ช่วงนี้หลายๆ คนที่ทำงานในเมือง และอาศัยอยู่ชานเมือง ต่างรู้สึกหวาดหวั่นใจกับการเดินทางเข้าออก เพื่อหาเงินเลี้ยงปากท้อง เพราะปัญหา “ฝนตกหนัก” อย่างต่อเนื่อง
ไม่รู้ว่า “บ้านจะน้ำท่วมไหม...”
ไม่รู้ว่า “รถจะเสียกลางทางหรือเปล่า”
ยิ่งบางคนตัดสินใจ “ถอยรถคันใหม่” ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถยนต์ EV ด้วยแล้ว เจอน้ำท่วม จะเป็นยังไง วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบ...
น้ำท่วม กับ รถยนต์ EV
ทีมข่าวฯ ได้พูดคุยกับ รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญรถยนต์ไฟฟ้า บอกว่า รถยนต์ EV จะมีแบตเตอรี่อยู่ใต้ท้องรถ โดยมีการออกแบบให้สามารถวิ่งลุยน้ำได้ในระดับหนึ่ง...
ระดับหนึ่งที่ว่า หมายถึงว่า โดยทั่วไปหากเกิดน้ำท่วม และมีระดับน้ำเกินขอบประตูรถยนต์ถือว่าเริ่มเสี่ยงแล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นรถยนต์น้ำมัน หรือ รถ EV เจอน้ำท่วมระดับนี้ก็ไม่ควรจะเสี่ยงขับต่อ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของคนขับรถต้องระมัดระวัง
...
รศ.ดร.ยศพงษ์ อธิบายว่า รถยนต์ไฟฟ้าจะมีแบตเตอรี่ ด้านล่างตัวรถ ฉะนั้น บริษัทรถยนต์จึงมีการออกแบบระบบให้ป้องกันน้ำได้ระดับหนึ่ง ซึ่งระดับการป้องกันน้ำ บางบริษัทจะระบุเป็นโค้ต “IP” (เหมือนโทรศัพท์มือถือที่มีการโฆษณา) ซึ่งค่า IP รถยนต์ไฟฟ้า ที่ได้มาตรฐาน จะต้องไม่ต่ำกว่า IP67 และสูงจนถึงระดับ IP69
**โดยทั่วไป ค่ายรถยนต์จะไม่ได้บอกตัวเลขเหล่านี้โดยตรง บอกแต่เพียงว่าสามารถกันน้ำได้เท่าไร**
สำหรับ IP67 จะสามารถป้องกันน้ำ จมน้ำ ได้ประมาณ 30 นาที ฉะนั้น รถยนต์ไฟฟ้าไม่ควรลุยน้ำสูงเกิน 30 นาที เพราะมิเช่นนั้นก็มีโอกาสที่น้ำจะเข้าไปในระบบแบตเตอรี่ หากน้ำเข้าไปในแบตฯ แล้วเกิดการ “ช็อต” ก็ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต เพราะเมื่อไหร่ที่ไฟฟ้าช็อต เครื่องยนต์ทุกอย่างก็จะดับ
“ปกติแล้ว เวลาขับรถลุยน้ำสูงจริงๆ เต็มที่ก็ไม่น่าเกิน 10 นาที แต่...เมื่อไหร่ก็ตาม ว่าคุณเห็นว่ามีน้ำท่วมสูง และประเมินแล้วมีโอกาส รอด แบบนั้นไม่ควรลุย เพราะรถยนต์ถูกออกแบบแตกต่างจากเรือ คุณต้องประมาณการให้ได้ว่า รถยนต์มีความเสี่ยงแค่ไหน"
กูรูยานยนต์ ระบุว่า รถยนต์ EV ใหม่ๆ เชื่อว่าน่าจะยังไม่มีปัญหาในตอนนี้ ถ้าใช้งานก็ควรเข้าศูนย์เช็กตามรอบของมัน เพราะใช้งานก็ย่อมมีอุปกรณ์เสื่อมเป็นธรรมดา ส่วนตัวเชื่อว่า การป้องกันน้ำของแบตฯ กว่าจะเสื่อมน่าจะใช้เวลาเป็น 10 ปี เพราะเราไม่ได้ขับรถลุยน้ำทุกวัน.. เต็มที่ปีหนึ่ง จำเป็นต้องขับรถลุยน้ำแค่ 10-20 วัน อีกทั้งก่อนที่รถยนต์จะนำมาจำหน่าย ได้มีการทดสอบเรื่องไฟรั่ว หรือ ขับรถยนต์ลุยน้ำกันมาแล้ว”
“หากรถยนต์เกิดไฟฟ้าลัดวงจรจริงๆ ระบบไฟฟ้าจะตัดทันที เครื่องจะดับ ไฟฟ้าจะไม่รั่วไปส่วนอื่น เพราะเขามีระบบป้องกันไฟฟ้ารั่ว และรถก็คง “จอดแอ้งแม้ง” อยู่ตรงนั้น” กูรูยานยนต์กล่าวติดตลก (แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงคงเครียด)
ยังไม่เคยพบ “รถยนต์ไฟฟ้า” ช็อตคนตาย
รศ.ดร.ยศพงษ์ เชื่อว่า บริษัทที่ขายรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ที่จดทะเบียน ประมาณ 99% มีความปลอดภัยเกือบทั้งหมด ซึ่งส่วนตัวยังไม่เคยเห็นเคสที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ไฟฟ้า กรณีน้ำท่วมเลยแล้วถูกไฟช็อตตาย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศก็ไม่เคยเห็น
...
เมื่อถามว่า กำลังไฟฟ้าของยนต์ EV อยู่เท่าไร ถ้าช็อตจริงๆ ตายได้ไหม กูรูยานยนต์ตอบทันทีว่า “ตาย...ถ้ารั่วก็ถึงตาย ถ้าเป็นรถยนต์น้ำมัน จะมีแบตเตอรี่ประมาณ 12 โวลต์ แต่ถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า แบตฯ จะมีกำลังไฟประมาณ 300-500 โวลต์ แต่โอกาสเกิดไฟช็อตแทบไม่มี เพราะมีระบบป้องกันอย่างดี
“ถ้าเป็นคนทั่วไป คงไม่มีใครกล้าแกะแบตฯ รถยนต์ออกมาหรอก ยกเว้นช่าง”
ความจริงรถยนต์ไฟฟ้า กับ รถยนต์น้ำมัน ขับรถฝ่าน้ำท่วม ส่วนตัวมองว่า รถยนต์น้ำมันอาจจะเกิดผลกระทบมากกว่า เพราะมีการดูดอากาศเข้าเครื่องยนต์ มีโอกาสเสียหายมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าให้น้ำเข้าตัวรถ หากน้ำเข้า มันก็มีความเสี่ยง
เมื่อถามว่า มีเคสรถยนต์ EV จมน้ำบ้างไหม รศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าวว่า ไม่แตกต่างจากรถน้ำมันเลย เพราะหากรถไฟฟ้าจมน้ำ เครื่องก็จะดับ โอกาสเสียชีวิตมาจากการจมน้ำมากกว่าโดนไฟดูด
...
“ขับรถยนต์ไฟฟ้าในการฝ่าน้ำท่วม ไม่ใช่เรื่องอันตราย แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่เรื่องนี้จำเป็นต้องประเมิน หากน้ำขึ้นมาถึงขอบประตู และหากจะฝ่าเกิน 5 นาที ถือว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะมีโอกาสซึมเข้าตัวรถ ถึงแม้ไฟฟ้าจากรถจะไม่ช็อตคุณ แต่ก็มีโอกาสรถเสียอยู่กลางถนน ฉะนั้น สิ่งสำคัญ คือ คุณต้องประเมินให้ดี ส่วนกรณีอะไหล่ของรถยนต์ไฟฟ้าเสียหาย ก็ต้องเปลี่ยนยกชุด ไล่แก้ปัญหาไปทีละส่วน"
ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ปัญหาใหญ่กว่า “น้ำท่วม”
รศ.ดร. ยศพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัญหาใหญ่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ในเมืองไทย คือ “สภาพถนน” ที่เป็นหลุม เป็นบ่อ เพราะเวลาขับก็มีโอกาสตกหลุมแล้วไปกระแทกระบบแบตเตอรี่
“น้ำท่วมไม่เท่าไร...แต่ตกหลุมนี่หนักกว่า ซึ่งก่อให้เกิดแรงกระแทกทำให้ตัวกรอบห่อแบตเตอรี่เสียหาย”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : sathit chuephanngam
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
...