จากคดีทำร้ายร่างกาย กลายเป็นคดีอื้อฉาวในวงการตำรวจ เมื่อ ตำรวจระดับบิ๊กของจังหวัด ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการ “เปลี่ยนตัวผู้ต้องหา” ในคดี แก๊งทวงหนี้ 6 คน บุกทำร้ายคนในพูลวิลล่า หาดจอมเทียน เมืองพัทยา ซึ่งต่อมา พบว่าสับเปลี่ยนชาย 2 คน อ้างตัวเป็นคนกระทำผิด จนมีการขยายผล พบหลักฐานเชื่อมโยงกับ พ.ต.อ.กรวัฒน์ หันประดิษฐ์ รอง ผบก.ภ.จ.ชลบุรี กล่าวหาว่า รับเงินสินบนมากกว่า 1 ล้านบาท เพื่อให้การช่วยเหลือ ซึ่งต่อมามีการแจ้ง 3 ข้อหาฉกรรจ์ พร้อมตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง

อย่างไรก็ดี เรื่องไม่ได้จบที่ พ.ต.อ.กรวัฒน์ เพราะมีรายงานเชื่อมโยงไปถึง นายตำรวจระดับสูงยศ พล.ต.ต.

กระทั่ง ล่าสุด ได้มีคำสั่งย้าย พล.ต.ต.กิตติ์ธเนศ ธนนันท์ทวีสิน ผบก.ภ.จ.ชลบุรีให้ไปปฏิบัติราชการที่ ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากตำแหน่งเดิม สืบเนื่องจาก มีเหตุเป็นที่สงสัยว่าประพฤติบกพร่องต่อหน้าที่และกระทำความผิดทางวินัยหรืออาญา หากปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานเดิม อาจเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน และในวันนี้ (15 พ.ย.) พล.ต.ต.กิตติ์ธเนศ ได้เดินทางมารับทราบข้อหา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยไม่ให้การใดๆ ซึ่งพนักงานสอบสวน จะเร่งรวบรวมพยานหลักฐานสรุปสำนวนส่ง ป.ป.ช.ภายใน 30 วัน

...

จากประเด็นดังกล่าว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ พล.ต.ท.เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด (ผบช.ปส.) ตำรวจมือปราบในยุคสงครามยาเสพติด ซึ่งกล่าวในประเด็น การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา และกับปัญหาตำรวจกังฉินว่า ปัญหาแบบนี้ ในสมัยก่อนอาจจะมีบ้าง โดยเฉพาะคดีการพนัน ที่คนใหญ่คนโต ข้าราชการถูกจับ แล้วเปลี่ยนคนมารับผิด ซึ่งโทษพวกนี้แค่ปรับ และอาจจะมีการเปลี่ยนตัวให้คนอื่นไปแทนบ้าง...

แต่ถ้าเป็นคดีใหญ่ๆ คดีอาญา เช่น ลัก วิ่ง ชิง ปล้น ข่มขืน หรือค้ายาเสพติด ไม่มีอยู่แล้ว เรื่องแบบนี้ตำรวจไม่ยอมหรอก ส่วนใครจะมาวิ่งเต้นขอเปลี่ยนตัว แบบนี้ถือว่า “สมองน้อย” มีแต่คนสู้คดี หาหลักฐานมาสู้ในชั้นศาล การจะหาคนรับจ้างติดคุกมาติดแทน...ความจริงมันก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะหลักฐานที่เกิดขึ้นมันก็มีอยู่ ทั้งรูปพรรณสัณฐาน

พล.ต.ท.เรวัช มองว่า เดี๋ยวนี้การจะทำอะไรผิดแบบนี้ถือเป็นเรื่องยาก เพราะทุกคนมีโทรศัพท์ มีกล้อง ยังไม่รวม กล้องวงจรปิด กล้องหน้ารถ พยานเหตุแวดล้อมอีกมากมาย ซึ่งหลักฐานทุกอย่างมีมากมายแค่ดูจากกล้องวงจรปิดก็ทราบแล้วว่าคนร้ายรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

“ส่วนตัวก็เคยเจอเคสลักษณะแบบนี้ คือ เหตุการณ์ยิงกันหน้าผับ จู่ๆ ก็มีคนมามอบตัว มาอ้างตัวว่าเป็นคนยิง เพราะความหมั่นไส้...ผมนี่จับตัวมันเข้าห้องขังเลย ในข้อหา 'แจ้งความเท็จ' เพราะจากพยาน หลักฐานที่ตำรวจมี มันชี้ชัดอยู่ว่าเป็นใคร”

อดีตมือปราบยาเสพติด อธิบายว่า คำว่า “เปลี่ยนตัวผู้ต้องหา” กับ การรับ “สมอ้างเป็นผู้ต้องหา” นั้น แตกต่างกัน

“เปลี่ยนตัวผู้ต้องหา” หมายถึงว่า ตำรวจจับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว
“สมอ้างเป็นผู้ต้องหา” หมายถึงยังจับไม่ได้ แล้วมาอ้างตัว

ฉะนั้น “การเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา แปลว่า 'อาจจะ' มีการวิ่งเต้นกัน จะวิ่งด้วยเงินทอง หรือคนมีพระคุณขอร้อง หรือพรรคพวก อะไรก็ช่าง มีปัจจัยอื่น จนเป็นเหตุให้คนอื่นมาทำหน้าที่ผู้ต้องหาแทน และปล่อยผู้ต้องหาตัวจริงไป แบบนี้ถือว่าเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีความผิด ติดคุกได้เลย ถือว่าเป็นคนชั่ว”

เมื่อถามว่า การสลับตัวผู้ต้องหา จะเกิดขึ้นในช่วงขั้นตอนใด พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า เมื่อจับตัวผู้ต้องหามาแล้ว พนักงานสอบสวนอาจจะเป็นเด็กๆ ร้อยเวร ฉะนั้น การจะเปลี่ยนผู้ต้องหาได้ ต้องเป็นคำสั่งของคนมีอำนาจ สั่งให้ลูกน้องทำ

...

“การที่ตำรวจปล่อยให้มีการเปลี่ยนตัวผู้ต้องหา ก็เหมือน 'ชนักติดหลัง' ฉะนั้น จึงอยากฝากเตือนๆ น้องๆ ตำรวจรุ่นใหม่ว่า เดี๋ยวนี้สื่อมวลชนมีมาก ขณะที่ประชาชนก็มีสมาร์ทโฟนเกือบทุกคน ทุกคนเป็นสื่อได้หมด ฉะนั้น การจะทำอะไรที่กระทบกับความรู้สึกประชาชนต้องระมัดระวัง หากประชาชนอยากให้กำจัดสิ่งที่ผิด ไม่ถูกต้อง ใครมาขอร้อง ก็อย่าช่วย เพราะช่วยเขา ตัวเราตาย ปฏิเสธไปตรงๆ เลย หากต้องการให้ทำจริงๆ ก็ควรมาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือขอให้เปลี่ยนตัวออกให้คนอื่นทำแทน เรื่องเหล่านี้ยังพอมีทางออก อย่าเครียดมากจนทำร้ายตัวเอง”


ลงโทษตำรวจแค่ย้าย ไม่จริง เพราะมี ไล่ออก ปลดออก แต่ก็ต้องทำตามขั้นตอน

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ จะเป็นอย่างไร พล.ต.ท.เรวัช กล่าวว่า มีหลายคนพูดว่า ตำรวจทำผิดแค่ย้าย นั้นไม่ใช่เรื่องจริง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ยังไม่รู้ว่าเขาทำผิดหรือไม่ แต่การย้ายดังกล่าว ก็เพื่อไม่ให้ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ขั้นตอนต้องมีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน หากพบว่ามีมูลค่อยตั้งสอบวินัยร้ายแรงตามมา หากเราไปให้เขาออกจากราชการไว้ก่อนนั้น แบบนี้ทำได้ยาก เพราะปัจจุบันเขาสามารถไปฟ้องศาลปกครองได้ เพราะถือว่ายังไม่ผ่านขั้นตอนการพิจารณาเลย แม้แต่กรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง เขายังอุทธรณ์ได้ ก็คล้ายกับการจับกุมผู้ต้องหา คดีอุกฉกรรจ์ ทำไมศาลยังให้ประกัน และเหตุใดต้องต่อสู้กันถึง 3 ศาล

...

การตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ก็มีกรอบระยะเวลา หากพบว่า “มีมูล” ก็จะมีการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ก็มีกรอบระยะเวลาอีก หากพบว่ามีความผิดก็อาจจะมีการลงโทษทางวินัย หากพบว่าพยานหลักฐานชัดเจน ก็ให้ไล่ออก หากพยานหลักฐานไม่ชัดเจน ให้ออก หรือปลดออก หลังจากนั้น ก็ต้องถูกดำเนินคดีอาญา...ตามมา

“ส่วนตัวเชื่อว่า ตำรวจยุคนี้จะดำเนินการลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในยุค พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล และ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ทั้ง 3 คนเป็นคนทำงานจริงจัง จึงเชื่อว่าหลังจากนี้จะดีขึ้น” พล.ต.ท.เรวัช กล่าวทิ้งท้าย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ