“ผมเป็นออทิสติก ครับ...ผมชื่อนายอัษฎากรณ์ ขันตี มีชื่อเล่นว่า อัษ ครับ” การแนะนำตัวที่แสนเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยความน่ารักของชายวัย 27 ปี ที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยีและสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความยินดีของคุณปู่ คุณย่า และคุณอา ที่เฝ้าดูแล “น้องอัษ” มาตั้งแต่วัยเยาว์ และปัจจุบัน “น้องอัษ” ได้บรรลุความฝันของตัวเองไปอีกขั้น ด้วยการได้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ ของ มูลนิธิออทิสติกไทย (Autistic Thai Foundation) แล้ว

นายอัษฎากรณ์ ขันตี หรือ น้องอัษ เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ ของ มูลนิธิออทิสติกไทย (Autistic Thai Foundation)
นายอัษฎากรณ์ ขันตี หรือ น้องอัษ เจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ ของ มูลนิธิออทิสติกไทย (Autistic Thai Foundation)

...

เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้ “คุณ” อาจเลิกคิ้วด้วยแปลกใจเล็กน้อยว่า เหตุใดวันนี้ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” จึงต้องพา “น้องอัษ” มาแนะนำตัวกับ “คุณ” แต่หาก “คุณ” ได้อ่านซีรีส์สกู๊ปปัญหาเรื่องการบูลลี่ที่นำไปสู่ความรุนแรงในสถานศึกษาของ “เรา” มาก่อนหน้านี้ นี่คือ “อีกหนึ่งตอนของสกู๊ปที่จะสะท้อนถึงปัญหาที่กำลังแพร่ระบาดและกลายเป็นบาดแผลทางสังคมในยุคปัจจุบัน”

เส้นทางของ “น้องอัษ” กว่าที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้เช่นทุกวันนี้ ต้องผ่านขวากหนามการบูลลี่ทั้งในแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งอยู่ใน สถานศึกษา เพื่อนนักเรียน และครู รูปแบบใดมาบ้าง วันนี้ “เรา” ค่อยๆ ไปมองผ่านเลนส์จากหนึ่งในกลุ่มเด็กพิเศษของประเทศไทย ที่ผ่านการเรียนร่วมชั้นกับเด็กปกติมาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับปริญญาตรี โดยไม่ผ่านการระบบการศึกษาเฉพาะกลุ่มเด็กพิเศษแม้แต่ระดับเดียวกันสักนิด

จุดเริ่มต้น...จากใจเด็กพิเศษถึงเพื่อนนักเรียนปกติ : พวกนายช่วยดูแลเราด้วยนะ!

“ตอนที่จะเข้าไปเรียนในโรงเรียน มีอยู่แล้วครับ...ก็กังวลว่าเพื่อนจะเกเร หรือจะถูกเพื่อนแกล้งหรือเปล่า แต่ผมก็พูดกับเพื่อนไปตรงๆ นะครับว่า ผมเป็นแบบนี้ ช่วยดูแลเราบ้างนะ ช่วยคุยกับเราบ้างนะ แต่เพื่อนจะทำหรือไม่ก็แล้วแต่เขาครับ” น้องอัษ ถ่ายทอดประสบการณ์เมื่อเริ่มเข้าสู่รอบรั้วสถานศึกษาที่ต้องร่วมเรียนกับเพื่อนนักเรียนปกติ กับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”

โดยในช่วงเรียนชั้นอนุบาลจนถึงระดับประถมศึกษาน้องอัษยอมรับว่า ยังไม่ค่อยพบปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนมากนัก เพียงแต่จำได้บ้างเล็กน้อยว่า เคยถูกเพื่อนๆ กลั่นแกล้งอยู่บ้างเป็นบางครั้ง ด้วยอาจจะเป็นเพราะยังเด็กและจดจำอะไรในช่วงนั้นได้ไม่มากนัก แต่ครั้งที่รุนแรงที่สุดเท่าที่จำได้ ดูเหมือนว่าจะถูกแย่งของเล่น และด้วยความที่ในตอนนั้นความไวของอารมณ์มีมากปกติ จึงแสดงออกด้วยการร้องไห้เสียงดังลั่นโรงเรียน

เมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แม้วุฒิภาวะของเพื่อนๆ อาจจะมีมากขึ้น แต่หากถามว่า ปัญหาการกลั่นแกล้งยังมีอยู่หรือไม่ คำตอบคือ “มี” โดยรูปแบบที่พบบ่อยและมักเจออยู่เป็นประจำคือ “การพูดล้อเลียนเสียดสีต่างๆ นานา” แต่ประเด็นนี้ไม่ได้ทำให้รู้สึกเสียใจมากเท่ากับการถูกกลั่นแกล้งด้วยการ “แสดงอาการหมางเมิน”

...

“การกลั่นแกล้งจากเพื่อนนักเรียนที่ทำให้ผมรู้สึกเสียใจมากที่สุด คือ มีอยู่หลายครั้งที่เพื่อนๆ หลายคนแสดงอาการหมางเมิน ไม่มีใครยอมพูดจากับผมโดยไม่มีคำอธิบายใดๆ และส่วนใหญ่จะปล่อยให้ผมงง ซึ่งแม้ว่าผมจะพยายามเข้าไปพูดคุยด้วยหลายครั้ง หรือพยายามให้ครูเข้าไปช่วยเจรจา แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเลือกที่จะเมินเฉยใส่อยู่ดี จนทำให้บางครั้งผมต้องร้องไห้เลยครับ ถามว่าผมน้อยใจไหม น้อยใจมากครับ”

สำหรับระดับมัธยมปลาย “น้องอัษ” ยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ปกติ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมีความแน่นแฟ้นใกล้ชิดระหว่างเพื่อนและครูมากที่สุด จนกระทั่งทำให้มีเพื่อนที่สนิทมากๆ ด้วยจำนวนหนึ่ง และเพื่อนสนิทเหล่านี้ก็ปฏิบัติกับตนเองเหมือนเป็นคนปกติทั่วๆ ไปไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ

ส่วนในระดับมหาวิทยาลัยนั้นทุกคนต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้ว และเริ่มคิดถึงอนาคตของตัวเองมากขึ้น ในขณะที่ครูก็ไม่ได้ดูแลใกล้ชิดเหมือนช่วงเรียนมัธยมแล้ว ความสัมพันธ์จึงอาจจะลดน้อยถอยลงจากช่วงมัธยมปลายไปบ้าง

...

เด็กพิเศษ ครู และปัญหาการกลั่นแกล้งในโรงเรียนไทย : โรงเรียนเราไม่พร้อม!

“แค่จุดเริ่มต้น ก็ควรต้องมีการแก้ไขแล้วครับโดยเฉพาะเรื่องการที่โรงเรียนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะปฏิเสธรับเด็กพิเศษเข้าเรียน ในขณะที่ครูบางคนก็เมินเด็กพิเศษไปเลย แต่ครูบางคนก็ช่วยเหลือได้ครับ”

สำหรับการรับเด็กพิเศษเข้าเรียนในโรงเรียนปกตินั้น น้องอัษมองว่า ข้อแรกโรงเรียนไม่ควรปฏิเสธการรับเด็กพิเศษ รวมถึงไม่ควรใช้ข้อสอบในการวัดผลการเรียน แต่ควรใช้วิธีการสอบสัมภาษณ์เพื่อประเมินว่าเด็กพิเศษแต่ละคนสามารถทำอะไรได้บ้างมากกว่า

“เท่าที่ประสบการณ์ผมเคยเจอ คือ โรงเรียนส่วนใหญ่มักอ้างเหตุผลซ้ำๆ ว่า ไม่มีความพร้อม ไม่มีครู ไม่มีคน ไม่มีงบประมาณ เพื่อปฏิเสธการรับเด็กพิเศษเข้าเรียน”

สำหรับประเด็นเรื่องครูนั้น ในความเห็นส่วนตัวน้องอัษ มองว่า หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ครูไม่เหลือเวลามากพอสำหรับการดูแลนักเรียนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กพิเศษ คือ “มีภาระงานทางด้านเอกสารรวมถึงต้องเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของทางโรงเรียนมากเกินไป”

...

ภาระงานที่มากเกินไปทำให้ครูมีเวลาดูแลนักเรียนน้อยลง และยิ่งกับกลุ่มเด็กพิเศษ ซึ่งต้องการการดูแลใกล้ชิดมากกว่าปกติ ก็เลยยิ่งทำให้เป็นปัญหา แต่อย่างไรก็ดีปัญหาหลักๆ ของเรื่องนี้ อยู่ที่ความเข้าใจ เพราะถ้าครูเข้าใจเรื่องนี้มากพอ "ครูก็คงไม่คิดแต่เพียงมาสอนเด็ก เพราะจริงๆ แล้วครูเป็นผู้มีหน้าที่วางอนาคตให้กับเด็กต่างหาก"

ประสบการณ์จากครู (บางคน) ที่ยากจะลืม : ความโดดเดี่ยวในห้องเรียน

“เท่าที่ผมจำได้ ก็น่าจะเป็นการลำเอียงเข้าหาแต่คนอื่น แต่ไม่ยอมเข้าหาผมเลยครับ จนกระทั่งทำให้ผมรู้สึกเหมือนโดดเดี่ยวอยู่ในห้องเรียนครับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ผมรู้สึกน้อยใจมากที่สุดสำหรับประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนในโรงเรียนปกติ”

การเรียนร่วมกับเพื่อนปกติ หรือแยกเรียนเฉพาะ แบบไหนเหมาะกับเด็กพิเศษ :

“ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ต้องแยกเป็นระดับๆ ไปครับ คือ หากเป็นเด็กพิเศษที่มีอาการปานกลางถึงหนักมาก มีอารมณ์หรือพฤติกรรมรุนแรง ควรไปเรียนในการศึกษาพิเศษ แต่หากมีอาการไม่มากนัก เช่น พูดจารู้เรื่อง ฟังเข้าใจ ตอบโต้ได้ รวมถึงพอดูแลตัวเองได้แบบนี้ ผมว่าให้ไปเรียนในโรงเรียนทั่วไปเถอะครับ

เพราะในโลกของความเป็นจริง คนเราไม่สามารถเจริญเติบโตอยู่ใน Comefort Zone ได้ตลอดไปครับ เขาต้องลองออกไปเจอเพื่อน ลองไปฝึกบริบทการเข้าสังคม เพื่อฝึกทักษะการเข้าสังคม ซึ่งเอาละ อาจจะพูดตะกุกตะกักไปบ้าง พูดไม่ถูกบ้างไม่เป็นไร อะลุ่มอล่วยกัน ค่อยๆ พูดค่อยๆ จา ค่อยๆ ให้เหตุผลกัน แล้วเดี๋ยวพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไปเอง แต่ทั้งหมดนั้น ทั้งเพื่อนนักเรียน ครูและผู้บริหารโรงเรียนจะต้องทำความเข้าใจและช่วยกันพัฒนาเด็กพิเศษให้ถึงที่สุดด้วย”

หลักสูตรการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กพิเศษ :

สำหรับประเด็นนี้ในมุมมองของ "นัองอัษ" บอกกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ว่า กระทรวงศึกษาธิการควรต้องมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีความยืดหยุ่นและเหมาะสมสำหรับเด็กพิเศษให้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ควรมีการจัดแบ่งเวลาสำหรับการเรียนการสอนทางด้านวิชาการให้น้อยลง และเพิ่มเวลาสำหรับการเน้นเรื่องการพัฒนาทักษะทางด้านสังคมต่างๆ รวมถึงกิจกรรมที่เด็กพิเศษให้ความสนใจและทำได้ดีแทนมากกว่า และไม่ควรมีการจัดสอบเพื่อวัดทักษะกลุ่มเด็กพิเศษ แต่ควรเน้นไปในเรื่องวิชาเสริมสร้างพัฒนาการ ที่จะนำไปสู่การอยู่ร่วมในด้านสังคมได้อย่างปกติมากกว่าเพราะจุดอ่อนที่สุดของเด็กพิเศษ คือ “การเข้าสังคม”

นอกจากนี้ ควรมีการเพิ่มทักษะให้กับครูในการรับมือกับเด็กพิเศษ และสามารถสอนเด็กพิเศษได้อย่างทั่วถึงมากขึ้นด้วย และไม่ควรมีอคติกับพวกเขาเหล่านั้นมากเกินไป เพราะจริงๆ แล้ว ครูทุกคนสามารถสอนเด็กออทิสติกได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาครูพิเศษสำหรับสอนเด็กออทิสติกเพียงอย่างเดียว

ความฝันของน้องอัษ : อาชีพวิศวกร

“ผมรู้สึกชื่นชอบและสนใจวิชาคณิตศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และไอทีเป็นพิเศษ มาตั้งแต่ช่วงเรียนประถมศึกษาแล้วครับ โดยตอนเด็กๆ ผมมีความฝันอยากโตไปเป็นวิศวกร แต่ในเมื่อทุกอย่างมันไม่เอื้ออำนวยกับผมมากพอ นั่นคือทั้งโอกาสทางสังคม และครอบครัวผมเองก็รู้สึกเป็นห่วงว่าผมอาจจะเรียนไหวหรือไม่ไหวหรือเรียนไม่ทันเพื่อน ผมก็เลยต้องละทิ้งความฝันนั้นไปครับ”

เด็กพิเศษ กับคำร้องขอต่อสังคม : ให้พื้นที่ในสังคมกับพวกเราบ้างนะครับ

“ส่วนตัวผมเชื่อว่า เด็กออทิสติกทุกคนมีความพร้อม มีความรู้ มีศักยภาพ และสามารถพัฒนาได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทุกประการ เพียงแต่ผมอยากให้สังคมให้โอกาสพวกเขาเหล่านั้นให้มากกว่านี้หน่อยนะครับ ในเมื่อเราเข้าสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์แล้วขอเถอะครับ อย่าอคติกับพวกผมมากนัก เปิดโอกาสให้พวกผมได้อยู่ในสังคม ได้มีชีวิต ได้มีความเป็นอยู่ ได้ออกมาเจอเพื่อนเจอพี่เจอน้อง แล้วให้พวกเขาได้มีความกล้าในการแสดงออก อย่าไปกดดัน อย่าไปเร่งรัดพวกเขา แต่ขอให้พวกเขาได้เป็นตัวเขาเอง มีความเป็นธรรมชาติ เพราะแน่นอนว่า พวกเขาอาจจะมองโลกไม่เหมือนคนอื่น แต่ขอให้พวกเขาได้มีพื้นที่ในสังคมบ้างเถิดครับ ผมขอร้อง”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง