ท่ามกลางวิกฤติการเมืองและสงครามระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” และปัญหาเศรษฐกิจทั่วโลก ล่าสุด จู่ๆ ก็มี “ข่าวลือ” ว่า “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีของ สาธารณรัฐประชาชนจีน และเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ถูกรัฐประหารโดยกองทัพจีน
รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่คร่ำหวอดเกี่ยวกับประเทศจีน กล่าวอย่างฟันธงว่า “ข่าวลือ” ดังกล่าว เป็นไปไม่ได้ เพราะ “อำนาจทั้งหมด” ของจีนในยุคนี้อยู่ในกำมือผู้ชายที่ชื่อว่า “สี จิ้นผิง”
ที่มาข่าวลือรัฐประหาร “สี จิ้นผิง” และความซับซ้อนโครงสร้างอำนาจในจีน
รศ.ดร.อักษรศรี ผู้ที่คร่ำหวอดเกี่ยวกับประเทศจีน กล่าวว่า ตอนนี้ถือเป็นช่วงใกล้การประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 (จัดประชุมทุก 5 ปี) ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ผู้นำระดับ “คีย์แมน” ของจีน ซึ่งมีอยู่ 7 คน บางคนอาจจะถูกปรับเปลี่ยนออกไปตามกลไก แต่ที่จะไม่เปลี่ยนแปลง คือเบอร์ 1 ของพรรคฯ “สี จิ้นผิง” และเป็นการครองตำแหน่งในวาระที่ 3 ของสี จิ้นผิง ด้วย ดังนั้น ข่าวลือ ข่าวปล่อยในช่วงนี้ของจีน โดยเฉพาะประเด็นรัฐประหารในจีน จึงกลายเป็นที่จับตาทั้งของไทยและชาวโลก
รศ.ดร.อักษรศรี อธิบายว่า “จีนมีความซับซ้อนซ่อนเงื่อน” ในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะด้านการเมืองของจีนมีความแตกต่างจากประเทศไทย และหลายประเทศทั่วโลก บางเรื่องเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ และจีนเองไม่เปิดเผยข้อมูลออกสื่อ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยกลายเป็นปริศนา ด้วยเหตุนี้ จึงควรที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองในแบบของจีน...
...
หมวก 3 ใบ กุมอำนาจการเมือง การปกครอง และการทหารในจีน
เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน รศ.ดร.อักษรศรี ได้อธิบายกลไกการเมืองการปกครองของสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนี้ “พรรคคอมมิวนิสต์จีน”เปรียบเสมือนเป็น “สถาบันการเมืองสูงสุดของจีน” เป็นพรรคการเมืองเดียวที่กุมอนาคตประเทศจีน ในขณะนี้ มีสมาชิก 90 กว่าล้านคน และมีกลไกโครงสร้างซับซ้อน ที่สำคัญ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ในการเข้าไปแทรกซึมในทุกภาคส่วนของจีน ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ทั้งนี้ หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ประเทศจีนมีพรรคการเมืองทั้งสิ้น 9 พรรค เพียงแต่พรรคการเมืองอื่นส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะไม้ประดับ ไม่ได้มีอยู่เพื่อเป็นพรรคฝ่ายค้าน และตั้งแต่ปี 1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นเพียงพรรคการเมืองเดียวที่ปกครองแผ่นดินจีน
“ดังนั้น ข้อเท็จจริงของการเมืองจีน คือ จีนไม่ได้มีพรรคการเมืองเดียว เพียงแต่ประเทศจีนถูกบริหารโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพียงพรรคเดียวมาโดยตลอด” รศ.ดร.อักษรศรี กล่าว
พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีกองทัพของตัวเอง :
กองทัพจีน หรือ กองทัพปลดแอกประชาชน (People's Liberation Army หรือ PLA) หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า “กองทัพ PLA เป็นกองทัพสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์จีน” เป็นกองทัพของพรรคการเมือง ไม่ใช่กองทัพประเทศ!!
“ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์ คือ การมีกองทัพเป็นของตนเอง ในขณะที่ พรรคการเมืองของประเทศอื่น เช่น พรรคการเมืองในสหรัฐฯ ทั้ง 2 พรรค คือ รีพับลิกัน หรือ เดโมแครต ก็ไม่ได้มีกองทัพของตนเอง (ยิ้ม) แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีน มีกองทัพของตัวเองที่แข็งแกร่ง ในขณะนี้ สี จิ้นผิงยังได้ครองตำแหน่งสูงสุดในการคุมกองทัพจีน คือ ประธานกรรมาธิการกลางกองทัพจีน จึงสะท้อนว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีน กับ โครงสร้างทางการทหาร มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร”
การปล่อยข่าวลือว่า กองทัพจีนก่อรัฐประหาร “ยึดอำนาจ” สี จิ้นผิงที่ดำรงตำแหน่งเบอร์ 1 ของกองทัพ และเบอร์ 1 บริหารประเทศ (ประธานาธิบดี) รวมทั้งเบอร์ 1 พรรคคอมมิวนิสต์ (เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์)
จึงเป็นไปไม่ได้เลย ในเมื่อ “สี จิ้นผิง” ในเวลานี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยสวมหมวกแห่งอำนาจสำคัญในประเทศจีนถึง 3 ใบ!
...
“อำนาจคุมกองทัพ” หมวกใบสำคัญของ “สี จิ้นผิง”
รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้นำจีนในอดีตอาจจะไม่ได้สวมหมวก 3 ใบนี้ในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างอดีตผู้นำ “เหมา เจ๋อตุง” แม้เหมา เจ๋อตุงจะใส่หมวกเบอร์ 1 คุมพรรคและคุมกองทัพ ในบางช่วงเวลา เหมา เจ๋อตุงแต่ก็ไม่ได้สนใจจะสวมหมวกประธานาธิบดีจีน
นอกจากนี้ ผู้นำจีนอย่าง “เติ้ง เสี่ยวผิง” ก็ไม่เคยใส่หมวกเบอร์ 1 บริหารประเทศ เติ้ง เสี่ยวผิงไม่เคยเป็นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีจีน แต่เคยใส่หมวกหลักในการคุมกองทัพ คือ ประธานกรรมาธิการกลางกองทัพจีน ทั้งนี้ แม้ว่า เติ้ง เสี่ยวผิงไม่ได้ใส่หมวกสูงสุดในตำแหน่งที่เป็นทางการ แต่เติ้ง เสี่ยวผิงก็คือผู้ชายหลังฉากที่มีอำนาจและทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งของจีน
การปรากฎตัวของผู้นำจีน
สำหรับ “สี จิ้นผิง” ตั้งแต่ก้าวสู่อำนาจเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อปลายปี 2012 เขาก็สวมหมวกเบอร์ 1 คุมกองทัพด้วย คือ ตำแหน่งประธานกรรมธิการกลางกองทัพจีน จากนั้น เดือนมีนาคม 2013 เมื่อมีการประชุมสภาประชาชนจีน หรือ NPC สีจิ้นผิงก็ได้เริ่มดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน เบอร์ 1 ในการบริหารปกครองประเทศจีน “สี จิ้นผิง ถือเป็นผู้นำจีนที่สวมหมวกแห่งอำนาจครบทั้ง 3 ใบอย่างแข็งแกร่งมาจนถึงทุกวันนี้”
...
ที่สำคัญ ในช่วง 5 ปีแรกของการบริหารประเทศ “สี จิ้นผิง” ยังมุ่งสร้างศรัทธาและซื้อใจประชาชน ด้วยการประกาศทำสงครามปราบคอร์รัปชัน และสงครามขจัดความยากจน ซึ่งล้วนเป็นปัญหาคาใจของคนจีน และผู้นำจีนในอดีตยังไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งสองเรื่องนี้ได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด”
แก้รัฐธรรมนูญ ปลดล็อกตำแหน่งประธานาธิบดีจีนแบบไร้วาระ
กูรูประเทศจีน ยังกล่าวถึงความแยบยลทางการเมืองของ “สี จิ้นผิง” ว่า ในช่วงครองอำนาจครบ 5 ปีแรกและได้รับความนิยมจากประชาชนจีนด้วยการสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมเพื่อชนะใจคนจีน โดยเฉพาะการปราบคอร์รัปชัน ในปี 2017 “สี จิ้นผิง” ก็ได้เริ่มผลักดันสิ่งที่เรียกว่า“ความคิดสีจิ้นผิง” (Xi Jinping Thought on Socialism with Chinese Characteristics for a New Era) และได้นำ “ความคิดสีจิ้นผิง” บรรจุในธรรมนูญพรรคคอมมิวนิสต์จีน ถือเป็นการปูแนวคิดเชิงสถาบันของผลงานตนเองผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ความคิดสีจิ้นผิง” และต่อในปี 2018 ก็ได้นำ “ความคิดสีจิ้นผิง” บรรจุในรัฐธรรมนูญของประเทศจีน และล่าสุด ยังได้นำ “ความคิดสีจิ้นผิง” บรรจุในหนังสือตำราเรียนของเยาวชนจีนอีกด้วย!!
...
ทั้งนี้ ในปี 2018 นอกจากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญของประเทศเพื่อนำ “ความคิดสีจิ้นผิง” บรรจุไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศจีนแล้ว ในปีนั้น ยังได้มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกในเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของจีนอีกด้วย (จากเดิมที่มีวาระ 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระ คือ 10 ปี)
“การแก้รัฐธรรมนูญครั้งนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สี จิ้นผิงเพิ่งอยู่ในวาระ 5 ปีแรกเท่านั้น คือปี 2018 ทั้งที่ยังมีเวลาอีก 5 ปี แต่สี จิ้นผิงมีความแยบยล จึงเลือกที่จะแก้รัฐธรรมนูญในช่วงที่เขาได้รับความนิยมและศรัทธาจากประชาชนอย่างล้นหลาม จึงรู้จัก right timing ว่า ตัวเองควรทำเรื่องสำคัญเช่นนี้ในช่วงเวลาใด” ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานอำนาจของ “สีจิ้นผิง” ในเชิงสถาบัน และสะท้อนชัดว่า “อำนาจทางการเมือง การบริหารประเทศ และการทหารอยู่ในกำมือสี จิ้นผิงแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด”
หลายคนอาจจะสงสัยว่า การวางอำนาจแบบนี้ถือเป็นวิถีทางของ “ผู้นำเผด็จการ” ไม่ฟังประชาชนเลยหรือไม่? รศ.ดร.อักษรศรี ตอบว่า “คงไม่ได้ขนาดนั้น” เท่าที่จับตาสถานการณ์ในยุคสี จิ้นผิงมาถึงขณะนี้ พบว่า การสร้างฐานอำนาจของสี จิ้นผิงและพรรคคอมมิวนิสต์จีนในยุคนี้ ไม่ได้ทำเพื่อลิดรอนหรือคุกคามประชาชน แต่เน้นใช้อำนาจที่แข็งแกร่งเช่นนี้เพื่อจัดการกับปัญหาความทุกข์ใจของประชาชนจีนที่เคย “แก้ยาก” และผู้นำจีนในอดีตไม่เคยแก้ไขได้ เช่น ปัญหาคอร์รัปชัน และปัญหาความยากจน
ตัวอย่างรูปธรรมในการปราบคอร์รัปชันของ “สี จิ้นผิง” ในช่วง 5 ปีแรกของการเป็นผู้นำจีน มีรายงานว่า สี จิ้นผิงสามารถจัดการกับการคอร์รัปชันได้มากถึง 1.5 ล้านกรณี ไม่ว่าจะเป็นระดับรัฐมนตรี หรือเบอร์ 2 ของกองทัพจีน และตำแหน่งใหญ่โตใดๆ ก็ถูกปราบ หากมีหลักฐานชัดว่า ได้มีการฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยมีหน่วยงานปราบคอร์รัปชันระดับประเทศของจีนที่มีความเฉียบขาด และจัดการลงดาบกับทุกระดับ ไม่ว่าเสือหรือแมลงวัน
อย่างไรก็ดี หลายคนอาจจะมองว่า สี จิ้นผิงใช้การปราบคอร์รัปชันเพื่อ “กำจัดศัตรูทางการเมือง” หรือไม่? รศ.ดร.อักษรศรี ตอบว่า “ก็มีบางกรณีที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นฝ่ายตรงข้ามสี จิ้นผิง” แน่นอนว่า ย่อมมีบางกรณีที่ผู้ถูกลงโทษ คือ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับสี จิ้นผิง แต่อย่างไรก็ดี คนเหล่านั้นล้วนมีหลักฐานในการทำผิดและคอร์รัปชันโกงกินบ้านเมือง ดังเช่นข่าวล่าสุด กรณีของฝูเจิ้งหัวและซุนลี่จุน ที่เป็นอดีตรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีช่วย เพิ่งถูกตัดสินในข้อหาคอร์รัปชัน จึงถูกโยงเข้ากับการปล่อยข่าวลือเรื่อง “รัฐประหาร” ยึดอำนาจสี จิ้นผิง
“เป่ยไต้เหอ” ประชุมลับและเป็นเวที “เคลียร์ใจสลายขัดแย้ง”
เมื่อถามว่า มีความเห็นต่างกับ “สี จิ้นผิง” ในพรรคคอมมิวนิสต์จีนหรือไม่? รศ.ดร.อักษรศรี ยอมรับว่า “ย่อมมีคนเห็นต่างในพรรคฯ เป็นเรื่องธรรมดาทุกอย่างมีหลายมุมมอง” เพียงแต่เป็นความเห็นต่างในเชิงนโยบายหรือวิธีการจัดการปัญหา แต่ไม่ใช่ความเห็นต่างที่เป็นความแตกแยกแย่งชิงอำนาจ ขอยกตัวอย่าง “กรณีนโยบาย Zero Covid ของสี จิ้นผิง ต้องยอมรับว่า มีบางคนในพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มองว่า เป็นนโยบายที่ตึงเกินไป จนสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา” จึงมีข้อถกเถียงกันว่า ถึงเวลาผ่อนคลายนโยบาย Zero Covid หรือควรจะยกเลิกเมื่อไหร่ อย่างไร
“ความเห็นต่างในพรรคคอมมิวนิสต์ เป็นแค่การถกเถียงเชิงความคิดว่า อะไรจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าหรือดีที่สุดในการแก้ปัญหาของชาติ แต่ไม่ใช่เห็นต่างถึงขั้นจะยึดอำนาจ” ซึ่งความเห็นต่างภายในพรรคคอมมิวนิสต์ ก็จะมีการ “นัดเคลียร์ใจ” กันทุกปี ในการประชุมนอกรอบของพรรคฯ ที่เมืองเป่ยไต้เหอ (Beidaihe) ในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งจะมีผู้บริหารของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งผู้ใหญ่ในอดีตและปัจจุบัน ก็จะไปร่วมประชุมเคลียร์ใจกันในที่พักอากาศริมทะเลเมืองเป่ยไต้เหอ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพรรคฯ มาตั้งแต่ยุคเหมา เจ๋อตุง และเป็นการประชุมลับ ไม่มีใครรู้ว่า ผู้ใหญ่ในพรรคของจีนตกลงอะไรกัน”
รศ.ดร.อักษรศรี กล่าวทิ้งท้ายว่า “เมื่อการประชุมเคลียร์กันจนจบที่เป่ยไต้เหอ ความเห็นต่างทุกอย่างก็จบตรงนั้น จะไม่นำข้อมูลมาโจมตีทางการเมืองหรือดิสเครดิตขัดแย้งกัน หรือพยายามที่จะล้มล้างยึดอำนาจกัน นี่คือ กลไกที่เป็นระบบแบบจีน” ดังนั้น เมื่อมีข่าวลือต่างๆ ออกมา จึงอยากให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรองข่าวสาร “หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับจีน จะมีความซับซ้อนและมีบริบทแบบจีนที่แตกต่างกับหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย จึงควรจะทำความเข้าใจโครงสร้างการเมืองและการปกครองของจีนอย่างถ่องแท้ด้วย”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ