จะบอกว่า “ไม่เชื่อ” ก็ต้อง “เชื่อ” ว่าจะเกิดเหตุการณ์ เด็ก ม.3 อายุ 15 ปี โรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่ จ.นนทบุรี ยิงเพื่อนเสียชีวิตคาห้อง “คอมพิวเตอร์” กลายเป็นภาพที่สยดสยอง ในสถาบันการศึกษา
แม้ช่วงแรก หลังเกิดเหตุใหม่ๆ จะมีรายงานว่าเป็น “คีย์บอร์ดระเบิด” แต่หลังจากเค้นสอบความจริงก็พบว่า เกิดเหตุจาก อาวุธปืน “ไทยประดิษฐ์” ซึ่งอ้างว่า ขโมยของพระมาก่อเหตุ?
เรียกว่าตะลึงซ้ำซ้อน ถึงการก่อเหตุของเด็ก และพระมีปืน?
หลัก “พิจารณาคดี” และโอกาสไม่ต้องรับโทษ
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงคดีนี้ ว่า จากคดีดังกล่าว อาจจะมีความผิดหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ อาจจะเป็นคดี ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือ ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งหลังเกิดเหตุภายใน 24 ชั่วโมง จำเป็นต้องนำตัวไปส่งศาลเยาวชนฯ ก่อน โดยพิจารณาการประกันตัว จากนั้น ก็จะมีเวลาให้ตำรวจไปสอบสวน
วิธีพิจารณาคดีอาจจะมีความแตกต่างกับคดีผู้ใหญ่ เช่น หากไม่ใช่ฆ่าคนตายโดยเจตนา แต่เข้าข่ายประมาท อาจจะไม่ต้องรับโทษ เพราะศาล อาจจะส่งไปเข้าแผนฟื้นฟูของเด็ก โดยอาจจะต้องเข้าคอร์สดูแลสภาพร่างกายจิตใจ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชน
ถ้าอายุไม่ถึง 15 เต็ม ตามกฎหมายอาจจะไม่ต้องรับโทษ แต่อาจจะใช้มาตรการต่างๆ ได้ โดยอาจจะใช้มาตรการบำบัดฟื้นฟู ของศาลเยาวชนฯ อาจจะส่งเข้าศูนย์ฝึก แต่ถ้าเกิน 15 แต่ไม่เกิน 18 ปี ศาลมีอำนาจลงโทษได้ แต่ลดโทษได้ตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งตามกฎหมายระบุแค่อายุ ไม่ได้ระบุประเภทความผิด
...
ส่วนการสืบสวนคดี ก็จะเหมือนๆ คดีทั่วไป เพียงแต่พอสืบคดีเสร็จ แล้วพบว่าเป็นคดีไม่ร้ายแรงนัก ก็อาจจะมีมาตรการอื่น แทนคำพิพากษา เช่น ส่งไปทำกิจกรรม แต่ถ้าเป็นเรื่องร้ายแรง มีความผิดก็จะถูกส่งตัวไปที่ศูนย์ฝึกเด็กและเยาวชน ของกรมพินิจฯ
ตอนนี้คงต้องรอเจ้าหน้าที่สอบสวน แต่ถ้าพบว่าเป็น “ปืนลั่น” ก็จะเข้าข่ายประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฉะนั้น การสอบสวนต้องไปสืบถึงวิถีกระสุน ว่ามีเจตนาใดกันแน่
“ส่วนข้อหาในคดี จะเหมือนกับของผู้ใหญ่ เช่น คดีฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ก็จะมีโทษจำคุก 15 ปี ถ้าเข้าข่ายประมาท ก็จะลดหลั่นลงมา ซึ่งความผิดดังกล่าว ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ จะอยู่ในข้อหาเดียวกัน เพียงแต่วิธีพิจารณาและมาตรการ ที่ศาลจะใช้แตกต่างกัน ในขณะที่ เด็กและเยาวชน มีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว ไม่ให้นำประวัติและความผิดในขณะที่เป็นเด็กและเยาวชน ไปใช้ในทางที่เป็นผลร้าย ฉะนั้น จึงจะไม่ติดประวัติอาชญากรรม”โ ฆษกศาลยุติธรรม กล่าว
อย่างไรก็ตาม จากรายงานสถิติคดี ปี 2564 กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่า คดีเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีโดยสถานพินิจฯ ทั่วประเทศ รวม 14,593 คน แบ่งเป็น เพศชาย จำนวน 13,309 คน คิดเป็นร้อยละ 91.2 หญิง จำนวน 1,284 คน คิดเป็นร้อยละ 8.8 ส่วนฐานความผิด ประกอบด้วย เกี่ยวกับทรัพย์ จำนวน 1,857 คน ร้อยละ 12.73 ชีวิตและร่างกาย 1,477 คน ร้อยละ 10.12 ความผิดทางเพศ จำนวน 721 คน ร้อยละ 4.94 ความผิดกับความมั่นคง ความสงบสุข เสรีภาพ การปกครอง จำนวน 257 คน ร้อยละ 1.76 ความผิดยาเสพติด จำนวน 6,943 คน ร้อยละ 47.57 และความผิดอื่นๆ จำนวน 3,338 คน ร้อยละ 22.87
นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงคดี “เด็ก ม.3” ว่า จากการดูจากข้อมูลที่พนักงานสอบสวน มีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นเรื่องของการประมาทเลินเล่อ ถ้าไม่ใช่เรื่องที่ทะเลาะกันมาก่อน แล้วการนำปืนมาเล่น ก็มีโอกาสเกิดเหตุได้ เฉกเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ทำผิด เวลาเมาๆ ก็ทำให้เกิดเหตุได้
เด็กคนนี้ยังอยู่ในระบบการศึกษา และหากดูแล้วไม่ใช่คดีสะเทือนขวัญ ทำผิดโดยสันดาน หรือเป็นพวกขาใหญ่ ใช้อิทธิพล เราก็จำเป็นต้องรักษาอนาคตของเด็กเหล่านี้ไว้เช่นกัน ตามขั้นตอน ภายใน 24 ชั่วโมงอาจจะต้องนำตัวส่งศาลพินิจ หากมีการประตัวก็อาจจะได้ หากไม่ประกันตัวก็จะถูกส่งตัวมาที่สถานพินิจนนทบุรี ซึ่งมีสถานแรกรับ และอาจจะต้องอยู่ที่นี่จนกว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้น ซึ่งจะใช้เวลาไม่นาน เพราะมีกรอบเวลาในการพิจารณาคดีอยู่ เนื่องจากเป็นเด็ก
...
“ผมในฐานะผู้ดูแลก็จำเป็นต้องรักษาสิทธิของทั้งสองฝ่าย คือ ผู้กระทำ เพื่อให้อยู่ในกรอบกติกา และผู้ถูกกระทำ ก็จำเป็นต้องเยียวยาและดูแล”
เปิดหลักพิจารณาคดีเด็กก่ออาชญากรรม
รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวถึงหลักพิจารณาเด็กก่ออาชญากรรมว่า ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว จะเน้นเรื่องการสอบหาข้อเท็จจริง หาเหตุและพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิด จากนั้นก็ไปดูประวัติ ทั้งครอบครัว การศึกษา และพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับคดีทั้งหมด
ภายในครอบครัวมีปัญหาอะไร... พ่อแม่อยู่ด้วยกันหรือไม่ ความใส่ใจในการใช้ชีวิตเป็นอย่างไร
เมื่อมีการตรวจสอบทั้งหมดแล้ว จึงค่อยมากำหนดวิธีการฟื้นฟู เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมและถูกต้อง
หากมาจากครอบครัวอบอุ่น พ่อแม่ดูแลดี :
หากเด็กกระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการ ประมาท ก็จะมีโอกาสประกันตัว เพราะมองว่าครอบครัวมีความพร้อม เด็กยังอยู่ในระบบการศึกษา จึงจำเป็นต้องให้อยู่ในการศึกษาต่อไป
...
หากเด็กที่รู้เท่าไม่ถึงการ ประมาท แล้วก่อเหตุฆาตกรรม ในระหว่างดำเนินคดีสามารถให้ประกันและกลับไปเรียนได้ปกติ? รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้น สังคมอาจจะมองอีกแบบ และเด็กอาจจะปรับตัวได้ยาก เพราะอาจจะยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรือพฤติกรรมของตนเองได้
“กระแสสังคมต่อต้าน อาจจะทำให้เด็กเครียดจนเกิดปัญหา”
หากพ่อแม่แยกทางกัน สังคมมีปัญหา คบหาเพื่อนเกเร :
จะกลับมาพิจารณาเป็นรายๆ ว่าอาจจะให้ หรือ ไม่ให้ประกันตัว แต่โดยหลักการ สามารถให้ประกันตัวได้
แต่...ถ้าปล่อยออกไปข้างนอก ไม่มีหลักประกัน ขาดคนดูแล คิดว่าควรอยู่ในสถานพินิจดีกว่า เพราะก็เหมือนโรงเรียนกินนอน มีเจ้าหน้าที่เปรียบเสมือนพ่อแม่ผู้ปกครอง ดูแลทุกอย่าง ทั้งปรับวินัยให้ด้วย
“เด็กบางคนได้โอกาสจากสถานพินิจฯ กลับกัน เมื่ออยู่ข้างนอก ไม่มีใครกำกับดูแลเขาได้ ลักขโมยก็ยังต้องขโมยต่อไป เพราะที่บ้านยากจน ไม่มีอะไรให้กิน สุดท้ายก็ต้องกลับไปทำผิด เป็นต้น”
นายโกมลให้ความเห็นว่า ส่วนตัว ไม่ได้ซีเรียสว่า “เด็ก” ควรเข้าสถานพินิจ ในมุมมอง ของผู้ปกครอง อาจจะกลัว เพราะคิดว่าเป็นเรือนจำ แต่ความจริง เหมือนโรงเรียนกินนอน และท้ายที่สุด เมื่อออกจากสถานพินิจแล้วก็ลบประวัติออกทุกคน สามารถรับราชการได้ เป็นตำรวจ ทหาร อัยการ ได้เหมือนคนที่ไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน...
เนื่องจาก พ.ร.บ.ศาลเยาวชน เป็น พ.ร.บ.ที่พิเศษ ไม่เหมือนกฎหมายอื่นๆ เพราะเป็นกฎหมายที่ให้โอกาสเด็กและเยาวชน
...
ส่วนกรณีสังคมมองว่า “เด็กทำผิดควรลงโทษแบบผู้ใหญ่” นายโกมล บอกว่า เราทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะเขาคือเด็ก เยาวชน สาเหตุที่ทำอาจเป็นเพราะไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ สติปัญญายังน้อย หรือ ขาดคนควบคุมดูแลและแนะนำอย่างใกล้ชิด บกพร่องทางร่างกาย หรือ ทางจิต มีปมด้อย ถูกบูลลี่ ความยากจน เป็นต้น
สิ่งสำคัญมากที่สุด คือ สถาบันครอบครัว เพราะจากสถิติ 65% ครอบครัวแตกแยก เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ญาติพี่น้อง หรืออาศัยกับคนอื่น
คำว่า เด็ก-เยาวชน อายุต่ำกว่า 15 ปี กับ 18 ปี วิธีพิจารณาต่างกันหรือไม่ นายโกมล ให้คำตอบว่า “ไม่แตกต่างกัน” ในที่นี่ เด็กตั้งแต่อายุ 10-18 ปี ทำผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือ ได้รับโทษตามมาตรการอื่น หรือ สถานพินิจ แต่ในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลง คือ นับจากอายุ 12-18 ปี
“การขยับขึ้นมา 2 ปี แปลว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี เราต้องปล่อยตัวทั้งหมด เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ เพราะเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จะเสมือนไม่ได้ทำความผิด จึงจำเป็นต้องปล่อยตัว”
กลับมาที่การกำหนดโทษ เด็ก-เยาวชน ระหว่างอายุ 12-18 ปี จะไม่แตกต่างกัน ต่อให้ เด็กคนนั้นทำผิดตอนอายุ 17 ปี 9 เดือน แต่มาถูกจับได้ตอนอายุ 20 ปี คดีนี้ก็ต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัว ถึงจะเป็นผู้ใหญ่ บรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม แต่ตอนก่อเหตุยังเป็นเยาวชนอยู่ แต่ถ้ามีความผิด ต้องถูกเข้าอบรมในสถานพินิจ แต่ดูจากอายุแล้วไม่เหมาะสมก็สามารถนำตัวไปเรือนจำได้ หรือถ้าดูแล้วไม่มีปัญหาอะไร ก็สามารถอยู่ในสถานพินิจจนครบเวลาปล่อยได้...
ความผิดทางร่างกายและชีวิต ในสถานพินิจ :
นายโกมล กล่าวถึงการดูแลเด็กในสถานพินิจ ที่ก่อคดีฆาตกรรม หรือ ความผิดทางร่างกายว่า การดูแลเหมือนกับคดีอื่น หากมีการดำเนินการตามกระบวนการสืบเสาะตามข้อเท็จจริง เมื่อประชุมหาทางออกแล้ว ก็จะมีการเสนอศาลเยาวชน
เช่น เสนอตามมาตรา 132 เสนอให้อยู่ในสถานพินิจในระยะสั้น หรือ หากเด็กมีพฤติกรรม ศาลก็อาจจะสั่งให้มีการฝึกอบรม 1-3 ปี ซึ่งก็มีการเรียนทั้งสายสามัญ และอาชีพ
“หากอยู่กับเรา จะมีการเรียน กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) หรือจะสายวิชาชีพก็ได้ ซึ่งมีโอกาสได้รับประกาศนียบัตร โดยหลักแล้วต้องการให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้เรียนอย่างต่อเนื่อง”
ปรับพฤติกรรมเด็กก้าวร้าว :
รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า สำหรับเด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง จะมีการบำบัดโดยนักจิตวิทยา เพื่อสอบถามรายละเอียด หาประเด็นและมีการทดสอบ เพื่อดำเนินการเข้าสู่การบำบัด เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม บางคนอยู่ข้างในก็พยายามทำตัวเป็น “ขาใหญ่” บ้าง ซึ่งเราก็พยายามจัดการ บางคนก็รู้สึก Born To Be เกิดมาเพื่อเป็นขาใหญ่ แบบนี้ก็อาจจะมีการคัดออกไป โดยใช้มาตรการพิเศษ อาจจะมีการแยกขัง เรียกว่า “ห้องพิจารณากิจ” เพื่อให้ทบทวน สงบสติอารมณ์ โดยจะมีคนให้คำแนะนำ จากนั้นก็ค่อยปล่อยออกมา หากไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะใช้มาตรการอื่น
“หากคุมไม่ไหวจริงๆ ก็อาจจะต้องขอศาลเพื่อส่งตัวไปขังในเรือนจำ”
วาทกรรม “เด็ก” กระทำผิด ไม่ต้องรับโทษ ก่อให้เกิดความฮึกเหิมในการทำผิด นายโกมล กล่าวว่า ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือเยาวชน ถ้าทำผิดกฎหมาย ย่อมได้รับโทษ แต่สำหรับเด็ก ที่มี พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ก็เพื่อให้โอกาสกับคนที่ไม่มีวุฒิภาวะเพียงพอ อาจจะถูกล่อลวง ชักนำไปในทางที่ไม่ถูกต้อง
“ยังไงคนทำผิดกฎหมายต้องได้รับโทษ ส่วนโทษที่ใช้ในการดำเนินการก็มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม “การรับโทษ” ของเด็ก ไม่ได้มองว่าเป็นการ “ลงทัณฑ์“ แต่ต้องการให้ปรับเปลี่ยนนิสัย เพื่อไม่ให้ทำผิดซ้ำ หรือเบี่ยงเบนไปจากที่เคยเป็น ซึ่งการแก้ไขเด็กต้องใช้ครอบครัวและชุมชนเข้ามาช่วย...”
อยากจะฝากไปถึงผู้ปกครองที่บุตรหลานเป็นวัยรุ่น ซึ่งช่วงนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและพฤติกรรม ช่วงวัยนี้จะไม่ค่อยเชื่อฟังผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กยุคนี้ เพราะสนใจกับสื่อโซเชียลฯ หรือเพื่อน ดังนั้น อยากให้ผู้ปกครองให้ความใส่ใจ ดูแล แต่อย่าใช้วิธีการรุนแรง ควรมีศิลปะในการดูแลค่อนข้างมาก อย่าเข้มงวดเกินไป หนักนิดเบาหน่อยต้องให้อภัย ต้องเรียนรู้จิตวิทยาวัยรุ่นให้มาก กรณีการคบเพื่อนที่เป็นคนไม่ดี นักเลง ก็สามารถใช้มาตรการของชุมชนมาช่วยได้
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ