เชื่อว่าทุกคนที่เห็นคลิป กรณีรถยนต์สุดหรู เบนท์ลีย์ ขับมาด้วยความเร็วสูง แซงซ้าย ก่อนจะเปลี่ยนเลนกะทันหัน เข้าเลนกลาง ไปชนกับรถยนต์ SUV มิซูบิชิ “ปาเจโร่” ที่ขับอยู่เลนกลาง จากนั้น ปาเจโร่ก็เสียหลักออกขวา ถูกรถที่ตามมาชนอีกครั้ง ในขณะที่เบนท์ลีย์ก็เสียหลักไปชนขอบทางซ้าย อย่างที่มีการนำเสนอข่าวไป โดยมีผู้บาดเจ็บ 6 คน (ในรถ 3 คัน) หนึ่งในนี้มีเด็ก 4 ขวบรวมอยู่ด้วย
ขณะที่คนขับรถหรู ปฏิเสธที่จะเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ เพราะอ้างว่าเจ็บหน้าอก โดยตำรวจระบุในเวลาต่อมา กลัวแรงลมเป่าไม่พอ เครื่องไม่เสถียร จึงใช้วิธีการเจาะเลือดแทน ซึ่งผู้ขับขี่รถยนต์หรูก็ยอม...
สถิติอุบัติเหตุบนทางด่วน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ตรวจสอบข้อมูล สถิติอุบัติเหตุบนทางด่วน 8 แห่ง และทางหลวงพิเศษ เลขที่ 37 จากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (ข้อมูลในปีงบประมาณ 2565 เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ พ.ค. 64-ต.ค. 65) พบว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ มากที่สุด มาจากการเปลี่ยนเลนกะทันหัน 163 ครั้ง (24.4%), ขับรถเร็ว 120 ครั้ง (18%), ขับรถกระชั้นชิด 116 ครั้ง (17.4%), หลับใน 63 ครั้ง (9.4%), ยางแตก 38 ครั้ง (5.4) เบรกขัดข้อง 21 ครั้ง (3.1%), ละสายตาจากการขับขี่ 21 ครั้ง (3.1%) และอื่นๆ
ส่วนทางด่วนที่เกิดอุบัติเหตุสูง 3 อันดับแรก คือ ศรีรัช 167 ครั้ง, บางพลี-สุขสวัสดิ์ 129 ครั้ง, เฉลิมมหานคร 118 ครั้ง ส่วนช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด คือ เวลา 10.00-10.59 น. จำนวน 45 ครั้ง เวลา 14.00-14.59 น. จำนวน 42 ครั้ง และเวลา 13.00 -13.59 น. จำนวน 39 ครั้ง
...
ขณะที่ คนบาดเจ็บและเสียชีวิตในรอบ 8 เดือนที่เก็บข้อมูล พบว่า มีผู้บาดเจ็บ 268 ราย เสียชีวิต 13 ราย
วิเคราะห์กายภาพถนน รถ “ปาเจโร่” เกือบตกทางด่วน!
ขณะเดียวกัน ทีมข่าวฯ ยังได้พูดคุยกับ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวถึงประเด็นรถเบนท์ลีย์ ชน SUV บนทางด่วน ว่า “ทางด่วน” คือ เส้นทางที่ถูกออกแบบเพื่อควบคุมประเภทรถ เพราะรถบนทางด่วนเป็นรถที่วิ่งด้วยความเร็ว จึงไม่ให้มีรถมอเตอร์ไซค์มาวิ่งปะปน ไม่มีรถช้ามาปน ซึ่งตามกฎหมาย ทางด่วนถูกออกแบบให้รถวิ่งอยู่ที่ประมาณ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ดังนั้น หากมองด้านกายภาพของถนน จะแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ
แบริเออร์ : กั้นตกทางด่วน ถูกออกแบบมาที่ความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ผู้จัดการ ศวปถ. ให้ข้อมูลว่า ด้านกายภาพทางด่วนจะสัมพันธ์กับอุปกรณ์บนทางด่วน โดย “แบริเออร์” ที่ใช้ป้องกันตกทางด่วน ถูกออกแบบมาสำหรับความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่ง “ทางด่วน” จะมีการก่อสร้างทางขึ้น-ลงในเขตชุมชน ดังนั้น จึงอิงกับกฎหมายความเร็วในเขตเมือง แต่ตอนนี้กฎหมายล่าสุด อนุโลมให้ทางด่วนที่เป็นทางยกระดับ ก็จะวิ่งได้ 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ทางวิ่งบนพื้นราบ ได้ 110 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ดีไซน์จริงๆ คือ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง”
หากถอดบทเรียนจากกรณี “เบนท์ลีย์” ชน “ปาเจโร่” เขาถูกชนท้าย ซึ่งขณะนั้นผู้ขับปาเจโร่บอกเลยว่าขับไม่เร็วมาก อยู่ในระดับ 80-90 ด้วยเหตุนี้ รถเขาถึงไม่ตกลงมาจากทางด่วน ประจวบกับมีรถขับตามหลังมาชน ทำให้รถเขาเหวี่ยงกลับเข้ามา
สมมติว่า ปาเจโร่ วิ่งมากกว่า 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง หากโดนชนจากด้านหลังลักษณะนี้ ก็มีโอกาสรถเหินข้ามแบริเออร์ตกทางด่วนได้...อย่างไรก็ตาม จะตกลงมาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับมุมที่ชนด้วย
แบริเออร์ กับปัญหา ป้องกันตกทางด่วน
สำหรับปัญหาด้าน แบริเออร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันอุบัติเหตุ ระบุว่า มี 2 จุดที่ต้องทบทวน คือ 1. ถ้ากฎหมายอนุญาตให้ขับเร็วได้มากขึ้น แบริเออร์ ก็ต้องอัปมากขึ้น เพราะของเดิมถูกออกแบบ มาที่ 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ถ้าขับเร็วมากกว่านั้น ก็มีโอกาสชนแล้วปีนตกทางด่วนได้
2. แบริเออร์ ในจุดอันตราย แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 ในจุดเข้าโค้ง หากเข้าโค้งด้วยความเร็วก็มีโอกาสชนแล้วรถปีนตกได้
แบบที่ 2 Gore Area (จุดทางแยกตัว Y) โดยรถที่จะเกิดอุบัติเหตุ คือ คนที่ขับแล้วไม่แน่ใจว่าจะไปเส้นทางไหน ฉะนั้น ในทางวิศวกรรม จึงมีการออกแบบในลักษณะ Crash Cussion เราเห็นเป็นสปริง เวลาชนก็จะดูดซับแรงกระแทก ฉะนั้น พอเกิดอุบัติเหตุจะไม่ค่อยเสียชีวิต และรถก็จะไม่ตกด้วย
...
ซึ่งเคสแบบนี้ เคยเกิดขึ้นหลายปีแล้ว จากนั้น ทาง กทม. จึงทำให้มีการทยอยติดในหลายจุดเสี่ยง
ไหล่ทางแคบ : ระวังการแซงไหล่ทาง หรือรถจอดเสีย
ประเด็นต่อมา ที่ นพ.ธนะพงศ์ กล่าวถึงคือเรื่อง “ไหล่ทาง” ด้านขวา ไม่มี ขณะที่ไหล่งทางด้านซ้าย ที่มีขนาดควางกว้างที่ 1.5- 2 เมตร เท่านั้น ซึ่งถือว่า “แคบ” ถ้าเห็นไหล่ทางบนทางหลวงทั่วไป จะกว้าง ระหว่าง 2 - 2.5 เมตร ฉะนั้น เขาจึงพยายามเตือนเรื่องการแซงไหล่ทาง ถ้าสมมติว่ามีรถจอดไหล่ทาง หรือรถเสีย มีคนออกมายืน ก็มีโอกาสที่จะถูกเฉี่ยวชนได้ ซึ่งก็มีเคสถูกชนและตกทางด่วนมาแล้ว
...
วิเคราะห์สาเหตุ รถชน ขับเร็ว เปลี่ยนช่องทางกะทันหัน
“ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับเคส เบนท์ลีย์ ชนปาเจโร่ นั้น ปัญหามาจากการขับขี่ด้วยความเร็ว และเปลี่ยนช่องจราจรกะทันหัน ซึ่งปกติแล้วรถที่วิ่งบนทางด่วน จะเลือกวิ่งที่เลนกลาง เพราะทางด่วนจะมีจุดลงอยู่ตลอดทาง ซึ่ง ปาเจโร่ ก็วิ่งแบบนั้น ถือว่าถูกแล้ว ฉะนั้น รถบางคันที่เลือกแซงซ้ายก็มีโอกาสที่จะมาเจอรถที่วิ่งอยู่ตรงกลาง ที่วิ่ง 80-90 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอชน แล้วรถกระเด็นไปขวา ก็ไม่มีไหล่ทางขวา เพื่อให้รถหักกลับเข้ามาเลย” ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวและว่า
สำหรับคนที่วิ่งขวา หากเราติดตามความเห็นในโลกโซเชียลมีเดีย เขาจะอธิบายว่า เขาก็ทำตามกฎหมาย เพราะกฎหมายให้วิ่งได้แค่ 90-100 กิโลเมตร ส่วนคนที่ไปต่อว่าเขาว่า ขับแช่ขวา ก็ขับมาด้วยความเร็ว ซึ่งความเป็นจริง ถ้าจะวิ่งแบบนั้น ก็แนะนำว่าให้อยู่เลนกลาง หรือซ้าย ซึ่งรถที่มาด้วยความเร็ว หากขวาวิ่งไม่ได้ เขาก็ต้องออกซ้าย
การออกซ้าย ตัดเข้ามาขวาเลย คือ ความเสี่ยงบนถนน เพราะต้องตัด 2 เลน ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับเลนขวา เมื่อเจอเหตุการณ์ตรงหน้าก็มีการเบรกชะลอ แต่ก็ไม่ทันก็ทำให้ชนกันอีก 1 คัน
...
ปัญหา “พฤติกรรมการขับ” ไม่เว้นระยะป้องกันอุบัติเหตุ
หมอจิ๋น กล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นและต้องติดตาม คือ นอกจากเรื่องความเร็ว และกายภาพของถนนแล้ว ยังต้องติดตามถึง “พฤติกรรมการขับ” คือ ขับไม่เว้นระยะ ซึ่งความจริงการขับต้องมีการเว้นระยะ 3 วินาที ซึ่งการนับวินาที แบ่งเป็น ดังนี้
1 วินาที : ใช้สำหรับสมองตัดสินใจส่งข้อมูลมาให้เท้าแตะเบรก (บางคนใช้เวลามากกว่านั้นเช่น 1.5 วินาที ซึ่งหากดื่มมาด้วย อาจจะใช้เวลาถึง 2 วินาที)
วินาทีที่ 2-3 : ใช้สำหรับ ระยะในการแตะเบรก และเบี่ยงหลบ
1 วินาที ในความเร็ว 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถจะเคลื่อนตัว 25 เมตร
1 วินาที ในความเร็ว 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง รถจะเคลื่อนตัว 33 เมตร
“บางคนพูดว่า การเว้นระยะ 3 วิฯ ห่างกันเป็นโยชน์ ซึ่งตรงนี้คือการพูดในเชิงเซฟตี้ แต่ในทางปฏิบัติ ก็จะอนุโลมที่ 1-2 วิฯ ฉะนั้น 2 วิฯ จะห่างถึง 50 เมตร แต่ระยะที่เผื่อไว้ ก็น่าจะที่ความห่าง 30-40 เมตร เป็นอย่างน้อย เผื่อคันหน้ามีเหตุฉุกเฉิน เช่น ยางระเบิด ของตก คันหลังที่ตามมาจะสามารถแตะเบรก หรือเบี่ยงหลบได้ทัน เพราะจะมีเวลาเผื่อให้ตัดสินใจ แต่ในความเป็นจริงบ้านเราจะมีพฤติกรรมจี้”
ผู้จัดการ ศวปถ. อธิบายว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะการเรียนรู้จากการขับบนพื้นราบ เพราะหากเว้นระยะมากไป ก็จะเจอคันอื่นเข้ามาแทรก ดังนั้น จะมีความรู้สึกว่าโดนคนอื่นเอาเปรียบ ฉะนั้น พฤติกรรมการขับ จึงต้องจี้คันหน้า เพื่อไม่ให้คันอื่นมาแทรก
ผู้เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุบนท้องถนน แนะนำว่า การขับรถบนทางด่วน จำเป็นต้องวางแผนให้ดี และสังเกตป้ายก่อนจะลงทางด่วน
ก่อนลงทางด่วน จะมีป้ายแจ้งเตือนล่วงหน้า 2 ป้าย ป้ายแรกจะห่างประมาณ 1.-5-2 กิโลเมตร และป้ายที่ 2 จะห่างทางลง 1 กิโลเมตร
สมมติว่าเป็นการลงที่พระราม 9 ป้ายแรก จะเขียนว่า ข้างหน้า คือ ทางแยกพระราม 9 ส่วนป้ายที่ 2 จะเขียนว่า ทางออกพระราม 9 อีก 1 กิโลเมตร
การที่เราเห็นป้ายแรก ก็ควรที่จะชะลอความเร็ว รถที่อยู่เลนขวา ก็ควรจะเข้าเลนกลางก่อน เพราะเหลืออีก 2 กิโลเมตร แต่เมื่อเจอป้ายที่ 2 ทางออก ก็ควรขับอยู่เลนกลาง หรือเปลี่ยนมาเลนซ้าย เพราะทางออกอยู่ซ้าย
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า ในความเป็นจริง เห็นป้ายแรก ก็จะยังอยู่เลนขวาอยู่ เพราะคิดว่าต้องมาต่อคิว ซึ่งปกติก็จะมีรถใหญ่วิ่งด้วย แต่การวิ่งเลนขวา แล้วมาตัดซ้ายสุด คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย เพราะเป็นวิ่งตัด 2 เลน มีโอกาสที่จะเกิดการเฉี่ยวชน
“เหตุการณ์ครั้งนี้ ถือว่ายังดีที่ไม่มีคนเสียชีวิต เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์เซฟตี้ ไม่ทราบว่าเด็กที่นั่งในรถมี “คาร์ซีต” หรือไม่ แต่เชื่อว่าน่าจะ “คาดเข็มขัดนิรภัย” พอเกิดเหตุ ร่างจึงไม่หลุดออกจากตัวรถ ทำให้รอดชีวิตมาได้ ฉะนั้น จึงอยากให้ทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัยไม่ว่าจะนั่งตอนหน้า หรือหลังรถก็ตาม” ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Anon Chantanant
อ่านบทความที่น่าสนใจ