"ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และ อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ความเห็นถึงอุบัติเหตุสะพานกลับรถบนทางหลวงหมายเลข 35 หรือ ถนนพระราม 2 กิโลเมตรที่ 34 จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซมโดยกรมทางหลวง หลังเปิดใช้งานมายาวนานตั้งแต่ปี 2536 ได้เกิดอุบัติเหตุคานรับน้ำหนัก 5 ตัน ร่วงลงทับรถยนต์ที่กำลังสัญจรไปมา จนมีผู้เสียชีวิต 2 ศพ และได้รับบาดเจ็บ 2 ราย เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า สำหรับสาเหตุที่แท้จริงของอุบัติเหตุในครั้งนี้ ควรต้องรอความชัดเจนจากกรมทางหลวงก่อนว่า เกิดจากสาเหตุใดกันแน่ แต่อย่างไรก็ดี ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประเทศไทย และยังถือเป็นภาพสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนอีกด้วยว่า มาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างของเรายังคงเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามเช่นเดิม!
...
มาตรฐานความปลอดภัย :
สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตสำหรับเรื่องนี้ คือ ประเด็นเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย โดยประเด็นที่ 1 คือ เหตุใดการซ่อมแซมจึงไม่มีการปิดถนนบริเวณด้านล่าง โดยยังเปิดให้มีรถยนต์สัญจรไปมาอยู่ จนกระทั่งทำให้เกิดเหตุสลด ส่วนประเด็นที่ 2 คือ การที่มีเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงร่วงหล่นลงมาพร้อมกับคานรับน้ำหนักนั้น มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า อาจจะเกิดจากในระหว่างการทำงานไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยมากพอ
“อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น นอกจากในระหว่างการทำงานก็น่าจะมีปัญหาแล้ว การปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัยก็น่าจะมีปัญหาด้วย ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในประเทศไทยแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบนี้ โดยหากเป็นประเทศที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงๆ เช่น สิงคโปร์ หรือ ญี่ปุ่น อย่าว่างานก่อสร้างในลักษณะนี้เลย แม้แต่เพียงเปลี่ยนพื้นถนนแค่แผ่นเดียวยังต้องมีการปิดถนนเข้า-ออกทั้งหมด รวมถึงยังต้องมีเจ้าหน้าที่ออกแจ้งเหตุและคอยอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนด้วย”
ใครควรจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ :
สำหรับผู้ที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้นั้น ตามมาตรฐานโดยทั่วไป ประกอบด้วย 1. บริษัทผู้รับเหมา 2. ผู้ควบคุมงาน และ 3. เจ้าของงาน จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยหากการตรวจสอบพบว่ามีความผิดจริง อาจถูกตั้งข้อกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตและทรัพย์สิน
หลักการทางด้านนิติวิศวกรรม :
“โครงสร้างในลักษณะนี้ไม่ได้เป็นโครงสร้างที่ซับซ้อน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดการพังทลายได้นั้น เกิดขึ้นได้น้อยมาก”
การทำงานในลักษณะนี้หากให้เปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ คือ เหมือนเอาวัสดุก่อสร้างที่มีการควบคุมให้เป็นไปตามการออกแบบ ทั้งในแง่ ขนาด น้ำหนัก และคุณภาพตั้งแต่อยู่ในโรงงานแล้วมาประกอบต่อเข้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดการพังทลายหรือการวิบัติของโครงสร้าง จึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก ยกเว้นจะเกิดอุบัติเหตุไฟไหม้อย่างรุนแรง หรือมีการนำโครงสร้างไปใช้ในงานที่ผิดประเภท เช่น การเอาบ้านทาวน์เฮาส์ มาทำเป็นโรงงาน เป็นต้น
...
การค้นหาสาเหตุของอุบัติเหตุในการก่อสร้าง :
1. ออกแบบถูกต้องหรือไม่ :
สิ่งแรกท่ีต้องทำคือเอาแบบมาตรวจสอบว่า มีการคำนวณน้ำหนักการรับ ความยาว การแอ่น และวิธีการคำนวณถูกต้องหรือไม่ ซึ่งหากออกแบบผิดมันก็รับน้ำหนักไม่ได้ มันก็ต้องพัง ซึ่งหากพบว่า การออกแบบไม่ถูกต้อง คนที่ต้องรับผิดชอบคือ “วิศวกรที่ทำการออกแบบ”
2. ก่อสร้างถูกต้องตามแบบหรือไม่ :
มีการก่อสร้างถูกต้องตามการออกแบบหรือไม่ เช่น ต้องก่อสร้างยื่นออกไปรับ 1.5 เมตร หรือ 2 เมตร แต่ทำจริงๆ ยื่นออกไปเพียง 1 เมตร หรือมีการใส่จำนวนเหล็กลงไปในคานตรงตามที่ออกแบบหรือไม่ โดยในประเด็นนี้ หากพบว่าการก่อสร้างไม่ได้เป็นไปตามการออกแบบ “ผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงานจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ”
3. ใช้งานผิดประเภทหรือไม่ :
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากเป็นบ้านที่พักอาศัยแต่กลับนำไปใช้ทำเป็นโรงงาน แบบนี้โครงสร้างที่ทำมาย่อมไม่สามารถรองรับได้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ หากมีการตรวจสอบทั้ง 3 ประเด็นแล้วไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติ สิ่งที่ต้องตรวจสอบในลำดับถัดไปคือ เกิดภัยพิบัติกับโครงสร้างก่อนหน้านี้หรือไม่ เช่น เคยเกิดไฟไหม้รุนแรงมาก่อนหน้านี้หรือไม่
...
อายุการใช้งาน :
อดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า แม้ว่าสะพานกลับรถดังกล่าวจะถูกใช้มาเป็นระยะเวลาร่วม 30 ปีแล้วก็ตาม แต่เท่าที่ทราบได้มีการซ่อมบำรุงมาเป็นระยะๆ มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเท่าที่เห็นจากคลิปที่มีการแชร์ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ จะเห็นได้ว่า “ตัวคานรับน้ำหนักร่วงหล่นลงมาทั้งอัน” ในความเห็นส่วนตัวจึงไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้จากอายุการใช้งาน เพราะหากจะเป็นในกรณีนั้นได้ โดยส่วนใหญ่น่าจะเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กร่วงลงมามากกว่า
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :