“ก็.....(หัวเราะ)....ปรับอย่าง...ดีกว่าอยู่เปล่าๆ.....(หัวเราะ)” รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย เริ่มต้นการสนทนากับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เมื่อถูกถามถึงความเห็นเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 0.50 เป็น ร้อยละ 0.75 ของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย

...

“ผมคิดว่า Behind the curve และ ยืดหยุ่นน้อยเกินไป คือในความเห็นผม ไม่ได้หวังว่าจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงๆ เหมือนที่ชาติอื่นๆ เขาทำกัน แต่ผมคิดว่า ความยืดหยุ่นในเรื่องนี้ต้องคำนึงถึงหลายๆ ตัวแปร เพื่อสร้างความสมดุลของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคให้มากๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินหรือการคลัง”

อย่างไรก็ดีในทัศนะของ รศ.ดร.สมภพ มองว่า การตัดสินใจของธนาคารแห่งประเทศไทยครั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะแบงก์ชาติ เลือกที่จะเน้นไปที่ “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” มากกว่าเรื่อง “เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ”

“แบงก์ชาติอาจมองว่า GDP ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังคงต่ำกว่าหลายๆ ประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย โดยเฉพาะเวียดนาม ที่ต่างพุ่งสูงขึ้นไปมากกว่า 5% ยิ่งกับฟิลิปปินส์ ยิ่งแล้วใหญ่ GDP พุ่งทะยานไปมากกว่า 7% ในขณะที่ไทยกลับได้เพียงครึ่งเดียวของประเทศเหล่านี้เท่านั้น ในเมื่อความอ่อนแอทางเศรษฐกิจยังมีอยู่มาก จึงต้องยอมให้เกิดผลกระทบในอีกด้านหนึ่งแทน”

ผลของการเลือก “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” :

ข้อดี :

การตัดสินใจเลือก “การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” จะทำให้ดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินต่างๆ ปล่อยให้แก่ลูกค้า “ไม่มีการปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ” ในช่วงนี้ และยังเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีพลวัตของการเปลี่ยนแปลงในด้านนโยบายการเงินประเทศที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นแล้ว

ข้อเสีย :

การปรับอัตราดอกเบี้ยในลักษณะนี้ ข้อเสียคือ “ปรับก็เหมือนไม่ได้ปรับ” เพราะ
การปรับขึ้นไป 0.75% นอกจากมันเป็นเพียงแค่ 1 ใน 10 ของ “เงินเฟ้อ” ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ (เงินเฟ้อไทยล่าสุด 7.61%) แล้ว ยังคิดเป็นเพียง 1 ใน 3 ของ อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด (2.25%-2.50%) ด้วย หรือ หากนำไปเทียบกับดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 2 ปี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 3.2% ก็ยังคงต่ำกว่าอีกเช่นกัน

“ฉะนั้นในความเห็นส่วนตัว ผมจึงคิดว่าจริงๆ แล้วบางที กนง. อาจจะยังไม่ต้องการปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงนี้เสียด้วยซ้ำไป”

อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ แสดงทัศนะต่อไปว่าในเมื่อตัดสินใจแบบนี้ไปแล้ว บางทีอาจต้องยอมรับผลกระทบด้านลบที่จะตามมาด้วยเช่นกัน เพราะการตัดสินใจเช่นนี้...

1.ต้องไม่คาดหวังว่าจะเป็นการปรับเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการเสถียรภาพของค่าเงินบาท

2.ต้องไม่คาดหวังว่าจะสามารถบริหารจัดการการไหลออกของเงินทุนไปยังต่างประเทศ

3.ต้องไม่คาดหวังว่าจะไปช่วยเรื่องการบริหารจัดการ การชะลอตัวของเงินเฟ้อ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของ “การตัดสินใจ” ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาในเวลานี้

...

“หากเราลองมองไปที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตกว่าไทยมากๆ เมื่อแบงก์ชาติญี่ปุ่น ตัดสินใจยึดนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องคล้ายๆ กับประเทศไทย ต้นทุนที่ญี่ปุ่นต้องจ่ายคือ ค่าเงินเยนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และเกิดเงินเฟ้อในสินค้าจำเป็นหลายชนิด จนกระทั่งฉุดให้คะแนนนิยมของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ตกต่ำลงอย่างมาก”

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย :

รศ.ดร.สมภพ ให้ความเห็นในประเด็นนี้กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า...

ข้อที่ 1. มีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะไร้เสถียรภาพ และอ่อนค่าลงในอนาคตอันใกล้

ข้อที่ 2. มีโอกาสที่เงินทุนจะไหลออกนอกประเทศ และจะนำไปสู่การสูญเสียทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการสูญเสียออกไปสูงมากแล้ว เพราะจากเดิมที่เคยมีประมาณ 270,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตอนนี้น่าจะเหลือเพียงประมาณ 210,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ หายไป 50,000 - 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในเวลาเพียงแค่ปีเศษๆ ที่ผ่านมา

...

“ต้องไม่ลืมนะครับว่าส่วนที่สูญเสียไปนี้ มันคิดเป็น 10% ของ GDP ประเทศไทยเลยนะครับ”

ข้อเสนอแนะ :

“ต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ได้มองว่าการตัดสินใจเลือกการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของ กนง. เป็นเรื่องที่ผิดหรือทำให้เกิดความเสียหาย เพียงแต่มีข้อเสนอแนะที่อยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องลองไปศึกษาให้รอบด้านเท่านั้น”

ข้อแรก ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย หากลดลงไปมากกว่านี้อย่างมีนัยสำคัญจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากแค่ไหน?

ข้อที่สอง เงินฝากในระบบธนาคารไทยซึ่งมีมากกว่า 15 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่า GDP ประเทศไทย และส่วนใหญ่เป็นเงินฝากก้อนใหญ่ๆ ของบรรดามหาเศรษฐีและนักธุรกิจที่นำเงินไปพักไว้ จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างมีนัยสำคัญ หลังการดำเนินนโยบายทางการเงินในลักษณะนี้หรือไม่?

เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือในเมื่อมีทางเลือกที่ดีกว่า เช่น การไปซื้อหุ้นกู้ หรือ พันธบัตรต่างประเทศที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าได้ มันจะมีเหตุผลอะไรที่จำเป็นต้องเอาเงินแช่ไว้ในระบบธนาคารไทยที่ให้ดอกเบี้ยน้อยกว่า

...

“ผมอยากให้ศึกษาทั้ง 2 ประเด็นนี้ให้ลึกๆ เพราะหากทั้ง 2 ประเด็นนี้เกิดความสั่นสะเทือนขึ้นมา ประเทศไทยจะมีปัญหาใหญ่โตมากแน่นอนเพราะสองเรื่องนี้ คือ 2 เสาเอกของเศรษฐกิจไทย”

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังควรมีมาตรการที่จะนำไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย เพราะแบงก์ชาติ ไม่ได้ทำหน้าที่ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยแต่เพียงอย่างเดียว

ปัญหาเงินเฟ้อ :

“ผมเชื่อว่าในการประชุม กนง. ในอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ คือในวันที่ 28 ก.ย. และ วันที่ 30 พ.ย. น่าจะยังมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในลักษณะนี้ต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงได้แต่ภาวนาให้ เงินเฟ้อโลกชะลอตัวลง ซึ่งตอนนี้ก็ชะลอตัวลงได้นิดหน่อยแล้ว แต่คำถามของผมคือ เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวในช่วงปลายปีนี้ เงินเฟ้อจะชะลอตัวลงเช่นที่เป็นอยู่นี้ได้หรือไม่?”

เพราะเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว เกมการเมืองจากสงครามยูเครนจะต้องเข้มข้นขึ้นมากกว่านี้แน่นอน เพราะรัสเซียจะหันไปใช้เรื่องพลังงานและอาหารมากดดันและต่อรอง เพื่อให้ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป “ลดทอนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ” ลงให้ได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น สถานการณ์โลกก็จะกลับมาเกิดความตึงเครียด และแน่นอนว่า “ราคาพลังงานและอาหาร” ก็จะดีดขึ้นไปสูงอีกครั้งแน่นอน

นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าจับตามองว่าอาจทำให้ “เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นได้อีก” คือ “การปรับค่าจ้างในสหรัฐอเมริกา” เพราะในเวลานี้ อัตราการว่างงานในสหรัฐอเมริกาลดลงอย่างฮวบฮาบ หรือ เพียง 3.5% อีกทั้งรายงานการจ้างงานใหม่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยังสูงถึง 520,000 อัตรา ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้กว่าเท่าตัวอีกด้วย ซึ่งประเด็นนี้คือสัญญาณที่ต้องควรจับตา เพราะค่าแรงในสหรัฐฯ นั้น คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 40-50% ของต้นทุนรวมการผลิตสินค้า ด้วยเหตุนี้การปรับค่าจ้างในแต่ละครั้ง จึงมีผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการในสหรัฐฯ แน่นอน

“ฉะนั้น ถ้าเงินเฟ้อมันกลับมาใหม่ มันจะมีผลกระทบอะไรตามมาต่อเศรษฐกิจไทย ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะต้องมีการคิดวิธีการเพื่อเตรียมรับมือเอาไว้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ ได้แล้ว”

ความหวังสู้วิกฤติเงินเฟ้อโอเปกพลัส :

เป็นไปได้ยากมากที่กลุ่มโอเปกพลัส จะยอมเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายจากรัสเซีย ตามที่สหรัฐฯ พยายามร้องขอ เพราะโอเปกพลัสยืนยันมาตลอดว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตในเวลานี้

ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันที่ลดลงในเวลานี้ ยังมีสาเหตุสำคัญมาจากการเทขายตั๋วของบรรดานักเก็งกำไร หลังจากมองเห็น “สัญญาณความถดถอย” ของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จนอาจทำให้มีการใช้น้ำมันลดน้อยลง แต่กลับกัน หากสถานการณ์โลกกลับเข้าสู่ความตึงเครียดจากสงครามยูเครนในช่วงฤดูหนาวนี้ที่จะถึงนี้ จนกระทั่งมีแนวโน้มว่า “ราคาน้ำมันจะกลับมาสูงขึ้น” บรรดานักเก็งกำไร ก็อาจจะกลับเข้ามาในตลาดน้ำมันอีกครั้งก็เป็นได้

ฉะนั้น ถึงแม้ว่าโอเปกพลัส อาจจะยอมเพิ่มกำลังการผลิตเกินเพดานจริง มันก็ไม่ได้มีผลอะไรมากนัก เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาน้ำมันมีราคาแพงในเวลานี้ มันเกิดจากตัวแปรที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ แต่เป็นตัวแปรความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์

หัวใจสำคัญเศรษฐกิจไทย ภาคการท่องเที่ยว :

แม้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยบ้างแล้ว แต่หากถามว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้เหมือนก่อนหน้านี้หรือไม่ ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า นัยสำคัญของการท่องเที่ยวไทยจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อประเทศจีนยอมเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศไทยอีกครั้ง หากไม่เช่นนั้นคงหวังผลได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะเต็มที่ก็น่าจะหวังได้เพียงประมาณ 10 ล้านคนเท่านั้นในปีนี้

โอกาสในวิกฤติความขัดแย้งจีนไต้หวัน :

รศ.ดร.สมภพ กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจังเมื่อพูดถึงประเด็นนี้ว่า...

“นี่คือโอกาสในวิกฤติครั้งสำคัญสำหรับประเทศไทยเลยก็ว่าได้ เพราะหากประเทศไทยสามารถเตรียมบ้านเตรียมช่องให้พร้อม ผมคิดว่านักลงทุนและนักธุรกิจไต้หวันทั้งที่ลงทุนอยู่ในไต้หวันหรือประเทศจีนนับล้านๆ คน มีโอกาสสูงมากที่จะย้ายฐานการผลิตมายังอาเซียนส่วนบน หลังเกิดเหตุความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันครั้งล่าสุด เพราะอาเซียนส่วนบนคือ ฐานการผลิตเดิมของนักธุรกิจไต้หวันอยู่แล้ว โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีนักธุรกิจไต้หวันเข้ามาลงทุนแล้วไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนคน เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว เพราะศักยภาพด้านความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและโอกาสในการทำธุรกิจที่หลากหลายของประเทศไทยในเวลานี้ ยังคงเหนือกว่าคู่แข่งสำคัญอย่าง เวียดนาม ลาว กัมพูชา หรือ เมียนมา อย่างไรก็ดี ปัญหาสำหรับเรื่องนี้คือ...ดูเหมือนรัฐบาลไทยจะยังคงไม่มีนโยบาย และ Action Plan ที่เด่นชัดในเรื่องมากพอเท่านั้น”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :