ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น สำหรับ กรณี “หมอสอง” หรือ นพ.นพรัตน์ รัตนวราห ศัลยแพทย์ชื่อดังของไทย เจ้าของเพจและยูทูบ “หมอสองท่องโลก” ที่ได้เดินทางไปประเทศในทวีปแอฟริกา ทั้งอัฟกานิสถาน และเดินทางข้ามชายแดนไปประเทศมาลี จากนั้นก็ขาดการติดต่อไปกว่า 20 วัน และมาทราบภายหลังว่า ถูกจับตัวเรียกค่าไถ่ เป็นเงินหลายล้านบาท ซึ่งล่าสุดเจ้าตัวได้ออกมายืนยันว่าตอนนี้ปลอดภัยแล้ว...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามวิธีการเดินทางไปเที่ยว หรือทำคอนเทนต์ ในประเทศอันตราย จากก่อการร้ายและภัยสงคราม กับ สิงห์ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้ที่มีประสบการณ์เดินทางรอบโลก กับ รายการ "เถื่อน Travel" โดย สิงห์ เล่าเบื้องหลังให้ฟังว่า...
จากประสบการณ์ส่วนตัว เวลาที่จะเดินทางไปประเทศที่มีความเสี่ยงสูง หรือประเทศที่มีปัญหาเรื่องการจัดการปัญหาต่างๆ ของรัฐบาลนั้นๆ ไม่ค่อยดี "ถึงแม้ไปคนเดียว แต่ก็ไม่เคยอยู่คนเดียว” เพราะอย่างน้อยเราต้องจ้างไกด์ หรือคนท้องถิ่น มาเป็นคนช่วยเสมอ หรือจะไปในฐานะสื่อ อาจจะมีการจ้าง “ผู้ประสานงาน” อาจจะจำเป็นต้องจ้างบุคคลเหล่านี้
...
“การไปพื้นที่อันตรายสำหรับผม ไม่เคยไปเพื่อท่องเที่ยวเลย แต่เป็นการเดินทางเพื่อทำงาน โดยจะมีการวางแผนล่วงหน้า มีการปรับแผน มีการอัปเดตตามสถานการณ์ โดยต้องเตรียมสาย Hotline ไว้ เช่น ตำรวจ หรือ UN เช่น ไปถ่ายงานที่โซมาเลีย อาจจะต้องจ้างตำรวจไว้กลุ่มหนึ่ง จากนั้นก็อัปเดตเส้นทางว่ามีความสุ่มเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน”
นักเดินทางไปทุกมุมโลก “เถื่อนทราเวล” ยอมรับว่า “การลักพาตัว” หรือ “จับตัวเรียกค่าไถ่” ถือเป็นความเสี่ยงอันตรายอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ซึ่งเขามองว่าเป็นวิธีการหาเงินอย่างหนึ่ง ซึ่งบางครั้งก็มีการจับตัวสื่อ หรือแม้แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อได้เงินมาก็เอาไปใช้ในกิจกรรมของกลุ่ม...
การจับตัวเรียกค่าไถ่ ถือเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเสมอ... หลายครั้งเกิดขึ้นได้ระหว่างทาง ขณะขับรถ จากเมืองหนึ่งไปสู่เมืองหนึ่ง
เมื่อถามว่าแบบนี้จะป้องกันอย่างไร วรรณสิงห์ ยอมรับว่า “ป้องกันไม่ได้ 100%”
หากต้องการเดินทางไปพื้นที่เหล่านี้ ก็ต้องเตรียมใจรับความเสี่ยงมาระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่เราทำได้สำหรับการป้องกันการเกิดเหตุคือ ต้องอัปเดตสถานการณ์ก่อนเดินทางเข้าพื้นที่ หรือถ้าโซนอันตรายเกินไปจริงก็ควรหลีกเลี่ยง
แต่...โซนที่ไม่อันตราย ก็อาจจะเกิดอันตรายได้ ซึ่งอันตรายที่จะเข้ามาไม่ได้จำกัดแต่เรื่องลักพาตัว เช่น ตอนนั้นไป อัฟกานิสถาน ก็มีเหตุก่อการร้ายในเมืองคาบูลถึง 2 ครั้ง หรือตอนที่ไปทำงานที่อิรัก ก็เจอเหตุก่อการร้าย...
แต่เหตุก่อการร้ายลักษณะนี้ จะไม่เลือกเป้าหมายเป็นคนต่างชาติ แต่จะเป็นการก่อเหตุแบบสุ่ม เรียกว่าเป็นความเสี่ยงกับประชาชนท้องถิ่น เรียกว่า ถ้าไม่ถึงคราวซวยจริงๆ ก็อาจจะอยู่รอดพ้นจากพื้นที่ก่อการร้ายได้
ในประเด็นการ “ลักพาตัว” ไป “เรียกค่าไถ่” คนต่างชาติ หรือ สื่อ จะเป็นเป้าหมาย เพราะมีการประเมินไว้ว่า น่าจะมีคนเอาเงินมาไถ่ตัว
“เท่าที่ผมทำงานในหลายพื้นที่ ผมได้เช็กเรื่องเหล่านี้เสมอ แต่ส่วนตัวยังไม่เคยเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง หรือน่ากลัวจนเกินไป สิ่งที่เราทำคือ การอัปเดต กับคนในไทยเสมอว่าตอนนี้อยู่ที่ไหน”
การใช้โซเชียลมีเดียที่เป็นสาธารณะ ต้องระวังการโพสต์
สิ่งที่ วรรณสิงห์ เน้นย้ำเป็นพิเศษ ระหว่างการเดินทางไปจุดอันตราย คือ เรื่องโพสต์โซเชียลเน็ตเวิร์ก คืออะไรที่เป็นสาธารณะมาก หรือจะอัปรูปสถานที่ท่องเที่ยว ตัวผมจะเดินทางออกจากสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ แล้ว
“ส่วนตัวผมไม่รู้ว่าวิธีการนี้ถูกต้องหรือไม่ แต่ก็มีคนเตือนเสมอว่าเวลาไปพื้นที่อันตรายก็อย่าทำ อาทิ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพื้นที่ที่มีความขัดแย้งทั่วโลก เราต้องไม่ให้ใครรู้พิกัดปัจจุบันของเรา อีกทั้งการไลฟ์สดจากสถานที่เหล่านี้ เราเองก็ไม่เคยทำ”
หากจะไลฟ์สด ต้องเตรียมตัวอย่างไร นักเดินทาง “เถื่อนทราเวล” บอกว่า ถ้าอยากทำอย่างนั้นจริงๆ ต้องมั่นใจเรื่องทางหนีทีไล่ หรือเตรียมจะออกจากพื้นที่ดังกล่าวแล้ว
...
เครือข่าย การข่าวต้องอัปเดต เปลี่ยนแผน เปลี่ยนเส้นทาง หากไม่มั่นใจ
เมื่อถามว่า ส่วนตัวที่เคยเดินทางไป “อัฟกานิสถาน” เจอเหตุการณ์อะไรไหมที่ถือเป็นความเสี่ยง วรรณสิงห์ ยกตัวอย่างว่า วันหนึ่งมีการเตรียมเดินทางไปที่อุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความสวยงามมาก ปรากฏว่ามีรายงานว่า ก่อนหน้านั้น 1-2 วัน มีคนโดนลักพาตัวในเส้นทางที่เราจะไป...
เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เราทำคือ “การปรับแผน” ด้วยการยกเลิกการเดินทางนี้ทันที และมีการปรับแผนเดินทางไปที่อื่น
เมื่อถามว่าเรารู้ได้อย่างไรว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น วรรณสิงห์ บอกว่า เครือข่ายไกด์ที่เราจ้างมา เขารับทราบข้อมูลมาจากเครือข่ายตำรวจในพื้นที่ ซึ่งมีการเช็กสถานการณ์ตลอดเวลา เราก็จะได้ข้อมูลจากตรงนั้นด้วย
หรืออีก 1 เหตุการณ์คือ ตอนนั้นมีเหตุ “กราดยิง” ในมหาวิทยาลัยกรุงคาบูล หรือมีการวางระเบิดบนท้องถนน ที่เราจำเป็นต้องขับรถผ่าน นี่คือความเสี่ยงที่เราเดาไม่ได้...
ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในการเดินทาง จึงมีอยู่ 2 แบบ คือ ความเสี่ยงที่เดาไม่ได้ กับ ความเสี่ยงที่จัดการได้
หากต้องการไปประเทศพื้นที่อันตรายต้องเตรียมตัวอย่างไร วรรณสิงห์ กล่าวว่า ถ้าจะไปเที่ยว...เช่น “อยากไปลองดู...จะรอดไหม” แบบนี้ไม่แนะนำ เพราะความเสี่ยงเหล่านี้มีอยู่จริง แต่ถ้าเราจำเป็นต้องไป เช่น ไปทำงาน ทำสารคดี แบบนี้จำเป็นต้องมีการเตรียมตัวหลายขั้นตอน
1. การหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจในประเทศนั้นๆ
2. ประสานกับคน หรือหน่วยงานในท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานไทยในไทยและต่างแดน
3. ต้องเตรียมแผน 2 ไว้เสมอ หากแผนแรกไปไม่ได้ จะเอาอย่างไรต่อ..
...
“ความเสี่ยง” ทางธรรมชาติ น่ากลัวกว่าภัยสงคราม
“ความเสี่ยงในการเดินทาง ไม่ได้จำกัดในประเทศสงครามเท่านั้น การท่องเที่ยวไปทุกที่ย่อมมีความเสี่ยงที่แตกต่างกัน บางพื้นที่มีความเสี่ยงเชิงธรรมชาติ เช่น ในทะเลทราย ภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งความกังวลในภัยธรรมชาติ อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งการค้นข้อมูลก่อนการเดินทางคือสิ่งจำเป็น และหากไปพื้นที่เสี่ยง การใช้จ่ายในราคาแพงก็จำเป็น เพื่อให้ทำงานได้ลุล่วงและปลอดภัย”
เมื่อถามว่า ผู้คนในประเทศในทวีปแอฟริกาเป็นอย่างไร วรรณสิงห์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวที่พบ ส่วนใหญ่นิสัย “น่ารักมาก” มีความเป็นมิตรสูง เขาเห็นเราเป็นนักท่องเที่ยว จึงอยากเข้ามาชวนคุย ชวนไปเที่ยว ซึ่งก็มีความแตกต่างด้านวัฒนธรรม เพราะแต่ละประเทศในทวีปแอฟริกาก็มีความแตกต่างกัน
“โซนที่ผมไป ไม่ได้เข้าใกล้มาลีสักเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะอยู่โซนแอฟริกาตะวันออกและใต้ เยอะ เช่น เอธิโอเปีย โซมาเลีย หากเป็นทางใต้ในทวีปแอฟริกา ก็จะเป็นประเทศนามิเบีย นิสัยใจคอของคนจึงแตกต่างกันมาก”
...
ในเมือง เสี่ยงอาชญากรรมกว่าในชนบท
สำหรับ “ความเสี่ยง” ของการเดินทางในบางประเทศ ถ้าออกไปทางชนบทจะไม่ค่อยเสี่ยงเท่าไหร่ กลับกัน หากอยู่ในเมืองใหญ่ จะมีความเสี่ยงเรื่องอาชญากรรมมากกว่า บางประเทศเขามีความยากจน อาชญากรรมเยอะ เราต้องระวังตัวให้ดี เพราะเขาอยู่ในภาวะปากกัดตีนถีบ เศรษฐกิจไม่ดี บางครั้งก็พยายามเข้ามาเจรจา เพื่อขายของ แต่ก็ไม่ถึงขั้นอันตราย แต่ก็มีความตื๊ออยู่พอสมควร แต่...ถ้าออกนอกเมืองก็อาจจะเสี่ยงเรื่องสัตว์ป่า รวมไปถึงโรคระบาด เช่น อีโบลา มาลาเรีย ในขณะที่สถานการณ์สงครามก็จะเป็นเฉพาะบางประเทศเท่านั้น
วรรณสิงห์ กล่าวในช่วงท้ายว่า การเดินทางไปเที่ยวคนเดียว สามารถทำได้ แต่เมื่อไปถึงแล้ว หรือจำเป็นต้องเดินทางไปที่อันตราย ก็ควรหากลุ่มไปเข้าร่วม เมื่อถึงที่หมายแล้วค่อยแยกตัวออกมาก็ได้
“การท่องเที่ยวในประเทศที่อันตราย ถือว่ามีความเสี่ยงในการท่องเที่ยว แต่...จากประสบการณ์ที่สัมผัสจริง จะรู้ว่าไม่ได้อันตรายสูงกว่าที่เราคาดไว้ มันมักจะมีด้านที่สวยงามและอันตรายซ่อนอยู่ในด้านที่เรารู้สึกว่าน่ากลัว เสมอ เพียงแค่ความเสี่ยงเหล่านี้มีจริง ฉะนั้น เราจึงต้องมีการเตรียมตัวที่ดี มีสติ และระมัดระวัง โดยตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าไปที่เหล่านี้ทำไม ที่สำคัญคือ ต้องทำความเข้าใจสถานการณ์ท้องถิ่นนั้นๆ ก่อนการเดินทาง ถ้าใครอยากไปเที่ยว...สามารถทำได้ เพราะโลกใบนี้มีอะไรให้เราศึกษาเยอะ แต่ต้องเตรียมตัวให้ดีก่อน”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ