กลับมาปะทุดุเดือดอีกครั้ง สำหรับ สงครามที่ยืดเยื้อระหว่าง รัสเซีย และยูเครน ที่ตอนนี้มีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ การคว่ำบาตร การก่อวินาศกรรม ระเบิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติ “นอร์ดสตรีม” ที่ตอนนี้ยังไม่มีใครกล้าระบุว่าเป็น “ฝีมือใคร..?” กันแน่

จนกระทั่งมาถึงกรณีล่าสุด กับเหตุลอบวางระเบิด สะพาน “เคิร์ช” ที่เชื่อมต่อระหว่างแคว้นไครเมียกับรัสเซีย ถึงแม้ตัวสะพานจะไม่ได้รับความเสียหายนัก แต่มันกลับกลายเป็น “ชนวน” ที่ทำให้ “วลาดิเมียร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย สั่งโจมตีทางอากาศอย่างหนัก กลางเมืองกรุงเคียฟ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับสิบราย โดยเป้าหมายที่ขีปนาวุธพุ่งไปลงก็ล้วนเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ 

“รัฐบาลเคียฟ กับพฤติกรรมของพวกเขา ทำให้พวกเขาไปอยู่ในระดับเดียวกับองค์กรก่อการร้ายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชั่วร้ายที่สุด การปล่อยพฤติกรรมเช่นนั้นไปโดยไม่มีการตอบโต้นั้น เป็นไปไม่ได้” ผู้นำรัสเซีย แถลงการณ์ พร้อมออกคำสั่งว่าจะโจมตีอีกในอนาคต หากยูเครนยังโจมตีดินแดนของรัสเซีย

...

ขณะที่ ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ชี้ว่า การโจมตีของรัสเซียเจาะจงช่วงเวลาเพื่อสังหารผู้คน รวมถึงทำลายระบบไฟฟ้าของยูเครน โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 11 แห่ง ใน 8 แคว้น ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไม่มีไฟฟ้า, น้ำประปา หรือแก๊สให้ความร้อน “พวกเขาพยายามทำลายเรา และลบพวกเราออกจากพื้นโลก” เซเลนสกีกล่าว

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นายธนาธิป อุปัติศฤงค์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก สหพันธ์รัสเซีย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงประเด็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อ และการโจมตีสะพานในไครเมียว่า ทางการรัสเซียได้มีการผนวกไครเมีย ตั้งแต่ปี 2014 ฉะนั้น การที่คนร้ายมาระเบิดสะพาน “เคิร์ช” ก็เปรียบเสมือนการก่อการร้ายในประเทศรัสเซีย ฉะนั้น จึงเป็นที่มาของการตอบโต้ของรัสเซียอย่างดุเดือด

เมื่อถามว่า มีทางใดไหม ที่สงครามนี้จะจบได้ในเร็ววัน อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ตอบสั้นๆ ว่า หนาวนี้..ก็คงได้รู้กัน ว่าจะเกิดอะไรขึ้น จะอยู่กันอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้น แต่มันก็มีโอกาสที่จะจบ...แต่มันก็ไม่จบเสียที

“ตอนแรกประเมินว่า 2 เดือน สงครามรัสเซีย ยูเครน อาจจะจบลง แต่ปรากฏว่า มันมีการเกี่ยวข้องของชาติตะวันตก ทำให้สงครามไม่จบ และสงครามลักษณะนี้ ถือว่ามีต้นทุนที่ถูกกว่าการทำสงครามโดยตรงกับรัสเซีย ดังนั้น ชาติเหล่านั้นจึงพร้อมที่จะสนับสนุนยูเครน เพื่อทำให้รัสเซียเสียเวลา เสียเงิน และอื่นๆ”

อดีตเอกอัครราชทูต ที่ประจำ ณ กรุงมอสโก กว่า 3 ปี ประเมินว่า หากทางสหรัฐฯ เข้ามารบตรงๆ ทุกอย่างคงจะพินาศกันหมด แต่...การรบครั้งนี้เป็นการรบผ่านยูเครน ทางยูเครนเอง ก็จำเป็นต้องกู้เงินจากสหรัฐฯ มาสู้ มาซื้ออาวุธของสหรัฐฯ อีก เรียกว่า เกมนี้ทางสหรัฐฯ ได้หลายต่อ เรียกว่า “กำไร”

แสดงว่า การรบยิ่งยืดเยื้อ สหรัฐฯ ก็ยิ่งทำกำไร อดีตเอกอัครราชทูตรัสเซีย ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น...กลับกัน มาทางรัสเซีย เขาก็ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก แม้จะมีกระแสข่าวจากชาติตะวันตกว่า ยิ่งนานวันรัสเซีย ยิ่งเสียหาย ส่วนตัวมองว่ารัสเซียไม่ได้รับผลกระทบอะไร

“ที่บอกว่า รัสเซีย เตรียมจะใช้อาวุธนิวเคลียร์แล้ว....การพูดถึงเรื่องนี้ คิดว่า “ปูติน” อาจจะแค่ปราม เรื่องการส่งอาวุธให้ยูเครนรบเท่านั้น"

...

หากเราพิจารณาเรื่องตัวเลขการค้า ในช่วงคว่ำบาตรที่ผ่านมา ปรากฏว่า ประเทศเยอรมนี มีการซื้อทรัพยากรมากกว่าเดิมอีก ซึ่งต่อมา ท่อก๊าซกลางทะเลก็เกิดรั่ว ซึ่งช่วงนั้นก็มีเรืออเมริกันอยู่ใกล้ๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่ารูรั่วเป็นฝีมือของอเมริกาหรือไม่

เมื่อถามว่า เกิดระเบิดของท่อก๊าซ ใครได้ประโยชน์...

อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ตอบว่า ใครจะได้ประโยชน์ นอกจากประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะทำให้ยุโรปยิ่งไม่มีซัพพลาย เนื่องจากรัสเซีย ก็ยื่นคำขาดว่า หากต้องการซื้อพลังงาน ก็ให้จ่ายเป็นเงินรูเบิล เยอรมนี ก็มาแนว “ปากกล้าขาสั่น” บอกว่าจะไม่ซื้อ ถึงเวลาจ่ายเป็นมือเป็นระวิง

การระเบิดท่อก๊าซ ก็เหมือนเป็นการบีบให้คนยุโรปให้ไม่มีทางเลือก

ถ้าสังเกตการเมืองของยุโรป เราก็จะรู้ว่าการเมืองกำลังมีปัญหา มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีหลายคน หลายคนที่เผชิญหน้ากับปูติน ตอนนี้เหลือไม่กี่คน มุมมองของผมคิดว่ายุโรปก็พร้อมจะปรับตัว คนในประเทศหลายๆ ประเทศก็ไม่ได้เอาด้วย ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ที่เจอความเสียหายหนักมาก เปลี่ยนนายกฯ มาแล้ว ซึ่งก็ยังคุมสถานการณ์ไม่อยู่

...

ศึกนี้ที่เห็นเด่นชัด คือ อเมริกา พยายามรักษาดุลอำนาจของโลก โดยเฉพาะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ในขณะที่เวลานี้ ในระดับเศรษฐกิจโลก ก็มีประเทศจีน ผงาดขึ้นมา ส่วนมหาอำนาจทางทหาร ก็ยังมี “รัสเซีย” เพราะยังถือครองนิวเคลียร์อยู่ ส่วนชาติในยุโรปที่เคยคล้อยตามอเมริกา มาตลอด ก็เริ่มที่จะฉุกคิดว่า ทำตามแบบนี้ต่อไปจะถูกต้องหรือไม่...

แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง....ชาติแต่ละชาติ ก็ต้องหันมองตัวเอง และเอาสิ่งที่ประชาชนของตัวเองต้องการ ซึ่งตรงนี้ สำหรับ “รัสเซีย” นั้น ยังสามารถที่จะคอนโทรลได้

ถามว่ารัสเซีย มีประท้วงไหม...คำตอบคือ “มี” แต่สาเหตุที่คนมาประท้วงส่วนมากก็จะเป็นเรื่องทั่วไป แต่...คนที่จะมาฮือต่อต้านก็จะมีจำนวนจำกัด 

ท่าทีของ “ยุโรป” หลังจากนี้ สำคัญแค่ไหน นายธนาธิป กล่าวว่า จะสำคัญมาก เพราะสงครามที่ผ่านมา มักเกิดในยุโรป แม้แต่สงครามโลก ที่เคยเกิดขึ้น ก็เกิดขึ้นจากยุโรปทั้งนั้น

สำหรับช่วงประชุมเอเปก มีรายงาน ประธานาธิบดีปูติน อาจจะเดินทางมาร่วมประชุม  นายธนาธิป กล่าวว่า การจะมาหรือไม่ ตอนนี้ต้องรอความชัดเจน เพราะต้องใช้เวลา ซึ่งคงต้องรอให้มีหนังสืออย่างเป็นทางการก่อน ซึ่งโดยปกติก็จะเดินทางมาอยู่แล้ว แต่ผู้นำบางประเทศก็อาจจะมาไม่ได้ เช่น สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งท่านก็ได้ชี้แจงแล้ว 

...

อย่างไรก็ตาม หากจะเดินทางมาจริงๆ ก็น่าจะมีคณะที่ต้องเดินทางมาล่วงหน้าเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยอย่างน้อย 40-50 คน เพื่อดูกำหนดการต่างๆ และเส้นทางเพื่ออารักขา

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ