ การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงที่มาการเงินของลูกค้า เพื่อดูว่า สมกับฐานานุรูปหรือไม่ ที่มาของรายได้ รายจ่าย สอดคล้องกับการแสดงไว้ เมื่อตอนเปิดบัญชีหรือไม่ ถ้าไม่สอดคล้องไม่เหมาะสม ก็ขอข้อมูลเพิ่มเติม นี่คือหน้าที่สถาบันการเงิน ที่มีกฎหมายรองรับ” พ.ต.อ.สีหนาท กล่าว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความ