เหตุใดรัฐบาลจีนจึงเลือกที่จะผ่อนปรนมาตรการ Zero Covid จนนำไปสู่การเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ และประเทศไทยจะได้รับประโยชน์แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากการปฏิสัมพันธ์ของชาวจีนได้อย่างไร ภาคการท่องเที่ยวของไทยจะฟื้นตัวในปีนี้เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจได้หรือไม่ ราคาพลังงานและเงินเฟ้อในปีนี้จะเป็นอย่างไร วันนี้ "เรา" มีคำตอบ จาก "คำถามทั้งหมดในบรรทัดข้างต้นนี้"

 “ปัจจัยภายในประเทศและจังหวะที่ดีในการฉวยโอกาสปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้จีน เปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้”

"รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์" อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย เกริ่นนำถึงการผ่อนปรนมาตรการ Zero Covid ของพญามังกรที่เริ่มต้นใช้เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเร็วกว่าที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมปีนี้เป็นต้นไป กับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”

...

"รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์" อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย

ปัจจัยภายในประเทศจีน :

ปัจจัยที่เกิดขึ้นภายในจีน อันเป็นผลจากตัวแปรด้านเศรษฐกิจมีทีท่าว่าจะชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ 1.การค้าต่างประเทศที่เริ่มติดลบตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว (ปี2022) และ 2.การบริโภคภายในประเทศซึ่งมีความสำคัญมากเนื่องจากคิดเป็น 60% ของ GDP จีน “เริ่มลดลง” ดั่งจะได้เห็นได้จากยอดค้าปลีกในประเทศจีนเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ลดลงมากถึง 5.9% โดยทั้ง 2 ตัวแปรนี้เป็นผลให้ GDP ของจีนชะลอตัวลงอย่างเด่นชัด และสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้ง 2 ตัวแปรนี้ชะลอตัวลงก็คือนโยบาย Zero Covid

“นโยบาย Zero Covid อันเข้มงวดทำให้คนจีนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จนกระทั่งทำให้การเคลื่อนไหวของผู้คนถูกจำกัด ด้วยเหตุนี้ภาคการผลิต ภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภค จึงได้รับผลกระทบด้วยกันทั้งหมด”

นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ นโยบาย Zero Covid ยังทำให้เกิดปัญหาทางสังคมขึ้นในประเทศจีนด้วย ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเด่นชัด คือ การออกประท้วงผู้คนซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นตัวชี้ขาดที่ทำให้ ต้องรีบบริหารจัดการเพราะอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลในอนาคตได้

“จริงๆ จีนคงกำลังหาจังหวะอยู่แล้วว่าช่วงเวลาไหนที่เขาจะเปิดประเทศ ฉะนั้นเมื่อมีเหตุผลทั้งในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหากปล่อยไว้แบบนี้ต่อไป GDP ประเทศซึ่งปีที่แล้วขยายตัวเพียง 3% บวก-ลบ ซึ่งถือว่าต่ำมากๆ จากช่วงเวลาปกติที่โตถึงปีละ 5-6% ก็อาจจะชะลอตัวลงมากกว่าเก่า รัฐบาลจีนจึงต้องตัดสินใจเปิดประเทศในที่สุด”

ปัจจัยภายนอก :

“ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่ามีผลน้อยมาก เพราะหากมีผลจริงคงทำให้จีนเปิดประเทศไปก่อนหน้านี้นานแล้ว”

...

การปิดประเทศของรัฐบาลจีนในช่วงปีแรกคือปี 2020 จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจของจีนได้รับผลกระทบน้อยมาก ดั่งจะเห็นได้จาก GDP โลก -3% แต่ GDP ของประเทศจีนกลับโตขึ้นถึง 2.2% ส่วนในปี 2021 GDP ของประเทศจีน ขยายตัวขึ้นถึง 8.4% ส่วน GDP โลก ขยายตัวใกล้ๆ 6% ฉะนั้นในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจจะเห็นได้ว่าจีนไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากนัก

นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้จีนไม่รีบร้อนเปิดประเทศในช่วงเวลานั้น เนื่องจากพบว่ามีการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ซึ่งทำให้ผู้คนเสียชีวิตจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มากมายทั่วโลก รัฐบาลจีนจึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้มากกว่าปกติ เพราะจีนมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบาง มากถึง 267 ล้านคน หรือคิดเป็นถึง 19% ของจำนวนประชากรจีนทั้งประเทศ หรือ เกือบเท่ากับจำนวนรวมของประชากรอินโดนีเซีย ซึ่งมีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก ทั้งประเทศ!

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโลกหลังจีนเปิดประเทศ :

“แนวโน้มเศรษฐกิจในปีนี้ (ปี 2023) มีสัญญาณที่ค่อนข้างเด่นชัดว่า เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) และนี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เพราะอะไรจีนจึงตัดสินใจเปิดประเทศในช่วงเวลานี้ด้วย”

ต้องยอมรับว่าในปีนี้ประเทศมหาอำนาจที่กำลังขับเคี่ยวกับจีน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกากำลังซวนเซจากทั้งปัญหาการเมืองภายในประเทศ ดั่งจะเห็นได้จากประเด็นการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ยังอลหม่าน รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจจาก “เงินเฟ้อ”

ฉะนั้น การฉวยโอกาสเปิดประเทศเพื่อปฏิสัมพันธ์กับชาวโลกผ่านเรื่องการค้าการลงทุนและภาคบริการและการท่องเที่ยวในช่วงเวลานี้ จะเท่ากับทำให้จีนกลายเป็นเสาหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกไปโดยปริยาย และเมื่อเป็นเช่นนั้นจีนก็จะเปิดตัวออกสู่สากลได้อีกครั้งหนึ่ง หลังตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำถูกสหรัฐฯ และพันธมิตรปิดล้อมผ่านการทูตระหว่างประเทศมานานร่วม 3 ปี

...

“การเปิดประเทศในช่วงเวลานี้ จะทำให้จีนช่วงชิงการนำได้หลายเรื่อง เช่น 1.เรื่องเศรษฐกิจ คือ ช่วยให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัวน้อยลง และทำให้เศรษฐกิจจีนดีขึ้นด้วย 2.การเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ เพราะแรงต่อต้านจากบรรดาคู่ขับเคี่ยวอย่าง สหรัฐฯและพันธมิตร เริ่มแผ่วเบาลง”

นอกจากนี้พลังของจีนที่ออกมานอกประเทศนั้น ต้องยอมรับว่ามีพลังอย่างมาก ที่จะทำให้จีนสามารถเปิดเกมรุกทางด้านการทูตระหว่างประเทศได้ เพราะเมื่อคนจีนไปเที่ยวในประเทศไหน ประเทศนั้นก็จะได้รับประโยชน์อย่างมากเสมอ โดยสิ่งที่สามารถยืนยันในเรื่องนี้ได้ คือ ก่อนเกิดปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 พลเมืองจีนที่เดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศมีจำนวนมากถึง 155 ล้านคน และมีการใช้เงินสำหรับการจับจ่ายใช้ในต่างแดนรวมกันมากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ฉะนั้นสิ่งที่น่าจับตาคือในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ เมื่อโลกมีแนวโน้มว่าอาจจะเกิดปัญหาเศรษฐกิจถดถอย จนเป็นผลให้พลังการซื้อในประเทศลดต่ำลง ความจำเป็นในการต้องพึ่งพาพลังการซื้อจากต่างประเทศย่อมต้องมีสูงขึ้นเป็นปกติ

...

ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อ ปี 2023 :

“การเปิดประเทศของจีน จะช่วยให้ราคาพลังงานไม่ลดต่ำลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่”

ก่อนหน้านี้ ราคาพลังงานลดลงจากปัจจัยหลายๆ ประการ ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่ว่านั้น ก็มาจากการที่จีนปิดประเทศด้วย สำหรับในปี 2023 เมื่อเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ราคาพลังงานก็ยิ่งมีแนวโน้มจะเข้าสู่ช่วงขาลงมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อจีนประกาศเปิดประเทศและหากสามารถตั้งหลักได้ทางด้านการค้าและภาคบริการ จีนก็จะมีการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้น และจะเป็นผลให้ “ราคาน้ำมันไม่ได้ชะลอตัวอย่างมากมายและคงไม่ถึงกับเป็นผลให้เงินเฟ้อกลับมากลายเป็นปัญหาใหญ่ได้อีกครั้ง”

“เมื่อจีนมี Demand ต่อน้ำมันเพิ่มมากขึ้น คงไม่ถึงกับทำให้เงินเฟ้อกลับขึ้นมาใหม่ เพียงแต่มันจะไม่ทำให้อัตราการลดลงของเงินเฟ้ออันเกิดจากพลังงานลดลงฮวบฮาบเหมือนอย่างที่บางคนตั้งใจเอาไว้”

สำหรับการคาดการณ์ราคาน้ำมันในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนตัวคิดว่า “อาจจะต่ำกว่าราคาในปัจจุบันเล็กน้อย” เพราะยุโรปไม่ได้ประสบปัญหาอากาศหนาวอย่างที่คิด ด้วยเหตุนี้ Demand ต่อพลังงานไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันจึงไม่ได้สูงมากมายอะไรนัก ขณะเดียวกันการที่จีนพบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับสูงในช่วงนี้ จนต้องสาละวนอยู่กับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ก็ยิ่งจะยิ่งทำให้ความต้องการในการใช้พลังงานลดต่ำลงไปอีก ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ราคาพลังงานอย่างดีที่สุดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

พลังอำนาจของนักท่องเที่ยวจีนกับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ :

“ปีนี้พูดได้เลยว่า ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นอัศวินม้าขาวของไทย”

ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 คนจีนมาท่องเที่ยวในประเทศไทย 11 ล้านคน และมีการจับจ่ายใช้สอยไปรวมกันมากกว่า 520,000 ล้านบาท ในความเห็นส่วนตัวจึงคิดว่าในปีนี้ ไทยน่าจะได้สักครึ่งหนึ่ง แต่ครึ่งหนึ่งของที่ว่านี้ คือ 250,000 ล้านบาท ก็ถือว่ามีนัยสำคัญอย่างมากแล้วในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว เพราะหากในปีนี้หากไทยไม่ได้การท่องเที่ยวมาเสริม จากภาคการส่งออกที่ชะลอตัวลง เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วงไม่น้อย

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันต้องยอมรับว่าวิกฤติโควิด-19 ได้ทำให้แรงงานในภาคบริการไทยหดหายไปจำนวนมาก ฉะนั้นกว่าที่ไทยจะสามารถกอบกู้ห่วงโซ่อุปทานของภาคการบริการให้กลับมาเหมือนเดิมอาจต้องใช้เวลาเกือบตลอดทั้งปีนี้ หรือ อย่างดีที่สุดในช่วงปลายปีนี้น่าจะพอสามารถตั้งหลักรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่จะเดินทางมาได้

“การจ้างงานภาคการท่องเที่ยวในเวลานี้มีปัญหามาก เพราะแทบหาคนไม่ได้เลย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก พนักงานโรงแรมก็หายไป พนักงานตามร้านอาหารก็หายไป ซึ่งธุรกิจเหล่านี้นอกจากต้องใช้คนจำนวนมากแล้วต้องมีคุณภาพในการให้บริการด้วย เพราะภาคบริการหัวใจสำคัญที่สุด คือ คน เพราะเมื่อให้บริการไปแล้วเป็นที่พอใจของลูกค้ามากน้อยแค่ไหน”

ขณะเดียวกัน นอกจากเรื่องการท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่ไทยน่าจะได้รับประโยชน์ คือ เม็ดเงินลงทุนจากจีน ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นไปด้วย เพราะจีนน่าจะเริ่มตั้งหลักในเรื่องการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง จนกลับไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเวลาปกติ

และเมื่อถึงเวลานั้น จีนน่าจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเป็นผู้นำการขับเคลื่อน "กลุ่ม Globle South (กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา)" ผ่านการลงทุนย้ายและขยายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งน่าจะกลายเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของจีน เพราะปัจจุบันต้องยอมรับว่า การลงทุนเรื่องห่วงโซ่อุปทานในประเทศจีนเริ่มมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ

“ต้นทุนภาคการผลิตของจีนไม่ได้มีราคาถูกอีกต่อไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ จีนจึงเริ่มมีการขยับการลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงมีการวางแผนเรื่องการยกระดับภาคการผลิตโดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างนวัตกรรมมากขึ้นด้วย”

นอกจากภาคการผลิตแล้ว หากสังเกตให้ดี จีนได้เริ่มหันไปเพิ่มศักยภาพเรื่องภาคบริการและการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และปฏิสัมพันธ์กับชาวโลกมากขึ้น เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวของการยกระดับของภาคบริการภายในประเทศจีน เพราะจีนจะหวังพึ่งพาภาคการผลิตมากๆ เช่น ในอดีตไม่ได้แล้ว

สิ่งที่รัฐบาลไทยควรเตรียมรับมือการเปิดประเทศของจีน :

“รัฐบาลต้องมีการบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศให้มากที่สุด โดยเฉพาะการขจัดปัญหากลุ่มทุนจีนสีเทาทั้งหลายเพราะเมื่อเข้ามาแล้ว มักจะก่อให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้เสมอ รวมถึงต้องบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยและจีน หรือ พูดง่ายๆ ว่าต้องไม่เสียเปรียบจีนมากจนเกินไป

อีกทั้ง ยังต้องพยายามทำให้คนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับประโยชน์จากการเข้ามาของจีนให้ได้ทั่วถึงมากที่สุดให้ได้ ไม่ใช่เพียงคนส่วนน้อยที่ได้รับประโยชน์ แบบที่เรียกว่ารวยกระจุกจนกระจาย เช่นในอดีตด้วย” รศ.ดร.สมภพ กล่าวทิ้งท้ายด้วยความหวัง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง