ถือเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้เกิดขึ้นนัก สำหรับคนไทยที่ถูก “ลักพาตัว” และ “เรียกค่าไถ่” ในขณะเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศที่ยังไม่สงบ อย่างเช่นกรณีของ “หมอสอง” หรือ นพ.นพรัตน์ รัตนวราห แพทย์ศัลยกรรมชื่อดังของไทย เจ้าของเพจและยูทูบ “หมอสองท่องโลก” ซึ่งล่าสุดเจ้าตัวถูกช่วยเหลือ และเดินทางกลับไทยอย่างปลอดภัยแล้ว
สำหรับเบื้องหลังการช่วยเหลือที่ “หมอสอง” เอ่ยถึงนั้น คือ การเจรจาต่อรองคนร้าย ก่อนจะมีการยอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้เพื่อแลกกับ “อิสรภาพ” และความปลอดภัย
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล มุขแจ้ง หัวหน้าอาจารย์วิชาอาชญาวิทยาโรงเรียนนายร้อยสามพราน และอดีตผู้เชี่ยวชาญเจรจาต่อรอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า การเจรจาต่อรองในภาวะวิกฤติจะมี 2 ลักษณะ คือ มีตัวประกัน และ ไม่มีตัวประกัน คำว่า วิกฤติในที่นี้ หมายถึงว่า เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตอันสั้น ฉะนั้นจึงต้องพยายามทำทุกอย่างไม่ให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพูด หรือทำ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่เราต้องการ
...
อดีตผู้เชี่ยวชาญเจรจาต่อรอง สตช. บอกว่า หากเป็นการจับตัว “เรียกค่าไถ่” สิ่งที่เราต้องพยายามเจรจาต่อรองเพื่อให้คนร้ายปล่อยตัว ถ้าจะกระทำการรุนแรงก็ต่อรองให้ลดความรุนแรง หลักการเจรจาต่อรอง ก่อนอื่นต้องรู้ว่าเจรจากับใคร อาทิ คนร้าย คนที่กำลังโศกเศร้า ผิดหวัง หรือคลุ้มคลั่ง
กรณีที่เป็นเมืองไทย เจอคนเมายาบ้าจับตัวประกัน อยู่ในภาวะคลุ้มคลั่งจะทำร้ายตัวประกัน ก็ต้องพยายามทำให้เขาสงบลง...ไม่ทำร้ายคนรอบข้างและตัวเอง
หากเป็นการเรียกค่าไถ่ เราจะเจรจากับคนร้าย เพื่อให้คนร้ายปล่อยตัว หากจะต้องเสียค่าไถ่ จะยึดหลัก Give and Take และ Take and Give โดยพยายามทำให้รู้สึกว่า win-win กันทั้งสองฝ่าย และเวลาการต่อรองเราต้องแสดงถึงความจริงใจกับเขา เพื่อให้รู้สึกเป็นมิตร โดยมีเป้าหมายให้คนร้ายไม่ทำร้ายตัวประกันและปล่อยตัว
คุณสมบัติของนักเจรจาต่อรอง
1. ไม่ใช่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ
2. มีความรู้ในเรื่องยุทธวิธี รู้จักการใช้อาวุธพอสมควร
3. ประเมินสถานการณ์ได้
4. ต้องมีความรู้เรื่องจิตวิทยา
5. มีความจริงใจ อดทนสูง มีจิตใจพร้อมช่วยเหลือทุกฝ่าย
นักเจรจาต่อรองชั้นครู อธิบายว่า ปกติแล้วการเจรจาต่อรองจะไม่ทำเพียงคนเดียว จะมีการตั้งทีมขึ้นเพื่อเจรจา จะเรียกว่า “ทีมแก้ไขเหตุวิกฤติ” อาจจะมีการตั้ง กองบัญชาการเหตุการณ์ ผบ.เหตุการณ์ หน่วยใช้กำลัง ฝ่ายหาข่าว หน่วยจดบันทึก และทีมเจรจาต่อรอง
ในการเจรจาจะไม่มี “เวลา” เป็นเงื่อนไข เป็นการพูดคุยตามสถานการณ์ที่จะพาไป
“นักเจรจา จะไม่มีอำนาจตัดสินใจ เพราะหากมีการจัดตั้งผู้มีอำนาจไปต่อรองกับคนร้าย แบบนี้จึงเรียกว่า “แพ้” ตั้งแต่ก่อนเจรจา เพราะว่าคนร้ายก็สามารถขอได้ ฉะนั้นการเป็นผู้ไม่มีอำนาจไปคุย ส่วนหนึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ “ถ่วงเวลา” เพื่อใช้ในการแก้ไขสถานการณ์ให้เป็นไปในทางที่ดี”
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคนไทยถูกลักพาตัว หรือถูกจับตัวเรียกค่าไถ่ในลักษณะของ “หมอสอง” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นน้อยมาก หรือแทบไม่เคยเกิดขึ้นเลย จะมีบ้างบางกรณีที่ไปเล่นการพนันแล้วติดหนี้สินจำนวนมากจนตกเป็นตัวประกันเพื่อให้ญาติพี่น้องมาไถ่ตัว
...
แต่...กรณีที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นเพราะมีทรัพย์สิน หากกลุ่มคนร้ายรู้เมื่อไหร่ย่อมตกเป็นเป้าหมาย
หลักสากล “ไม่เจรจาต่อรอง” กับผู้ก่อการร้าย
ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล กล่าวย้ำอย่างหนักแน่นว่า ตามหลักการสากลจะไม่มีการเจรจาต่อรองกับผู้ก่อการร้าย ไม่ว่าผู้ก่อการร้ายจะเรียกร้องใดๆ ก็ตาม หากมีการยินยอมเกิดขึ้น คนร้ายจะดำเนินการทำสิ่งนั้นต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งถือเป็นข้อตกลงของนานาชาติ
ยกตัวอย่าง คนร้ายขออาวุธ ขอเฮลิคอปเตอร์ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ให้ไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมา ในอดีตก็เคยทำผิดพลาดมาแล้วหลายครั้ง...
แต่...ในความเป็นจริง บางครั้งก็ต้องวางหลักการลง และยอมทำตาม เพราะอาจจะได้ประโยชน์มากกว่า เช่น การช่วยเหลือชีวิต
วิธีการเอาตัวรอด กรณีตกเป็นตัวประกัน
สำหรับวิธีการเอาตัวรอด หากเจอสถานการณ์ตกเป็นตัวประกัน ศ.พล.ต.ท.ดร.พิศาล แนะนำว่า....
1.ต้องทำตามข้อเรียกร้องของคนร้าย อย่าขัดขืน สิ่งไหนทำได้ให้ทำ อย่าต่อสู้กับคนร้ายโดยไม่ได้ประเมินกำลังของตัวเอง
...
2.หูไวตาไว พยายามหาข้อมูลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร เราถูกจับอยู่ตรงพิกัดไหน เพื่อหาช่องทางหลบหนี หาช่องทางติดต่อคนอื่นที่อาจจะสามารถช่วยเหลือได้
3.เตรียมพร้อมหาที่หลบ กรณีเจ้าหน้าที่บุกเข้ามาช่วย เช่น หาสถานที่หลบวิถีกระสุน พยายามหมอบหลบ
4.ประเมินแล้วต่อสู้ได้ หรือหนีได้ ให้หนี (แต่ต้องประเมินสถานการณ์โดยรอบให้ดีก่อน)
บทเรียนนักเจรจาต่อรองกับเหตุการณ์จริงในอดีต
เหตุการณ์หนึ่งที่จำไม่รู้ลืม สำหรับ หัวหน้าอาจารย์วิชาอาชญาวิทยา คือ เหตุคนเมายาบ้าจับตัวนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเป็นตัวประกัน สาเหตุของความล้มเหลวในครั้งนั้น เพราะการทำงานของ จนท.ไม่รัดกุมเพียงพอ ส่งผลให้เหตุการณ์บานปลาย
“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราได้บทเรียนมาปรับปรุงตำรวจในการเตรียมพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคต”
...
ส่วนอีก 1 เหตุการณ์ที่ล้มเหลว คือ เหตุการณ์จับตัวประกันที่สถานทูตเมียนมา ครั้งนั้น ผิดพลาดด้วยการให้ผู้มีอำนาจไปเจรจา นอกจากนี้ยังปล่อยให้มีการแลกตัวประกัน ซึ่งผลต่อมาทำให้เกิดเหตุครั้งที่สองกับการจับตัวประกันที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี
นี่คือสาเหตุที่ว่า ทำไมหลักการสากลจึงต้องไม่ยินยอมตามข้อเรียกร้องกับผู้ก่อการร้าย ซึ่งบทเรียนครั้งนั้นเป็นที่มาของจุดจบในเหตุการณ์ “จับตัวประกัน” ที่โรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี ที่คนร้ายเสียชีวิตทั้งหมด 10 คน..
นักอาชญาวิทยา ในฐานะอดีตนักเจรจาต่อรองของ สตช. กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีชุดเจรจาต่อรองประจำ กองบังคับการ กองกำกับการ หรือสถานี แต่ในต่างประเทศเขามีชุดเจรจาต่อรองแบบนี้ประจำหน่วย และที่ผ่านมา การเจรจาที่เกิดขึ้นก็มักใช้วิธีการแบบ “ผิดๆ ถูกๆ” แทนที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ บางครั้งกลายเป็นเรื่องหนักหน่วงและเลวร้ายกว่าเดิม.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ