การประกาศให้ “กัญชา” เป็นพืชสมุนไพรควบคุม ตามประกาศฉบับล่าสุด ของกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 11 พ.ย. 2565 เพื่อควบคุมการใช้ช่อดอกกัญชาผิดวัตถุประสงค์ แม้ในประกาศ จะไม่ได้เขียนระบุชัดเจน ถึงการห้ามใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ แต่การระบุว่า ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานประกอบการ เว้นแต่การจำหน่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ก็ทำให้บรรดาผู้ประกอบการร้านคาเฟ่กัญชา ที่เปิดให้ลูกค้าสูบกัญชาในร้านเพื่อสันทนาการ หลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด ประเภทที่ 5 ตั้งแต่ 9 มิ.ย. 2565 ต้องพากันหาช่องตีความข้อกฎหมาย หาวิธีเลี่ยงกฎหมายให้ได้เปิดสูบกัญชากันเหมือนเดิม เพราะหลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ได้ไม่นาน กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และตำรวจ ก็ลงพื้นที่ย่านท่องเที่ยวที่มีการเปิดขายกัญชาเพื่อสันทนาการทันที
“ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” คุยกับ "นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์" กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาออกมาเรียกร้องให้กัญชากลับไปอยู่สถานะเหมือนก่อนที่จะมีการปลดล็อก เพราะมาจนถึงวันนี้ ก็ยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมที่มีความเข้มข้นพอ
...
"นพ.สมิทธิ์" แสดงความเป็นห่วงว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ประกาศออกมาล่าสุด ซึ่งมีการเน้นคุมส่วนช่อดอกกัญชา อาจจะไม่เป็นประโยชน์ ประเด็นสำคัญคือ เมื่อมีประกาศออกมา มีการบังคับใช้หรือไม่? หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้บังคับใช้ประกาศนี้อย่างจริงจัง เพราะตัวประกาศเอง
แม้จะมีข้อกำหนดที่มุ่งออกมาควบคุมการใช้ประโยชน์ แต่ความเข้มข้นก็ยังไม่มากพอที่จะคุมกัญชา เหมือนกับการมีกฎหมายที่เป็น พ.ร.บ. ซึ่งจะมีรายละเอียดที่มากกว่า
จะเห็นว่า หลังจากประกาศบังคับใช้ ยังพบการเปิดขายกัญชาเพื่อสันทนาการในแหล่งท่องเที่ยวอย่างเช่น พัทยาและถนนข้าวสาร หากว่าผู้ที่บังคับใช้กฎหมายมีความจริงจัง ตามประกาศที่ได้ประกาศออกมา ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรับผิดชอบ ที่เป็นเจ้าพนักงานตามประกาศ จะต้องแจ้งตำรวจดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมถึงสาธารณสุขจังหวัด และ เจ้าพนักงานตามประกาศ
"โดยเฉพาะกับแพทย์แผนไทยไปประจำที่ร้านถือว่ามีความผิด เพราะว่าไม่ใช่สถานที่ในการประกอบเวชกรรม ขณะที่สถานประกอบการที่ไม่ใช่สถานพยาบาลแล้วไปอ้างว่า สามารถประกอบวิชาชีพได้ก็ถือว่าผิดอีก"
แม้ว่าประกาศจะดูเหมือนเข้าไปควบคุมการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ แต่ในความเป็นจริงแล้วก็อาจจะไม่สามารถควบคุมได้! เพราะว่าถึงแม้มีการควบคุมไม่ให้สูบในสถานประกอบการแต่ก็ยังมีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ อย่างเช่น การนำไปสูบที่บ้าน หรือบางร้านก็ใช้วิธีการจำหน่ายช่อดอกกัญชาและให้ผู้ที่ซื้อไปสูบอีกที่ ซึ่งมีการจัดเตรียมไว้ และไม่ใช่สถานที่จำหน่าย
หากจะต้องการควบคุมการใช้กัญชา ไม่ให้ใช้เพื่อสันทนาการก็ไม่ควรมีการออกใบอนุญาตให้ตั้งแต่แรก แต่กลับเห็นร้านที่เปิดในลักษณะของการขายกัญชาเพื่อสันทนาการมีให้เห็นอยู่ "ซึ่งหากจะต้องการควบคุมกัญชาเพื่อสันทนาการจริงๆ ก็สามารถระบุชัดไปในประกาศได้เลยว่าห้ามใช้เพื่อการสันทนาการ"
ปลดล็อกกัญชาผิดขั้นตอน ต้นตอปัญหาผุด
หากมองย้อนกลับไปเรื่องของขั้นตอนการปลดล็อกกัญชาในประเทศไทย ถือว่าผิดขั้นตอนจากต่างประเทศ เพราะในต่างประเทศจะต้องมีกฎหมายในการควบคุมก่อนถึงมีการปลดล็อก แต่ของบ้านเราการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดเมื่อ 9 มิถุนายน 2565 โดยไม่มีการควบคุม ทำให้ผิดหลักการ เมื่อมีการผลักดันกัญชามาจนถึงทุกวันนี้ เหมือนเป็นการล้อมคอก เพราะเมื่อมีการปลดล็อกออกจากยาเสพติด แล้วนำเอาประกาศ เช่น การประกาศให้เป็นสมุนไพรควบคุม ซึ่งเทียบเคียงได้ยากกับ การมี พ.ร.บ. เพราะมีความเฉพาะในการควบคุมมากกว่า ทำให้ไม่สามารถควบคุมกัญชาได้อย่างเต็มที่
ต้องถามกลับไปว่าขณะนี้เราต้องการให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการหรือไม่? หากรัฐต้องการส่งเสริมเรื่องของอุตสาหกรรมและการแพทย์ก็ไม่ควรจะมีอะไรแบบนี้ ไม่งั้นก็จะต้องวนกลับไปให้ใช้ได้เฉพาะทางการแพทย์เหมือนเมื่อปี 2563 ส่วนคนที่ปลูกกัญชามาแล้วก็ให้มีการนิรโทษกรรม และห้ามปลูกเพิ่ม รอจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ที่ชัดเจน
...
"ส่วนตัวพูดมาเสมอว่า ไม่เคยไม่สนับสนุน เรื่องกัญชาเพื่อสันทนาการ คิดว่าใช้เพื่อสันทนาการได้แต่ต้องมีการควบคุม และการควบคุม ต้องทำให้ได้อย่างน้อยที่สุด ต้องเทียบเท่ากับกฎหมายของต่างประเทศ"
หากดูแล้ว จะพบว่ากฎหมายในการควบคุมกัญชาบ้านเรายังต่ำกว่าในต่างประเทศ ที่มีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ อย่างเช่น แคนาดาหรือบางรัฐของอเมริกา ที่ระบุถึงขั้นที่ว่า จะพกติดตัวต้องไม่เกินกี่กรัม และการห้ามพกกัญชาไปในที่สาธารณะ และเห็นด้วยที่ต้องแยกกฎหมายกัญชาทางการแพทย์ ออกจากกฎหมายกัญชาเพื่อสันทนาการ ซึ่งในหลายๆ ประเทศ ก่อนที่จะมีการอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการได้ ต้องผ่านการจัดให้ลงประชามติ แต่บ้านเรายังไม่มีตรงนี้
ลุ้นสภาคลอด พ.ร.บ.กัญชา ทันสมัยนี้หรือไม่?
"นพ.สมิทธิ์" มองว่า พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ไม่น่าทันในสภาสมัยนี้ เพราะยังมีอีกหลายขั้นตอนในสภา ซึ่งอาจจะต้องรอหลังการเลือกตั้ง มีความยากที่จะทำให้ทัน ขณะที่ในอนาคตก็ยังไม่รู้ว่า ก่อนที่จะมีร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง บังคับใช้จะมีประกาศหรือกฎหมายอื่นๆ อะไรเพิ่มเติมที่จะออกมาควบคุมกัญชา
...
ในตอนท้าย "นพ.สมิทธิ์" ย้ำจุดยืนว่า หากจะควบคุมกัญชาในช่วงที่รอร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง ควรจะต้องมีการนำกัญชากลับไปอยู่ในสถานะก่อนวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นั่นก็คือเป็น "ยาเสพติด" ต้องกลับไปควบคุมก่อนแล้วก็รอจนกว่าจะมีกฎหมายเฉพาะ ไม่เช่นนั้นแล้วอาจจะต้องห้ามการใช้ประโยชน์จากกัญชาในทุกส่วน หรือไม่ออกใบอนุญาตให้เลย
และสิ่งสำคัญ หากภาครัฐจะส่งเสริมกัญชา ต้องแฟร์ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาทั้ง 2 ด้าน ทั้งข้อดีและผลกระทบ แม้ในระยะสั้นจะยังไม่เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมชัดเจน แต่มีข้อมูลการวิจัยที่พบว่า เมื่อมีการปลดล็อกกัญชา จะมีคนที่ใช้กัญชามากขึ้น และจะมีคนที่ได้รับผลกระทบจากกัญชามากขึ้น รวมถึงเด็กก็จะสามารถเข้าถึงกัญชาได้ง่ายขึ้นและมีผลกระทบต่อสมอง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
...