ต้องจารึกไว้อีกวัน ว่าวานนี้ 3 ตุลาคม 2565 เป็นอีกวันที่ชาวกรุงเทพฯ มนุษย์เงินเดือนที่ต้องเดินทางไปทำงาน เจอกับ ฝนตก น้ำท่วมหนัก และรถติดสาหัส ไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง เรียกว่าเป็นอีกวันหนึ่งที่ชาว กทม. นึกถึงชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่า กทม.
ดร.ภานุ ตรัยเวช อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ปรากฏการณ์ของ “ฝน” เมื่อวาน (3 ต.ค.) เกิดจาก convective rain ภาษาไทย เรียกว่า “ฝนฟ้าคะนอง” เป็นก้อนอากาศ ลอยขึ้นและกลั่นตัวเป็นฝน ซึ่งหากพูดกันในภาษาชาวบ้าน เขาจะเรียกว่า “ฝนไล่ช้าง” จะมีลักษณะฝนซู่ ตกลงมาแบบตูมใหญ่ แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย
**หมายเหตุ : ฝนซู่ หรือ ฝนไล่ช้าง หมายถึงหยาดน้ำฟ้าหรือฝนตกหนักโดยกะทันหันในระยะเวลาสั้นๆ มีเสียงดัง ฝน ซู่มักตกและหยุดอย่างฉับพลันและมีการเปลี่ยนแปลงความแรงของฝนอย่างรวดเร็ว**
ดร.ภานุ อธิบายว่า ฝนตกลักษณะแบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ และกรุงเทพฯ ก็เจอมานานแล้ว และมักจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขัง คำว่า “ฝนฟ้าคะนอง” ในภาษาไทย ดูเหมือนเป็นคำธรรมดา ที่คนก็คิดว่าฝนตกไม่หนัก แต่จริงๆ คำนี้อาจจะหมายถึง “พายุฝนฟ้าคะนอง” ไม่เหมือนกับ “พายุ” ที่ใช้เรียกชื่อพายุที่จะพัดถล่ม เช่น “พายุโนรู” เพราะพายุ เหล่านี้จะเกิดขึ้นมหาสมุทร
...
เมื่อถามว่า ปริมาณฝนเมื่อวาน ถือว่าหนักหนาขนาดไหน อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรฯ เผยว่า จากที่มีการเช็กและแชร์กันก็พบว่า หลายเขตมีปริมาณน้ำสูงเกินกว่าจะระบายได้ทัน
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูล เว็บไซต์ สำนักระบายน้ำ กทม. เมื่อเวลา 13.00 น. วันนี้ (4 ต.ค.65) พบว่า จุดที่มีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในรอบ 24 ชั่วโมง จุดวัดที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ 165.5 มิลลิเมตร รองลงมา ยังอยู่ในเขตหลักสี่ 137.5 มิลลิเมตร สำนักงานเขตบางนา 126 มิลลิเมตร ส.คลองตาอูฐ เขตหลักสี่ 121.5 มิลลิเมตร จุดวัด ถ.เทศบาลสงเคราะห์ เขตจตุจักร 120 มิลลิเมตร เป็นต้น
**หมายเหตุ ระบบการระบายน้ำ กทม. สามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้เพียง 60 มิลลิเมตร**
งจากเหตุการณ์เมื่อวาน หลายคน กล่าวถึงเปรียบเทียบกับ ปี 2554 เพราะปริมาณน้ำท่วมสูง อาจารย์ภานุ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้แตกต่างจากปี 2554 เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนมีเยอะ จนล้นเขื่อน น้ำที่ถูกปล่อยลงมาจึงไหลมาท่วม แต่สำหรับครั้งนี้ ยังไม่ถึงขั้นนั้น แม้จะมีหลายเขื่อนมีประมาณน้ำสูง แต่เขื่อนหลัก เขื่อนใหญ่ อย่าง เขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ ยังสามารถรับน้ำได้เยอะ
โอกาสจะเกิดซ้ำรอยปี 54 ไหม ที่น้ำในเขื่อนจะเต็มและไหลลงมาท่วม ดร.ภานุ ยืนยันว่าไม่ซ้ำรอยปี 2554 ถึงแม้ฤดูฝนยังไม่จบ แต่เราก็ต้องติดต่อ ว่าจะมีการส่งน้ำไหลลงมาอีกหรือไม่... ซึ่งเขื่อนหลักที่เป็นปัจจัยต่อ กทม. ก็จะมี 2 เขื่อนใหญ่ คือ ภูมิพล สิริกิติ์ นอกจากนี้ ยังมี “ป่าสักชลสิทธิ์” ซึ่ง เขื่อนป่าสัก เวลานี้อยู่ที่ 88% ของความจุ แต่...ก็ยังไม่เทียบเท่าตอนปี 2554 ซึ่งตอนนี้ยังถือว่ายังมีเวลาในการเก็บและระบายต่อไปได้
“ยืนยันได้ว่า น้ำท่วมเมื่อวานนี้ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำเหนือเลย แต่...มันมีผลจากน้ำเหนือบ้างในเรื่องของการระบายน้ำ เพราะน้ำในแม่น้ำลำคลองมีสูง จึงทำให้ระบายได้ช้า แต่หลักๆ ของปัญหา คือ การระบายน้ำไม่ทัน เพราะฝนตกมาเยอะ และมาเร็ว จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งแตกต่าง น้ำท่วมปี 2554”
เมื่อถามว่า หลังจากนี้ มีโอกาสเกิดพายุลูกใหม่ พัดถล่ม หรือไม่ ดร.ภานุ กล่าวแบ่งรับแบ่งสู้ ว่าน่าจะมีโอกาส เพราะฤดูฝนยังไม่สิ้นสุด
สิ่งที่ กทม.ต้องรับมือ หลังจากนี้ คือ ต้องหามาตรการมารองรับกรณี “ฝนตก” แบบกะทันหัน ในแต่ละวัน ซึ่งอาจจะเช็กล่วงหน้าจากกรมอุตุฯ
...
ตอนนี้น้ำในแม่น้ำมีเยอะ เพราะเกิดฝนตกน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้มีการเร่งระบายน้ำลงแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น คนที่อาศัยริมน้ำ ก็มีโอกาสเจอน้ำท่วม คนที่เจอน้ำท่วมบ่อยๆ ก็จะเจอน้ำท่วมสูง ซึ่งตอนนี้ หลายจังหวัดก็ท่วม ทั้งพระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์
เมื่อถามว่า น้ำที่ท่วมในพื้นที่ ภาคเหนือและภาคกลางในเวลานี้ จากการคำนวณระยะทางและเวลาแล้ว มันจะมาถึงกรุงเทพฯ ช่วงใด อาจารย์ภานุ นิ่งไปครู่หนึ่ง ก่อนกล่าวว่า เริ่มมาช่วงนี้แหละ และมันจะไปสิ้นสุด โดยน้ำเหนือจะไปออกจากเจ้าพระยาลงอ่าวไทย ในช่วง ปลายเดือนพฤศจิกายน ซึ่งถือเป็นช่วงลอยกระทง ฉะนั้น ช่วงนี้แม่น้ำลำคลอง จึงมีปริมาณมาก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เวลาฝนตกหนักเกิดการระบายได้ช้าลง แต่ที่น้ำท่วมในเวลานี้ เพราะฝนตกหนัก...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
...