เมื่อเร็วๆ นี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้ร่วมการไฟฟ้านครหลวง และอีกหลายหน่วยงาน ร่วมปฏิบัติการ “Electrical Shock” ปูพรมค้น 50 จุดในกรุงเทพฯ และ จ.นนทบุรี เพื่อจับกุม ผู้ลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าต่อเข้าเครื่องขุดเงินดิจิทัลโดยไม่ผ่านหม้อแปลง สร้างความเสียหายให้รัฐปีละกว่า 500 ล้านบาท พร้อมยึดเครื่องขุดกว่า 3,000 ชุด หลังลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย พบทั้งหมดเป็นเครือข่ายของคนไทย

จากประเด็นดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดต่อพูดคุยกับ นายพิพัฒน์ ชลอำไพ รองผู้ว่าการบริการระบบจำหน่าย การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เปิดเผยว่า การขโมยไฟขุดบิตคอยน์ มันเริ่มต้นมาประมาณ 3 ปีแล้ว

“ยุคแรก พบว่ามีการใช้ไฟปริมาณสูง บางรายเริ่มต้นด้วยการขโมยไฟ แต่บางรายเห็นว่าเสียค่าไฟจำนวนมากก็เริ่มลักไฟ จากนั้นเมื่อมีการตรวจสอบก็พบความผิด โดยเฉพาะรายใหญ่ๆ ลักไฟจำนวนมาก ต่อมา จึงเปลี่ยนวิธีการด้วยการกระจายพื้นที่ เป็นที่มาของการจับกุมครั้งใหญ่”

นายพิพัฒน์ อธิบายให้เห็นภาพว่า การกระจายดังกล่าว เหมือนเป็นการ “ลักไฟ” แบบ “กองทัพมด” แต่ละจุดใช้ไฟไม่มาก สมมติว่า แต่ก่อนใช้ไฟ 1,000-2,000 แอมป์ แต่ในปัจจุบัน ก็ลดการใช้ไฟเหลือ 100-200 แอมป์ นี่คือวิธีการหลบหลีกไม่ให้ตรวจพบ...

...

ขโมยไฟขุดบิตคอยน์ จับแล้ว 30 ราย สูญ 25 ล้านบาท

สำหรับตัวเลขการจับกุมของ MEA ในช่วงปีที่ผ่านมา มีการจับกุมไปแล้วกว่า 30 ราย (ไม่รวมปฏิบัติการ “Electrical Shock”) ความเสียหายเทียบกับรายได้ที่เก็บค่าไฟ เพียงแค่ 0.01% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 30 ล้านบาท

ส่วนการลักไฟไปใช้อื่นๆ รวมกัน คิดเป็นประมาณ 1,000 ราย ต่อปี ส่วนมากจะเป็นบ้านที่อยู่อาศัย และใช้ไปกับธุรกิจต่างๆ เช่น โรงน้ำแข็ง ส่วนหากเป็นรายใหญ่ๆ จะมีน้อย แต่มูลค่าความเสียหายจะมีมากกว่า

ขณะที่ ลักษณะการขโมยไฟ กลุ่มคนที่ขโมยไฟ จะเลือกใช้การต่อตรงกับสายไฟของการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งส่วนมากจะเป็น “ตึกแถว” เพราะมีการพาดสายไฟไปใต้กันสาด เพื่อเราจะไปติดมิเตอร์บริเวณนั้น

“ด้วยเหตุนี้ คนที่คิดจะขโมยไฟ เขาจะเลือกทำฝ้า หรือหาสิ่งของมาปิด บดบังสายตา จากนั้นก็ต่อสายไฟตรงเข้าอาคาร ซึ่งเราพบการกระทำผิดลักษณะแบบนี้ส่วนใหญ่”

รองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง ยังเผยอีกว่า ส่วนการตรวจพบ ก็มีหลายวิธี ตั้งแต่การเกิดอุบัติเหตุไฟฟ้าลัดวงจร เพราะมีการต่อสายไฟตรง แล้วอุปกรณ์ได้รับไฟฟ้าเกินขนาด จนทำให้อุปกรณ์เกิดอาการ “โอเวอร์โหลด” จนเกิดการตัดไฟ เมื่อไปตรวจก็พบว่ามีการลักลอบใช้ไฟฟ้า

“บางครั้งก็มีการแจ้งจากประชาชน โดยได้ยินเสียงตี๊ดๆ เหมือนเสียงเครื่องจักรทำงาน ซึ่งชาวบ้านเขาไม่รู้หรอก ว่ากำลังขุดบิตคอยน์กัน เขาก็โทร. มาแจ้งให้การไฟฟ้ามาตรวจ” รองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง กล่าวและว่า

บางกรณี เจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฯ ก็ลงพื้นที่ไปตรวจสอบตามปกติ หรือลงพื้นที่ตามมาตรการป้องกันการลักไฟตามจุดเสี่ยงต่างๆ ก็พบหลายเคส

มาตรการป้องกัน การขโมยไฟฟ้า

ทีมข่าวฯ ถามว่า การปล่อยไฟไปตามสาย หรือเสาไฟฟ้า เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าไฟฟ้าเราหายไประหว่างทาง นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตอนนี้เรามีเทคโนโลยีที่ตรวจสอบ “ไฟฟ้า” หายระหว่างทางได้แล้ว แต่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งมีหลายขั้นตอน ตั้งแต่ติดตั้งอุปกรณ์วัดไฟฟ้าที่หม้อแปลง และการใช้ “สมาร์ทมิเตอร์” ที่เป็นอุปกรณ์ IOT

ส่วนบทลงโทษ ก็จะมีการดำเนินการทั้งทางแพ่งและอาญา โดยหากพบการกระทำผิด ก็จะมีการส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการ ในส่วนทางแพ่งก็มีการฟ้องร้อง หรือเจรจาเรียกค่าเสียหายไปแล้ว มูลค่ากว่า 60 ล้านบาท จากฐานความผิดที่พบกว่า 30 ราย เนื่องจากมีรายเล็กรายใหญ่

พิพัฒน์ ชลอำไพ รองผู้ว่าการบริการระบบจำหน่าย การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA
พิพัฒน์ ชลอำไพ รองผู้ว่าการบริการระบบจำหน่าย การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA

...

แนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต

1. การบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การจับมือกับ DSI ในทางหาข่าวและดำเนินการ
2. ส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจุดเสี่ยงต่างๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการป้องปราม
3. ใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับ โดยจะสุ่มลงตรวจจับในพื้นที่เสี่ยงก่อนจะมีการขยายให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
4. ขอความร่วมมือเอกชน โดยเฉพาะผู้ที่ให้เช่าบ้านและอาคาร หมั่นตรวจสอบการกระทำผิดของผู้เช่า


“ในส่วนคนที่รับจ้างกระทำผิด ตอนนี้เรามีการตรวจสอบขยายผลแล้ว โดยเฉพาะครั้งล่าสุด ที่ร่วมกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยมีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า ผู้ที่มาทำการติดนั้น อาจจะเป็นเครือข่ายเดียวกัน หรือไม่...หลักฐานที่มีอยู่ ทั้งอุปกรณ์ที่เอามาใช้ลักไฟ เราจะมีการตรวจสอบที่มาที่ไป โดยอาจจะโยงไปถึงผู้รับจ้าง หากเป็นเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าฯ เอง ก็จะมีบทลงโทษทั้งวินัยและอาญา คือ ไล่ออก และดำเนินคดีตามกฎหมาย” นายพิพัฒน์ กล่าว

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ