เตรียมตัวกันหรือยัง...ฝนกำลังจะมาอีกแล้ว!

หลังจากเมื่อวาน (15 ส.ค.) ที่มีฝนตกหนักเกือบทั่วประเทศ รวมไปถึงเมืองหลวง กรุงเทพมหานคร ที่โดนฝนถล่มเกิน 100 มิลลิเมตร ไปหลายเขต ทั้งที่ “ความสามารถ” ในการรองรับน้ำท่วมได้เพียง 60 มิลลิเมตร เท่านั้น

วันนี้ ฝนตั้งเค้ามาอีกระลอกแล้ว โดย กรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์ฝนในกรุงเทพมหานคร ในช่วง 17.00 น วันนี้ ถึงวันพรุ่งนี้

พบว่า จากเรดาร์ดาวเทียม ในเวลา 15.00 น. พบกลุ่มฝนบริเวณจังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ในเขตตลิ่งชัน ภาษีเจริญ จอมทอง คลองเตย วัฒนา สวนหลวง สะพานสูง ลาดกระบัง มีนบุรี และหนองจอก

คาดว่าในเวลาอีก 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมงข้างหน้า กลุ่มฝนบริเวณจังหวัดนครนายก ฉะเชิงเทรา และ กทม. ในเขตดอนเมือง หลักสี่ บางซื่อ จตุจักร สายไหม บางเขต ลาดพร้าว คันนายาว บึงกุ่ม คลองสามวา หนองจอก บางกอกใหญ่ ธนบุรี บางคอแหลม สาทร

ซึ่งวันนี้จะหนักหน่วงอย่างเมื่อวานหรือไม่ คงต้องรอดู แต่สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ ทาง กทม. ก็พยายามแก้ปัญหา โดยทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วม 

...

ดร.วิศณุ เผยว่า เมื่อวานนี้ฝนตกหนักจริงๆ โดยเฉพาะในซีกฝั่งตะวันออกของ กทม. สูงสุดในเขตประเวศ 144 มิลลิเมตร พระโขนง 116.5 มิลลิเมตร เขตคลองเตย สวนหลวง เกิน 100 มิลลิเมตร ส่งผลให้การระบายน้ำจำเป็นต้องใช้เวลาในการระบาย

โดยจุดที่น้ำท่วมมากที่สุด เมื่อวานนี้ อยู่ที่ แถวแยกศรีอุดม เขตประเวศ ท่วมสูงสุดเกือบ 20 ซม. วันนี้ส่งสำนักระบายน้ำไปดูแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนมีบ่อรับน้ำของเอกชน ซึ่งก็ทำเป็นแก้มลิงชั่วคราว แต่วันนี้เราไม่ได้ใช้ จึงได้เข้าไปเจรจาเพิ่มเติม

ส่วนจุดอ่อน ที่เป็นจุดที่น้ำท่วมบ่อยๆ และเตรียมพร้อมให้เจ้าหน้าที่ลงไปช่วยเหลือคือ แถวถนนพระราม 4 ถ.สุขุมวิท โดยเฉพาะซอย 39, 71 (ซอยปรีดีพนมยงค์) นอกจากนี้ ยังมี ซอยพัฒนาการ 54 และ 58 ทางเขตรับทราบ นำเครื่องไปสูบน้ำ

“แม้เขตประเวศจะมีฝนตกมาก แต่เราก็ได้เตรียมความพร้อมในการพร่องน้ำไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว จึงเร่งระบายออกจนหมด โดยเฉพาะถนนสายหลัก แต่ยังมีบางพื้นที่ เช่น ภายในซอย หรือในหมู่บ้านก็ยังพบน้ำท่วมขังอยู่”

ปัญหาใหญ่ที่พบเมื่อวานคือ ที่ “คลองเตย” ย่านพระราม 4 จะมีการระบายได้ช้าเพราะสถานีสูบน้ำที่คลองเตยอยู่ระหว่างก่อสร้างปรับปรุง และคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม ประกอบกับเมื่อคืนที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็สูงขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องปิดประตูระบายน้ำ และใช้วิธีการสูบน้ำออกอย่างเดียว ซึ่งเราใช้เครื่องสูบน้ำใหญ่ 3 เครื่อง ประมาณ 9 ลบ.ม./วินาที ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้ในวันนี้ คือการเติมเครื่องสูบน้ำเข้าไปมากขึ้น

ดร.วิศณุ ย้ำว่า ที่ผ่านมา เราเตรียมความพร้อมด้วยการทำงานพร่องน้ำมาตลอดทั้งเดือน โดยเฉพาะคลองสายหลัก อาทิ แสนแสบ ประเวศ โดยเราตั้งใจให้เหลือน้ำน้อยที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่...บางคลอง ถือเป็นเส้นทางสัญจรทางเรือ จะให้น้ำเหลือน้อยเกินไปจนเรือวิ่งไม่ได้ก็อาจจะมีปัญหาตามมาอีก

ส่วนนโยบายที่ 2 ที่เราทำ คือ การ “ลอกท่อ” เส้นเลือดฝอย ที่ช่วยระบายน้ำ ซึ่งการลอกท่อดังกล่าวถือว่าช่วยได้เยอะ และปัจจุบัน ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 70% หรือ ประมาณ 2500 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ได้มีการสั่งการลงไปแล้วว่า หากพื้นที่ไหนมีการลอกท่อไปแล้ว แต่ปรากฏว่ามีการท่วมขังแบบนัย ก็ต้องลงไปตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อดูว่า อาจจะมีเศษวัสดุก่อสร้างเข้าไปอุดตันหรือไม่...

“ที่ผ่านมา เราตั้งข้อสังเกตว่า บางพื้นที่ลอกท่อไปแล้วพร้อมๆ กัน เมื่อฝนตก บางจุดแห้งไปแล้ว แต่บางจุดยังไม่แห้ง สาเหตุเพราะมีการก่อสร้างอยู่ข้างเคียง”

...

รองผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับว่า ปัจจัยในการแก้ปัญหาแต่ละจุดนั้นมีความแตกต่างกัน เช่น ในพื้นที่ฝั่งธนบุรี มีระบบคลองเยอะ แต่ฝั่งเมืองชั้นใน ไม่มีระบบคลองมารองรับได้อย่างเพียงพอ จึงมีการสร้างระบบอุโมงค์มารองรับ ขณะที่จุดอ่อนสำคัญคือ กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ซึ่งทีแรกตั้งใจจะใช้อุโมงค์บึงหนองบอน แต่ก็เกิดชำรุด และต้องใช้เวลาซ่อมถึง 2 ปี เพราะเหตุนี้เองทำให้แผนที่วางกันไว้ “ผิดแผน” เพราะต้องอาศัยการระบายผ่านคลองประเวศ ไปคลองพระโขนง เพียงอย่างเดียว ทำให้ระบายได้ช้า

เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จำเป็นต้องวางแผนรับมือ เพราะกว่าอุโมงค์ระบายน้ำจะเสร็จ ก็ต้องเตรียมการรับมือ เช่น การเพิ่มสถานีสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์จากคลองเล็ก คลองน้อยต่างๆ ให้ได้มากที่สุดก่อน

ปัญหาขยะยังอยู่ ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกัน

ดร.วิศณุ กล่าวว่า สำหรับปัญหาขยะ ยังคงเป็นปัญหาที่เจอกันอยู่ ซึ่งคาดว่าเป็นขยะที่ประชาชนกองไว้หน้าบ้าน แต่พอเจอน้ำท่วม ขยะเหล่านี้ก็ไหลลงไปอุดตันท่อ นอกจากนี้ เมื่อวานยังมีรายงานว่า ขยะไปอุดตันเครื่องสูบน้ำ ต้องเสียเวลาซ่อมหลายชั่วโมง

...

“สิ่งที่อยากขอประชาชนช่วงนี้ คือ อยากให้ประชาชนขนขยะมาวางในจุดเก็บใกล้เวลามากขึ้น เช่น รู้เวลาว่ารถขยะมาถึงในเวลาใด ก็ขอให้มาวางในเวลาใกล้ๆ เพราะช่วงนี้ฝนตกหนัก หรือรู้ว่าฝนกำลังจะตก ก็ขอให้เก็บไว้ที่บ้านก่อน”

“ความรู้สึกเวลานี้ไม่ได้รู้สึกหนักใจ แต่ก็อยากขอบคุณเจ้าหน้าที่เขต และสำนักการระบายน้ำ วันนี้ เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ รู้ปัญหาอยู่ตรงไหนก็ต้องหาทางแก้.. ประชาชนก็เริ่มเข้าใจเรามากขึ้น ดีกว่าครั้งที่ผ่านมา ที่เจอฝนตกหนักในลักษณะเดียวกัน เพราะเราก็ลงพื้นที่ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ที่เจอน้ำขัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกหน่วย ทั้งระดับเขตและส่วนกลางก็ร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้ประชาชนฟีดแบ็กกลับมา ว่า “ระบายได้เร็วขึ้น”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ 

...