ผ่านมา 8 เดือนแล้ว สำหรับ ปี 2565 ต้องยอมรับว่าปีนี้มีสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์หลายๆ อย่าง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะปัญหาสังคม ที่ถาโถมหนักหน่วง โดยเฉพาะปัญหาด้าน “ไซเบอร์” และ “การลงทุน”
ตอนนี้ปัญหาเรื่องการลงทุน กลายเป็นเรื่องใหญ่หลวง โดยเฉพาะการหลอกลวงเงินเพื่อไปลงทุนหุ้น คริปโตเคอร์เรนซี และอื่นๆ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม มีรายงานข่าวที่เกี่ยวกับการลงทุน และมีผู้สูญเสียเงินไปแล้ว หลายพันล้านบาท!! ไล่มาตั้งแต่คดี “Forex 3D” 2,500 ล้านบาท ต่อมา คดี “นัตตี้” นัทธมณ คงจักร์ หรือ นัตตี้ ลีอาห์ ยูทูบเบอร์เจ้าของช่อง Nutty’s Diary ที่ชวนคนลงทุนเทรดหุ้น และคริปโตฯ คาดว่ามีผู้เสียหาย มูลค่ากว่า 2,000 ล้าน และล่าสุด กับ เป้ กิตติกร อินต๊ะ หรือ เป้ P MINER ที่ชักชวนร่วมลงทุนขุดเหมืองบิตคอยน์ และเทรดคริปโตฯ ซึ่งความเสียหายมากกว่า 1,000 ล้านเช่นกัน ซึ่งกรณี เป้ มีการตามอายัดทรัพย์ไว้ตรวจสอบแล้วกว่า 200 ล้านบาท ทั้งรถหรู 5 คัน บ้าน และที่ดิน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ติดต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่ง นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ความสำคัญกับคดีที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามแนวนโยบาย DSI เข้าถึงง่าย ได้ความยุติธรรม จึงได้มอบหมาย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งหามาตรการเชิงรุก ทั้งในด้านการป้องกัน และปราบปราม รวมทั้งการบูรณาการหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เกิดผลเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม
...
พ.ต.ต.ยุทธนา ที่ดูแลปัญหาด้านการ “ฟอกเงิน” กล่าวว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI มีหน้าที่ดูแลคดีพิเศษที่มีความซับซ้อน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจการคลัง หรือความมั่นคงของประเทศ หรือกลุ่มองค์กรอาชญากรรมหรือความผิดข้ามชาติ ในส่วนลักษณะรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องแชร์ลูกโซ่ต้องมีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท หรือคดีที่มีผู้เสียหายมากกว่า 300 คน
ปัจจุบันการสื่อสารในโลกโซเชียลฯ มีการพัฒนาไปมาก ทำให้เวลาสื่อสารแต่ละครั้งรับรู้ไปถึงคนจำนวนมาก ส่งผลให้การกระทำผิดเกิดขึ้นได้ง่าย รวดเร็ว และมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก อาศัยแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook IG Youtube หรือแม้แต่ Tiktok และอื่นๆ
รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบายว่า ผู้ที่จะกระทำผิด โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับฉ้อโกงประชาชนจะใช้ความน่าเชื่อถือ บวกกับเงื่อนไขชักจูงใจด้วยผลประโยชน์โดยจะให้ค่าตอบแทนในเรตที่สูง
กรณี “นัตตี้” ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้น เพราะเป็นเน็ตไอดอล มีคนติดตามเยอะอยู่แล้ว เมื่อลงคอนเทนต์อะไรไป ส่งผลให้คนที่ได้ดูคล้อยตาม สร้าง Story ความน่าเชื่อถือ ได้อย่างรวดเร็ว...
“เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่คิดว่า เอาเงินฝากธนาคารไว้ ได้ดอกเบี้ยน้อย จึงหาโอกาสนำมาลงทุน เมื่อถูกหลอกล่อด้วยผลประโยชน์จำนวนมากและใช้สื่อสังคมออนไลน์ เรียกว่า หลอกลวงครั้งเดียว มีเหยื่อหลงเชื่อเป็นร้อยหรือพันคน จึงเป็นที่มาของมูลค่าความเสียหายสูง และกว่าจะทราบเรื่องก็ตามเงินยากแล้ว”
“เป้ กิตติกร” ชวนลงทุนขุดเหมืองบิตคอยน์ กลลวงตุ๋นพันล้าน
รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังกล่าวถึง กรณี เป้ กิตติกร ที่ชวนลงทุนขุดเหมืองบิตคอยน์ ก็ใช้วิธีการไม่แตกต่างกับ “นัตตี้” และ คดี Forex 3 D
ส่วนคดี เป้ กิตติกร ทางศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ ภาค 5 ของ DSI ได้รับแจ้ง จากประชาชนจากผู้เสียหาย จำนวนมาก ซึ่งตอนนี้ คดีอยู่ในอำนาจการสอบสวนของ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) อย่างไรก็ตาม หากมีมูลค่าความเสียหายถึงเกณฑ์ที่กำหนด หรือ กระทบต่อระบบเศรษฐกิจหรือความสงบเรียบร้อย ก็อาจจะเข้าเงื่อนไขหากจะรับเป็นคดีพิเศษ อย่างไรก็ดี คดีไหน ที่ไม่มีความซับซ้อนกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนไม่มาก และตำรวจทำคดีคืบหน้าไปมากแล้ว ก็อยู่ในดุลยพินิจของอธิบดีที่จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่
การจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง เท่าที่ดูคดีของ “เป้ กิตติกร” ขณะนี้ทาง สอท. ก็มีการสอบสวน ออกหมายจับ ตรวจค้น และ ตามอายัดทรัพย์ร่วมกับทาง ปปง. คืบหน้าไปมากแล้ว ประกอบกับไม่เข้าเกณฑ์รับคดีพิเศษ ก็สมควรให้ตำรวจดำเนินการให้เสร็จสิ้น เพื่อให้ผู้เสียหายมีโอกาสได้รับการเยียวยาเร็วขึ้นด้วย
...
ฉ้อโกง Forex 3-D ที่มาโยงถึง “ดารา นักแสดง”
ทีมข่าวฯ ถามว่า ทำไมคดี “Forex 3-D” ถึงไปเกี่ยวข้องกับคนในวงการบันเทิงจำนวนมาก พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า คดีนี้ เป็นการหลอกลงทุนคดีแรกๆ ที่มีผู้เสียหายนับหมื่นคนจากการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ เชื่อว่ามีความตั้งใจใช้คนที่มีชื่อเสียง เช่น ดารา นักแสดง มาเป็นแรงดึงดูดให้คนมาลงทุน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ คาดว่า ผู้ต้องหาที่เป็นตัวหลักของคดีมีการชักชวนเข้ามา แต่...ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ “ดารา” บางคนที่ร่วมกับ Forex นั้น รู้ตั้งแต่แรกหรือไม่ว่าเข้าข่ายหลอกลวงฉ้อโกงประชาชน
“ของแบบนี้จำเป็นต้องพิสูจน์เจตนา บางคนอาจจะโดนหลอกลวงมาเพื่อให้ไปหลอกลวงคนอื่นอีกทอดหนึ่ง หรือ บางคนอาจจะเข้าใจผิด คิดว่าทำเราถูกกฎหมาย แบบนี้เรียกว่าเป็นเหยื่อ หรือถ้าบางคนที่มีเจตนาหลอกลวงตั้งแต่แรก” ก็เป็นตัวการแบ่งหน้าที่กัน
รองอธิบดี กล่าวว่า หากมองในแง่สุจริต ก็คงคิดว่า คนที่เป็นถึงดาราชื่อดัง จะมาร่วมขบวนการหลอกคนขนาดนั้นเลยหรือ... แต่ในทางหลักฐาน คณะพนักงานสอบสวนคงพิสูจน์แล้วเชื่อว่าเป็นดาราที่มีส่วนในการดึงคนมาลงทุน โดยเฉพาะกรณี ดาราชื่อดังกับคนในครอบครัว คล้ายกับเป็นการรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่าเป็นการหลอกลวง ซึ่งเรื่องนี้มีการพิสูจน์เจตนา
การพิสูจน์เจตนา ถือเป็นเรื่องยากที่สุดหรือไม่ รอง อธิบดี ดีเอสไอ กล่าวยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น แต่พร้อมให้ความเป็นธรรม หากหลักฐานไม่ชัดแจ้งจริงๆ ก็ไม่พอกล่าวหาดำเนินคดี ซึ่งเรื่องนี้ เรามีคณะ พนักงานสอบสวนและอัยการช่วยกลั่นกรอง และกระบวนการก็มี ระบบถ่วงดุลหลายขั้นตอน เมื่อส่งเรื่องไปยังพนักงานอัยการแล้ว อาจจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้ หากฟ้องศาลท่านก็จะรับฟังพยานอีกชั้นหนึ่ง
...
“คดีของคุณพิ้งกี้ เลยขั้นตอนนั้นไปแล้ว จนไปถึงชั้นศาลแล้ว ผ่านกระบวนการสอบสวน จากพนักงานสอบสวน DSI ผ่าน การตรวจสอบจากอัยการแล้ว ซึ่งท่านก็เห็นด้วย จึงสั่งฟ้อง ซึ่งเมื่อคดีไปถึงศาล ก็จะมี กระบวนการรับฟังพยานหลักฐานในชั้นสุดท้ายอย่างเที่ยงธรรม โดยได้รับโอกาสต่อสู้คดีตามกระบวนการอย่างเต็มที่ แต่เนื่องจากคดี มีความผิดที่มีมูลค่าความเสียหายสูง ศาลท่านจึงยังไม่อนุญาตประกันตัว ในขณะนี้”
ทั้งนี้ คดี Forex มีการแบ่งออกเป็น 3 สำนวน โดย 2 สำนวนแรก มีการสอบสวนเสร็จแล้ว แต่พนักงานอัยการให้คำแนะนำให้ดำเนินการเพิ่มเติมบางส่วน
ไล่อายัดทรัพย์ ตามเศษขนมปังอาชญากร “ฟอกเงิน”
รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาการหลอกลวงการลงทุน เป็นไปตามเทรนด์ตามยุคสมัย เช่น เวลานี้มีการลงทุนเรื่องคริปโตฯ จำนวนมาก การหลอกลวงลักษณะนี้จึงมีเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา เมื่อได้เงินมา ก็เอาเงินดังกล่าวไปซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ ทรัพย์สินต่างๆ และเมื่อมีการแชร์ออกไปเห็นความเป็นอยู่ร่ำรวย จึงจูงใจ ทำให้คนทั่วไปอยากที่จะลงทุน บวกกับการใช้จิตวิทยาการพูด ในการสื่อสาร จึงทำให้คนหลงเชื่ออย่างสนิทใจ
...
ส่วน วิธีการฟอกเงิน รองอธิบดี ดีเอสไอ อธิบายว่า เมื่อได้เงินจากการกระทำผิดมาแล้ว ส่วนมากจะนำเงินที่ได้มาไปซื้อรถยนต์หรู หรืออสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาแพง เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพหรือปกปิด
บางครั้งใส่ชื่อ “คนอื่น” เช่น คนสวน คนขับรถ หรือ เพื่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ใดทราบ
“ฉะนั้น การพิสูจน์การฟอกเงินบางครั้งจำเป็นต้องใช้การสืบสวนนำ ด้วยการสอบพยานแวดล้อมต่างๆ เช่น รถยนต์คันดังกล่าว ใครเป็นผู้ใช้งาน หรือ บางทีเป็นการสวมชื่อคนอื่น เราก็ตามไปตรวจสอบ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด บางคนดูแล้วไม่น่าจะมีศักยภาพในการซื้อของราคาแพง เช่น รถยนต์ราคา 10 ล้าน แต่เป็นชื่อของคนสวน คนงานในบ้าน ถามว่าเขาจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อรถยนต์ระดับนี้ โมเดลที่เคยดำเนินการจะบูรณาการกับ สตช. ปปง. จึงเกิดประสิทธิภาพโดย สตช. ทำคดีมูลฐาน ส่วน ปปง. ดำเนินมาตรการทางแพ่งและ DSI ดำเนินมาตรการทางอาญาฟอกเงิน"
ที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ติดตาม คดีลักษณะ การหลอกลงทุน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 33 คดี โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 10,600 ล้านบาท
วิธีสังเกต หลอกลงทุน คล้าย “แชร์ลูกโซ่”
รองอธิบดี ดีเอสไอ ยังได้แนะนำวิธีการสังเกต ธุรกิจ หรือ บุคคลที่อาจจะเข้าข่ายหลอกลงทุน หรือแชร์ลูกโซ่ ไว้ดังนี้
1.ควรตรวจสอบ บริษัท และ ลักษณะการดำเนินธุรกิจให้ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันมีหลายช่องทางสามารถตรวจสอบได้
2. หากเสนอ ผลตอบแทน หรือ ปันผลสูงผิดปกติ (มากกว่าสถาบันการเงิน) เช่น เท่าที่พบประมาณร้อยละ 5-10 ของเงินลงทุนต่อเดือน ถือว่าน่าสงสัยว่าจะเป็นการหลอกลวงในลักษณะแชร์ลูกโซ่
“ความน่าเชื่อถือ เป็นเรื่องดูยากที่สุด โดยเฉพาะคนที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก ฉะนั้น ก่อนที่จะมีการลงทุนในเรื่องใด ควรศึกษาข้อมูลเรื่องนั้นๆ ให้ดีเสียก่อน ถึงแม้จะเป็นญาติพี่น้องมาชวนลงทุนก็ต้องศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ” รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ