การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ "ธนาคารกลางสหรัฐ" หรือ "เฟด" อีก 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน จนส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3 - 3.25% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เกิด "วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์" ในปี 2008 หนำซ้ำ เฟด ยังมีการแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวว่า มีแนวโน้มที่จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปจนถึงระดับ 4.75-5% ภายในปี 2023 ถึงแม้ว่า การดำเนินการดังกล่าว อาจส่งผลให้ "อัตราการว่างงาน" เพิ่มขึ้นเป็น 4.4% รวมถึงอาจทำให้ GDP ลดลงเหลือเพียง 0.2% ในปีหน้า เพื่อหวังกด “เงินเฟ้อ” ให้ลงไปอยู่ในระดับ 2% ตามแผนภายในปี 2025

นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด

...

แผนปฏิบัติการอันแข็งกร้าวของ "เฟด" เพื่อต่อสู้กับ “เงินเฟ้อ” เดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ อะไรคือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และ ธนาคารแห่งประเทศไทยรวมถึงรัฐบาลควรเตรียมตั้งรับอย่างไร วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สนทนา กับ "นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อมุ่งหา “อีกหนึ่งคำตอบ” สำหรับ "ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น"

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ช่วยเรื่องเงินเฟ้อในสหรัฐฯได้เพียงบางส่วนเท่านั้น”

สาเหตุที่นำไปสู่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ :

1. เงินเฟ้อที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ ในแบบที่เรียกว่า “เทกระจาดครั้งใหญ่” ซึ่งดำเนินมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 จนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ เฟด เองหากใช้ภาษาชาวบ้านก็คือ เข้าไปช่วยด้วยการพิมพ์ธนบัตรออกมาให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯนำใช้จ่ายจำนวนมหาศาลมากเกินไป ซึ่งความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้เอง คือ สิ่งที่ทำให้ เฟด ต้องหาทางแก้ไขในสิ่งที่ตัวเองทำมาจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี สำหรับปัญหาในข้อแรกนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ เฟด สามารถแก้ไขได้ในส่วนนี้

2. เงินเฟ้อที่ขับเคลื่อนจากสงครามในยูเครน ซึ่งส่งผลให้ ราคาพลังงาน ราคาปุ๋ย มีราคาสูงขึ้น จนไปกระทบต่อค่าครองชีพ ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ เฟด ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะถึงจะปรับไปมันก็ไม่ได้ไปเพิ่มปริมาณน้ำมัน หรืออาหาร ขึ้นมาในโลกได้

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ เฟด :

“เฟด ยิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งอันตรายมากขึ้นเท่านั้น”

...

ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า เฟด ตัดสินใจช้าเกินไป เพราะควรตัดสินใจทำมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้นานแล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในสหรัฐฯ เพราะโดยปกติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายกว่าจะเห็นผล ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 12-18 เดือน ฉะนั้น หากนับตั้งแต่การปรับขึ้นครั้งแรกที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จึงยังไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นกังวลในเวลานี้คือ การที่ เฟด ตัดสินใจใช้ความแข็งกร้าวในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ สหรัฐฯ ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เข้าสู่ภาวะถดถอยได้เพิ่มเติมอีก 2 ปัจจัยด้วย คือ...

1.เศรษฐกิจยุโรปที่เข้าสู่ภาวะชะลอตัวจากสงครามยูเครน และ 2.เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงจากการยึดนโยบาย (Zero-COVID) ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ยิ่ง เฟด ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งอันตรายมากขึ้นเท่านั้น

ที่สำคัญไปกว่านั้น คือ หากภายในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า เกิดมีปรากฏการณ์ที่ไม่คาดฝัน หรือ ที่เรียกว่า “Black Swan” ขึ้นมาแทรกซ้อนจนไปกระทบต่อตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น แล้ว เฟด เห็นว่า “ควรต้องหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมา” คราวนี้เศรษฐกิจโลกมันก็จะรวนกันไปทั้งระบบ

...

แบงก์ชาติ VS เฟด :

“คำถามที่ว่า ควรมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม เฟด หรือไม่ มันขึ้นอยู่กับว่า แบงก์ชาติได้พิมพ์ธนบัตรออกมาจำนวนมากเพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้เหมือนกรณี เฟด หรือเปล่า?”

สำหรับประเทศใดที่ไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบแข็งกร้าว เหมือนกับกรณีของ เฟด ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไทย ที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบค่อยเป็นค่อยไป นั้น สิ่งแรกที่ต้องคำนึงคือ แบงก์ชาติของประเทศนั้นๆ ได้มีการพิมพ์ธนบัตรออกมาในปริมาณมหาศาลเพื่อให้รัฐบาลนำออกไปใช้จ่ายเหมือนกับกรณีของ เฟด หรือในหลายๆ ประเทศของยุโรป หรือไม่? แต่เท่าที่ทราบกรณี ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่เป็นเช่นนั้น ด้วยเหตุนี้จึงอาจไม่มีความจำเป็นที่ แบงก์ชาติ จะต้องไปรีบร้อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบแข็งกร้าวเช่นที่ เฟด ลงมือทำอยู่ในเวลานี้

แบงก์ชาติวินัยดี แต่รัฐบาลวินัยอ่อน :

“รัฐบาลใช้เงินกู้ หว่านเม็ดเงินเข้าไปในระบบมากเกินไป”

สำหรับปัญหาของประเทศไทย คือ ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลไปกับการอุปโภคบริโภค ซึ่งเม็ดเงินที่ว่านี้ส่วนใหญ่มาจากการ “เงินกู้” มันจึงทำให้เกิดปัญหาเรื่อง “การเพิ่มกำลังซื้อในระบบมากจนเกินไปและไม่ได้เพิ่มระดับความสามารถในการหารายได้ของประเทศ” ทั้งๆ ที่ ควรมีการ “จำกัดขอบเขต” ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะรัฐบาลหวังสร้างฐานคะแนนเสียงเอาไว้สำหรับการเลือกตั้งที่ใกล้มาถึง ฉะนั้น หากจะพูดเป็นภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆ คือในเวลานี้ แบงก์ชาติวินัยดี แต่รัฐบาลวินัยอ่อน

...

ด้วยเหตุนี้มันจึงทำให้ แบงก์ชาติมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่บ้าง เพื่อเป็นการตีมือให้รัฐบาลชุดนี้ได้รู้ตัวเอาไว้สักหน่อย ในทำนอง “หากคุณขยายคอ ผมก็ต้องรัดเข็มขัด” เพราะ “เงินกู้ไม่ใช่ของฟรีที่ตกมาจากฟ้า และจะต้องหาเงินมาชดใช้คืนในอนาคต”

เงินเฟ้อ และเงินบาทอ่อนค่า :

“ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแบงก์ชาติ อย่าไปแทรกแซง”

เมื่อ "เฟด" ตะบี้ตะบันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แน่นอนว่าย่อมทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ในขณะที่สกุลเงินอื่นๆ ก็ย่อมต้องอ่อนค่าลงเป็นธรรมดา ฉะนั้น จึงไม่ควรไปฝืน แต่แน่นอนว่าเมื่อเป็นเช่นนั้นก็ย่อมต้องทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งก็คงต้องไปบริหารจัดการกันในจุดนั้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสม ส่วนจะปรับหรือไม่ จะปรับเมื่อไหร่ และปรับเท่าใด รวมถึง ค่าเงินบาทควรจะอยู่ที่เท่าใด นั้น ควรจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนด และไม่ควรนำเงินทุนสำรองเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท เพราะคำถามคือ เราจะต้องทำแบบนั้นไปทำไม?

เพราะการที่ “ค่าเงินบาทอ่อนลง” แม้จะทำให้การนำเข้าพลังงานมีราคาสูงขึ้น แต่นั่นเท่ากับเป็นการบังคับกลายๆ ให้คนในประเทศต้องประหยัดกันมากขึ้น ส่วนประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรงอยู่แล้วที่จะต้องเข้าไปดูแลให้ความช่วยเหลือเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา รวมถึงเร่งหาทางแก้ไขปัญหาโครงสร้างด้านพลังงานที่ยังเป็นปัญหาอยู่ในเวลานี้โดยเร็วด้วย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :