การตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการรมควันในรถยนต์ ของ "วิศวกรหนุ่มวัย 27 ปี" วิศกรเทศบาลตำบลแห่งหนึ่ง ใน อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู นับเป็นเหตุการณ์ล่าสุด ที่ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ถูกกดดัน ให้เข้าไปอยู่ในวังวนของการทุจริตคอร์รัปชัน จากจดหมายที่ทิ้งไว้ก่อนเสียชีวิต ระบุถึงปัญหาการทุจริต ที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างของเทศบาล แม้ผู้เสียชีวิตจะตัดสินใจ ยื่นใบลาออกหลังบรรจุรับราชการได้เพียง 6 เดือน แต่แรงกดดันจากการที่ต้องจำใจทำในสิ่งที่รู้ว่าผิด เพราะรับไม่ได้กับวงจรของการทุจริต จึงตัดสินใจลาจากโลกนี้ไปก่อนที่ใบลาออกจะมีผล
“การตัดสินใจของข้าราชการน้ำดี ไม่ควรลงเอยด้วยการจบชีวิต ให้กับโครงการทุจริต ชีวิตต้องไม่เสียเปล่า”
เป็นคำพูดที่ “คุณพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส” อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งทำหน้าที่เดินสายตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันมาอย่างต่อเนื่อง ให้มุมมองต่อเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ กับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”
...
"คุณพิศิษฐ์" เทียบเคียงการจบชีวิตของวิศวกรหนุ่มรายนี้ กับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน 2533 ที่ "สืบ นาคะเสถียร" หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองกลางป่า และทิ้งจดหมายสั่งลา เพื่อต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับผืนป่า ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์และการเข้ามาหาประโยชน์ของผู้มีอิทธิพล เป็นการปลุกให้คนไทยและหน่วยงานรัฐ หันมาให้ความสำคัญ แก้ไขปัญหาการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างจริงจัง ไม่ต่างจากกรณีของวิศวกรหนุ่ม ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสอบสวน โครงการก่อสร้างของเทศบาล มีความไม่ชอบมาพากลหรือไม่
ทุจริตจนเป็นวัฒนธรรม
"คุณพิศิษฐ์" เริ่มด้วยการฉายภาพให้เห็นถึงความกดดันของข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่ต้องอยู่ในองค์กรที่มีการทุจริตเป็นขบวนการ เนื่องจากสภาพสังคมข้าราชการท้องถิ่น อยู่ในสภาพที่ถูกกดดัน หากไม่สามารถที่จะตอบสนองนโยบายทุจริตของกลุ่มคนเหล่านั้นได้ ก็จะทำให้อยู่กับพวกนั้นไม่ได้ จะถูกกดดันหรือถูกดองไว้ แม้กระทั่งจะลาออก ก็ไม่สามารถที่จะลาออกได้ทันที เพราะติดขัดเรื่องข้อระเบียบราชการ ต้องจำใจทนทำงานให้คนเหล่านี้อีก ก็เข้าสู่วังวนการกระทำผิดซ้ำๆ
ปัญหาแบบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนของหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะต้องมีการสะท้อนให้เข้าไปติดตามตรวจสอบว่า กระบวนการในการตรวจรับงานโครงการรัฐ การจ้างผู้รับเหมาจะโดยการแข่งขันราคา หรือจะฮั้วกันก็แล้วแต่ แต่เมื่อทำงานแล้วเนื้องานต้องครบถ้วน ถูกต้องตามมูลค่างาน ที่ทางราชการได้จ่ายไป
"ต้องทำให้สังคมตระหนักเลยว่า ระบบที่กินกันทุกขั้นตอน ไม่ควรจะเกิดขึ้น ซึ่งต้องถามกลับไปว่าคนที่ทุจริตคอร์รัปชันไม่เกิดความละอายใจ ในการตั้งงบประมาณและมีการใช้จ่ายกัน แต่สิ่งที่ได้คือ ความชำรุดเสียหาย"
ยกเครื่องระบบ แก้ทุจริตในภาครัฐ
เรื่องทุจริตในภาครัฐไม่สามารถแก้ไขได้ง่าย ต้องมีการยกเครื่องทั้งระบบ หน่วยงานทั้งภาครัฐและประชาชน ต้องเข้ามาเสนอแนะแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ เพื่อจะขจัดปัญหาคอร์รัปชันให้สิ้นไป นี่จะเป็นหลักประกันว่า โครงการที่รัฐจ่ายเงินไป จะได้เนื้องานคุณภาพ จากการใช้จ่ายเงินของรัฐสมกับงบประมาณที่ได้ใช้จ่ายไป ไม่ใช่เป็นโครงการที่สร้างขึ้นมาอยู่ในประกันก็ซ่อมกันไป เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ
...
สิ่งสำคัญคือ หัวเรืออย่าง กระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแลและควบคุม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยังไม่พูดถึงแนวทางที่จะแก้ไขเรื่องนี้ ไม่ควรจะปล่อยให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยตายฟรี ต้องเป็นอุทาหรณ์ในการนำไปสู่การแก้เชิงระบบ ซึ่งหากจะวางมาตรการป้องกันก็สามารถทำได้ เช่น กรณีของวิศวกรวัย 27 ปี มีปัญหาเรื่องการไปเรียกเก็บเงินทดสอบวัสดุจากผู้รับเหมา ถ้ามีการจ่ายเงินและทดสอบแบบสมยอมหรือช่วยๆ กัน มาแบบไหนก็ผ่าน ก็ต้องมีการเอาผิด หรือกรรมการที่มีการตรวจรับงาน ถ้ามีการชำรุดเสียหายภายหลังจากการที่มีการตรวจรับงานผ่านไป แต่ยังไม่พ้นประกันก็เสียหาย ต้องมีมาตรการในการสอบสวนเพื่อเอาผิดด้วย
"เมื่อเกิดเรื่องทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น ต้องมีมาตรการในการไปเอาผิดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะเป็นเครื่องป้องกันข้าราชการที่ทำถูกต้อง"
ใช้กลไกองค์กรนอกตรวจสอบทุจริตภาครัฐ
องค์กรและเครือข่ายในการต่อต้านทุจริตในบ้านเรา มีอยู่จำนวนมาก ทั้งองค์กรภาคเอกชน หรือหน่วยงานตรวจสอบอิสระ ถ้าเรารู้จักใช้ องค์กรเหล่านี้ในการเป็นกลไกตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชัน เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานก็อาจจะไม่ต้องไปปะทะด้วยตัวเอง อย่างน้อยๆ หากองค์กรเหล่านี้รับทราบข้อมูลการทุจริต ก็จะมีการลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบ ทำให้คนที่คิดจะทุจริตคอร์รัปชัน ไม่กล้า และต้องทำงานอย่างตรงไปตรงมา แต่หากข้อมูลไม่ได้ถูกเปิดเผยออกมาตั้งแต่แรก ทำให้คนที่ปฏิบัติงานในองค์กรที่มีการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ลำบาก
...
ทุจริตคอร์รัปชันภาครัฐ ปัญหาที่ถูกซุกไว้ใต้พรม
ประชาชนเจ้าของพื้นที่ต้องตื่นรู้ โดยเฉพาะการเลือกคนเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารบ้านเมือง ถ้าเข้ามาด้วยการจ่ายซื้อเสียง หรือให้ผลประโยชน์ ก็ต้องทบทวนว่า การที่เขาจะเข้ามารับตำแหน่งต้องใช้เงินเท่าไร เมื่อเข้ามาสู่ตำแหน่งก็ต้องมารีดไถ ถอนทุนคืน และมาบีบเจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานก็อยู่ไม่ได้ สุดท้ายต้องคล้อยตามกันไป
หากคอร์รัปชันทุจริตในภาครัฐไม่ถูกแก้ไข อาจมีข้าราชการน้ำดีต้องจบชีวิตอีกหรือไม่ ก็คล้อยตามไปอย่างนี้ อย่าให้ต้องเกิดเรื่องแบบนี้ซ้ำๆ ซากๆ เพราะถ้าปัญหาทุจริตไม่ถูกเปิดเผยขึ้นมา ข้าราชการน้ำดีก็จะถูกดูดเข้าไปในวงจรของการทุจริตคอร์รัปชัน
"คนดีๆ ที่เข้าสู่ระบบราชการ เริ่มจากผ้าขาวก็อาจจะกลายเป็นผ้าสีเทา แล้วต่อไปก็กลายเป็นสีดำ เข้าไปอยู่ในสังคมการทุจริต เป็นวงจรอุบาทว์อย่างนี้ไปเรื่อยๆ"
สิ่งที่ภาครัฐจ่ายงบประมาณลงทุนไป ก็จะไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน ถ้าเปรียบเหมือนน้ำแข็งก้อนหนึ่ง กว่าจะไปถึงคนที่อยู่ปลายทางก็ละลายไปไม่รู้เท่าไร การที่มีการไปขอเปอร์เซ็นต์จากผู้รับเหมา ก็คงไม่มีผู้รับเหมาคนไหนที่เปิดบริษัทมารับงานแล้วจ่ายเปอร์เซ็นต์เป็นการกุศลหรือทำมาหากินกับราชการ ไม่หวังกำไร ท้ายที่สุดกำไรที่ควรจะได้รับ ก็ต้องไปเบียดบังเอาจากเนื้องาน และหากการตรวจสอบไปไม่ถึง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ งบประมาณสูญเปล่า
...
ความเสียหายไม่ใช่เฉพาะเงินภาษีของประชาชน เพราะถ้าโครงการที่ทุจริต เป็นการลงทุนสาธารณูปโภค เช่นการสร้างถนน เมื่อเริ่มต้นด้วยการทุจริต ถนนไม่ได้มาตรฐานเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้ประชาชนเกิดอุบัติเหตุ ใครไม่รู้ก็จะโทษว่าเป็นเคราะห์กรรมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ "แต่ที่สุดแล้วเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น ก็มาจากการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ต่างจากการโยนบาปเคราะห์ให้กับประชาชน ต้องไปเสี่ยงภัยจากน้ำมือของการทุจริต".
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง