การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปก 2022 (APEC 2022 Thailand) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้ มีหลายประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาหารือ โดยเฉพาะการที่ไทยเราผลักดันเรื่องของ "BCG โมเดล" หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ให้เป็นแนวทางของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ประเด็นนี้ดูมีความชัดเจนและคืบหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากเวทีเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปกได้มีฉันทามติบรรลุการยกร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ "BCG" ซึ่งจะเสนอในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกต่อไป

ก่อนที่ การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก จะเปิดฉากขึ้น "ดร.ธนิต โสรัตน์" รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ “ECONTHAI” ให้มุมมองในฐานะภาคเอกชนที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ไว้อย่างน่าสนใจ

ดร.ธนิต โสรัตน์  รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย  หรือ  “ECONTHAI”
ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ “ECONTHAI”

...

"อย่าปล่อยให้การประชุมครั้งนี้หายไปกับแสงเดือนหรือสายลม หรือเก็บไว้เพียงรูปให้เป็นเกียรติประวัติ ว่าครั้งหนึ่งเคยประชุมเอเปก ก็คงไม่ได้ประโยชน์" 

เป็นประโยคที่ ดร.ธนิต กล่าวย้ำกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" เพื่อบอกให้รู้ว่า การประชุมเอเปกในประเทศไทยครั้งนี้มีความสำคัญ ถือว่าเป็นการประชุมระดับภูมิภาคที่สำคัญเวทีหนึ่งของโลก ซึ่งนับเป็นการประชุมแบบพหุภาคีจากหลายภาคส่วนที่มาเข้าร่วมกัน การประชุมขนาดใหญ่ในลักษณะแบบนี้ ประเด็นของการหารือจะมุ่งไปที่เรื่องของโปรโตคอล หรือ ในเชิงข้อตกลง ตามระเบียบแบบแผน เน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า การเชื่อมต่อระหว่างกัน ซึ่งประเทศไทยผลักดันในเรื่องของ BCG Model ทั้งเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว

หากมองจากมุมมองคนทั่วไป เรื่องที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจคุยกัน รวมถึงการประชุมในระดับผู้นำการค้า หรือ APEC CEO Summit ซึ่งก็จะเป็นเวทีที่เจ้าสัวธุรกิจขนาดใหญ่ได้มีโอกาสเข้าไปแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้นำเขตเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ก็อาจเป็นเรื่องไกลตัว ยากที่ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs ของบ้านเราจะเข้าใจ

ประเด็นคำถามมีอยู่ว่า แล้วผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยจะได้อะไร? ถ้ามองเรื่องของภาพลักษณ์ประเทศ การมีผู้คนเดินทางเข้ามาประเทศไทย สิ่งที่ได้แบบเต็มๆ ก็คือการฉายภาพประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในเวทีโลก เพราะทั้งก่อนและหลังการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ก็มีเวทีย่อยเกิดขึ้นมากมาย ภาพของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพก็จะถูกฉายสู่สายตาชาวโลก เป็นการโฆษณาภาพลักษณ์ของประเทศ

"สิ่งที่ได้รับโดยตรงสำหรับรายย่อย ก็คงไม่พ้นเรื่องการท่องเที่ยว" เพราะผู้นำเขตเศรษฐกิจประเทศขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ค้าสำคัญของไทย ต่างเดินทางมาร่วมการประชุม ก็จะทำให้ผู้คนในประเทศนั้นๆ เห็นถึงภาพลักษณ์ของไทย และดึงนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวในประเทศ เป็นการกระตุ้นให้คนอยากเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย นี่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะได้โดยตรง

เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามา เป้าหมายนักท่องเที่ยว 20 ล้าน ก็อาจจะไม่เกินเอื้อม ซึ่งแน่นอนเม็ดเงินจำนวนนี้ก็จะลงไปสู่ธุรกิจรากหญ้าที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ประตูสนามบิน ไกด์ แท็กซี่ โรงแรม ธุรกิจนวดสปา ร้านอาหาร แม่ค้าพ่อค้าในแหล่งท่องเที่ยว ในส่วนนี้เห็นด้วยว่าผู้ประกอบการรายย่อยได้รับอานิสงส์โดยตรง 

"แต่สิ่งที่ภาครัฐต้องมองไปไกลกว่านั้น คือ หลังจากการรับรู้ถึงภาพลักษณ์ของไทย จะทำงานเชิงรุกอย่างไร หลังจากการประชุมเอเปกปิดฉากลง เพื่อเข้าไปดึงดูดเม็ดเงินกลับมา"

...

ผลจากการประชุมเอเปกจะมีข้อตกลงเกิดขึ้นมากมายจากการหารือของผู้นำเขตเศรษฐกิจและระดับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหลายเวที เช่น การค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ซึ่ง เป็นข้อดี โดยเฉพาะการเข้าไปมี FTA ที่มีสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าผลักดัน FTA สำเร็จ ก็จะทำให้การลงทุนเข้ามาในไทย เกิดเส้นทางการมาลงทุนในไทยมายมาย ส่งสินค้าไปที่สหรัฐอเมริกาก็จะได้รับเงื่อนไขที่ผ่อนปรน แต่เมื่อกรอบการหารือเป็นภาพของนโยบายระยะยาว ในระยะ 5 ปี ไม่รู้จะได้ข้อยุติหรือไม่ ซึ่งก็อาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่จะทำให้เห็นผลโดยตรงในระยะอันใกล้

เครื่องกำลังร้อน! ต้องหาเจ้าภาพต่อยอด

ขณะที่บางกรอบข้อตกลงที่มีการหารือในเวทีเอเปก “ไทยเราจะต้องมีการหาเจ้าภาพ ในการต่อยอด” ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ใช่เป็นการประชุมที่ก็มีการถ่ายรูปร่วมกันและจบไป ต้องให้หน่วยงานรัฐเข้ามาเป็นเจ้าภาพรับไม่ต่อในการนำเอากรอบความร่วมมือไปจับคู่ธุรกิจให้ได้ เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีศักยภาพอยู่แล้ว และไม่ควรปล่อยระยะเวลาทิ้งไปนาน หลังจากการจบการประชุมเอเปกก็ควรสานต่อทันที ไม่งั้นอาจจะมีช่องว่าง เพราะยิ่งไทยกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งในอีกไม่ช้า อาจจะทำให้การต่อยอดในการผลักดันต่อความร่วมมือขาดช่วงไป

สิ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่ลืมนำภาคเอกชนเข้าไปเป็นส่วนร่วม โดยเฉพาะ SMEs เพราะจะเป็นคนที่ได้รับประโยชน์ ไม่ใช่นำเฉพาะธุรกิจรายใหญ่เข้าไปมีส่วนร่วม เพราะที่ผ่านมามักจะมีเฉพาะเอกชนรายใหญ่ที่เข้าไปหารือกับผู้นำต่างประเทศ

"สภาอุตสาหกรรม หรือเอกชนรายใหญ่ๆ มีความพร้อมอยู่แล้ว แต่จะต้องเอาเครือข่ายเอกชนรายย่อยเข้าไปเสริม"

...

จัดทัพ รุก บุก จับคู่ค้าหลังจบเอเปก

หากเป็นไปได้รัฐบาลจะต้องตั้งงบประมาณขึ้นมาก้อนหนึ่งทันทีหลังจากการประชุมเอเปกจบลง เพื่อพาผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยเข้าไปเจรจาทางการค้ากับประเทศที่ได้มีการหารือความร่วมมือเอาไว้จากเวทีเอเปก และต้องวางแผนกลยุทธ์ในการจะบุก จะรุก อย่างไร ซึ่งส่วนนี้สามารถทำคู่ขนานกันไปทันทีก็ได้ ไม่งั้นจะไม่ได้ประโยชน์อะไร ต้องถึงขั้นที่วางแผนต่อว่าหลังการประชุมเอเปกจะพาเอกชนของไทย โดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs ไปจับคู่การค้าตามกรอบที่มีการหารือกันไว้ได้อย่างไร นำธุรกิจตัวจริงของประเทศนั้นๆ มาเจอกับธุรกิจของเรา

นอกจากนี้ยังต้องติดตามกันทุกหัวข้อในการประชุมเลยว่า มีหัวข้อไหนในการหารือที่ได้ดำเนินการต่อยอดหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้นำแต่ละประเทศก็มีเวทีสำคัญๆ อีกหลายเวทีที่เขาเองก็ไป ยกตัวอย่างเช่น เวที G20 ก่อนหน้าการประชุมเอเปก เราก็ต้องทำงานแบบเชิงรุก

โอกาสการเชื่อมโยงธุรกิจกับรายย่อยหลังประชุมเอเปก มีโอกาสหลายช่วง ตั้งแต่เวทีระดับรัฐมนตรี เวทีระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส สิ่งที่ควรทำคือ ต้องนั่งคุยเป็นรายประเทศและที่สำคัญต้องทำแผนว่าจะต่อยอดอย่างไรให้ตกผลึก จะรุกเข้าไปอย่างไร เพื่อต่อยอดเวทีระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจไปสู่เวทีระหว่างเอกชนและเอกชน ตามกรอบที่ได้มีการคุยไว้ในเวทีเอเปก

...

จบเอเปกต้องวัดผลได้ 

"เมื่อการประชุมเอเปกเป็นเรื่องระดับนโยบายและข้อตกลงภาพใหญ่ ทำให้บางทีไม่ได้มองถึงธุรกิจขนาดเล็ก" แม้จะมีการหารือเรื่อง เขตการค้าเสรี ในความเป็นจริง แต่ละประเทศก็ยังคงถือมีดอยู่ข้างหลัง จะมีเรื่องของมาตรการกีดกันทางการค้าที่แอบแฝงอยู่เบื้องหลังตลอด

ดังนั้นการวัดผลในการประชุมเอเปกไม่ใช่แค่การที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจมาเยือน และบอกว่า เราต้อนรับเขาดีหรือไม่ อาหารที่นำมาจัดเลี้ยงอร่อยหรือไม่ ไม่เกิดเหตุการประท้วงรุนแรง ซึ่งจะวัดผลแบบนี้ก็อาจไม่ได้อะไร

ประเด็นสำคัญคือ "เราได้คุยกับใคร? ได้ข้อตกลงอะไร? และมีช่องทางหรือไม่? ที่จะทำให้ธุรกิจเดินไปได้ และต้องวัดกันที่มูลค่า ไม่ได้วัดกันที่จิตวิญญาณ" เพราะธุรกิจหากจะวัดผล ต้องวัดกันที่มูลค่าเป็นตัวเงิน อะไรที่เป็นกรอบนโยบายเก็บไว้ก่อน

ไม่ควรใช้โอกาสเปลือง!

ไทยไม่ควรใช้โอกาสครั้งนี้อย่างสิ้นเปลือง เพราะมีการใช้เงินในการเตรียมการไปจำนวนมาก จะต้องวัดผลกลับมาเป็นตัวเงินให้ได้ แต่ถ้าไม่มีเอกชนไปร่วม การจะวัดเม็ดเงินก็คงไม่เกิด ต้องทำให้กรอบความร่วมมือในเวทีการประชุมเอเปก นำไปสู่การเจรจาระหว่าง "เอกชนกับเอกชน" ซึ่งเป็นผู้ค้ากันให้ได้   

ดร.ธนิต ทิ้งท้ายด้วยว่า หากมองผิวเผิน การประชุม "เอเปก" ครั้งนี้ เอกชนรายย่อยก็อาจไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่หากหน่วยงานรัฐทำให้การประชุมครั้งนี้ต่อยอดได้จนกลายไปสู่การจับคู่การค้าได้สำเร็จ ก็จะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยได้อานิสงส์ไปด้วย.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง