เรื่องร่ำลือที่ผ่านไปแล้วเกือบ 20 ปี ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่าสาเหตุแห่งความขัดแย้งนั้นเรื่องจริงเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ทุกวันนี้แยกกันเดินคนละเส้นทาง ทั้งที่เป็นสองนางพญาที่เคยอยู่ในประวัติศาสตร์การสร้างพรรคไทยรักไทย ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ เมื่อปี 2544 และส่งให้ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรค ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 23

เส้นทางของคุณหญิงทั้งสองเป็นเส้นขนาน ที่ในส่วนของคุณหญิงพจมาน ไม่ออกมาความเคลื่อนไหวทางการเมืองมานาน จนเพิ่งออกมาร่วมอีเวนต์ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยในรอบกว่า 16 ปี ตรงกันข้ามกับคุณหญิงสุดารัตน์ หรือหลายคนเรียกว่าคุณหญิงหน่อย ที่เดินหน้าลงพื้นที่พบประชาชนอย่างต่อเนื่อง สร้างพรรคการเมืองของตัวเอง พร้อมอดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคน ภายใต้ชื่อพรรคไทยสร้างไทย เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าประสบการณ์ทางการเมือง 31 ปีที่ผ่านมาจะต้องไม่เสียเวลาเปล่า

วันที่ 9 ก.ย. 2565 พรรคไทยสร้างไทย จัดประชุดใหญ่วิสามัญ “มาร่วมกันเปลี่ยนประเทศ สร้างชีวิตที่ดีกว่ากับพรรคไทยสร้างไทย” และมีการประกาศอย่างเป็นทางการแต่งตั้งคุณหญิงสุดารัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ
วันที่ 9 ก.ย. 2565 พรรคไทยสร้างไทย จัดประชุดใหญ่วิสามัญ “มาร่วมกันเปลี่ยนประเทศ สร้างชีวิตที่ดีกว่ากับพรรคไทยสร้างไทย” และมีการประกาศอย่างเป็นทางการแต่งตั้งคุณหญิงสุดารัตน์ เป็นหัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ

...

ความชัดเจนในการลุยการเมืองอย่างเต็มสูบนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เพิ่งประกาศย้ำเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งหลังประกาศอย่างเป็นทางการไม่กี่ชั่วโมง วันต่อมา 10 ก.ย. ในอีเวนต์ใหญ่ “สะบัดชัย เพื่อไทยมาเหนือ” เกิดภาพเป็นข่าวที่น่าสนใจกว่าปกติ เพราะคุณหญิงพจมานออกโรงมาพร้อมสมาชิกในครอบครัวให้กำลังใจ หรือในความหมายคือ การสนับสนุน อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนสุดท้องอย่างเต็มที่ แม้ภารกิจของอิ๊งค์ เป็นความหวังสุดท้าย ของทักษิณ ชินวัตร ในการนำทัพพรรคเพื่อไทยให้ชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อพาพ่อกลับบ้าน

คุณหญิงพจมาน เป็นกำลังใจให้อิ๊งค์ ในงานพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2565
คุณหญิงพจมาน เป็นกำลังใจให้อิ๊งค์ ในงานพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 10 ก.ย.2565

เป็นการออกสู่สปอตไลต์ทางการเมืองหลังจากอยู่เงียบๆ มานานของคุณหญิงพจมาน หลังจากเมื่อปี 2551 หย่าขาดจากทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2549 และทักษิณต้องไปอยู่ต่างประเทศมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน

ส่วนคุณหญิงสุดารัตน์นั้นตรงกันข้าม เพราะยังคงลงพื้นที่เพื่อพบประชาชนอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกับกลุ่มคนในเครือข่ายต่างๆ เพิ่มขึ้น พร้อมบอกเล่าถึงเป้าหมายทางการเมืองไทยในอนาคต โดยไม่ตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวในอดีต ที่มักจะบอกเสมอว่า เพราะได้ก้าวข้าม และอโหสิกรรมแล้ว

หลายคนพยายามสอบถามเรื่องความขัดแย้งส่วนตัวที่ไม่เพียงมีการโยงไปถึงคุณหญิงพจมาน แต่ยังพาดพิงไปถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวทักษิณ ที่คุณหญิงสุดารัตน์ก็ไม่ขอพูดถึง จะมีเพียงแต่คนรอบข้างที่บอกได้ว่า “เป็นปัญหาแบบผู้หญิง ผู้หญิง”

จนถึงวันนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ ย้ำแต่เพียงว่าได้ก้าวข้ามไปแล้ว และจากนี้กำลังมุ่งมั่นเพื่อทำภารกิจสำคัญสุดท้าย โดยมีใจความสำคัญที่คุณหญิงสุดารัตน์ย้ำกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ล่าสุดว่า

“ความตั้งใจในการสร้างพรรคไทยสร้างไทย ถือว่าเป็นภารกิจสุดท้ายแล้ว ที่อยากสร้างสถาบันการเมืองที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ที่ไม่ใช่มีใครมาเป็นเจ้าของ มีความตั้งใจอยากทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ”

ส่วนประสบการณ์ในการร่วมสร้างพรรคการเมืองในอดีตอย่างพรรคไทยรักไทย จนได้ที่นั่ง ส.ส.จำนวนมากแบบแลนด์สไลด์นั้น คุณหญิงสุดารัตน์ตอบเพียงว่า วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และคนต้องเปลี่ยนตาม เพราะปัญหาหลักของประเทศ คืออำนาจนิยมที่กดทับประเทศ จนประชาชนแทบเดินต่อไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้ง 16 ปี และเลวร้ายที่สุดคือในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา เมื่อประเทศเดินต่อไม่ได้ ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไร ดังนั้นอย่างแรกที่ต้องคิด คือการทำงาน เพื่อสร้างพรรคไทยสร้างไทย ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีความตั้งใจแก้วิกฤติของประเทศจริงๆ

...

“พี่อายุมากแล้ว อายุ 61 แล้ว พี่ถือว่าทำภารกิจในการสร้างพรรคให้สำเร็จเป็นภารกิจสำคัญสุดท้าย ที่ไม่ใช่ 31 ปี ที่ทิ้งไปเปล่าๆ จะใช้ประสบการณ์มาสร้างสถาบันการเมืองดีๆ แล้วทำตัวเป็นแค่เสาเข็ม เป็นแค่สะพานในการเชื่อมโยงคนทุกรุ่น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้มาช่วยกันสร้างบ้านสร้างเมือง สร้างประเทศไทยให้ดีที่สุดส่งมอบให้คนรุ่นต่อไป” นั่นคือความตั้งใจที่คุณหญิงสุดารัตน์ย้ำอีกครั้ง

คุณหญิงพจมาน มอบของขวัญแก่คุณหญิงสุดารัตน์ ในงานวันเกิดเมื่อปี 2548
คุณหญิงพจมาน มอบของขวัญแก่คุณหญิงสุดารัตน์ ในงานวันเกิดเมื่อปี 2548

ย้อนกลับไปในอดีต 31 ปีที่ผ่านมา กว่าที่คุณหญิงสุดารัตน์จะก้าวมาสู่การเป็นแม่ทัพพรรคไทยสร้างไทย และพร้อมเป็นแคนดิเดตนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 นั้น เคยเป็นดาวรุ่งทางการเมือง มีโอกาสเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวงในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา มีตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรกในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในโควตาพรรคพลังธรรม ต่อมาในสมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

...

อดีตเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2539 พ.ต.ท.​ทักษิณ ชิน​วัตร หัวหน้า​พรรค​พลัง​ธรรมในขณะนั้น ​เข้า​ประชุม​พรรค​และ​เปิด​แถลงข่าว​ยืนยัน​​ไม่​ลง​สมัคร ส.ส.​โดยมีคุณหญิงสุดารัตน์ และ  พล.ต. จำลอง ศรี​เมือง อยู่ในห้องแถลงข่าวด้วย
อดีตเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2539 พ.ต.ท.​ทักษิณ ชิน​วัตร หัวหน้า​พรรค​พลัง​ธรรมในขณะนั้น ​เข้า​ประชุม​พรรค​และ​เปิด​แถลงข่าว​ยืนยัน​​ไม่​ลง​สมัคร ส.ส.​โดยมีคุณหญิงสุดารัตน์ และ พล.ต. จำลอง ศรี​เมือง อยู่ในห้องแถลงข่าวด้วย

...

จากนั้นเริ่มอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ตั้งแต่ช่วงที่ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม ในปี 2539 จนมาถึงช่วงการสร้างพรรคไทยรักไทย และชนะการเลือกตั้งในเดือน ม.ค.2544 และทักษิณ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก และคุณหญิงสุดารัตน์ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตลอดอายุรัฐบาลทักษิณ ในช่วงปี 2544-2548

กำลังใจที่มอบให้ ทักษิณ ชินวัตร ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2549
กำลังใจที่มอบให้ ทักษิณ ชินวัตร ที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 3 มี.ค.2549

เมื่อทักษิณ ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี 2548 คุณหญิงสุดารัตน์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนกระทั่งเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 และด้วยความเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกตัดสินยุบพรรค จึงถูกตัดสิทธิ์การเมืองนาน 5 ปี ในช่วงปี 2550-2555

ช่วงเลือกตั้งปี 2562 คุณหญิงสุดารัตน์ ทำหน้าที่เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในนามพรรคเพื่อไทย แต่คุณหญิงสุดารัตน์ในวัย 60 ปี เลือกลาออกจากพรรคเพื่อไทย เพื่อสร้างพรรคใหม่ เปิดตัวในช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.นี้ มีหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ในสนามเลือกตั้งสมาชิกสภา กทม. พรรคเพื่อไทยควรได้ 35 ที่นั่ง แต่ปรากฏว่าได้เพียง 20 ที่นั่ง เพราะคะแนนกระจายไปยังพรรคอื่น หนึ่งในนั้นคือพรรคไทยสร้างไทย ที่มีคนเข้าใจว่าเป็นพรรคพี่พรรคน้องกับพรรคเพื่อไทย แม้ต่างฝ่าย ต่างก็บอกว่าไม่อยากให้ใครเข้าใจผิดแบบนั้นก็ตาม