จากตอนที่แล้ว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำในประเทศไทย ได้พูดถึงการเอาตัวรอดในการท่องเที่ยว “ถ้ำ” รวมถึงแชร์สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ให้ผู้สนใจที่จะเดินทางไปเที่ยว...

แต่...นอกจากที่ผู้เขียน จะชวนคุยเรื่องท่องเที่ยวแล้ว ยังชวนคุยไปถึงความสำคัญของ “ถ้ำ” ในด้านวิทยาศาสตร์แขนงอื่นๆ ซึ่งกูรูด้านถ้ำ ถึงกับทอดถอนใจ เพราะประเทศเรา ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยมาก หากไม่เกิดเหตุการณ์ “13 หมูป่า” ติดถ้ำหลวง ก็คงไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในการสำรวจและเรียนรู้

ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ กล่าวด้วยความเสียใจว่า ประเทศไทยมีการสำรวจถ้ำในลักษณะ “ถ้ำวิทยา” น้อยมาก ในขณะที่ประเทศยุโรป หรือรอบบ้านประเทศไทย เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย มีการสำรวจถ้ำไปมาก ถือว่ามีบุคคลที่เก่งเยอะ สาเหตุเพราะมีความ “กล้า” ที่จะสำรวจ ด้วยเหตุนี้ จึงมีทีมหรือสมาคมคอยส่งเสริม

...

“เมื่อหันมามองคนไทย กลับมีความเชื่อ หรือความกลัวมากมาย ถ้าเราไม่เลิกกลัวอะไรแบบนี้ มันก็ไม่มีทางจะสำเร็จ หากมีการสำรวจถ้ำจริงๆ เราจะพบ “สปีชีส์” ใหม่ๆ เสมอ โดยเฉพาะ “microorganism” (พืชหรือสัตว์ขนาดเล็ก ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น) ถ้ำแห่งเดียว อาจมี “สปีชีส์” มากมายนับร้อยชนิด”

เมื่อถามว่า ทำไม ประเทศไทย ไม่ให้ความสำคัญกับการสำรวจถ้ำ นายชัยพร คาดว่า อาจจะเป็นเพราะความเชื่อและนิสัยของคนไทย ถูกปลูกฝังให้กลัวตั้งแต่เด็ก เช่น เดี๋ยวผีหลอก โดนตำรวจจับ จึงทำให้ไม่กล้าที่จะเข้าไปในถ้ำ ซึ่งส่วนหนึ่งเองก็มาจากกฎหมาย แต่เมื่อเทียบกับชาวยุโรป หรือญี่ปุ่น เขาไม่ค่อยกลัวเรื่องเหล่านี้ พอเป็นวัยรุ่น เขาก็เริ่มที่จะผจญภัยด้วยตัวเองแล้ว เรื่องนี้ทุกหน่วยงานควรส่งเสริม และเปลี่ยนทัศนคติ ซึ่งปัจจุบันก็ถือว่าดีขึ้น

เมื่อเล่าถึงตรงนี้ นายชัยพร นึกย้อนกลับไปสมัยก่อนที่เริ่มสำรวจถ้ำ โดยเริ่มต้นตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ ปี 2521 ต่อมาในปี 2535 มีโอกาสได้เจอกับ นายจอห์น สปีส์ (John Spies) นักสำรวจถ้ำ ชาวออสเตรเลีย โดยไปเจอกันที่แม่ฮ่องสอน ซึ่งที่นั่นมีถ้ำเยอะมาก และนายจอห์น ได้ทำการสำรวจถ้ำในเชิงวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าการสำรวจถ้ำดังกล่าว ไม่มีคนไทยเข้าร่วมทำงานวิจัยเลย มีเพียงบางส่วนที่ทำงานในฐานะผู้ช่วย ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนว่า งานสำรวจ “ถ้ำ” ไม่มีคนไทยทำเลย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการรวมตัว ขอทุน สำนักงานกองทุนสนับสนุนทำวิจัย (สกว.) จากนั้นสถานการณ์เรื่องการสำรวจถ้ำก็เริ่มดีขึ้น


กระทั่งก่อนปี 2545 เหมือนจะมีความหวังมากขึ้น เมื่อมีการปฏิรูประบบราชการ มีการควบรวมกรมต่างๆ รวมกันใน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนักวิชาการหลากหลายกรมฯ มาร่วมทำงานด้วยกัน ทั้งผู้เชี่ยวชาญน้ำบาดาล, โบราณคดี หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านค้างคาว

การรวมตัวดังกล่าว มีการพูดคุยกัน แต่สุดท้าย ทุกอย่างก็เงียบหายไปกับกาลเวลา...

“ที่ผ่านมา ภาครัฐ ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการสำรวจถ้ำในเชิง “ถ้ำวิทยา” แม้แต่น้อย แม้จะพยายามพูดคุยกับผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศแล้ว แต่ก็ไม่มีใครสนใจ มีอยู่ช่วงหนึ่ง มีข่าว ชาวต่างชาติไปพบคนไทยไปขีดเขียนอะไรในถ้ำ เราจึงแชร์ข่าว ก็เริ่มหันมาสนใจ แต่ก็เหมือนพลุ จุดดังขึ้นมาเป็นกระแส แต่ก็เงียบไปในที่สุด”

นายชัยพร ยอมรับว่า เหตุการณ์ นักฟุตบอลทีมหมูป่า ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มหันมาสนใจการสำรวจถ้ำมากขึ้น มีการตั้งหน่วยงาน คือ คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ ตอนนี้มีคณะทำงาน แต่ก็รู้สึกว่า สิ่งที่ทำในเวลานี้ยังมีความล่าช้าอยู่มาก

...

ถ้ำไม่ใช่แค่รูในภูเขา การสำรวจถ้ำ คือ การค้นพบที่ยิ่งใหญ่

เมื่อถามว่า เราได้อะไรจากการสำรวจถ้ำ นายชัยพร กล่าวว่า ผมเคยเขียนงาน ที่ระบุว่า “ถ้ำไม่ใช่แค่รูในภูเขา” สิ่งที่เราจะได้จากการสำรวจถ้ำ มีเยอะมาก... (ตามภาพ)

ที่มาภาพ FB : คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ
ที่มาภาพ FB : คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ

กูรูด้านถ้ำ อธิบายว่า เมื่อปี 2021 ถือเป็นเป็นปี International Year of Caves and Karst (IYCK) หรือปีสากลแห่งถ้ำและคาสต์ (คาสต์ : ลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นและมีรูปแบบเฉพาะ ซึ่งเกิดจากการละลายของกลุ่มหินที่สามารถละลายน้ำได้)

ถ้ำ คือแหล่งที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เป็นแหล่งน้ำดื่มของคนทั่วโลก ประมาณ 10-20% เป็นแหล่งอารยธรรมโบราณ หรือที่อยู่ของมนุษย์โบราณ ในขณะที่ในเชิงธรณีวิทยา สามารถศึกษาเรื่องหินและฟอสซิล ได้ดีกว่านอกถ้ำ เพราะไม่มีอะไรปกคลุม หลักฐานโบราณคดีชัดเจน บางครั้งที่เราสำรวจถ้ำ ไปเจอภาพเขียนโบราณ และเห็นว่า ทำไมภาพเขียนอยู่สูงมาก คนโบราณตัวสูงใหญ่ อย่างนั้นหรือ... แต่ที่จริงไม่ใช่ สาเหตุเพราะพื้นถ้ำถูกน้ำกัดเซาะ

...

เรายังสามารถศึกษา เรื่องภูเขาไฟระเบิด สึนามิ แผ่นดินไหว หรือ สามารถโยงไปที่ เหตุการณ์ “เวียงหนองหล่ม” หรือ “เวียงหนองล่ม” (จ.เชียงราย) อารยธรรมโบราณที่ล่มสลายไปเมื่อ 1,500 ปีก่อน ที่เกิดจากแผ่นดินทรุดตัว

หากมีแผ่นดินไหวใหญ่ๆ ภายในถ้ำ จะเกิดการถล่มของหิน นี่เองคือจุดเกิดของหินงอกเกิดขึ้นภายในถ้ำ ยังคงมีน้ำไหลผ่าน ซึ่งจากหลักฐานดังกล่าว ทำให้เราคำนวณได้ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถือเป็นสิ่งสำคัญด้านโบราณคดี

ด้านสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะถูกบันทึกไว้ทั้งหมด เช่น หินงอก หากเรามาตัดดูในแนวดิ่ง เราจะพบแถบสีขาวกว้าง และแถบสีดำ เป็นเส้นๆ สลับกัน

แถบสีขาว กว้างๆ หมายถึง ช่วงน้ำมีมาก แปลว่า “โลกร้อน” แถบสีดำ จะหมายถึงอากาศเย็น มีฝุ่นมาก

เราสำรวจตะกอน จะพบกรวด ทราย ดินเหนียว สลับกับหินปูนที่ทับถม นี่คือสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เรียกว่า “Milankovitch Cycles” ทฤษฎีที่พยายามอธิบายวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ประมาณว่า ทุก 1 แสนปี โลกจะกลายเป็น “ยุคน้ำแข็ง” ถัดมาอีก 1 พันปี ก็จะเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งถือเป็นวงจรที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีมนุษย์

...

กูรูด้านถ้ำ หนึ่งเดียวของไทย อธิบายต่อไปว่า พื้นที่ถ้ำ ช่วยลดโลกร้อนได้มากมาย เพราะเวลาฝนตกลงมา จะช่วยละลายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ทำให้น้ำที่มีค่าเป็นกลาง เกิดเป็นกรดอ่อนๆ หลังคาถ้ำ ที่มีซากพืชและสัตว์มากมาย ก็ช่วยละลายออก เป็นที่มาของโพรง และถ้ำต่างๆ

ทั้งหมดนี้คือ คุณค่าของถ้ำ ที่ยังรอการค้นพบ ปัจจุบันมีการสำรวจถ้ำในไทยแล้วกว่า 5,000 แห่ง แต่คาดว่ายังมีอีกมากมายนับหมื่นแห่งที่รอการค้นพบ ไม่แน่... เราอาจจะเจอหลักฐาน สัตว์หายาก หรือพืชหายาก เจอสปีชีส์ใหม่ๆ ภายในถ้ำของประเทศไทยก็ได้ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ที่มาภาพ : ชัยพร ศิริพรไพบูลย์ 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ