นายจักรกฤษณ์ คงคำ เจ้าหน้าที่ดับเพลิงสุทธิสารผู้มากประสบการณ์ และเคยเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่มาแล้วหลายต่อหลายครั้ง กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้ "ผับ Mountain B" สัตหีบ จ.ชลบุรี จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 14 ศพ บาดเจ็บ 41 คน ว่า เท่าที่ได้เห็นการลุกไหม้จากในคลิปที่มีการแชร์อย่างมากมายในสื่อสังคมออนไลน์ ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า ลักษณะของการเผาไหม้ เป็นลักษณะการเผาไหม้ถึงความรุนแรงของ "เชื้อเพลิงเบา" ซึ่งติดไฟได้ง่าย เช่น หนังปรุ, ผนังซับเสียง, ไม้อัด โฟม หรือ โพลียูรีเทน (Polyurethane)
ส่วนการลุกไหม้ของเปลวเพลิงบริเวณหน้าปากประตูทางออกจนกระทั่งทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บถูกไฟคลอกจำนวนมากนั้น ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า น่าจะเป็นเพราะในที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ปิดไม่มีทางออกของเปลวเพลิง เนื่องจากเท่าที่ได้รับฟังการรายงานของสื่อหลายสำนักซึ่งรายงานว่า มีทางออกจากสถานที่เกิดเหตุเพียงทางเดียวประกอบกับในช่วงเวลาเกิดเหตุมีคนติดอยู่ภายในจำนวนมาก จึงทำให้มีปริมาณอากาศไม่เพียงพอสำหรับการลุกไหม้ จนกระทั่งทำให้เกิดกลุ่มควันขึ้นหนาแน่น จากนั้น เมื่อกลุ่มก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เผาไหม้ไม่สมบูรณ์ซึ่งค่อยๆ สะสมความร้อนอยู่ภายใน เมื่อเกิดปัจจัยที่ทำให้มันเกิดการเคลื่อนที่ออกมา แล้วเกิดการสันดาปกับออกซิเจน ที่อยู่บริเวณหน้าปากประตูทางออก มันจึงทำให้เกิดการจุดระเบิดขึ้นมา หรือที่เรียกว่า “Fire Gas Ignition” ดังที่ปรากฏในคลิป
...
อย่างไรก็ดี สำหรับสาเหตุของเพลิงไหม้ที่แท้จริงนั้น คงต้องรอผลการสืบสวนหาสาเหตุจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า อะไรคือสิ่งที่เข้าไปกระตุ้นจนกระทั่งทำให้เกิดการลุกไหม้ได้อย่างรวดเร็วเช่นที่เกิดขึ้นในกรณีนี้กันแน่?
นายจักรกฤษณ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีการเกิดเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ปิดนั้นมักจะทำให้เกิด 3 ปรากฏการณ์ที่ควรต้องใช้ความระมัดระวังคือ...
1. ปรากฏการณ์ Flashover หรือการเปลี่ยนแปลงการเผาไหม้พร้อมกันในทันทีทันใดของไอเชื้อเพลิงภายในอาคารที่มีลักษณะปิดทึบ จนกระทั่งทำให้เกิดเปลวไฟลุกท่วมห้องในชั่วพริบตา
2. ปรากฏการณ์ Fire Gas Ignition หรือการจุดระเบิดของไฟจากไอระเหย ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวโดยมากเกิดจากสาเหตุการนำพาเปลวไฟไปยังไอระเหยที่มีส่วนผสมของก๊าซ ซึ่งเมื่อส่วนผสมดังกล่าวมีปริมาณออกซิเจนมากเพียงพอต่อการจุดติดเกิดขึ้น โดยสภาวะเช่นนี้ไม่ต้องการอากาศเข้ามาเติมเพิ่มเพื่อการเผาไหม้เนื่องจากไฟมีไอระเหยและส่วนผสมที่พร้อมจุดติดหรือระเบิดทันทีที่มีประกายไฟ
3. ปรากฏการณ์ Backdraft เป็นการระเบิดเนื่องจากอากาศวิ่งเข้าหาเชื้อเพลิงที่เป็นไฟหรือควันที่ยังไม่ติดไฟหรือไฟใกล้ดับ เป็นปรากฏการณ์ที่ควันไฟเกิดการลุกไหม้อย่างรวดเร็วและรุนแรง เกิดขึ้นโดยการนำออกซิเจนเข้าไปในห้องหรือบริเวณพื้นที่จำกัดที่มีการเผาไหม้จนออกซิเจนที่มีอยู่ลดน้อยลงหรือใกล้หมดอย่างฉับพลัน ขณะที่ไฟยังไม่ดับสนิทเพราะมีความร้อนสะสมอยู่เมื่อเปิดห้องมีช่องให้อากาศจากภายนอกไหลเข้าไปทำให้ปัจจัยการเกิดไฟครบสมบูรณ์ จนกระทั่งเกิดการจุดติดอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน รุนแรง และมีขนาดใหญ่เหมือนกับการระเบิด
นาทีชีวิตเมื่อติดอยู่ในที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ :
สำหรับกรณีการติดอยู่ในที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น สิ่งที่เป็นอันตรายมากที่สุดคือ กลุ่มควันไฟ เนื่องจากหากสำลักควันเพียงประมาณไม่เกิน 4 นาที หรือเต็มที่ไม่เกิน 6 นาที ก็อาจจะทำให้เสียชีวิตได้แล้ว เพราะก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ จะเข้าไปขัดขวางระบบทางเดินหายใจจนกระทั่งหมดสติและเสียชีวิตลงในที่สุด หรือหากรอดชีวิตก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นเจ้าชายนิทราสูงมาก
การดับเพลิงกรณีสถานที่ปิด :
สำหรับกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ในสถานที่ปิดนั้น หากพบว่ามีกลุ่มควันหนาแน่นในที่เกิดเหตุ โดยมากเมื่อสามารถช่วยเหลือคนที่ติดอยู่ภายในออกมาได้หมดแล้ว เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะปิดประตูและหน้าต่างเพื่อให้กลุ่มควันขังอยู่ภายในตัวอาคาร เพราะเมื่อในตัวอาคารไม่มีออกซิเจน การเผาไหม้ก็จะค่อยลดน้อยลงในที่สุด
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
...