การประกาศนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท/วัน ภายในอีก 5 ปี ข้างหน้า ของพรรคการเมือง สร้างเสียงฮือฮาให้กับแรงงานและผู้ประกอบการ ตลอดจนความเหมาะสม ที่อาจเป็นเหมือนงูกินหาง ที่ค่าครองชีพแรงงานเพิ่มขึ้นสูง จนกลับสู่วังวนเดิม
รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาท/วัน จริงจะทำให้แรงงานมีค่าใช้จ่ายที่เพียงพอต่อสถานการณ์ค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่การขึ้นค่าแรงไปอีกเท่าตัวจากเดิมอยู่ที่วันละ 300 บาท/วัน นายจ้างอาจประสบปัญหาเรื่องต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย ที่ส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานจำนวนมาก และเจอปัญหาในการปรับตัวท่ามกลางต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น
แต่ในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดใหญ่ บางส่วนจ่ายเงินเดือนให้กับแรงงานเกินอัตราขั้นต่ำที่ได้กำหนดไว้ คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า หรือลดต้นทุนด้วยการนำหุ่นยนต์มาแทนแรงงาน ขณะเดียวกันบริษัทบางแห่งอาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น ที่มีค่าแรงถูกกว่า
“ตอนนี้ค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ 350 บาท/วัน การจะขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาท/วัน ให้ได้ใน 5 ปี ต้องขึ้นค่าแรงให้ได้เฉลี่ยปีละ 50 บาท ถือว่ามีอัตราสูงแบบก้าวกระโดด แต่พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายขึ้นค่าแรง ให้ความเห็นว่ามีโอกาสเป็นไปได้ หากทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่อเนื่อง โดยต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโตปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะขณะนี้การทำให้เศรษฐกิจโตปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ มีความเป็นไปได้น้อย”
การทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ ต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตในระบบใหม่ ให้สินค้ามีมูลค่าที่สูงขึ้น รวมถึงเพิ่มมูลค่าเชิงวัฒนธรรม เพื่อสร้างสินค้ารูปแบบใหม่ ที่ส่งออกและนำเงินจากต่างประเทศเข้าไทยได้มากขึ้น
...
ที่ผ่านมามีการสำรวจค่าครองชีพของแรงงานที่เหมาะสม ควรอยู่ที่คนละ 600–700 บาท/วัน ถึงจะช่วยทำให้แรงงานสามารถใช้ชีวิตได้เหมาะสมกับค่าครองชีพ แต่สิ่งสำคัญในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย ต้องคำนึงว่านายจ้างสามารถจ่ายได้ตามที่กำหนดอย่างเหมาะสมกับต้นทุนหรือไม่
“การจะปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600–700 บาท/วัน ผู้ประกอบการไทยบางส่วนยังไม่มีความพร้อม ดังนั้นหน่วยงานรัฐควรเข้ามาช่วยเหลือในการสมทบเงิน เพื่อให้แรงงานได้ค่าแรงขั้นต่ำที่เหมาะสม หรือมีกระบวนการส่งเสริม และลดค่าครองชีพ เพื่อให้แรงงานทั้งในและนอกระบบสามารถอยู่ได้”
ในต่างประเทศมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ โดยแยกเป็นประเภทที่มีการกำหนดตามกฎหมาย กับค่าแรงอีกส่วนที่เพิ่มเข้ามาโดยหน่วยงานรัฐช่วยเหลือ แต่จะกำหนดว่า สมรสแล้วหรือมีบุตรกี่คนที่ต้องดูแล ซึ่งจะมีอัตรากำหนดไว้ เพื่อจ่ายให้กับแรงงาน
กับดักการขึ้นค่าแรงที่สูงในเวลาที่รวดเร็ว จะส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศแพงขึ้น เพราะนายจ้างต้องจ่ายค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีต้นทุนสูงในการผลิต บางประเทศดำเนินนโยบายทางการเมืองลักษณะนี้ จนทำให้ผู้ผลิตต้องปิดตัว และไปตั้งโรงงานแห่งใหม่ ในประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า ขณะที่บางประเทศนำเข้าสินค้าที่ผลิตจากประเทศอื่น ที่ราคาถูกกว่า แต่สุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อรายได้ของแรงงานในประเทศตามมาอีก
การแก้ปัญหาระยะยาว ไทยมีกลไกในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ที่ผ่านมามักถูกแทรกแซงด้วยการเมือง เลยทำให้ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน หรือนายจ้างอาจอิงค่าแรงขั้นต่ำตามทักษะแรงงาน เพื่อจูงใจให้แรงงานอยากพัฒนาฝีมือ และเกิดการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะนี้มีนโยบายประชานิยมในการหาเสียงออกมามากขึ้น เลยอยากให้แรงงานมองในความเป็นจริงทั้งสองด้าน เพราะถ้าหากมีการดำเนินนโยบายที่ไม่เหมาะสม อาจมีผลต่อแรงงานในระยะยาวได้.