ในสำนวนไทย “นกมีหู หนูมีปีก” หมายถึง คนกลับกลอกเพื่อประโยชน์ของตน

แน่นอน “นกมีหู หนูมีปีก” ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นหมายถึง “ค้างคาว” และเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีดราม่าในโลกโซเชียลฯ

เมื่อมีสาวคนหนึ่งหาญกล้าโชว์สกิลการกิน ด้วยการ “เปิบค้างคาว” จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ยังได้มีการเตือนว่า ในค้างคาวมีเชื้อไวรัสหลายชนิด อาทิ ไวรัสตระกูลโรคพิษสุนัขบ้า, ไวรัสอีโบลา (Ebola), ไวรัสซาร์ส (SARS), ไวรัสนิปาห์ (Nipah) ที่ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ รวมถึงไวรัสโคโรนา (Corona virus)

จากรายงานข่าว พบว่า ยังมีคนจีนบางส่วน หรือบางส่วนของบางประเทศ ยังคงหลงเหลือความเชื่อเรื่องการบริโภคค้างคาว เพราะมีความเชื่อเรื่องการรักษาโรค และเพื่อความกระจ่าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ อ.พจ.วีรชัย สุทธิธารธวัช อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ จะมาบอกเล่าถึง “ตำรับยาจีน” ที่เกี่ยวข้องกับ “ค้างคาว” ที่มีบันทึกยาวนาน 500-2,000 ปีก่อน

อาจารย์แพทย์แผนจีน ม.หัวเฉียวฯ ปูพื้นเพื่อความเข้าใจถึงยาจีนว่า หลักการแพทย์แผนจีนจะเน้นให้ร่างกายอยู่ในภาวะ “สมดุล” หากร่างกายบกพร่องก็จะเสริมด้วยการ “บำรุง” เช่น ยาโป๊วทั้งหลาย ส่วนอีกด้านที่เป็น “ของเสีย” ปัจจัยภายนอกทั้งหลาย ถ้าเข้ามาร่างกายแล้วเข้าสู่ร่างกาย ก็ต้อง “กำจัด” ออกไปด้วยการระบาย เพื่อให้เข้าสู่ภาวะ “สมดุล”

นี่คือหลักการแพทย์แผนจีน คือ ถ้าไม่บำรุง ก็กำจัดของเสียออกจากร่างกาย

...

ขณะที่ “ค้างคาว” ถูกบันทึกเป็นยาจีนอย่างหนึ่ง ในคำภีร์สมุนไพรจีนที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน คือ “เสินหนงเปิ่นเจาจิง” หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “เปิ่นจิง” ซึ่ง “เสินหนง” ความหมายคือ เทพกสิกรรม ซึ่งเหมือนกับเป็นการอ้างชื่อเทพขึ้นมาเพื่อให้ดูขลัง ซึ่งถือกำเนิดในช่วงประมาณ 2,000 ปีก่อน โดยมีบันทึกยาอยู่ 365 ชนิด โดยมียาตัวหนึ่งที่ชื่อ “ฟู่อี้” โดยคำว่า “ฟู่” แปลว่า หลบซ่อน ส่วน “อี้” แปลว่า “ปีก” รวมกันก็คือสัตว์ที่มีปีกที่หลบซ่อนตัวอยู่

ต่อมาในตำรับยาที่ทันสมัยขึ้นมาหน่อย อาจจะมีชื่อเรียกเปลี่ยนไปว่า หนูฟ้า, หนูเทวดา ตามที่จะเรียกกัน ซึ่งปัจจุบันภาษจีนกลางจะเรียกว่า “เปี่ยนฝู”

ความเข้าใจผิด 2,000 ปี จาก คำภีร์ “เปิ่นจิง” ค้างคาว กินแล้วสุขกายสบายใจ

อาจารย์แพทย์แผนจีน จาก ม.หัวเฉียวฯ เล่าต่อว่า จากคำภีร์ “เปิ่นจิง” มีการบันทึกว่า ค้างคาว สามารถนำมารักษาโรคเกี่ยวดวงตา ที่สำคัญในตำราเล่มนี้ยังบันทึกว่า กินแล้ว สุขกาย สบายใจ กินนานๆ แล้วสุขสันต์ไร้ความวิตกกังวล (เป็นความเชื่อที่ผิด) และระบุว่าค้างค้าวนั้น “ไม่มีพิษ”?

หลายร้อยปีถัดมา มีหมอยาจีนอีกท่านขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า “ค้างคาว” หากต้องการนำมาทำยา จำเป็นต้องใช้ “ค้างคาว” ที่มีลักษณะตัว “สีขาว ห้อยหัว” ถ้าไม่ใช่ “ห้ามกิน” คล้ายกับว่ามีการระบุประเภทของค้างคาวไว้ ว่าประเภทไหนกินได้ ประเภทไหนกินไม่ได้... แต่ยังไม่ระบุถึงพิษของค้างคาว

กระทั่งต่อมาในช่วงปลายราชวงศ์หมิง (ช่วง ค.ศ.1500) มีหมอจีนท่านหนึ่งชื่อ หลีสือเจิน มีการรวบรวมความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับตำราสมุนไพร โดยใช้เวลา 27 ปี “ชำระคำภีร์สมุนไพร” ขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า คำภีร์ “เปิ่นเฉ่ากังมู่” ถือเป็นคำภีร์ยาที่มีบันทึกไว้มากกว่า 1,800 ชนิด ซึ่งถือเป็นตำราจีนยาที่ใช้ถึงทุกวันนี้

**หมายเหตุ ราชวงศ์หมิง อยู่ระหว่างปี (ค.ศ.1368-1644)**

“เปิ่นเฉ่ากังมู่” ถือเป็นตำรับยาที่มีการเผยแพร่ไปทั่วโลก ซึ่งแม้กระทั่ง “ชาร์ล ดาวิน” นักธรรมชาติวิทยาของโลก ยังยอมรับว่าเป็น สารานุกรมสมุนไพรจีน และมีการแปลเป็นภาษาต่างๆ ทั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมนี

...

“หลีสือเจิน” ผู้ค้นพบ “ค้างคาว” เป็นพิษ กินแล้วท้องร่วงหนัก ถึงตาย 

อ.พจ.วีรชัย อธิบายว่า ในตำรา “เปิ่นเฉ่ากังมู่” หลีสือเจิน ระบุไว้ถึง “ค้างคาว” ใช้ในการขับของเสียด้วยการระบายเป็นหลัก และการกินค้างคาวลงไปจะทำให้คนอยู่ในภาวะระบายมากเกินไป พูดง่ายๆ คือ “ท้องเสีย” มาก และจากบันทึกก็พบว่า มีบางคนอยู่ในภาวะท้องเสียจนตาย!

นอกจากนี้ ในตำราเล่มก่อนที่บอกว่าสามารถเอามาใช้ภายนอก ในการรักษาบาดแผล แต่ “หลีสือเจิน” บอกว่า มันก็ส่งผลทำให้ท้องเสียเช่นกัน..!

โดยสรุปของ “หลีสือเจิน” ชี้ว่า “ค้างคาว” นั้นมีพิษ! เพราะกินไปแล้วเกิดอาการถ่ายท้อง ถ่ายหนักจนตายก็มี ดังนั้นจึงมีการบันทึกที่ขัดแย้งกับ คัมภีร์ “เปิ่นจิง” ที่ระบุว่ากินแล้วสบายอกสบายใจ มันไม่ใช่เลย คำภีร์ดังกล่าวมันทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจผิด

“หลีสือเจิน ย้ำในบันทึกว่า ความรู้จาก “เปิ่นจิง” ในประเด็น “ค้างคาว” เป็นความรู้ที่ไม่ถูกต้อง และมันทำให้คนเข้าใจผิด แถมยังเพิ่มความวิตกกังวลทุกข์ร้อนไปอีก”

...

ตำรับยาจาก “ค้างคาว” รักษาโรคได้ แต่ไม่นิยม 

อ.พจ.วีรชัย กล่าวว่า ในตำรา “เปิ่นเฉ่ากังมู่” ของ “หลีสือเจิน” ระบุว่า ค้างคาวสามารถนำมารักษาโรคได้ แต่นำไปกินเป็นอาหารไม่ได้! ใช้ได้แค่เป็นยาเท่านั้น

ดังนั้นเมื่อย้อนกลับไปคำถามว่า มีคนจีนยังกินอยู่ไหม...คำตอบคือ มี! แต่กินโดยไม่มีความรู้ แม้แต่ในประเทศไทยก็มีคนกินอยู่ แต่ในทางความรู้แพทย์แผนจีนก็พบว่า ค้างคาว มีพิษต่อร่างกาย ใช้ได้แค่ทำยา

เมื่อนำความรู้ปัจจุบันมาเทียบ ก็พบว่า ค้างคาว มีสารพัดไวรัสเต็มไปหมด ถ้านำมากิน แล้วต้มไม่สุก อาจจะมีผลตามมา ซึ่งมีบทความในจีนเคยระบุไว้ว่า ต้องต้มนานถึง 4 ชั่วโมง (ไม่ยืนยันว่าทำได้จริง) ซึ่งในความเป็นจริงบางคนเอามาปรุงอาหาร ความร้อนอาจจะยังฆ่าเชื้อโรคไม่หมดก็เป็นได้ ยิ่งระหว่างปรุงอาหารเป็นเนื้อสดๆ ก็อาจทำให้ติดเชื้อโรคได้

“ดังนั้นเมื่อเทียบกับตำรายาของ “หลีสือเจิน” ก็ไม่แนะนำมาปรุงอาหารมากกว่า 500 ปีแล้ว”

...

“ค้างคาว” กับ สรรพคุณยาจีน

อ.พจ.วีรชัย อธิบายถึงสรรพคุณของ “ค้างคาว” ในตำรับยาจีน ว่า ก็มีสรรพคุณอยู่บ้างในการรักษาอาการไอ หอบ หืด ทำให้ตาสว่างขึ้น หรือเอามาใช้ในการรักษาจากของมีคม ฝี หนอง

สำหรับการนำ “ค้างคาว” มาทำยานั้นมีบันทึกไว้ว่า ต้องคัดเลือกค้างคาวอย่างเหมาะสมส่วนตามขั้นตอนดังนี้
1. นำขน หนัง กรงเล็บ อวัยวะภายในออกทั้งหมด
2. สิ่งที่นำมาใช้คือ เนื้อ ปาก ปีก ขา
3. แช่เหล้า 1 คืน (อาจเป็นการฆ่าเชื้อ หรือพิษ)
4. ใช้น้ำสมุนไพรคั้นทาอวัยวะให้ชุ่ม นำมาย่างบนกระเบื้องร้อนๆ ให้แห้ง (ห้ามไหม้)
5. นำมาบดเป็นผง ทำเป็นยาลูกกลอน (ไว้กิน) หรือเป็นผงไว้ทา

“ส่วนใหญ่ที่นำมาใช้ จะไม่ใช้เพียงยาเดี่ยวๆ แต่จะมียาประเภทอื่นประกอบ เรียกว่าเป็น “ตำรับ” ในการรักษา ซึ่งมีการใช้ในหลายยุคสมัย หรือแม้แต่ในตำรับยาหลวงก็มีบันทึกไว้ในราชวงศ์ซ่ง และหยวน แต่ในปัจจุบันเรียกว่าเอามาใช้น้อยมาก แทบจะไม่ใช้กัน แต่ก็มีคนใช้บ้าง เรียกเป็นภาษาไทยว่า “ลูกกลอนค้างคาว” นำมาใช้รักษาหลอดลมอักเสบ ซึ่งในลูกกลอนดังกล่าวไม่ได้มีแค่ค้างคาว แต่มีตัวยาอื่นๆ ที่ไม่เปิดเผย อย่างไรก็ตามในความรู้ปัจจุบันของเรา เราเลือกที่จะไม่ใช้ดีที่สุด หากเลือกจะใช้จริงๆ ก็ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ”

แนะ ประชาชน เลือกกินอาหารปกติ

อ.พจ.วีรชัย กล่าวในช่วงท้ายว่า อาหารอย่างอื่นมีมากมาย ส่วนค้างคาวนั้นขอยืนยันว่า ไม่เหมาะที่จะมาทำเป็นอาหารรับประทาน เพราะที่แน่ๆ คือ สรรพคุณของมันไม่ได้ใช้เพื่อบำรุงร่างกาย เป็นยาประเภทระบาย ขจัดเป็นของเสีย ไม่สมควรจะมากินด้วยประการทั้งปวง

“สัตว์ป่า หรือสัตว์แปลกๆ เช่น ค้างคาว ซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครอง ไม่ควรจับมาบริโภค แม้จะมีสรรพคุณยา แต่ก็ไม่ใช่ยาบำรุงร่างกาย แถมผิดกฎหมายสัตว์ป่าคุ้มครอง แถมสัตว์ป่าบางชนิดก็มีเชื้อโรคอยู่ในตัวมากมาย ฉะนั้นเป็นไปได้ก็กินอาหารที่เป็นปศุสัตว์ เช่น หมู เป็ด ไก่ เนื้อ จะดีเสียกว่า..”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : Varanya Phae-araya 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ